รายละเอียดโป๊ปคุยกับเยสุอิตในติมอร์เลสเต้ ย้ำเรื่อง "อย่าเทศน์เกิน 8 นาที" และ "อย่าเปลี่ยนห้องแก้บาปเป็นศาล"

Photo: jcapsj.org


มาต่อกันตอนที่ 2 กับพระสันตะปาปาพบเยสุอิตในติมอร์เลสเต้ บทสนทนาที่ติมอร์เลสเต้ จัดว่า “น่าสนใจสุด” จากการเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียของพระสันตะปาปา  บทสนทนานี้ยาวมากๆ แต่ผมสรุปประเด็นสำคัญมาให้ตามนี้  1. ความท้าทายของศาสนจักรคือการไม่ห่างไกลจากประชากรของพระเจ้า 

2. ความสัมพันธ์ของคณะเยุสอิตกับศาสนจักรเป็นแบบไม่เข้าใจกันเสมอ หลายครั้งจะเกิดความตึงเครียด แต่พระเจ้าจะประทาน “อธิการเจ้าคณะเยสุอิต” ที่มีพรสวรรค์ให้มาถูกจังหวะเสมอ  


3. การยึดติดกับอำนาจของสงฆ์ (Clericalism) เช่น คิดว่าตัวเองเหนือกว่าหรือแสวงหาสิทธิพิเศษ เป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นกับศาสนจักร


4. พระสันตะปาปาแนะวิธีต่อสู้กับการยึดติดกับอำนาจของสงฆ์ (Clericalism) ว่า จงนึกถึงคำพูดของนักบุญเปาโลที่สอนว่า “‘จงระลึกถึงแม่และยายของท่าน” เมื่อท่านเริ่มหยิ่งผยอง จงคิดถึงแม่และยายของตัวเอง ความเชื่อที่แม่และยายมอบให้ท่านไม่ใช่การยึดติดกับอำนาจของสงฆ์ มันเป็นอะไรบางอย่างที่แตกต่างออกไป


5. พระสันตะปาปาย้ำว่า บทเทศน์ในมิสซาต้องพยายามอย่าเกิน 8 นาที 


6. พระสันตะปาปาขอร้องสงฆ์ว่า “อย่าเปลี่ยนห้องแก้บาปให้เป็นห้องปรึกษาจิตแพทย์ อย่าเปลี่ยนห้องแก้บาปให้เป็นศาลตัดสินความผิด” พระองค์บอกด้วยว่า ตลอดชีวิตการเป็นสงฆ์ 53 ปี ไม่เคยแม้แต่ครั้งเดียวที่พระองค์ไม่อภัยบาปให้ใคร


7. พระสันตะปาปาอธิบายผ่านเรื่องราวการยุบคณะเยสุอิต ทำให้เข้าใจแล้วว่า ทำไมพระองค์ถึงไม่ชอบการมีเลขาฯ ที่ทำตัวมีบทบาทสั่งการมากเกินไป เพราะเลขาฯคนนั้น อาจใช้อำนาจที่มีในทางที่ผิด เช่น การแอบอ้างชื่อหัวหน้าของตน ---------------


ส่วนรายละเอียดแบบเต็มๆ อ่านได้ข้างล่างนี้เลย


1) คำถาม “คำขวัญของการเยือนติมอร์เลสเต้ของพระสันตะปาปาคือ ‘ให้ความเชื่อของท่านกลายเป็นวัฒนธรรมของท่าน’ พระองค์หวังอะไรสำหรับคาทอลิกและศาสนจักรคาทอลิกในติมอร์ตะวันออก”


พระสันตะปาปาตอบว่า “สิ่งหนึ่งที่ต้องชัดเจนในการเทศน์สอนพระวรสารคือการประกาศพระวรสารสู่วัฒนธรรม … ความเชื่อต้องถูกปลูกฝังในวัฒนธรรม ความเชื่อที่ไม่สร้างวัฒนธรรมก็เป็นความเชื่อที่ชักชวนให้เปลี่ยนศาสนา เราต้องไม่ลืมสิ่งที่พระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ตรัสว่า ‘พระวรสารไม่ได้แพร่หลายด้วยการชักชวนให้คนเปลี่ยนศาสนา’ แต่แพร่หลายด้วยการปลูกฝังในวัฒนธรรม เราต้องใส่ใจเรื่องนี้ จำรูปแบบภารกิจของเรา(เยสุอิต)ในจีนไว้เสมอ”


