โป๊ปฟรานซิสจะสละตำแหน่งจริงหรือ??

การที่สุขภาพและร่างกายของโป๊ปฟรานซิสดูถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้เกิดข่าวลือเรื่องการสละตำแหน่ง, ลาเกษียณ หรือบางคนจะเรียก “ลาออกจากตำแหน่ง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Photo: Reuters

ข่าวลือรอบนี้ เป็นข่าวลือ “รอบสอง” ต้นตอจาก เลอ ฟิกาโฮ (Le Figaro) สื่อฝรั่งเศส และ เดอะ วอชิงตัน โพสต์ ของสหรัฐอเมริกา จากนั้นก็กระจายไปทั่วโลก อย่างเมืองไทยก็เห็นมีคนนำข่าวจาก เดอะ การ์เดี้ยน สื่ออังกฤษ มาถอดความรายงาน (ข่าวลือการสละตำแหน่งรอบแรกเกิดตอนที่โป๊ปฟรานซิสเข้ารับการผ่าตัดเมื่อปีที่แล้ว) สำหรับตัวผมเอง เวลาเช็คข่าวโป๊ปฟรานซิสแบบต้องการความแม่นยำเชิงลึก โดยเฉพาะข่าวเช่นนี้ ผมจะเช็คกับแหล่งข่าวสายวาติกัน 5 แหล่ง ได้แก่สายข่าวอิตาลี, อาร์เจนตินา (บ้านเกิดโป๊ปฟรานซิส), ฝรั่งเศส, สเปน และอเมริกา ถ้าถามว่าแหล่งข่าวใครลึกและแม่นยำมากๆ แน่นอนต้องเป็นสายอิตาลีและอาร์เจนตินา เนื่องจากพวกนี้ใช้ภาษาที่โป๊ปฟรานซิสและคนรอบตัวโป๊ปสื่อสาร จึงเข้าถึงข้อมูลได้ลึกมาก ถ้าเราใช้ข้อมูลจากแหล่งข่าวภาษาอังกฤษอย่างเดียว ข้อเสียคือการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกสุดๆ จะน้อยกว่าสายอิตาลีและอาร์เจนตินาพอสมควร แล้วข่าวที่ว่า “โป๊ปฟรานซิสจะสละตำแหน่ง?” เกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น ผมจะไล่เรียงเรื่องราวให้ติดตามกัน 1) อย่างที่ผมเขียนในบทความที่แล้วว่า ภาพที่โป๊ปฟรานซิสต้องนั่งรถเข็น เนื่องจากเอ็นหัวเข่าขวาฉีกและต้องใช้เวลารักษานาน ทำให้คนส่วนมากคิดเรื่องแบบนี้จริงๆ เพราะผลที่ตามมาคือพระองค์ไม่สามารถเป็นประธานในพิธีมิสซา (แต่ช่วงเทศน์ พระองค์เทศน์เอง โดยนั่งรถเข็นแล้วเทศน์) และมันเหมือนเป็นการจำกัดความสามารถในการเคลื่อนที่ของพระองค์ด้วย นอกจากนี้ พิธีแห่ศีลมหาสนิทของวาติกัน ซึ่งปกติโป๊ปจะเป็นประธานในทุกปี ปีนี้มีทีท่าว่าจะไม่ได้จัดการแห่ศีล เพราะโป๊ปไม่สามารถเป็นประธานได้ (วาติกันไม่ได้แจ้งวันและเวลามิสซาแห่ศีลมหาสนิทลงในเว็บไซต์ ซึ่งทุกปี ไม่เคยเป็นแบบนี้)  ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้เห็นภาพโป๊ปนั่งรถเข็นมานานมากแล้ว มันต้องย้อนกลับไปปลายสมณสมัยโป๊ปจอห์น พอล ที่ 2 ส่วนโป๊ปเบเนดิกต์ ที่ 16 ก่อนสละตำแหน่งก็ยังไม่ต้องนั่งรถเข็น อย่างมากคือใช้ไม้เท้าเท่านั้น 2) การที่โป๊ปฟรานซิสประกาศว่าจะสถาปนาคาร์ดินัลใหม่ 21 คนในวันที่ 27 สิงหาคมนี้ ก็เป็นเรื่อง “ไม่ปกติ” เพราะตามปกติการแต่งตั้งคาร์ดินัลใหม่จะทำในเดือนพฤศจิกายน (สมโภชพระเยซู กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล) หรือไม่ก็ในเดือนกุมภาพันธ์ (ฉลองธรรมาสน์นักบุญเปโตร) แถมเป็นการประกาศให้ทราบล่วงหน้าก่อน 3 เดือน ซึ่งปกติแล้ว การประกาศรายชื่อคาร์ดินัลใหม่จะประกาศล่วงหน้า 1 เดือน เช่นประกาศเดือนมกราคม แล้วพิธีสถาปนาจัดเดือนกุมภาพันธ์ การสถาปนาคาร์ดินัลใหม่ครั้งนี้ จะทำให้สัดส่วนของคาร์ดินัลกระจายตัวไปตามชาติต่างๆทั่วโลก ไม่ใช่กระจุกตัวในอิตาลีและยุโรป