โป๊ปย้ำ AI เลือกสิ่งต่างๆตามอัลกอริธึ่ม แต่การตัดสินใจสำคัญๆ ต้องมาจากมนุษย์

โป๊ปฟรานซิส กล่าวในการประชุม G7 เรื่อง AI  

  • AI เลือกสิ่งต่างๆตามอัลกอริธึ่ม แต่การตัดสินใจสำคัญๆ ต้องมาจากมนุษย์ 
  • อัลกอริธึ่มเก่งการวิเคราะห์ตัวเลข แต่ยังอ่อนเรื่องการวิเคราะห์จิตวิทยาและความตั้งใจจริงของมนุษย์
  • ทรงห่วงนักเรียนที่พึ่ง AI มากไปในการเขียนรายงาน เพราะมันจะทำให้เราวิเคราะห์และไตร่ตรองไม่เป็น
  • ทรงหวังเห็นกฏหมายควบคุมจริยธรรม AI แต่กฏหมายนี้ไม่ใช่มาคุมความคิดสร้างสรรค์ แต่ต้องมานำทางมนุษย์ไปสู่ช่องทางที่ถูกต้อง

Photo: Vatican Media



ช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา พระสันตะปาปา ฟรานซิส เสด็จไปกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ซึ่งจัดที่แคว้นปูเยีย ประเทศอิตาลี โดยพระสันตะปาปา ฟรานซิส ทรงเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกที่กล่าวในการประชุมสุดยอด G7


1) AI กับการเปลี่ยนแปลง


พระสันตะปาปาเริ่มต้นด้วยการตรัสว่า “การกำเนิดของ AI (ปัญญาประดิษฐ์) เป็นตัวแทนของการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมด้านการรู้คิดอย่างแท้จริง ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงยุคสมัยที่ซับซ้อน”


“การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีศักยภาพที่จะเป็นทั้งด้านบวก เช่น ประชาธิปไตยในการเข้าถึงความรู้ ความก้าวหน้าทางการวิจัยวิทยาศาสตร์แบบทวีคูณ และการลดทอนงานที่ต้องการความพยายามและยากลำบากและด้านลบ เช่น ความอยุติธรรมที่มากขึ้นระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา หรือระหว่างชนชั้นสังคมที่ครอบงำกับชนชั้นที่ถูกกดขี่”


2) AI เลือกให้ แต่มนุษย์ต้องเป็นผู้ตัดสินใจ


จากนั้นพระสันตะปาปาทรงพูดถึงเรื่องการตัดสินใจ พระองค์ตรัสว่า “AI สามารถทำการเลือกตามอัลกอริธึ่มได้ นั่นคือ การเลือกทางเทคนิคจากหลายความเป็นไปได้ โดยอิงจากเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนหรือการอนุมานทางสถิติ อย่างไรก็ตาม มนุษย์ไม่เพียงแต่เลือก แต่ในใจของพวกเขามีความสามารถในการตัดสินใจ

นี่เป็นเพราะ พวกเขามีความสามารถในการใช้ปัญญา ในสิ่งที่ชาวกรีกโบราณเรียกว่า phronesis (ประเภทของสติปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำในทางปฏิบัติ) และในการฟังพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์”


“ดังนั้น การตัดสินใจที่สำคัญต้องให้กับมนุษย์เป็นผู้ตัดสินใจเสมอ ตัวอย่างของหลักการนี้คือการพัฒนาอาวุธอัตโนมัติที่ถึงแก่ชีวิต ซึ่งสามารถพรากชีวิตมนุษย์โดยไม่ต้องอาศัยการควบคุมจากมนุษย์” พระสันตะปาปาตรัสย้ำ


3) อัลกอริธึ่มวิเคราะห์แต่ตัวเลข แต่ไม่รู้เรื่องการปรับปรุงนิสัยการกระทำ


พระสันตะปาปายังทรงเน้นย้ำว่า อัลกอริธึ่มที่ AI ใช้ในการตัดสินใจนั้นยังมีปัญหาให้แก้อีกเยอะ 


