โป๊ปฟรานซิสย้ำ AI ยังต้องเป็นเครื่องมือในมือมนุษย์

โป๊ปฟรานซิส ทรงย้ำ AI ยังต้องเป็น “เครื่องมือในมือมนุษย์” เพราะถ้าเราใช้ AI แบบไร้จริยธรรม มันอาจสร้างวัฒนธรรมแห่งการทิ้งขว้าง ความไม่เท่าเทียมกัน และตัดสินใจเรื่องชีวิตแทนคน ทรงชวนไตร่ตรอง AI มีไว้เพื่อช่วยให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือเพื่อเพิ่มอำนาจของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีไม่กี่รายในโลกกันแน่

Photo: Vatican Media

ช่วงสายวันเสาร์ที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา พระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติ ภายใต้หัวข้อ “AI เชิงสร้างสรรค์และแนวคิดชี้นำทางสังคม” (Generative Artificial Intelligence and Technocratic Paradigm) ซึ่งจัดโดย Centesimus Annus Pro Pontifice หน่วยงานของวาติกันที่มีพันธกิจส่งเสริมคำสอนทางสังคมของศาสนจักรคาทอลิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ผ่านการสนับสนุนการศึกษา การวิจัย และการสนทนาระหว่างผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ


ในส่วนของพระดำรัสวันนี้ พระสันตะปาปาย้ำว่า AI ต้องยังคงเป็นเครื่องมือในมือมนุษย์ “ในการปราศรัยต่อที่ประชุม G7 พ่อได้ย้ำว่า AI เป็นและยังคงเป็นเครื่องมือในมือของมนุษย์ เช่นเดียวกับเครื่องมือสำคัญอื่นๆ ตลอดหลายพันปีที่ผ่านมา … พ่อยังยืนยันถึงความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาและใช้ AI อย่างมีจริยธรรม เพราะถ้าปราศจากการดูแล AI อาจสร้างวัฒนธรรมแห่งการทิ้งขว้าง ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา รวมถึงการมอบหมายการตัดสินใจที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์ให้กับ AI ตัดสินใจแทนมนุษย์”


จากนั้น พระสันตะปาปาทรงกล่าวถึง สตีเฟ่น ฮอว์คิง นักจักรวาลวิทยา นักฟิสิกส์ และนักคณิตศาสตร์ระดับตำนาน ที่กล่าวว่า “การพัฒนา AI เต็มรูปแบบอาจหมายถึงจุดจบของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ... มันจะออกแบบตัวเองใหม่ในอัตราที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มนุษย์ซึ่งถูกจำกัดโดยวิวัฒนาการทางชีวภาพที่ช้า จะไม่สามารถแข่งขันได้และจะถูกแทนที่”


พระสันตะปาปาทรงถามว่า “นี่คือสิ่งที่เราต้องการหรือ (จุดจบของเผ่าพันธุ์มนุษย์) เราต้องถามตัวเองว่า AI มีไว้เพื่ออะไร เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษยชาติ เพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดี หรือเพื่อเพิ่มอำนาจที่สูงอยู่แล้วของยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีไม่กี่รายอย่างนั้นหรือ” 


“อนาคตของเศรษฐกิจ อารยธรรม และมนุษยชาติเองจะถูกกำหนดบนแนวหน้าของนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เราต้องไม่พลาดโอกาสที่จะคิดและกระทำในแนวทางใหม่ ด้วยจิตใจ ด้วยหัวใจ และด้วยมือ เพื่อชี้นำนวัตกรรมไปสู่การกำหนดรูปแบบที่มุ่งเน้นความสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นี่ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องถกเถียงกัน นวัตกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนา ความเป็นอยู่ที่ดี และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และที่ปกป้องผู้ด้อยโอกาสที่สุด และสิ่งนี้ต้องการสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบ เศรษฐกิจ และการเงินที่จำกัดอำนาจผูกขาดของคนส่วนน้อยและช่วยให้การพัฒนาเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติทั้งหมด” พระสันตะปาปาทรงย้ำ


ตอนท้าย พระสันตะปาปาทรงทิ้งคำถามให้ทุกคนคิดว่า เราควรเรียก AI (Artificial Intelligence - ปัญญาประดิษฐ์” ว่า “ปัญญา”​ (Intelligence) จริงๆหรือ 


“พ่อขอจบการสนทนาวันนี้ด้วยการกระตุ้นเราให้คิดว่า เรามั่นใจหรือไม่ว่า เราต้องการจะเรียกสิ่งที่ไม่ใช่ปัญญาว่า ‘ปัญญา’ ต่อไปหรือไม่ นี่คือการกระตุ้นให้เราคิดถึงเรื่องนี้ ไม่ใช่เรายอมจำนนต่อพวกแนวคิดชี้นำทางสังคม (ที่กำหนดมาให้เรียก AI ว่า ปัญญาประดิษฐ์)” พระสันตะปาปาตรัสปิดท้าย


Source

1. https://www.vatican.va/content/francesco/it/speeches/2024/june/documents/20240622-centesimus-annus-propontifice.html


Comments