คนสุดท้ายจะกลับกลายเป็นคนแรก

“คนสุดท้ายจะกลับกลายเป็นคนแรก” ประโยคนี้เหมาะสมกับการแต่งตั้งคาร์ดินัลใหม่ครั้งล่าสุดมาก มันเป็นการประกาศรายชื่อคาร์ดินัลใหม่ที่แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย แต่ผมมีความสุขที่ได้เห็นรายชื่อเหล่านี้จริงๆ


Photo: Pope Report 

ครั้งที่แล้ว ผมเขียนถึง “ว่าที่คาร์ดินัล” อย่าง บิช็อปจอร์โจ้ มาเร็นโก้ ผู้แทนพระสันตะปาปาประจำอูลานบาตาร์ ประเทศมองโกเลีย ซึ่งกำลังจะกลายเป็นคาร์ดินัลที่ยังมีชีวิตและอายุน้อยสุดในโลกด้วยวัย 48 ปี 


ยังมีอีกหลายรายชื่อน่าสนใจที่ผมไม่ได้กล่าวถึง หนึ่งในนั้นคือว่าที่คาร์ดินัลอย่าง 

“อาร์คบิช็อปแอนโธนี่ ปูลา” แห่งไฮเดอราบัด ประเทศอินเดีย และ “บิช็อปปีเตอร์ อ็อกปาเลเก้” แห่งเอ็กวูโลเบีย ประเทศไนจีเรีย



"ว่าที่คาร์ดินัล" แอนโธนี่ ปูล่า

ขอพูดถึงประวัติของอาร์คบิช็อปแอนโธนี่ ปูลา จากอินเดียก่อนแล้วกัน ท่านเกิดในครอบครัววรรณะ “จัณฑาล” หรือ “ดาลิต” ซึ่งเป็นวรรณะต่ำสุดของชาวฮินดู ในสังคมอินเดียไม่ยอมรับคนจากวรรณะนี้ การที่โป๊ปฟรานซิสแต่งตั้งท่านเป็นคาร์ดินัล หมายความว่า นี่คือคาร์ดินัลคนแรกที่มาจากวรรณะจัณฑาล ตรงกับคำพูดที่ว่า “คนสุดท้ายจะกลับกลายเป็นคนแรก”




"ว่าที่คาร์ดินัล" ปีเตอร์ อ็อกปาเลเก้



ส่วน บิช็อปปีเตอร์ อ็อกปาเลเก้ แห่งไนจีเรีย มีประวัติน่าสงสารและน่าสนใจไม่แพ้กัน


ย้อนกลับไปปี 2012 โป๊ปเบเนดิกต์ ที่ 16 แต่งตั้ง คุณพ่อปีเตอร์ อ็อกปาเลเก้ ให้เป็นบิช็อปแห่งอาฮีอารา (ช่วงนั้นเป็นปลายสมณสมัยของโป๊ปเบเนดิกต์) แต่ปัญหาดันเกิดขึ้นเมื่อสงฆ์และคริสตชนของอาฮีอารา “ไม่ยอมรับและต่อต้าน” บิช็อปคนใหม่ของพวกเขาอย่างรุนแรง เพียงเพราะชาวอาฮีอาร่าเป็นชาติพันธุ์เอ็มเบเซ่ แต่บิช็อปคนใหม่ของพวกเขาไม่ได้มาจากชาติพันธุ์นี้ การต่อต้านถึงขึ้นพิธีบวชบิช็อปใหม่ต้องไปจัดที่พื้นที่อื่น ไม่ได้จัดในพื้นที่อาฮีอารา และบิช็อปอ็อกปาเลเก้ ก็ไม่สามารถเข้าปกครองพื้นที่นี้ได้ (นึกภาพบิช็อปปกครองเขตนั้น แต่เข้าประจำพื้นที่ตัวเองไม่ได้)


ผลที่ตามมาคือ ปี 2013 โป๊ปฟรานซิสต้องแต่ตั้ง คาร์ดินัลจอห์น โอไนเยกัน อาร์คบิช็อปแห่งอาบูจา มาเป็นผู้แทนพระสันตะปาปาทำหน้าที่บริหารแทน (แต่บิช็อปอ็อกปาเลเก้ ก็ยังเป็นบิช็อปแห่งอาฮีอาราอยู่) 


เวลาผ่านไปจนถึงปี 2018 หรือ 6 ปีแห่งความทรมานผ่านพ้น บิช็อปอ็อกปาเลเก้ จึงยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่งต่อโป๊ปฟรานซิส ซึ่งพระองค์ก็ตอบรับ แล้วแต่งตั้งบิช็อปอ็อกปาเลเก้ให้ไปประจำที่เอ็กวูโลเบีย และล่าสุด โป๊ปฟรานซิสก็แต่งตั้งบิช็อปอ็อกปาเลเก้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกปฏิเสธ ให้เป็นคาร์ดินัล และนี่ก็ตรงกับคำว่า “คนสุดท้ายจะกลับกลายเป็นคนแรก”


เมื่อดูจากรายชื่อคาร์ดินัลใหม่ รวมถึงสัดส่วนคาร์ดินัลที่มีสิทธิ์เข้าร่วมการเลือกตั้งพระสันตะปาปาครั้งต่อไป ถ้อยคำที่ว่า “คนสุดท้ายจะกลับกลายเป็นคนแรก” ยิ่งมีพลังขึ้นไปอีก 


