โป๊ปฟรานซิสเผยรับมือคำวิจารณ์ด้วยการทบทวนตัวเองว่าเราทำถูกต้องไหม

โป๊ปฟรานซิส ให้สัมภาษณ์สื่อเยสุอิตจากจีน พร้อมเผย

  • ฝันอยากไปภาวนาที่สักการะสถานแม่พระแห่งเช่อชาน นครเซี่ยงไฮ้
  • รับมือคำวิจารณ์ด้วยการพลิกมุมมองว่า “มันทำให้เราได้ทบทวนตัวเองว่าทำถูกไหม”
  • ส่วนการถูกต่อต้าน บางครั้งน่าเจ็บปวด แต่มันสอนให้เราอดทน รอคอย และปรับปรุงตัวเองเช่นกัน
  • ยอมรับ ตนเองก็เคยเจอวิกฤติความเชื่อ เพราะก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน
  • ทรงปล่อยมุก ถ้ามีคนจะสมัครเข้าคณะเยสุอิต พระองค์จะบอกให้เขาไปเข้า “คณะโดมินิกัน” แทน

Photo: YouTube




ผมนั่งดูบทสัมภาษณ์ของพระสันตะปาปา ฟรานซิส ที่ให้สัมภาษณ์กับ คุณพ่อเปโดร เฉี่ย นักบวชเยสุอิตและผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของคณะเยสุอิตประจำแขวงประเทศจีน แล้วพบว่า น่าสนใจมากๆ จึงอยากนำมาแบ่งปันทุกท่านกันในรูปแบบของการสรุปใจความสำคัญ 


การสัมภาษณ์นี้ ใช้เวลาประมาณ 15 นาที และสัมภาษณ์เป็นภาษาสแปนิช ซึ่งเป็นภาษาแม่ของพระสันตะปาปาฟรานซิส ตอนแรกผมนั่งอ่านข่าวนี้จากเว็บวาติกันนิวส์ แล้วพบว่า บริบทและ “อารมณ์ขัน” ของการสัมภาษณ์ถูกตัดออกไปเยอะมาก ดังนั้น ผมขอรายงานตามแบบ Pope Report ที่เก็บรายละเอียดจริงๆจากเทปสัมภาษณ์ และนี่คือสิ่งที่ผมสรุปมาให้


1. โป๊ปอยากไปภาวนาที่ “แม่พระแห่งเช่อชาน” 


พระสันตะปาปาบอกว่า พระองค์มีความฝันที่จะไปเยือนประเทศจีนให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ไปภาวนาที่สักการะสถานแม่พระแห่งเช่อชาน (Our Lady of Sheshan) ที่อยู่เมืองเซี่ยงไฮ้ 


มหาวิหารแม่พระแห่งเช่อชาน มีความเกี่ยวข้องกับคณะเยสุอิต และข้างๆมหาวิหารก็เป็นหอดูดาวที่สร้างโดยนักบวชเยสุอิต 


** หากจำกันได้ ผมเคยลงโพสต์ที่ผมได้ไปเยือนสักการะสถานแห่งนี้ให้ทุกท่านได้ติดตามกัน ถ้าใครไปเซี่ยงไฮ้ ผมแนะนำสุดๆให้ไปที่นี่ด้วย (ตั้งอยู่นอกเมืองเซี่ยงไฮ้ ถ้าจะไป ให้เรียก Taxi ไปจะง่ายสุด ประมาณ 50 นาทีจากตัวเมือง)


https://www.facebook.com/popereport/posts/pfbid0VwCbVvdAuMaifaYbyKU78NwSLvUkX4yxiYaMEaNqWYVkrAtD2zbMrjf7AZHTgu4cl