สิ่งนี้เป็นไปตามความต้องการของโป๊ปฟรานซิสที่ต้องการให้ความสำคัญกับศาสนจักรคาทอลิกท้องถิ่นต่างๆ มากกว่ากระจุกตัวในชาติยุโรปแบบในอดีต 3) ความไม่ปกติต่อมาคือวันที่ 27 สิงหาคม 2022 มีการสถาปนาคาร์ดินัลใหม่ หลังจากนั้นสองวันต่อมาคือวันที่ 29-30 สิงหาคม โป๊ปฟรานซิสเรียกประชุมคาร์ดินัลทั่วโลก ซึ่งตามปกติ โป๊ปจะไม่ค่อยเรียกคาร์ดินัลทั่วโลกมาประชุมแบบพร้อมหน้าแบบนี้ (ส่วนมาก คาร์ดินัลจะพบกันหมดทุกคนในการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่) เรื่องโป๊ปฟรานซิสเรียกคาร์ดินัลทั่วโลกมาประชุม “เจราร์ด โอคอนเนลล์” นักข่าวสายวาติกันที่สนิทกับโป๊ปฟรานซิสมากๆ (คนนี้คือคนแรกที่โทรศัพท์ไปแจ้งข่าวให้คาร์ดินัลแบร์โกโญ่หรือโป๊ปฟรานซิส ทราบว่า โป๊ปเบเนดิกต์ ที่ 16 สละตำแหน่ง) บอกว่า มีคาร์ดินัลหลายคนแนะนำโป๊ปฟรานซิสว่า ควรจัดการประชุมคาร์ดินัลทั่วโลกไว้บ้าง เพื่อให้ทำความรู้จักกัน มิฉะนั้นจะเป็นแบบการเลือกตั้งพระสันตะปาปาปี 2005 ที่บรรดาคาร์ดินัลแทบไม่รู้จักกันเลย (ปี 2005 คือการเลือกตั้งพระสันตะปาปาและได้โป๊ปเบเนดิกต์ ที่ 16 ซึ่งการเลือกตั้งพระสันตะปาปาก่อนหน้านั้น ต้องย้อนไปถึงปี 1978 ที่ได้โป๊ปจอห์น พอล ที่ 2 ดังนั้น ไม่แปลกใจที่ทำไมคาร์ดินัลแทบไม่รู้จักกันเลย เพราะไม่มีการจัดประชุมพร้อมหน้าให้ทำความรู้จักกันนั่นเอง) สำหรับรายละเอียดของการประชุมคณะคาร์ดินัลจากทั่วโลก วาติกันแจ้งว่าเพื่อหารือโครงสร้างโรมันคูเรียแบบใหม่ พร้อมแนะนำธรรมนูญ “จงไปประกาศพระวรสาร” (Praedicate Evangelium) ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเรียบร้อยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2022 การที่ธรรมนูญฉบับนี้ มีผลบังคับใช้แล้ว เท่ากับว่า การปฏิรูปโรมันคูเรีย ที่โป๊ปฟรานซิสบอกว่านี่คือพันธกิจหลักแห่งสมณสมัยของพระองค์ เสร็จสมบูรณ์แล้ว (หลังการสละตำแหน่งของโป๊ปเบเนดิกต์ ที่ 16 คณะคาร์ดินัลที่มาประชุมกันก่อนเริ่มการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ได้สรุปกันว่า “ต้องปฏิรูปโรมันคูเรีย” ซึ่งโป๊ปฟรานซิสก็รับข้อสรุปนี้มาดำเนินการต่อจนสำเร็จ) 4) ในช่วงเวลาที่มีการสถาปนาคาร์ดินัลใหม่ (27 สิงหาคม) และประชุมคณะคาร์ดินัลจากทั่วโลก (29-30 สิงหาคม) วันที่ 28 สิงหาคม โป๊ปฟรานซิสจะเสด็จไปเมือง ลา ควิลา เมืองที่โป๊ปเบเนดิกต์ ที่ 16 เคยเสด็จเยือนเมื่อปี 2009 และไปภาวนาหน้าหลุมศพของ “โป๊ปเซเลสติโน่ ที่ 5” ซึ่งเป็นโป๊ปองค์สุดท้ายในยุคกลางที่สละตำแหน่ง ก่อนที่โป๊ปเบเนดิกต์ ที่ 16 จะสละตำแหน่งด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการเยือนครั้งนี้ โป๊ปฟรานซิสจะไปร่วมเฉลิมฉลองพิธีอภัยโทษบาป (Perdonanza Celestiniana) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี พิธีนี้ ยูเนสโก้จัดให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลกด้วย การที่โป๊ปฟรานซิสจะมาร่วมพิธีนี้ และไปภาวนาที่หน้าหลุมศพของโป๊ปเซเลสติโน่ ที่ 5 ก็ทำให้หลายคน “โยงเรื่องการสละตำแหน่ง” ไปแบบอัตโนมัติ เพราะช่วงเวลาทุกอย่างมันเหมือนจะสอดคล้องกันไปหมด ทั้ง 4 เรื่องที่กล่าวไปคือที่มาว่า ทำไมถึงเกิดการโยงว่าโป๊ปฟรานซิสอาจจะสละตำแหน่ง


