โป๊ปเตือนอย่าคิดว่าการเป็นสงฆ์หรือศาสนบริกรคือเกียรติยศทางสังคม

  • โป๊ปฟรานซิส เตือนสติ อย่าคิดว่าการเป็นสงฆ์หรือศาสนบริกรคือเกียรติยศทางสังคม ใครที่คิดแบบนี้ จงไปขอคำปรึกษาจากสงฆ์ที่ฉลาดเพื่อเปลี่ยนความคิดเสียใหม่
  • ทรงย้ำ อย่าให้การเป็นสงฆ์ทำให้หลงตัวเองคิดว่าเหนือกว่าประชากรทั่วไป อย่าลืมว่าก่อนบวชเป็นสงฆ์ ท่านก็โตมาจากการเป็นคนทั่วไปเหมือนกัน 
  • ทรงสอน สงฆ์ต้องรักความยากจนเหมือนเป็นคู่ชีวิตของตน อย่าใช้ประโยชน์การเป็นสงฆ์ในทางที่ผิด
  • ทรงให้กำลังใจนักบวชและครูคำสอนหญิง สตรีเป็นส่วนสำคัญของศาสนจักร จงเป็นมารดาของประชากรของพระเจ้า จงรู้จักให้กำเนิดชุมชน

Photo: Vatican Media

เช้าวันอังคารที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา พระสันตะปาปา ฟรานซิส เสด็จไปพบปะและให้โอวาทบรรดาบิช็อป สงฆ์ นักบวช ผู้ฝึกหัด และครูคำสอน งานนี้จัดที่อาสนวิหารแม่พระปฏิสนธินิรมล กรุงดีลิ ประเทศติมอร์เลสเต้


พิธีนี้เริ่มด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ความเชื่อ หนึ่งในผู้แบ่งปันคือ “ฟลอเรนติโน่ เด เฮซุส มาร์ตินส์” ครูคำสอนเกษียณอายุวัย 89 ปี ท่านแบ่งปันว่าเป็นครูคำสอนแบบฟูลไทม์มานาน 60 ปี แม้ต้องเผชิญกับความยากลำบากเพียงใด แต่ก็ไม่เคยท้อ

เมื่อพระสันตะปาปาฟังจบ พระองค์ตรัสกับทุกคนว่า “ท่านผู้นี้ทำให้นักบุญเปาโลต้องวิ่งแข่งเพื่อเอาชนะกันเลยทีเดียว!”


ในส่วนของสิ่งที่พระสันตะปาปาตรัสสอน พระองค์ตรัสว่า “พวกท่านบอกว่าติมอร์เลสเต้เป็นประเทศที่อยู่สุดปลายของโลก การอยู่สุดปลายโลก (หรือชายขอบ) นี้เอง ท่านจึงอยู่ใจกลางของพระวรสาร จำไว้ว่าในพระวรสาร พื้นที่ชายขอบคือศูนย์กลาง ศาสนจักรที่ไม่สามารถไปยังชายขอบและเอาแต่ซ่อนตัวอยู่ตรงพื้นที่ใจกลางก็เป็นศาสนจักรที่ป่วยหนัก”


จากนั้น พระสันตะปาปาทรงใช้ภาพของ “ไม้จันทน์เทศ” ซึ่งติมอร์เลสเต้มีชื่อเสียงในเรื่องนี้ พระสันตะปาปาเปรียบกลิ่นหอมของไม้จันทน์เทศกับกลิ่นหอมของพระวรสารที่นำความชื่นชมยินดีมาสู่ทุกบ้านและทุกหัวใจ


“เรื่องแรก เราต้องรักษากลิ่นหอมนี้ไว้ กลิ่นหอมที่ได้รับจากพระเจ้าต้องได้รับการรักษา ต้องได้รับการดูแลด้วยความเอาใจใส่อย่างมาก … จงตระหนักว่ากลิ่นหอมไม่ได้มีไว้สำหรับเรา แต่เพื่อชโลมพระบาทของพระคริสต์ ประกาศพระวรสาร รับใช้คนยากจน หมายถึงการเฝ้าระวังตนเอง เพราะความครึ่งๆกลางๆ และความเฉื่อยชาทางจิตวิญญาณมักจะคอยดักซุ่มอยู่เสมอ”