2. คนจีนเป็นเจ้าแห่งการอดทนรอคอย 


เมื่อถูกถามว่าพระองค์มีข้อความใดที่ต้องการส่งถึงชาวคาทอลิกชาวจีน พระสันตะปาปาตอบว่า “ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่พ่อพูดซ้ำๆ นั่นคือขอให้มีความหวัง พ่อขอส่งสารแห่งความหวังไปยังประชาชนที่เป็นเจ้าแห่งการรอคอย คนจีนเป็นเจ้าแห่งความอดทน เจ้าแห่งการรอคอย นี่เป็นสิ่งที่งดงามมากๆ”


พระสันตะปาปายังบอกด้วยว่า พระองค์อยากเจอบรรดาบิช็อปและคาทอลิกจีนมากๆ พระองค์รู้สึกทึ่งที่พวกเขามีความเชื่อที่เข้มแข็งและได้ก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากมามาก แต่ยังคงยืนหยัดรักษาความเชื่อนี้ได้อย่างสุดยอด”


3. โป๊ปฟรานซิสรับมือ “คำวิจารณ์และการต่อต้าน” อย่างไร


พระสันตะปาปาตอบว่า “นักวิจารณ์มักจะเป็นประโยชน์เสมอ แม้ว่าพวกเขาจะไม่สร้างสรรค์ แต่พวกเขาก็มีประโยชน์ เพราะพวกเขาทำให้เราคิดทบทวนการกระทำของเราว่าถูกต้องไหม”


“สำหรับการต่อต้านอย่างชัดเจน หลายครั้งคุณรู้ว่า คุณต้องรอ อดทน และปรับปรุงแก้ไขตัวเอง เพราะเบื้องหลังการต่อต้านบางอย่างอาจมีคำวิจารณ์ที่ดี ที่สร้างสรรค์ บอกเราให้คิดตาม”


“แต่การต่อต้านบางอย่างเป็นเรื่องเจ็บปวด เพราะมัน ไม่เพียงแต่ต่อต้านตัวพ่อเองเท่านั้น แต่ยังต่อต้านศาสนจักรด้วย ตัวอย่างเช่น มีกลุ่มหนึ่ง คนไม่กี่คน ที่ยอมรับเฉพาะพระสันตะปาปาองค์ก่อนๆ (เช่น เบเนดิกต์ ที่ 16 - ผมขยายความให้เอง เพราะกลุ่มต่อต้านโป๊ปฟรานซิส จะบอกว่า โป๊ปของพวกเขาคือโป๊ปเบเนดิกต์ ที่ 16 ไม่ใช่โป๊ปฟรานซิส) จนถึงสมเด็จพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 12 ไม่ใช่สมเด็จพระสันตะปาปาหลังจากนั้น มีคนน้อยมาก คนไม่กี่คน กลุ่มเล็กๆ”


“อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้ว พ่อยังเชื่อว่า พวกเขาจะผนวกรวมเป็นหนึ่งกับศาสนจักรอยู่ดี”


4. โป๊ปฟรานซิสเคยเจอวิกฤติความเชื่อบ้างไหม


พระสันตะปาปาตอบว่า “แน่นอน ถ้าไม่เคยเจอ พ่อก็ไม่ใช่คนแล้ว” 


“การเอาชนะวิกฤตต้องการสองสิ่งเสมอ สิ่งแรกคือการเปลี่ยนมุมมอง เพราะวิกฤต ในทางหนึ่ง มันเหมือนกับเขาวงกต คุณเดินและเดินและดูเหมือนจะไม่ออกไปไหน คุณออกจากวิกฤตโดยการลุกขึ้นเหนือมัน”


“ประการที่สอง คุณไม่เคยออกไปคนเดียว แต่คุณออกไปด้วยความช่วยเหลือหรือผ่านการเป็นเพื่อน การยอมให้ตัวเองได้รับการช่วยเหลือเป็นสิ่งสำคัญมาก”


5. โป๊ปดูงานเยอะมาก มีเวลาเตรียมเทศน์และเขียนเอกสารต่างๆได้อย่างไร


พระสันตะปาปาบอกว่า “มันไม่ได้มีอะไรพิเศษหรอก พ่อก็แค่ใช้ชีวิตอย่างมีระเบียบ คุณสามารถทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ แต่การมีคนร่วมงานที่เชื่อถือได้ และตัวเราต้องรู้จักวิธีมอบหมายงานต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญ”


