รายละเอียดโป๊ปคุยกับเยสุอิตในลักเซมเบิร์ก, เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์

วันนี้ มีการเผยแพร่บทสนทนาระหว่าง พระสันตะปาปา ฟรานซิส กับสมาชิกคณะเยสุอิตในลักเซมเบิร์ก, เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ โดยพระสันตะปาปาไปเยือนลักเซมเบิร์กและเบลเยียมเมื่อปลายเดือนที่แล้ว  ผมนั่งอ่านแล้วเห็นว่าน่าสนใจ จึงขอนำมาเสนอให้ทุกท่านติดตามกัน (ขอตัดหน้าบทสนทนาพระสันตะปาปากับเยสุอิตในสิงคโปร์นะครับ อันนั้นเดี๋ยวรีบมาเล่าให้ฟังครับ)

Photo: Vatican Media

บทสนทนานี้ยาวมากๆ แต่ผมสรุปประเด็นสำคัญมาให้ตามนี้ 


1. สมาชิกเยสุอิตไม่ควรกลัวอะไรเลย เยสุอิตเป็นคนที่อยู่ในความตึงเครียดระหว่างความกล้าหาญ 2 แบบ นั่นคือ ความกล้าหาญที่จะแสวงหาพระเจ้าในการภาวนา และความกล้าหาญที่จะไปยังพื้นที่ชายขอบ พระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 เคยตรัสว่า “ณ ทางแยกของสถานการณ์ที่ซับซ้อน จะมีเยสุอิตอยู่เสมอ”


2. เยสุอิตต้องปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ได้ เพราะการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมความเชื่อและการประกาศพระวรสารเข้าสู่วัฒนธรรมท้องถิ่น มันจะไปด้วยกันเสมอ


3. ถ้าอยู่ในสังคมที่แยกศาสนาออกจากการดำเนินชีวิต ศาสนจักรต้องทำงานแพร่ธรรมด้วยการรับใช้ ไม่ใช่ขับเคลื่อนด้วยการยึดติดกับอำนาจสงฆ์ (Clericalism) เพราะที่ใดมีการยึดติดกับอำนาจสงฆ์ ที่นั่นไม่มีการรับใช้ และต้องอย่าสับสนระหว่างการประกาศพระวรสารกับการชักชวนให้เปลี่ยนศาสนา


4. พระสันตะปาปาบอกว่า วาติกันกำลังให้บทบาทผู้หญิงเข้ามาทำงานมากขึ้น ดังที่เห็นได้จากตำแหน่งสำคัญๆในวาติกัน เริ่มมีผู้หญิงเข้ามานั่งทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ 


5. พระสันตะปาปาบอกว่า ชุมชนที่ไม่มีสงฆ์ไปทำงานอภิบาลก็น่ากังวล แต่อย่าลืมว่า ชุมชนสำคัญกว่าสงฆ์ เพราะสงฆ์เป็นผู้รับใช้ของชุมชน ถ้าไม่มีสงฆ์เป็นผู้นำการรับใช้งานอภิบาล บางพื้นที่ก็เป็นซิสเตอร์ขึ้นมาเป็นผู้นำงานอภิบาลได้


6. ซีน็อตและการก้าวเดินไปด้วยกันไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งเป็นเพราะ “คนที่มีอำนาจ” ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าจะเสวนาด้วยกัน เราไม่สามารถเป็นศาสนจักรแบบก้าวเดินไปด้วยกันได้ ถ้าเรายังไม่คืนดีกัน


---------------


ส่วนรายละเอียดแบบเต็มๆ อ่านได้ข้างล่างนี้เลย



คำถามแรก “พระสันตะปาปา พันธกิจเฉพาะของเยสุอิตในเบลเยียมคืออะไรครับ”