2) คำถาม “ในแง่ของความท้าทายระดับโลกที่ศาสนจักรกำลังเผชิญ อะไรคือพื้นที่สำคัญที่เยสุอิตในติมอร์ตะวันออกควรให้ความสำคัญในภารกิจแพร่ธรรม”


พระสันตะปาปาตอบว่า “ความท้าทายของศาสนจักรคือการไม่ห่างไกลจากประชากรของพระเจ้า นี่คือความท้าทายที่พ่อขอฝากไว้กับพวกท่าน อย่าหันหลังให้กับประชาชนซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุด”


3) คำถาม “พระองค์คิดว่าความสัมพันธ์ของคณะเยสุอิตกับศาสนจักรสากลเป็นอย่างไร”


พระสันตะปาปาตอบว่า “มันเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นสงครามเสมอ (พระสันตะปาปาตรัสด้วยเสียงหัวเราะ ฮ่าๆๆ)”


“พ่อเข้าบ้านเณรในปีค.ศ.1958 พ่อจึงผ่านการเปลี่ยนแปลงของสภาสังคายนาทั้งหมด พ่อมีส่วนร่วมในการเลือกคุณพ่อปีเตอร์ ฮันส์ โคลเวนบัค (อดีตอธิการคณะเยสุอิต) ตอนนั้น กลุ่มเยสุอิตชาวสเปนกล่าวหาคณะว่าทรยศต่อศาสนจักร ในช่วงวิกฤตของคณะเยสุอิต การมีอธิการเจ้าคณะที่มีพรสวรรค์เป็นสิ่งสำคัญมาก และที่นั่น พ่อเห็นความตึงเครียดในศาสนจักรคลี่คลายลง คำปราศรัยที่พระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 กล่าวในสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 32 เป็นงานศิลป์ชิ้นหนึ่งก็ว่าได้ ท่านกล่าวอย่างชัดเจนว่าศาสนจักรต้องการอะไรจากคณะเยสุอิต พ่อขอให้พวกท่านอ่านคำปราศรัยนั้นนะ นี่เป็นผลงานชิ้นเอก เมื่อพ่อได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา พ่อถามว่ามีต้นฉบับของคำปราศรัยหรือไม่ บรรณารักษ์จึงไปที่หอจดหมายเหตุวาติกันและนำมาให้พ่อ ต้นฉบับนั้น พระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 เขียนด้วยลายมือของท่านเอง นั่นเป็นเหตุผลที่พ่อบอกว่ามันเป็นธรรมชาติ ลองอ่านกันนะ มันเป็นคำปราศรัยที่แข็งแกร่ง นี่กำหนดความสัมพันธ์กับศาสนจักร ความสัมพันธ์แห่งเสรีภาพ”


“หลังจากนั้น มีช่วงเวลาที่ถูกตีความว่าเป็นการปะทะกัน เช่น เมื่อนักบุญ จอห์น พอล ที่ 2 ไปเยี่ยมคุณพ่อเปโดร อารูเป้ ที่ล้มป่วย(ด้วยโรคหลอดเลือดสมอง) คุณพ่อเปาโล เดซซ่า ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำคณะแบบรักษาการ ในเวลานั้น บางคนชี้ว่าคุณพ่อเดซซ่าเป็นคนอนุรักษ์นิยมที่จะมีผลกระทบในแง่ลบ แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ท่านกลับยิ่งใหญ่ ท่านช่วยให้พวกเราเข้าใจวิธีปกครองคณะในช่วงพายุพัดกระหน่ำ พวกท่านที่นี่ต้องนำทางผ่านพายุหลายลูก จงเรียนรู้จากประเพณีนี้ในช่วงเวลายากลำบากของคณะกันนะ”


4) คำถาม “ติมอร์ตะวันออกเป็นประเทศคาทอลิกมาก มีความเสี่ยงของการยึดติดกับอำนาจของสงฆ์ (Clericalism) พระองค์คิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนั้น”


พระสันตะปาปาตอบว่า “คุณชี้มาที่เรื่องเจ็บปวดเลยนะ การยึดติดกับอำนาจของสงฆ์มีให้เห็นทุกที่ เช่น มีวัฒนธรรมการยึดติดกับอำนาจสงฆ์ที่รุนแรงมากในวาติกัน เราพยายามเปลี่ยนแปลงมันอย่างช้าๆ การยึดติดกับอำนาจของสงฆ์เป็นหนึ่งในวิธีที่แยบยลที่สุดที่ปีศาจใช้”