Photo: Reuters


แต่จากข้อมูลเชิงลึกที่ผมค้นคว้า ผมคิดว่า ณ เวลานี้ โป๊ปฟรานซิสไม่น่าจะสละตำแหน่ง แต่อนาคต ผมคิดว่าไม่แน่ เพราะ


1) โป๊ปฟรานซิสเป็นคนพูดเองว่า การสละตำแหน่งของโป๊ปเบเนดิกต์จะไม่ได้เกิดขึ้นเคสเดียวแน่ๆ คนที่เป็นบิช็อปแห่งกรุงโรม (พระสันตะปาปา) ต้องถามตัวเองแบบโป๊ปเบเนดิกต์ เพราะคนยุคนี้มีอายุยืนยาวขึ้นก็จริง แต่ร่างกายเราก็ถดถอยลงไปด้วยเช่นกัน

พระองค์ยังพูดอีกว่า “ย้อนกลับไป 70 ปีที่แล้ว ตำแหน่ง ‘บิช็อปกิตติคุณ’ แทบไม่มีให้เห็น แต่ตอนนี้มีเต็มไปหมด แล้วตำแหน่งโป๊ปกิตติคุณล่ะ พ่อคิดว่าโป๊ปเบเนดิกต์ได้เปิดประตูให้เรื่องนี้แล้ว ประตูของโป๊ปที่สละตำแหน่ง” (โป๊ปฟรานซิส ตรัสไว้ปี 2014 https://bit.ly/3ztLJ7a)


2) โรบิน มิคเค่น นักข่าวสายวาติกันจาก “ลา ครัวซ์”​ วิเคราะห์ว่า ถ้าโป๊ปฟรานซิสจะสละตำแหน่ง พระองค์จะใช้วิธีแบบเยสุอิต จะไม่สละตำแหน่งแบบทันที แต่จะให้เวลาเตรียมตัว

มิคเค่น บอกว่าให้ดูตำแหน่งอธิการเจ้าคณะเยสุอิตเป็นตัวอย่าง ตำแหน่งนี้เหมือนบิช็อปแห่งกรุงโรม (พระสันตะปาปา) คือเป็นตลอดชีวิต แต่เราได้เห็นกันแล้วว่า ปี 2006 คุณพ่อฮันส์ ปีเตอร์ โกลเฟนบัค อดีตอธิการเจ้าคณะเยสุอิต แจ้งสมาชิกเยสุอิตล่วงหน้า 2 ปีว่าจะสละตำแหน่ง จากนั้น ปี 2008 ท่านก็ก้าวลงจากตำแหน่ง

หรือจะเป็นอธิการเจ้าคณะเยสุอิตคนต่อมาอย่างคุณพ่ออดอลโฟ่ นิโกลาส ก็แจ้งล่วงหน้า 2 ปีเช่นกันว่าจะสละตำแหน่ง (แจ้งปี 2014 และลงจากตำแหน่งจริงปี 2016)


หากใช้วิธีคิดแบบเยสุอิตที่ให้เวลาเตรียมตัว นั่นหมายความว่า ถ้าโป๊ปฟรานซิสจะสละตำแหน่งจริงๆ พระองค์จะแจ้งล่วงหน้า 2 ปี??