พระสันตะปาปาตอบว่า “พ่อไม่รู้จักสถานการณ์ของท่านดีนัก ดังนั้นพ่อบอกไม่ได้ว่าพันธกิจของท่านควรเป็นอย่างไร แต่พ่อบอกท่านได้เรื่องหนึ่ง นั่นคือ เยสุอิตไม่ควรกลัวอะไรเลย เยสุอิตเป็นคนที่อยู่ในความตึงเครียดระหว่างความกล้าหาญสองรูปแบบ กล่าวคือ ความกล้าหาญที่จะแสวงหาพระเจ้าในการภาวนา และความกล้าหาญที่จะไปยังพื้นที่ชายขอบ พ่อคิดว่านี่เป็นพันธกิจหลักของเยสุอิตอย่างแท้จริง … นักบุญ (พระสันตะปาปา) เปาโล ที่ 6 ตรัสสิ่งที่สวยงามในช่วงต้นของสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 32 ท่านกล่าวว่า ‘ณ ทางแยกของสถานการณ์ที่ซับซ้อน จะมีเยสุอิตอยู่เสมอ คำปราศรัยนั้นเป็นผลงานชิ้นเอกและบอกอย่างชัดเจนว่าศาสนจักรต้องการอะไรจากคณะเยสุอิต’ พ่อขอให้พวกท่านอ่านข้อความนั้น แล้วท่านจะพบพันธกิจของตัวเองอยู่ที่นั่น”


คำถามที่สอง “ผมอาศัยอยู่ในอัมสเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์) หนึ่งในเมืองที่แยกศาสนาออกจากวิถีชีวิตมากที่สุดในโลก คุณพ่อเจ้าคณะใหญ่อดอลโฟ นิโคลัส เคยกล่าวว่าท่านฝันที่จะให้การฝึกจิตภาวนาแก่ผู้ที่ไม่เชื่อในพระเจ้า ในประเทศของเรา การไม่เชื่อในพระเจ้าเป็นบรรทัดฐานมากกว่าข้อยกเว้น แต่เราต้องการมอบความมั่งคั่งแห่งชีวิตจิตของเราให้กับเพื่อนบ้านทุกคน ตามที่ท่านกล่าวว่า "ทุกคน ทุกคน ทุกคน" เราจะเข้าถึงระดับลึกของการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมนี้ได้อย่างไรครับ”


พระสันตะปาปาตอบว่า “ลองศึกษา คุณพ่อมัตเตโอ ริชชี่ คุณพ่อโรแบร์โต้ เดอ โนบิลี่ และมิชชันนารีที่ยิ่งใหญ่คนอื่นๆ ที่แม้แต่บางคนในศาสนจักรก็ยังกลัวการกระทำอันกล้าหาญของพวกเขา ปรมาจารย์เหล่านี้กำหนดขอบเขตของการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรม การปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมของความเชื่อและการประกาศพระวรสารสู่วัฒนธรรมมักจะไปด้วยกันเสมอ ดังนั้น อะไรคือขีดจำกัด? ไม่มีขีดจำกัดที่ตายตัวหรอก เราต้องแสวงหามันในการไตร่ตรองผ่านทางการภาวนา พ่อมักจะพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงคำปราศรัยครั้งสุดท้ายของคุณพ่ออาร์รูเป้ (กล่าวที่กรุงเทพมหานคร) ท่านกล่าวว่าให้ทำงานที่ชายขอบและในขณะเดียวกันก็อย่าลืมการภาวนา การภาวนาของเยสุอิตพัฒนาขึ้นในสถานการณ์ที่ยากลำบาก นี่คือสิ่งที่สวยงามเกี่ยวกับจิตตารมณ์ของเรา จงกล้าเสี่ยง”


คำถามที่สาม “ในยุโรปตะวันตก เราคุ้นเคยกับการแยกศาสนาออกจากวิถีชีวิต สังคมของเราดูเหมือนห่างไกลจากพระเจ้า เราจะทำอะไรได้บ้างครับ?”


