การเลือกตั้งพระสันตะปาปาครั้งต่อไป

เผลอแป๊ปเดียว โป๊ปฟรานซิสดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปามา 9 ปี (ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาวันที่ 13 มีนาคม 2013) ปัจจุบัน พระองค์อายุ 85 ชันษา ส่วนสุขภาพก็อย่างที่เห็นกัน จริงอยู่ที่โป๊ปฟรานซิสยังดูแข็งแรง แต่อาการเอ็นเข่าฉีกขาดทำให้พระองค์ต้องนั่งรถเข็นและหมอก็สั่งให้ยกเลิกพันธกิจบางอย่าง เพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรงกว่านี้ เรื่องทั้งหมดเหล่านี้ นำไปสู่คำถามที่เริ่มถูกถามมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ “การเลือกตั้งพระสันตะปาปาครั้งหน้า” นั่นเอง 

Photo: Vatican Media


หากพิจารณาจากความเป็นจริง ต้องยอมรับว่า เราต้องคิดเรื่องพวกนี้ไว้บ้าง เพราะโป๊ปฟรานซิสอายุ 85 ชันษา หากคิดว่าพระองค์จะอยู่ในตำแหน่งอีก 5 ปี ก็จะเป็น 90 ชันษา หาก 10 ปี ก็จะ 95 ชันษา ไม่มีใครรู้ว่า พระองค์จะเลือกวิธีสละตำแหน่งแบบโป๊ปเบเนดิกต์ ที่ 16 หรือจะเลือกดำรงตำแหน่งไปจนวาระสุดท้ายของชีวิต 


สาเหตุที่ “การเลือกตั้งพระสันตะปาปาครั้งต่อไป” ถูกจุดขึ้นมาเป็นประเด็นสนทนา ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเกิดจากภาพที่พระสันตะปาปาต้องนั่งรถเข็น นักข่าวสายวาติกันหลายคน อาทิ ฟรานเชสโก้ กราน่า คนข่าวจาก อิล ฟัตโต โกติดีอาโน่ (Il Fatto Quotidiano) ผู้ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างสูงว่า “วงในของจริง” ก็ออกมาพูดถึงเรื่องนี้เช่นกัน


กราน่า บอกว่าการพูดคุยเรื่องการเลือกตั้งพระสันตะปาปาครั้งต่อไป ไม่ใช่เรื่องต้องห้าม เพราะช่วงปลายสมณสมัยของ โป๊ปจอห์น พอล ที่ 2 ในกลุ่มคาร์ดินัลก็มีการตั้งกลุ่มประชุม เพื่อถกกันเรื่อง “แนวทางการบริหารงานของพระสันตะปาปาองค์ใหม่ว่าควรเป็นแบบไหน และควรนำพาศาสนจักรคาทอลิกไปในทิศทางใด” ตัวอย่างที่โด่งดังคือกลุ่ม ซังค์ กัลเลน ซึ่งเป็นการรวมตัวแบบไม่เป็นทางการของบรรดาคาร์ดินัลและบิช็อปผู้มีแนวคิดสายปฏิรูปหัวก้าวหน้า (ปัจจุบัน กลุ่มนี้ได้สลายตัวไปตั้งแต่ปี 2014)


สมมติว่า การเลือกตั้งพระสันตะปาปาเริ่มตอนนี้เลย คาร์ดินัลที่มีสิทธิ์เข้าร่วมการเลือกตั้งจะมีทั้งหมด 117 คน 



คาร์ดินัลปิเอโตร ปาโรลิน


ในสายตาของ กราน่า คาร์ดินัลที่โดดเด่นและเป็นที่พูดถึง ได้แก่ คาร์ดินัลปิเอโตร ปาโรลิน (ชาวอิตาเลี่ยน วัย 67 ปี) ปัจจุบันเป็นเลขาธิการนครรัฐวาติกัน พูดให้เห็นภาพ ตำแหน่งนี้คือเบอร์สองในวาติกัน รองจากโป๊ปฟรานซิส แบ็กกราวน์ของคาร์ดินัลปาโรลินคือนักการทูตมาตลอด คนนี้คือมือขวาของโป๊ปฟรานซิสในการเจรจา




คาร์ดินัลมาริโอ เกร็ก

คาร์ดินัลมาริโอ เกร็ก (ชาวมอลตา วัย 65 ปี) เป็นอีกคนที่กราน่ากล่าวถึง ปัจจุบันเป็นเลขาธิการทั่วไปของการประชุมซินน็อต หากดูแบ็กกราวน์แล้ว คาร์ดินัลเกร็กเป็นสายอภิบาลที่รักการเสวนากับผู้ไม่มีความเชื่อในพระเจ้า คาร์ดินัลเกร็กมักจะตอบรับคำเชิญไปเสวนากับผู้ไม่เชื่อพระเจ้าอยู่เสมอ โดยบอกว่า “ชอบคุยแบบซึ่งๆหน้ามากกว่า เพราะจะได้อธิบายได้ชัด” นอกจากนี้ คาร์ดินัลเกร็กยังทำงานอภิบาลกลุ่มคนรักเพศเดียวกันด้วย ครั้งหนึ่งท่านพูดว่า “ถ้ามีใครเดินมาหาพ่อ แล้วบอกว่าอยากรู้จักพระเยซู ต่อให้เขาคนนั้นไม่เชื่อพระองค์ หรือจะเป็นคนรักเพศเดียวกัน พ่อไม่มีปัญหาเลย พ่อพร้อมช่วยพวกเขาทุกคนให้รู้จักพระเยซู”