เราได้เห็นโป๊ปฟรานซิสพยายามกระจายตำแหน่งคาร์ดินัลออกไปตาม “พื้นที่ศาสนจักรคาทอลิกชายขอบ” พื้นที่ที่ในอดีตไม่มีใครพูดถึงหรือให้ความสนใจเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็น พม่า, ลาว, มองโกเลีย, บังคลาเทศ, ปาปัวนิกีนี, ตองกา หรือสาธารณรัฐแอฟริกากลาง

ส่วนเมืองใหญ่ในอิตาลีที่ปกติต้องมีคาร์ดินัล เช่น มิลาน, เวนิส, ตูริน, นาโปลี, ปาแลร์โม่ หรือเจนัว หรือจะเป็นเมืองใหญ่ในอเมริกาอย่าง ลอสแองเจลีส หรือ ฟิลาเดเฟีย โป๊ปฟรานซิสไม่ได้ให้ตำแหน่งคาร์ดินัลแต่อย่างใด เราจะเห็นว่า พระองค์พยายามกระจายความสำคัญออกไปยังทุกภาคส่วนของโลก ไม่ใช่จำนวนคาร์ดินัลกระจุกตัวอยู่แต่ในยุโรปเหมือนในอดีต


จากการประกาศรายชื่อคาร์ดินัลใหม่ครั้งล่าสุด ทำให้ตอนนี้ สมาชิกสภาคาร์ดินัล นับได้ตามนี้


  • สมาชิกทั้งหมด 229 คน

  • มีสิทธิ์เข้าร่วมการเลือกตั้งพระสันตะปาปาครั้งต่อไป 132 คน 

** ไม่นับ คาร์ดินัลอันเจโล่ เบ็คชู ที่ถูกโป๊ปฟรานซิสตัดสิทธิ์ เพราะมีคดีความทุจริตทางการเงิน ในความเป็นจริง เบ็ชชู ยังเป็นคาร์ดินัล แต่ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ต่อไป


และถ้าแบ่งคาร์ดินัลออกตามทวีปต่างๆ เราจะได้ตามภาพนี้ ซึ่งจะเห็นว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา มีจำนวนคาร์ดินัลมากถึง 7 คน (ฟิลิปปินส์, ไทย, พม่า, ลาว, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และ ติมอร์เลสเต้ …​สองชาติหลัง เพิ่งได้รับการประกาศแต่งตั้งครั้งล่าสุด)


แต่ที่อยากชี้ให้เห็นคือ คาร์ดินัลที่มีสิทธิ์เข้าร่วมการเลือกตั้งพระสันตะปาปาครั้งต่อไปและไม่ได้มาจากยุโรป มีสัดส่วนมากถึง 79 คน  จากทั้งหมด 132 คน (มากถึง 60 เปอร์เซนต์) นั่นหมายความว่า สัดส่วนคาร์ดินัลที่สมัยก่อนมีชาวยุโรปเยอะๆ เฉพาะอย่างยิ่งอิตาลี กำลังเริ่มจะลดน้อยลงเรื่อยๆ ตามแนวคิดของโป๊ปฟรานซิสที่ต้องการให้ความสำคัญกับทุกพื้นที่

ในจำนวนคาร์ดินัลที่จะมีสิทธิ์เข้าร่วมพระสันตะปาปาองค์ต่อไป นักข่าวสายวาติกันวิเคราะห์กันว่า มีอย่างน้อย 5 คนที่รักและเลือกดำเนินชีวิตตามแบบโป๊ปฟรานซิส ทั้ง 5 คนได้แก่


1. คาร์ดินัลปิเอโตร ปาโรลิน เลขาธิการนครรัฐวาติกัน (มีอำนาจเป็นอันดับ 2 ในวาติกันรองจากโป๊ปฟรานซิส)

2. คาร์ดินัลมัตเตโอ ซุปปิ แห่งโบโลญญ่า ประเทศอิตาลี คนนี้เพิ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาบิช็อปคาทอลิกแห่งอิตาลีไปเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา


3. คาร์ดินัลหลุยส์ อันโตนิโอ ตั๊กเล่ ชาวฟิลิปปินส์ ปัจจุบันเป็นสมณมนตรีแห่งสมณกระทรวงประกาศพระวรสารสู่ปวงชน 


4. คาร์ดินัลมาร์ก อวยเล็ต ชาวแคนาดา ปัจจุบันเป็นสมณมนตรีแห่งสมณกระทรวงเพื่อบิช็อป คนนี้เป็นสายอนุรักษ์นิยม แต่มีแนวคิดหลายอย่างแบบโป๊ปฟรานซิส


5. คาร์ดินัลฌอน โอมัลลี่ย์ แห่งบอสตัน สหรัฐอเมริกา (คณะภราดาน้อยคาปูชิน) นี่คือคาร์ดินัลอเมริกันที่ใช้ชีวิตช่วยเหลือคนยากไร้ในบอสตันและได้รับความเคารพอย่างมาก


ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นการเล่าให้เห็นภาพกว้างของการเลือกตั้งพระสันตะปาปาครั้งต่อไป ส่วนบทความหน้า ผมจะเขียนถึงคาร์ดินัลมัตเตโอ ซุปปิ แห่งโบโลญญ่า และเป็นประธานสภาบิช็อปคาทอลิกแห่งอิตาลี คนนี้นักข่าววาติกันที่เป็นชาวอิตาเลียนรักมาก รักยังไง เดี๋ยวครั้งหน้ามาติดตามกัน


Comments