โป๊ปเตือนอย่ามองคนยากจนเป็น “ขยะ” หรือ “ปัญหา” คริสตชนอย่าเก่งแต่ปากว่าปกป้องศักดิ์ศรีคนยากไร้ แต่ไม่ลงมือทำจริงๆ
- โป๊ปฟรานซิส เตือนสติ อย่ามองคนยากจนเป็นขยะหรือปัญหา แต่เขาคือพี่น้องของเรา และเป็นภาพสะท้อนของพระเยซูที่ปรากฏอยู่ในตัวพวกเขา
- ทรงย้ำ คริสตชนที่ดีแต่ปากเรื่องปกป้องศักดิ์ศรีคนยากไร้ แต่ไม่ได้ลงมือทำจริงๆ คนพวกนี้ไม่น่าเชื่อถือ
- ทรงตั้งคำถาม การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมมีหลายแบบ หนึ่งในนั้นคือเรื่อง “การกินทิ้งกินขว้าง” มันเป็นไปได้ไงที่ในเมืองมีการทิ้งอาหารมากมาย ขณะที่หลายครอบครัวไม่มีอาหารจะกิน และคนยากจนต้องไปหาอาหารที่เรากินทิ้งขว้างมากินประทังชีวิต
- ทรงสอน อย่าให้ความคิดที่ว่า เรื่องนี้ใหญ่เกินไป “เราทำอะไรไม่ได้หรอก” มาทำลายความหวังที่อยากเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น เพราะในพระเจ้า ไม่มีอะไรที่พระองค์ทำไม่ได้
![]() |
Photo: Vatican Media |
ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา พระสันตะปาปา ฟรานซิส เสด็จไปยังมหาวิหารซาน โจวานนี่ อิน ลาเตราโน่ เพื่อร่วมการประชุมของสังฆมณฑลโรม ภายในหัวข้อ “การเย็บรอยขาด ก้าวข้ามความไม่เท่าเทียม” (Ricucire lo strappo, oltre le disuguaglianze) การประชุมนี้จัดเพื่อหาทางแก้ปัญหาในสังคม ไม่ว่าจะเป็นความยากจนหรือความไม่เท่าเทียมกันในสังคม
ในส่วนของพระดำรัสที่พระสันตะปาปาตรัสกับทุกคน พระองค์เชิญให้ไตร่ตรอง 3 ประเด็น ได้แก่ การนำข่าวดีไปสู่คนยากจน การเย็บรอยขาด และการหว่านความหวัง
พระสันตะปาปา ตรัสว่า “เรื่องแรก การนำข่าวดีไปสู่คนยากจน คนยากจนจะอยู่กับเราเสมอ คนยากจนคือร่างกายของพระเยซูคริสต์ และเหมือนศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้เราเห็นพระองค์ด้วยตาของเรา … พระเยซูไม่ได้มอบวิธีแก้ปัญหาแบบวิเศษให้เราเพื่อแก้ปัญหาความยากจน แต่ขอให้เรานำข่าวดีไปให้พวกเขา และข่าวดีที่จะประกาศแก่คนยากจนคือการบอกพวกเขาว่า พวกเขาเป็นที่รักของพระเจ้าและในสายพระเนตรของพระเจ้าพวกเขามีค่า ศักดิ์ศรีของพวกเขาที่มักถูกโลกเหยียบย่ำ แต่ต่อหน้าพระเจ้านั้นศักดิ์สิทธิ์ แต่หลายครั้ง เราคริสตชนพูดเรื่องนี้แต่ปาก แล้วไม่ได้ทำการใดๆ ที่จะทำให้มันน่าเชื่อถือ”
“ขอร้องเถอะ คนยากจนไม่ใช่ตัวเลข ไม่ใช่ปัญหาหรือแย่กว่านั้นคือขยะ เขาคือพี่น้องของเรา เป็นเนื้อหนังของเรา … ขณะเดียวกัน เราต้องรู้สึกว่าปัญหาความยากจนเป็นเรื่องเร่งด่วนของศาสนจักร ที่กลายเป็นพันธะและความรับผิดชอบของทุกคนและตลอดเวลา ศาสนจักรถูกเรียกให้รับเอารูปแบบที่ให้ความสำคัญกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความยากจนหลากหลายรูปแบบ คนยากจนด้านอาหารและความหวัง ผู้หิวกระหายความยุติธรรม ผู้กระหายอนาคต ผู้ต้องการความสัมพันธ์ที่แท้จริงเพื่อเผชิญชีวิต”
“พระเจ้าประทับอยู่ด้วยท่าทีสามประการ นั่นคือ ความใกล้ชิด ความเห็นอกเห็นใจ และความอ่อนโยน คริสตชนที่ไม่เข้าใกล้ ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ และไม่อ่อนโยนก็ไม่ใช่คริสตชน ความใกล้ชิด ความเห็นอกเห็นใจ และความอ่อนโยน คือวิธีที่เราเลียนแบบพระเจ้า”
“เรื่องที่สอง การเย็บรอยขาด เป็นความจริงที่ว่าผ้าผืนใหญ่ในสังคมได้ขาดออกจากกัน เนื่องจากความไม่เท่าเทียมกัน เราจะยอมรับได้อย่างไรที่ในเมืองของเรามีการทิ้งอาหารหลายร้อยกิโลกรัมในขณะที่มีครอบครัวที่ไม่มีอาหารจะกิน คนยากจนต้องไปหาอาหารที่ร้านอาหารทิ้งทุกค่ำ เราจะยอมรับได้อย่างไรที่มีพื้นที่ว่างเปล่าหลายพันแห่งและมีคนหลายพันคนที่นอนบนทางเท้า ที่คนรวยบางคนเข้าถึงการรักษาทุกอย่างที่ต้องการและคนยากจนเมื่อป่วยก็ไม่สามารถรักษาตัวอย่างมีศักดิ์ศรีได้? เมืองที่เฝ้าดูความขัดแย้งเหล่านี้อย่างไม่ทำอะไรคือเมืองที่ฉีกขาด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเย็บรอยขาดนี้โดยมุ่งมั่นสร้างพันธมิตรที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์ ศักดิ์ศรีของเขา”
“เราสามารถร่วมกันเสี่ยงเดินบนเส้นทางใหม่ๆ เอาชนะไวรัสแห่งความเพิกเฉยที่แพร่ระบาดในหมู่พวกเราราวกับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตามมุมต่างๆ ของเมืองและโลกใบนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเรา ‘ไม่ใช่เรื่องของฉัน’ ในการเย็บรอยขาด เราต้องก้าวออกจากความเพิกเฉยและยอมให้ตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมก่อน”
“สุดท้าย การหว่านความหวัง นี่เป็นพันธกิจที่เราถูกเรียกให้รับผิดชอบโดยเฉพาะในช่วงปีศักดิ์สิทธิ์ที่กำลังจะมาถึง … ปัญหาสังคมมากมายที่ได้พิจารณาและนำเสนอในค่ำนี้อาจทำให้ท้อใจจนถึงขั้นพูดว่า ‘เราทำอะไรไม่ได้หรอก’ แต่ความหวังของคริสตชนนั้นทำงานเสมอเพราะได้รับแรงบันดาลใจจากความแน่ใจว่าพระเจ้าทรงนำประวัติศาสตร์ และในพระองค์เราสามารถสร้างสิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ในทางมนุษย์” พระสันตะปาปา ตรัสในตอนท้าย
Source:
Comments
Post a Comment