พระสันตะปาปา ตอบว่า “การแยกศาสนาออกจากวิถีชีวิตเป็นปรากฏการณ์ที่ซับซ้อน … เราต้องเทศน์สอนวัฒนธรรมนี้ในแง่ของการเป็นพยาน การรับใช้ และความเชื่อ และจากภายในจิตใจ เราต้องทำด้วยการภาวนา ไม่จำเป็นต้องคิดถึงสิ่งที่ซับซ้อนมาก …​พ่อมองแบบนี้นะ เราต้องเปิดกว้าง เสวนา และในการเสวนาช่วยเหลือด้วยความเรียบง่าย สิ่งที่ทำให้การเสวนาเกิดผลคือการรับใช้ น่าเสียดายที่พ่อมักพบว่า ในศาสนจักรยังมีการยึดติดกับอำนาจสงฆ์ (Clericalism) อย่างรุนแรง มันขัดขวางการเสวนาที่เกิดผลนี้ และเหนือสิ่งอื่นใด ที่ใดมีการยึดติดกับอำนาจสงฆ์ ที่นั่นไม่มีการรับใช้ เพื่อความดีงาม อย่าสับสนระหว่างการประกาศพระวรสารกับการชักชวนให้เปลี่ยนศาสนา”


คำถามที่สี่ “จิตตารมณ์และเทววิทยาของเยสุอิตให้พื้นที่แก่หัวใจ ‘พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์’ แต่บ่อยครั้ง น่าเสียดายที่เราไม่ให้พื้นที่ที่เหมาะสมแก่หัวใจ ความบกพร่องนี้ ในความเห็นของผม เป็นหนึ่งในสิ่งที่ก่อให้เกิดรูปแบบของการล่วงละเมิด ผมจึงอยากถามพระสันตะปาปาเกี่ยวกับความยากลำบากในการให้สตรีมีบทบาทที่เหมาะสมและเพียงพอในศาสนจักร”


พระสันตะปาปา ตอบว่า “พ่อมักจะพูดซ้ำๆ ว่าศาสนจักรเป็นผู้หญิง พ่อเห็นผู้หญิงที่ได้รับพระพรด้วยพระคุณพิเศษ และพ่อไม่ต้องการจำกัดการอภิปรายเรื่องบทบาทของผู้หญิงในศาสนจักรเพียงแค่เรื่องศาสนบริการ นอกจากนี้ โดยทั่วไปแล้ว แนวคิดผู้ชายเป็นใหญ่ (Masculinism) และแนวคิดสตรีนิยม (Feminism) เป็นหัวข้อของการตลาดในช่วงนี้ พ่อพยายามมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะนำผู้หญิงเข้ามาในวาติกันด้วยบทบาทที่มีความรับผิดชอบสูงขึ้นเรื่อยๆ สิ่งต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลง พวกท่านสามารถเห็นและรู้สึกได้ รองผู้ว่านครรัฐวาติกันก็เป็นผู้หญิง จากนั้นสมณกระทรวงเพื่อการพัฒนามนุษย์ก็มีผู้หญิงเป็นท่านรองฯเช่นกัน ในทีมงานสำหรับการแต่งตั้งบิช็อปก็มีผู้หญิงสามคน และเนื่องจากพวกเขารับผิดชอบในการคัดเลือกผู้สมัคร สิ่งต่างๆ จึงดีขึ้นมาก พวกเขามีวิจารณญาณที่เฉียบคม ในสมณกระทรวงสำหรับนักบวช ท่านรองก็เป็นผู้หญิง ท่านรองในสมณกระทรวงเศรษฐกิจก็เป็นผู้หญิง โดยสรุปแล้วผู้หญิงกำลังเข้ามาในวาติกันในบทบาทที่มีความรับผิดชอบสูงมากๆ เราจะดำเนินต่อไปในเส้นทางนี้ สิ่งต่างๆ กำลังทำงานได้ดีกว่าแต่ก่อน ครั้งหนึ่งผมได้พบกับอูร์ซูล่า ฟอน เดอร์ ไลเอน (ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป) เรากำลังพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาเฉพาะเจาะจง และพ่อถามเธอว่า ‘ท่านจัดการกับปัญหาประเภทนี้อย่างไร?’ เธอตอบว่า "ก็เหมือนกับที่พวกเราแม่ๆ ทุกคนจัดการปัญหานั่นแหละค่ะ" คำตอบของเธอทำให้พ่อต้องเก็บมาคิดอย่างมาก”