“คาร์ดินัล อองรี เดอ ลูบัค (เยสุอิต) กล่าวว่า มันเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นกับศาสนจักร แย่กว่าสมัยที่พระสันตะปาปามีภรรยาหลายคนเสียอีก การยึดติดกับอำนาจสงฆ์เป็นรูปแบบสูงสุดของจิตตารมย์ทางโลกในกลุ่มสงฆ์ วัฒนธรรมการยึดติดกับอำนาจสงฆ์เป็นวัฒนธรรมทางโลก นั่นเป็นเหตุผลที่นักบุญอิกญาซีโอเน้นย้ำมาก”


“พ่อได้รับความช่วยเหลืออย่างมากจากแบบอย่างของนักบุญปีเตอร์ เฟเบอร์ (ชื่อดั้งเดิมตามแบบฝรั่งเศสคือ “เปียร์ เลอแฟ๊บวร์”) นี่คือนักบุญที่พ่อรักมากๆ นี่คือหนึ่งในบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่คณะเยสุอิตเคยมีมา เมื่อได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา พ่อได้สถาปนาท่านเป็นนักบุญ ท่านเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ เฟเบอร์เป็นสงฆ์ที่ไม่ยึดติดกับอำนาจ ท่านเดินทางไปทุกที่เพื่อรับใช้พระเจ้า ในความเห็นของพ่อ สำหรับพวกเราที่เป็นสงฆ์ จิตตารมย์ทางโลกเป็นโรคที่ยากที่สุดที่จะเอาชนะ”


“พ่อได้รวบรวมหนังสือเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ ที่พ่อเขียนตอนเป็นอาร์คบิช็อป ในนั้นมีจดหมายที่พ่อเขียนเกี่ยวกับการยึดติดกับอำนาจของสงฆ์และจิตตารมย์ทางโลก นักบุญอิกญาซีโอให้เราวอนขอพระหรรษทานที่จะไม่มีจิตตารมย์ทางโลก ถ้าท่านมีเวลา ลองอ่านดู มันอยู่ในหนังสือเล่มเล็กๆชื่อ ‘Santos no mundanos’ การยึดติดกับอำนาจของสงฆ์เป็นโรคที่เลวร้ายที่สุด ดังนั้นพวกท่านพูดว่า ‘มีการยึดติดกับอำนาจของสงฆ์ที่นี่’ เราจึงต้องรับผิดชอบและสอนบรรดาสงฆ์รุ่นใหม่ให้ใช้ชีวิตในการปฏิบัติศาสนกิจแบบอื่น การยึดติดกับอำนาจของสงฆ์เป็นวัฒนธรรมที่ทำลายศาสนจักร เราจำเป็นต้องต่อสู้กับมัน วิธีต่อสู้คือการเป็นผู้อภิบาลของประชาชน แต่ท่านอาจบอกพ่อว่า ‘ผมทำงานในมหาวิทยาลัย ท่ามกลางปัญญาชน’ โอเค ปัญญาชนที่ท่านพบที่มหาวิทยาลัยนั้นก็เป็นคน จงเป็นผู้เลี้ยงแกะของประชาชนของท่าน สิ่งสุดท้ายที่จะหลีกเลี่ยงการยึดติดกับอำนาจของสงฆ์ พ่อขอยืมคำพูดของนักบุญเปาโลที่มีต่อทิโมธี ‘จงระลึกถึงแม่และยายของท่าน’ เมื่อท่านเริ่มหยิ่งผยอง จงคิดถึงแม่และยายของตัวเอง ความเชื่อที่แม่และยายมอบให้ท่านไม่ใช่การยึดติดกับอำนาจของสงฆ์ มันเป็นอะไรบางอย่างที่แตกต่างออกไป”


5) คำถาม “ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมาในฐานะพระสันตะปาปาเยสุอิตองค์แรก อะไรคือการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดและความท้าทายที่ยากที่สุดสำหรับศาสนจักรคาทอลิกสากล”


พระสันตะปาปาตอบว่า “พ่ออยากย้ำเตือนพวกท่านเกี่ยวกับการเทศน์ สำหรับพ่อ มันสำคัญมากที่จะหานักเทศน์ที่ใกล้ชิดกับสัตบุรุษและพระเจ้า พ่อชอบสงฆ์ที่เทศน์ 8 นาทีและพูดทุกอย่าง จากนั้นเป็นเรื่องความเมตตา จงให้อภัยเสมอ ถ้าใครขอการให้อภัย คุณก็ให้อภัย 


