“ซิสเตอร์ นาตาลี เบ็กการ์ท” จบโทจาก Top Business School แต่เลือกเส้นทางนักบวช

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นิตยสารฟอร์บส์ ได้จัดอันดับ 50 สตรีอายุเกิน 50 ปีที่มีอิทธิพลทางวิทยาศาสตร์ แฟชั่น เศรษฐศาสตร์ และสิทธิมนุษยชนในทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา


Photo: Forbes


ปรากฏว่า มีชื่อของ “ซิสเตอร์ นาตาลี เบ็กการ์ท” รองเลขาธิการการประชุมซีน็อต (The Undersecretary of the Synod of Bishops) ติดอยู่ในนั้นด้วย 


ผมเคยเห็นซิสเตอร์ท่านนี้ผ่านข่าวคาทอลิกหลายครั้ง แต่ไม่เจอศึกษาประวัติจริงจัง เพราะอย่างที่บอกไปว่า ช่วงหลัง 6-7 ปีที่ผ่านมา ผมไม่ได้โฟกัสข่าวคาทอลิกเท่าไหร่


แต่ด้วยภาระหน้าที่ที่ผมอยู่ในแวดวงธุรกิจและได้อ่านฟอร์บส์อยู่เรื่อยๆ ผมเลยอยากค้นข้อมูลซิสเตอร์ท่านนี้ เพื่อเพิ่มความรู้ให้ตนเอง และข้อมูลที่ได้นั้นก็ไม่ผิดหวัง ซิสเตอร์ท่านนี้น่าศึกษาจริงๆ


ชื่อของ ซิสเตอร์ นาตาลี เบ็กการ์ท เริ่มเป็นที่สนใจในแวดวงคาทอลิกระดับโลกเมื่อตอนปี 2021 เมื่อพระสันตะปาปา ฟรานซิส แต่งตั้ง ซิสเตอร์เบ็กการ์ท ให้เป็นรองเลขาธิการการประชุมซีน็อต การแต่งตั้งนี้ ทำให้ซิสเตอร์ชาวฝรั่งเศสคนนี้กลายเป็นผู้หญิงที่มีตำแหน่งสูงที่สุดในวาติกัน และผู้หญิงคนแรกที่มีสิทธิ์ออกเสียงในการประชุมระดับสูงขนาดนี้


ทว่าก่อนเข้าสู่เส้นทางนักบวช ซิสเตอร์เบ็กการ์ท ก็มีประสบการณ์การทำงานมาอย่างโชกโชน เธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการเป็นผู้ประกอบการ (​​Entrepreneurship) จาก HEC Paris ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาธุรกิจระดับท็อปของโลก


นอกจากนี้ ซิสเตอร์เบ็กการ์ท ยังเคยทำงานด้านสื่อสารการตลาด (Marketing Communication) ก่อนจะตัดสินใจสมัครเข้าคณะ Xavières (XMCJ) ในปี 1995 ขณะอายุ 26 ปี


ตัวซิสเตอร์เองเป็นผู้มีพื้นฐานการศึกษาแน่นในเรื่องปรัชญา เทววิทยา สังคมวิทยา และเชี่ยวชาญด้านศาสนจักรวิทยา (Ecclesiology) ก่อนจะมารับบทบาทในวาติกัน ซิสเตอร์เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในการอภิบาลเยาวชนและส่งเสริมกระแสเรียกของฝรั่งเศส ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาให้กับซีน็อตมาตั้งแต่ปี 2019


การได้รับเลือกจากสื่อระดับโลกครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับซิสเตอร์เบ็กการ์ท เพราะเมื่อปี 2022 BBC เคยยกย่องให้ซิสเตอร์เป็นหนึ่งในผู้หญิง 100 คนที่สร้างแรงบันดาลใจและมีอิทธิพลสูงสุดทั่วโลกอีกด้วย


ทั้งนี้ ซิสเตอร์บาร์บาร่า ควินน์ ที่เคยร่วมงานกับซิสเตอร์เบ็กการ์ทที่ Boston College ได้กล่าวชื่นชมว่า ซิสเตอร์เบ็กการ์ทเป็นคนมุ่งมั่น ทุ่มเท และถ่อมตน คุณสมบัติสำคัญของซิสเตอร์เบ็กการ์ทคือ “เป็นคนติดดิน” ทำงานกับผู้คนโดยรับฟังความต้องการ รวมถึงการมีความรู้และวิทยานิพนธ์ในหัวข้อเรื่องศาสนจักรแบบสมัชชา เหมือนกับว่าชีวิตของเธอถูกเตรียมพร้อมเพื่อช่วงเวลานี้


การที่ซิสเตอร์เบ็กการ์ทได้รับเกียรตินี้ นับเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงศักยภาพที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิงในศาสนจักรคาทอลิก ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของพระสันตะปาปาฟรานซิสที่ต้องการสร้างศาสนจักรที่เปิดกว้างและเท่าเทียมมากขึ้น ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของการบูรณาการคุณค่าจากโลกธุรกิจและจิตวิญญาณเข้าด้วยกัน เพื่อนำไปสู่การรับใช้ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


การเลือกใช้ความสามารถที่หลากหลายของซิสเตอร์เบ็กการ์ทให้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนศาสนจักร จึงถือเป็นตัวอย่างของการเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงและฆราวาสมีบทบาทมากขึ้น ในอันที่จะสร้างศาสนจักรให้เป็นบ้านของทุกคนอย่างแท้จริง ท่ามกลางความท้าทายของยุคสมัยใหม่


ส่วนที่ผมรู้สึก “อิน” กับเรื่องของซิสเตอร์เบ็กการ์ท ก็เพราะผมเรียนจบปริญญาโทสาขาผู้ประกอบการ (​​Entrepreneurship) เหมือนกับซิสเตอร์ เลยรู้สึกทึ่งไปด้วยจริงๆ


ซิสเตอร์เบ็กการ์ท บอกว่า การได้เรียนปริญญาโทสาขาผู้ประกอบการ ช่วยซิสเตอร์ได้มากๆในเรื่องการบริหารจัดการคน เพราะมันต้องใช้ทักษะเจรจาต่อรองและสร้างทีมเวิร์คในการทำงานร่วมกับคนทุกชาติทุกภาษา เฉพาะอย่างยิ่งคนที่ต่างวัฒนธรรมอย่างคนเอเชียและแอฟริกา


Reference


1. https://www.forbes.com/sites/maggiemcgrath/2024/01/09/50-over-50-europe-middle-east-and-africa-2024/?sh=4acfa3882131


2. https://rankings.ft.com/schools/126/hec-paris/programme-portfolio


3. https://www.bc.edu/bc-web/bcnews/faith-religion/jesuit-catholic/stm-student-appointed-to-vatican-post.html


4. https://aleteia.org/2024/01/27/forbes-religious-sister-is-one-of-most-influential-women/


Comments