คำถามที่ห้า “ในสังคมที่แยกศาสนาออกจากวิถีชีวิต เป็นการยากที่จะหาผู้รับใช้ พระสันตะปาปามองอนาคตของชุมชนวัดที่ไม่มีพระสงฆ์อย่างไรครับ”


พระสันตะปาปา ตอบว่า “ชุมชนสำคัญกว่าสงฆ์ เพราะสงฆ์เป็นผู้รับใช้ของชุมชน ในบางสถานการณ์ พ่อรู้ว่าในหลายส่วนของโลก ผู้คนกำลังมองหาคนในชุมชนที่สามารถมีบทบาทผู้นำได้ เช่น บางชุมชนมีนักบวชหญิงรับภาระผู้นำนี้ พ่อกำลังนึกถึงคณะนักบวชหญิงในเปรูที่มีพันธกิจเฉพาะของตนเอง พวกเขาไปยังสังคมที่ไม่มีสงฆ์ ซิสเตอร์เหล่านั้นทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเทศน์ โปรดศีลล้างบาป... ถ้าในที่สุดมีการส่งสงฆ์มาช่วยงาน พวกเธอก็จะไปที่อื่น (เพื่อไปทำงานในที่ที่ไม่มีสงฆ์)”


คำถามที่หก “โอกาสครบรอบ 600 ปีของมหาวิทยาลัยลูเวน มีเยสุอิตบางคนทำงานที่นั่นและมีนักศึกษาเยสุอิตที่มาศึกษาจากทั่วโลก ข้อความของพระสันตะปาปาสำหรับเยสุอิตหนุ่มที่มีจุดหมายในการทำงานด้านวิชาการเพื่อรับใช้ศาสนจักรและโลกคืออะไรครับ”


พระสันตะปาปา ตอบว่า “งานด้านวิชาการสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของกระแสเรียกของเราในฐานะเยสุอิตที่จะมีส่วนร่วมในวงการวิชาการ การวิจัย และการสื่อสาร แต่ขอให้เราชัดเจนว่า เมื่อสมัชชาใหญ่ของคณะเยสุอิตกล่าวว่าให้แทรกตัวเข้าไปในชีวิตของผู้คนและในประวัติศาสตร์ ไม่ได้หมายความว่า ‘ให้เราจัดงานรื่นเริง’ แต่หมายถึงการแทรกตัวเข้าไปแม้แต่ในบริบทที่เป็นสถาบันที่สุด … ขอบคุณสำหรับคำถามนี้ เพราะพ่อรู้ว่าบางครั้งมีการประจญล่อลวงที่จะไม่ไปตามเส้นทางนี้ สาขาการไตร่ตรองที่สำคัญมากคือเทววิทยาด้านศีลธรรม ในสาขานี้ทุกวันนี้มีเยสุอิตมากมายที่กำลังศึกษา เปิดเส้นทางในการตีความและตั้งความท้าทายใหม่ๆ มันไม่ง่าย พ่อรู้ แต่พ่อก็กระตุ้นให้เยสุอิตดำเนินต่อไป พ่อกำลังติดตามกลุ่มนักเทววิทยาด้านศีลธรรมเยสุอิต และพ่อเห็นว่าพวกเขากำลังทำได้ดีมาก”


คำถามที่เจ็ด “ผมสงสัยว่ากระบวนการสถาปนานักบุญของคาร์ดินัล อองรี เดอ ลูบัค และคุณพ่อเปโดร อาร์รูเป้ เป็นอย่างไรบ้างครับ”