“พ่อขอสารภาพเลยว่าใน 53 ปีของการเป็นสงฆ์ พ่อไม่เคยปฏิเสธการอภัยบาปให้แก่ผู้ใดเลย แม้ว่าการสารภาพบาปนั้นจะไม่สมบูรณ์ก็ตาม พ่อได้ยินคาร์ดินัลท่านหนึ่งกล่าวว่า เมื่อตนอยู่ในห้องแก้บาปและผู้มาแก้บาปเริ่มสารภาพบาปที่ร้ายแรงที่สุดพร้อมกับพูดติดอ่างด้วยความอับอาย คาร์ดินัลท่านั้นมักจะพูดว่า ‘พูดต่อไป พูดต่อเถอะ พ่อเข้าใจ’ แม้ว่าคาร์ดินัลท่านนั้นจะไม่เข้าใจอะไรเลยก็ตาม แต่พระเจ้าเข้าใจทุกอย่าง โปรดอย่าเปลี่ยนห้องแก้บาปให้เป็นห้องปรึกษาจิตแพทย์ อย่าเปลี่ยนห้องแก้บาปให้เป็นศาล ถ้ามีคำถามที่ต้องถามผู้มาแก้บาป ซึ่งพ่อหวังว่าจะมีน้อยนะ ก็ขอให้ถามแล้วอภัยบาปให้เขา”


6) คำถาม “ขอบคุณพระสันตะปาปาที่เป็นผู้อภิบาลของศาสนจักรด้วยรูปแบบที่แสดงพลังของพระวรสารในการเผชิญหน้ากับวัตถุนิยมและสังคมที่ไม่สนใจศาสนา พระองค์พัฒนารูปแบบการปกครองของพระองค์อย่างไร พวกเราเยสุอิตอยากได้คำแนะนำของพระองค์ในการเผชิญความท้าทายของกระแสเรียกของเรา พระองค์แนะนำให้เราทำอะไร?


พระสันตะปาปาตอบว่า “เรื่องราวของพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 14 ผุดขึ้นมาในใจ พ่อเสียใจมากกับชีวิตของท่าน ผ่านการจัดการของราชวงศ์สเปน ท่านได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา ท่านเป็นคนดี แต่ไร้เดียงสา ท่านมีเลขานุการชื่อบอนเตมปี ซึ่งเป็นคนชั่วร้าย ด้วยการสมรู้ร่วมคิดกับทูตสเปน เขาจัดการให้ยุบคณะเยสุอิต กังกาเนลลี่(หมายถึงพระสันตะปาปา เคลเมนต์ ที่ 14) เป็นพระสันตะปาปาที่อ่อนแอในการปกครอง ถูกจัดการโดยเลขานุการที่เจ้าเล่ห์ เยสุอิตต้องเข้มแข็งในสิ่งที่เขาทำ เข้มแข็งแม้ในการเชื่อฟัง และต้องไม่ยอมให้ใครจัดการ”


“เมื่อพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 14 สิ้นพระชนม์ บอนเตมปีซ่อนตัวในสถานทูตสเปน เมื่อพายุความตึงเครียดผ่านพ้นไป เขาไปพบอธิการเจ้าคณะของเขาพร้อมกับสมณสาส์นสามฉบับ ฉบับหนึ่งอนุญาตให้เขาจัดการเงิน อีกฉบับอนุญาตให้เขาอาศัยนอกอาราม และฉบับที่สาม ถ้าพ่อจำไม่ผิด อนุญาตให้เขาเดินทางไปไหนก็ได้ อธิการของเขา พูดกับเขาว่า ‘คุณขาดฉบับที่สี่’ บอนเตมปีถามกลับว่า ‘ฉบับไหน’ อธิการตอบว่า ‘ฉบับที่รับรองความรอดของจิตวิญญาณท่านไง’”


“พ่อแนะนำให้พวกท่านอ่านบันทึกเกี่ยวกับการยุบคณะ … เยสุอิตทุกคนควรรู้เรื่องราวที่คณะถูกคุกคามด้วยการทำลาย” พระสันตะปาปาตรัสในตอนท้าย


Source:

- https://www.laciviltacattolica.com/onward-with-courageous-prudence/#_ftn5

Comments