“เรื่องที่สอง การแพร่กระจายกลิ่นหอม ศาสนจักรดำรงอยู่เพื่อการประกาศพระวรสาร และเราถูกเรียกให้นำกลิ่นหอมแห่งพระวรสารไปให้ผู้อื่น มารีอาแห่งเบธานีไม่ได้ใช้น้ำมันหอมเพื่อตกแต่งตัวเอง แต่เพื่อชโลมพระบาทของพระเยซู ที่จริงแล้ว พระวรสารของนักบุญมาร์โกระบุว่ามารีอาทุบขวดหินอ่อนที่บรรจุน้ำมันหอมเพื่อชโลมพระเยซู การประกาศพระวรสารเกิดขึ้นเมื่อเรามีความกล้าที่จะ ‘ทุบ’ ภาชนะที่บรรจุน้ำหอม ทุบเปลือกที่ปิดกั้นเราไว้ในตัวเอง และออกจากความเคร่งศาสนาที่เกียจคร้าน สุขสบายที่ดำเนินชีวิตเพียงเพื่อความต้องการส่วนตัว”


“จงระวัง บ่อยครั้งการทุจริตสามารถเข้าสู่ชุมชนของเรา วัดของเรา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลิ่นหอมของพระวรสารต้องแพร่กระจายต่อต้านทุกสิ่งที่ทำให้เสื่อมเสีย ที่ทำลาย และแม้กระทั่งทำลายชีวิตมนุษย์ ต่อต้านบาดแผลเหล่านั้นที่ก่อให้เกิดความว่างเปล่าภายในและความทุกข์ทรมาน”


พระสันตะปาปาไม่ลืมจะกล่าวให้กำลังใจบรรดาสตรี ไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือครูคำสอน พระองค์ตรัสว่า “สตรีเป็นส่วนสำคัญที่สุดของศาสนจักร เพราะพวกเธอดูแลผู้ที่ต้องการการเอาใจใส่มากที่สุด พี่น้องหญิงที่รัก จงเป็นมารดาของประชากรของพระเจ้า จงรู้จักให้กำเนิดชุมชน จงเป็นแม่ นี่คือสิ่งที่พ่อต้องการจากท่าน”


“สำหรับบรรดาสงฆ์ พ่อได้เรียนรู้และทราบมาว่าประชาชนที่นี่เรียกพวกท่านด้วยความรักมากๆว่า ‘อามู’ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญสุดๆ หมายถึง ‘นายท่าน’ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ควรทำให้ท่านรู้สึกว่าเหนือกว่าพวกเขาเหล่านั้น ท่านมาจากการเป็นคนทั่วไป ท่านเติบโตมากับพวกเขา อย่าลืมวัฒนธรรมของพวกเขาเหล่านั้นที่ท่านได้รับมา ท่านไม่ได้เหนือกว่า มันไม่ควรนำท่านเข้าสู่การทดลองของความหยิ่งผยองและอำนาจ และท่านรู้ไหมว่าการทดลองของอำนาจเริ่มต้นอย่างไร? ท่านเข้าใจใช่ไหม? คุณย่าของพ่อเคยบอกว่า ‘ปีศาจเข้ามาทางกระเป๋าเสมอ’”


“โปรดอย่าคิดว่าการเป็นศาสนบริการของท่านเป็นเกียรติยศทางสังคม ไม่ใช่เลย ศาสนบริการคือการรับใช้ และถ้าใครในพวกท่านไม่รู้สึกว่าเป็นผู้รับใช้ประชากรของพระเจ้า จงไปขอคำปรึกษาจากสงฆ์ที่ฉลาดเพื่อช่วยท่านให้มีความคิดเรื่องนี้ซึ่งสำคัญมาก”


“ขอให้เราจำไว้ว่า … คนที่มีสิทธิพิเศษที่สุดคือคนที่ยากจนที่สุด และด้วยน้ำหอมนี้เราต้องดูแลพวกเขา ท่าทีที่สัตบุรุษที่นี่ทำเมื่อพบพวกท่านบรรดาสงฆ์นั้นมีความหมายมาก พวกเขาจับมือที่ได้รับการเจิมของท่านและนำมาแตะที่หน้าผากเป็นเครื่องหมายแห่งพระพร เป็นสิ่งที่ดีที่จะเห็นความรักของประชากรศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าในเครื่องหมายนี้ เพราะสงฆ์เป็นเครื่องมือแห่งพระพร สงฆ์ต้องไม่ใช้ประโยชน์จากบทบาทหน้าที่ในทางที่ผิด สงฆ์ต้องอวยพรเสมอ ต้องปลอบโยน เป็นผู้รับใช้แห่งความเมตตากรุณาและเป็นเครื่องหมายแห่งพระเมตตาของพระเจ้า และบางทีเครื่องหมายของทั้งหมดนี้คือสงฆ์ที่ยากจน จงรักความยากจนเหมือนเป็นคู่สมรสของท่าน” พระสันตะปาปาตรัสในช่วงท้าย


Source


- https://www.vatican.va/content/francesco/it/speeches/2024/september/documents/20240910-timor-leste-religiosi.html


Comments