พระสันตะปาปา ตอบว่า “กระบวนการของพ่ออาร์รูเป้เปิดแล้ว ปัญหาคือการตรวจสอบงานเขียนของท่าน ท่านเขียนมากมาย และการวิเคราะห์ข้อความของท่านต้องใช้เวลา เดอ ลูบัคเป็นเยสุอิตที่ยิ่งใหญ่ พ่ออ่านงานเขียนของท่านบ่อย อย่างไรก็ตาม พ่อไม่ทราบว่ากระบวนการของท่านได้ถูกเสนอแล้วหรือไม่”


คำถามที่แปด “พระสันตะปาปาเป็นผู้ขับเคลื่อนศาสนจักรและพันธกิจแห่งการคืนดีในโลกที่มีปัญหาของเรา ตามที่นักบุญเปาโลขอร้องชาวโครินธ์ แต่ชุมชนศาสนจักรขอให้คืนดีกันเองเพื่อเป็นทูตแห่งการคืนดีในโลก เราเองต้องการความสัมพันธ์แบบก้าวเดินไปด้วยกัน การไตร่ตรองที่นำไปสู่การคืนดี เราต้องดำเนินการอย่างไรบ้างครับ”


พระสันตะปาปา ตอบว่า “การก้าวเดินไปด้วยกันมีความสำคัญมาก มันต้องถูกสร้างขึ้นไม่ใช่จากบนลงล่าง แต่ต้องสร้างจากล่างขึ้นบน การก้าวเดินไปด้วยกันไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งเป็นเพราะมีบุคคลที่มีอำนาจไม่ได้แสดงให้เห็นถึงแง่มุมของการเสวนา ผู้อภิบาลสามารถตัดสินใจด้วยตัวเองก็จริง แต่เขาก็สามารถตัดสินใจกับสภาของเขา เช่นเดียวกับบิช็อป และเช่นเดียวกับพระสันตะปาปา เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะเข้าใจว่าการก้าวเดินไปด้วยกันคืออะไร … การก้าวเดินไปด้วยกันในศาสนจักรเป็นพระหรรษทาน … เราไม่สามารถเป็นศาสนจักรแบบก้าวเดินไปด้วยกันได้อย่างแท้จริง ถ้าเรายังไม่คืนดีกัน”


คำถามที่เก้า “ผมมีส่วนร่วมในองค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเยสุอิต เรากำลังเผชิญกับความตึงเครียดที่รุนแรงสองอย่าง อย่างแรกคือสงครามในยูเครน เยาวชนของเรามอบจดหมายและภาพของนักบุญจอร์จให้ท่าน ความตึงเครียดอีกอย่างหนึ่งคือในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่เราได้ยินเรื่องการเมืองมากมายเกี่ยวกับพรมแดนและความปลอดภัย พระสันตะปาปามีคำแนะนำอะไรสำหรับองค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเยสุอิตและคณะนักบวชครับ”


พระสันตะปาปา ตอบว่า “ปัญหาการย้ายถิ่นต้องได้รับการจัดการและศึกษาอย่างดี และนี่คืองานของท่าน ผู้อพยพต้องได้รับการต้อนรับ ได้รับการดูแล ได้รับการส่งเสริม และได้รับการบูรณาการ … ศาสนจักรต้องจริงจังกับงานกับผู้อพยพ … พ่อขอเพิ่มอีกหนึ่งสิ่งที่ติดอยู่ในใจและพ่อกำลังพูดซ้ำบ่อยๆ ‘ยุโรปไม่มีลูกอีกแล้ว มันกำลังแก่ตัวลง มันต้องการผู้อพยพเพื่อให้ชีวิตได้รับการฟื้นฟู’ ตอนนี้มันกลายเป็นคำถามของการอยู่รอด”


Source


- https://www.laciviltacattolica.com/do-not-be-afraid/ 


Comments