พระสันตะปาปาทรงยกตัวอย่าง “อัลกอริธึ่มที่ออกแบบมาเพื่อช่วยผู้พิพากษาในการตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้นักโทษกักขังที่บ้านหรือไม่ โปรแกรมเหล่านี้ทำการเลือกโดยอิงจากข้อมูล เช่น ประเภทของความผิด พฤติกรรมในเรือนจำ การประเมินทางจิตวิทยา และเชื้อชาติ ระดับการศึกษา และเครดิตสกอร์ของนักโทษ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการลดทอนมนุษย์ที่กำลังพัฒนาหรือปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ การพัฒนานี้สามารถทำให้เราประหลาดใจด้วยการกระทำของพวกเขา นี่เป็นสิ่งที่เครื่องจักรไม่สามารถนำมาพิจารณาได้”


“นอกจากนี้ ปัญหาเพิ่มเติมคือ อัลกอริธึ่มสามารถตรวจสอบความเป็นจริงที่ถูกทำให้เป็นทางการในรูปแบบตัวเลขเท่านั้น” พระสันตะปาปา ทรงอธิบาย


4) บทความที่สร้างโดย AI


พระสันตะปาปาทรงพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่า นักเรียนจำนวนมากพึ่งพา AI มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อช่วยพวกเขาในการเรียน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเขียนเรียงความ


พระสันตะปาปาตรัสว่า “AI เชิงสร้างสรรค์ไม่ได้เป็นการสร้างสรรค์อย่างแท้จริง มันไม่ได้พัฒนาการวิเคราะห์หรือแนวคิดใหม่ๆ แต่ทำซ้ำสิ่งที่มันพบ โดยให้รูปแบบที่ดึงดูดใจ สิ่งนี้ มีความเสี่ยงที่จะทำลายกระบวนการศึกษา”


พระสันตะปาปาบอกว่า “การศึกษา ควรมอบโอกาสสำหรับการไตร่ตรองอย่างแท้จริง แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น กลับมีความเสี่ยงที่จะถูกลดทอนเป็นการทำซ้ำความคิด ซึ่งจะถูกประเมินว่าไม่มีข้อโต้แย้งมากขึ้นเรื่อยๆ เพียงเพราะมีการทำซ้ำอย่างต่อเนื่อง”


5) จริยธรรมอัลกอริธึ่ม


พระสันตะปาปาทรงเน้นย้ำว่า AI ถูกกำหนดรูปแบบโดย “มุมมองของผู้ที่ประดิษฐ์และพัฒนามันเสมอ ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นคือการพัฒนาจริยธรรมอัลกอริธึ่มชุดหลักการ ซึ่งสามารถหาการสนับสนุนจากวัฒนธรรม ศาสนา องค์กรระหว่างประเทศ และบริษัทขนาดใหญ่ หากเราพยายามที่จะกำหนดชุดค่านิยมระดับโลกชุดเดียว อย่างน้อยที่สุดเราสามารถหาหลักการร่วมกันที่จะใช้จัดการและแก้ไขปัญหาหรือความขัดแย้งเกี่ยวกับวิธีการดำเนินชีวิต”


6) การเมืองต้องเข้ามาช่วยดูแล AI

เมื่อเผชิญกับความท้าทายนี้ พระสันตะปาปาตรัสในตอนท้ายว่า “จำเป็นต้องมีการดำเนินการทางการเมืองอย่างเร่งด่วน เพื่อรับมือกับความท้าทายของ AI เพราะเป้าหมายไม่ใช่การปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์และอุดมคติแห่งความก้าวหน้า แต่เป็นการชี้นำพลังของมนุษย์ไปตามช่องทางใหม่ๆ”


Source


1. https://www.vatican.va/content/francesco/en/speeches/2024/june/documents/20240614-g7-intelligenza-artificiale.html 


Comments