6. อันนี้ ฮา …​ ถ้ามีเด็กหนุ่มคิดจะสมัครเข้าคณะเยสุอิต พระองค์จะบอกอะไรกับเขา


พระสันตะปาปาตอบว่า “พ่อจะบอกให้เขาไปเข้าคณะโดมินิกัน” (จากนั้น พระสันตะปาปาทรงหัวเราะ)


คุณพ่อเฉี่ย ที่เป็นคนสัมภาษณ์ถึงกับเหวอและบอกว่า “เอาจริงเหรอครับ”


ก่อนที่พระสันตะปาปาจะตอบว่า ““ไม่ๆ พ่อจะบอกให้เขาอนุญาตให้มีคนมาร่วมทางกับเขา และเข้าสู่การพิจารณาของคณะ”


** ความสัมพันธ์ระหว่างคณะเยสุอิตและคณะโดมินิกันมีประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อน บางครั้งอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นความขัดแย้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งสองคณะมีบทบาทและภารกิจที่แตกต่างกันในศาสนจักรคาทอลิก ผมลองหาข้อมูลมาเพิ่มให้ ยังไงลองอ่านดูกัน


ประวัติศาสตร์และภารกิจ: คณะโดมินิกันก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 13 โดยนักบุญโดมินิก โดยมีภารกิจหลักในการเทศนาและการสอนศาสนา ส่วนคณะเยสุอิตก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 16 โดยนักบุญอิกญาซิโอแห่งโลโยลา โดยมีภารกิจที่เน้นการศึกษา การเผยแผ่ศาสนา และการทำงานด้านสังคม


ความแตกต่างทางวิธีการ: คณะโดมินิกันมักเน้นการศึกษาเชิงลึกทางเทววิทยาและปรัชญา ในขณะที่คณะเยสุอิตเน้นการศึกษาในวงกว้างและการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ในโลก


ความขัดแย้ง: ในศตวรรษที่ 16 มีการถกเถียงทางเทววิทยาระหว่างคณะโดมินิกันและคณะเยสุอิต เกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าสามารถเคลื่อนไหวเจตจำนงของมนุษย์โดยไม่ละเมิดการเลือกอย่างเสรีของมนุษย์หรือทำให้พระเจ้าเป็นผู้ก่อให้เกิดความชั่วร้ายทางศีลธรรม การถกเถียงนี้ไม่เคยได้รับการแก้ไข กระทั่งปีค.ศ. 1607 สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 5 ได้ประกาศว่าทั้งสองฝ่ายไม่ได้เป็นพวกนอกรีตและห้ามการตีพิมพ์เพิ่มเติมในประเด็นนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างชัดแจ้งจากพระองค์


ในที่สุด ศาสนจักรคาทอลิกได้จัดตั้งคณะกรรมการ “Congregatio de Auxiliis” เพื่อพิจารณาและหาทางประนีประนอมระหว่างทฤษฎีของโมลินาและแนวทางของโดมินิกัน แม้ว่าจะไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ก็ช่วยลดความตึงเครียดระหว่างสองคณะได้


สาระสำคัญของความขัดแย้งคือการหาความเข้าใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพของพระหรรษทานที่แท้จริง (Actual Grace) โดยมีคำถามว่าพระหรรษทานนี้มีประสิทธิภาพโดยธรรมชาติและไม่ผิดพลาด หรือขึ้นอยู่กับผู้รับซึ่งก็คือมนุษย์ ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นหลังจากสภาแห่งเทรนต์ (1545–63) ซึ่งยังไม่ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับพระหรรษทานและการกลับใจ



References: 


1. https://www.youtube.com/watch?v=UUausS3NDd8&t=62s 

2. https://brill.com/view/journals/jjs/7/3/article-p417_417.xml


Comments