โป๊ปฟรานซิส "วัฒนธรรมแห่งความสุขสบายทำให้เราคิดถึงแต่ตัวเอง"

โป๊ปฟรานซิสถวายมิสซาวันที่ 8 กรกฏาคม 2020/ Photo: Vatican Media



ใจความสำคัญจากบทเทศน์มิสซาที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสถวาย ประจำวันที่ 8 กรกฏาคม 2020 

มิสซานี้วันนี้ยังเป็นโอกาสพิเศษครบ 7 ปีที่พระสันตะปาปาฟรานซิสเสด็จเยือน "ลัมเปดูซ่า ประเทศอิตาลี" เพื่อเยี่ยมและให้กำลังใจบรรดาผู้ลี้ภัย  

ใครที่เคยดูภาพยนตร์ The Two Popes น่าจะคุ้นชื่อนี้ดี เพราะมีฉากที่พระสันตะปาปาโทรไปจองตั๋วเดินทางไป "ลัมเปดูซ่า" แล้วโอเปอเรเตอร์ไม่เชื่อว่าเสียงปลายสายคือพระสันตะปาปา (ฉากดังกล่าวเป็นเรื่องสมมติ) แต่ที่เป็นเรื่องจริงก็คือลัมเปดูซ่าคือ "ทริปการเดินทางออกนอกกรุงโรมครั้งแรก" ที่พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงทำ หลังจากได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา

ลัมเปดูซ่า ถือเป็นเมือง "หน้าด่าน" ของทวีปยุโรปในการรับชาวแอฟริกันเข้าสู่ทวีปแห่งนี้ ระยะทางจากตูนิเซียซึ่งอยู่แอฟริกาเหนือ มาถึงลัมเปดูซ่า ประเทศอิตาลี วัดได้ 113 กิโลเมตร โดยชาวแอฟริกันที่อพยพมายุโรป จะล่องเรือและลอยอยู่บนทะเลประมาณ 2 วัน จึงจะมาถึงอิตาลี กระนั้น มีผู้อพยพจำนวนมากต้องจบชีวิตกลางทะเลเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน รวมถึงอุบัติเหตุเรืออับปางกลางทะเล 

สำหรับใจความสำคัญบทเทศน์มิสซานี้ มีดังนี้

1) วัฒนธรรมแห่งความสุขสบายทำให้เราคิดถึงแต่ตัวเอง ทำให้เราไม่รู้สึกทุกข์ร้อนต่อเสียงกรีดร้องของคนอื่น มันคือโลกาภิวัฒน์ของความเมินเฉย (The globalization of indifference) เราเริ่มเคยชินต่อความทุกข์ของคนอื่น คุ้นชินแล้วว่า "มันไม่เกี่ยวอะไรกับเรานี่นา มันไม่ใช่เรื่องของเราซะหน่อย"

2) พระเยซูสอนเราว่า "ทุกสิ่งที่ท่านทำต่อพี่น้องที่ต้อยต่ำ ท่านก็ทำต่อตัวเราเอง" พระเยซูมาเคาะประตูเรียกเราในรูปแบบของผู้หิวโหย หิวกระหาย คนที่ไม่มีเครื่องนุ่งห่ม คนป่วย คนที่ถูกจองจำ รวมถึงคนที่มาขอความช่วยเหลือจากเรา การได้ออกไปพบปะผู้คนคือการได้พบปะกับพระคริสตเจ้า 

3) พระสันตะปาปาทรงใช้โอกาสนี้แบ่งปันว่า พระองค์นึกถึงค่ายกักกันใน "ลิเบีย" ที่ผู้อพยพกลายเป็นผู้ถูกกระทำอย่างโหดร้าย พระสันตะปาปาบอกว่า เรารู้ว่าสงครามนั้นเลวร้ายแล้ว แต่เราไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่า นรกที่ผู้ถูกกักกันในค่ายนั้นเลวร้ายขนาดไหน พวกเขาเดินทางลี้ภัยด้วยความหวังและข้ามน้ำข้ามทะเลมาเพื่อหาชีวิตใหม่เท่านั้น

Comments