คาร์ดินัลมัตเตโอ ซุปปิ


กราน่า ยังเอ่ยถึงชื่อของ คาร์ดินัลมัตเตโอ ซุปปิ อาร์คบิช็อปแห่งโบโลญญ่า (ชาวอิตาเลี่ยน วัย 66 ปี) ผู้ซึ่งได้รับเลือกเป็นประธานสภาคาทอลิกบิช็อปแห่งอิตาลีแบบสดๆร้อนๆเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา คาร์ดินัลซุปปิเป็นที่ยอมรับของกลุ่มอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมหัวก้าวหน้า คาร์ดินัลมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มที่ศรัทธามิสซาลาติน ขณะเดียวกัน กลุ่มหัวก้าวหน้าก็ชื่นชอบคาร์ดินัลท่านนี้ คาร์ดินัลซุปปิเคยออกมากล่าวถึงบทความของ คุณพ่อเจมส์ มาร์ติน สงฆ์เยสุอิตที่ทำงานอภิบาลกลุ่มคนรักเพศเดียวกันว่า “เป็นบทความที่เราต้องสนับสนุนและส่งเสริม นี่คือทัศนคติการอภิบาลรูปแบบใหม่ที่เราต้องช่วยให้คนรักเพศเดียวกันรู้สึกว่า ศาสนจักรก็เป็นบ้านของพวกเขา” อีกจุดเด่นของคาร์ดินัลซุปปิคือเป็นคนที่ใกล้ชิดกับผู้ยากไร้ ท่านอยู่ในกลุ่มซาน เอจิดิโอ ที่ช่วยเหลือคนยากจน นักข่าวสายวาติกันหลายคนมองว่า สไตล์การอภิบาลของคาร์ดินัลซุปปิ ใกล้เคียงกับโป๊ปฟรานซิสมากๆ 


ส่วนคาร์ดินัลอื่นๆ ที่ กราน่า พูดถึง ได้แก่ คาร์ดินัลคริสโตบัล โลเปซ โรเมโร่ อาร์คบิช็อปแห่งราบัต ประเทศโมร็อคโค (ชาวสแปนิช วัย 70 ปี ด้วยความที่สังกัดคณะซาเลเซียน จึงถูกมอบหมายให้ไปทำงานที่อเมริกาใต้และแอฟริกา กระทั่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาร์คบิช็อปที่โมร็อคโค) และ คาร์ดินัลทิโมธี โดแลน อาร์คบิช็อปแห่งนิวยอร์ค วัย 72 ปี 


หากพิจารณามุมมอง ฟรานเชสโก้ กราน่า คนข่าววาติกันที่คลุกคลีกับคาร์ดินัลหลายคนแบบวงในสุดๆ เขามองว่า ศาสนจักรต้องการพระสันตะปาปาองค์ใหม่ที่เป็นสาย “อ่อนนอก แข็งใน” อ่อนโยนเวลาคุยกับผู้คนในโลกที่เปลี่ยนไปและโลกที่ไม่เชื่อพระเจ้า ศาสนจักรต้องพร้อมช่วยเหลือทุกคน ไม่ใช่กีดกันใครออกไป ศาสนจักรต้องไม่กีดกัน เกลียดชัง และแบ่งแยกว่าเจ้าเป็นคนบาป เราไม่ใช่คนบาป เราได้หรรษทานจากพระ ส่วนคนอื่นไม่ได้หรรษทาน ขณะเดียวกัน ผู้นำศาสนจักรต้องมีจุดยืน เข้มแข็ง และหนักแน่นในความเชื่อ แต่ไม่ใช่หนักแน่นแบบพวกฟาริสี ที่เอากฏเกณฑ์มาเป็นเกราะป้องกันตัวเอง


สำคัญสุด พระเจ้าเลือกมาบังเกิดและใช้ชีวิตอย่างต่ำต้อยและยากจน พระเจ้าเลือกมาใช้ชีวิตแบบมนุษย์ด้วยความเรียบง่ายดังที่เราได้เห็นและได้ยินในพระวรสารทุกสัปดาห์ ดังนั้น คนที่เป็นพระสันตะปาปาหรือผู้นำศาสนจักรน่าจะใส่ใจแนวทางการดำเนินชีวิตแบบนี้อย่างจริงจัง ใส่ใจช่วยเหลือคนยากจนอย่างจริงใจแบบพระเยซู หรืออย่างน้อยก็แบบโป๊ปฟรานซิส ผู้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแบบจับต้องได้ ไม่ใช่หลงไปกับเงินและอำนาจ จนลืมไปว่า แท้จริงแล้วพระเยซูทรงใช้ชีวิตอย่างไร 


Comments