3) จริงอยู่ที่งานหลักคือการปรับโครงสร้างโรมันคูเรียเสร็จลงแล้ว แต่ยังมีอีกงานที่โป๊ปฟรานซิสยังทำไม่เสร็จ นั่นคือ การประชุมซีน็อตที่จะจบในปี 2023 และอีกงานที่อาจไม่เกี่ยวมาก แต่ก็เหมือนจะเกี่ยวคือ “ปีศักดิ์สิทธิ์ 2025” ซึ่งจะจัดที่กรุงโรม นี่คือ Jubilee Year เหมือนปี 2000


ผมเชื่อว่า ยังไงโป๊ปฟรานซิสไม่มีทางทิ้งการประชุมซีน็อตแน่ๆ พระองค์ต้องการทำงานนี้ให้จบด้วยพระองค์เอง ส่วนปีศักดิ์สิทธิ์ 2025 อาจไกลไปนิด แต่ก็ต้องรอติดตามกัน

4) เรื่องสุดท้าย และเป็นสิ่งที่ นักข่าววาติกันจากสายข่าวอิตาลี อาร์เจนตินา และฝรั่งเศส คิดเหมือนกันคือโป๊ปฟรานซิสยังไม่น่าสละตำแหน่ง ถ้าโป๊ปกิตติคุณเบเนดิกต์ ที่ 16 ยังมีชีวิต

นักข่าวกลุ่มนี้มองแบบนั้นเพราะเชื่อว่า โป๊ปฟรานซิสน่าจะต้องการเปลี่ยนแปลงบทบาทและชื่อตำแหน่งจาก “โป๊ปกิตติคุณ” (Pope Emeritus) ไปเป็น “บิช็อปกิตติคุณแห่งกรุงโรม” (Emeritus Bishop of Rome) และพระองค์น่าจะเปลี่ยนการแต่งกายของตำแหน่งนี้จาก “ชุดสีขาวแบบพระสันตะปาปา” ไปเป็น “ชุดสีดำแบบบิช็อปหรือคาร์ดินัลมากกว่า”

สาเหตุไม่มีอะไรมากไปกว่า “ความสับสนและการเล่นการเมืองในศาสนจักรคาทอลิก” อย่างที่ทราบกันว่า มีคาทอลิกหลายคนใช้โป๊ปเบเนดิกต์มาเป็นข้ออ้างให้ตนเอง คนกลุ่มนี้ชอบพูดว่า “โป๊ปมีคนเดียวคือโป๊ปเบเนดิกต์ ส่วนฟรานซิส ไม่ใช่โป๊ป”

โป๊ปฟรานซิสทราบเรื่องนี้ดี ซึ่งเราจะไปโทษโป๊ปเบเนดิกต์ไม่ได้ เพราะตำแหน่งนี้ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ เราต้องเรียนรู้และปรับกันไป การที่วาติกันให้ตำแหน่งใหม่นี้เป็นโป๊ปกิตติคุณ ผลที่ตามมาคือ “ความสับสน” ซึ่งหลายฝ่ายยอมรับว่าตำแหน่ง “โป๊ปกิตติคุณ” (Pope Emeritus) สร้างความสับสนจริงๆ ลองจินตนการดูว่า ถ้าโป๊ปฟรานซิสสละตำแหน่งตอนนี้  และใช้ชื่อตำแหน่งว่าโป๊ปกิตติคุณ เราจะมี “โป๊ป 3 องค์” (โป๊ป 1 องค์ และโป๊ปกิตติคุณ 2 องค์)

“โป๊ปต้องมีองค์เดียว ส่วนคนอื่น อาจจะ 2-3 คน บางครั้งอาจจะเป็นบิช็อปกิตติคุณมากกว่า” โป๊ปฟรานซิส ตรัสเรื่องนี้เมื่อปี 2016 (https://bit.ly/3MIHUOg


Comments