โป๊ปฟรังซิส - การแสวงหาความก้าวหน้าจากการเป็นสงฆ์ คือหายนะร้ายแรงสุดในพระศาสนจักร

  • สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงเตือน การแสวงหาความก้าวหน้าจากการเป็นสงฆ์ คือหายนะร้ายแรงสุดในพระศาสนจักร ถ้าความก้าวหน้าไม่ใช่เรื่องเงิน ก็เป็นเรื่องอำนาจและความทะนงตน 

  • ทรงย้ำ การที่พระสงฆ์บางคนดูแลสัตบุรุษร่ำรวย แบบ "สัตบุรุษเฟิร์สคลาส" และพยายามหาจังหวะแต่งตั้งคนรวยให้มีสถานะสำคัญ อาทิ "สังฆานุกร" การทำแบบนี้ไม่ต่างจากการแสวงหาความก้าวหน้าจากการเป็นสงฆ์ 

  • ทรงชี้ เมื่อฆราวาสมีบทบาทเข้มแข็งและเริ่มเป็นแนวหน้าในการแพร่ธรรม คนแรกที่จะรู้สึกอึดอัดก็คือสงฆ์บางคน ถ้าพระสงฆ์มัวแต่ทำตัวรีบๆ และหมกมุ่นกับปัญหาการบริหารจัดการ ที่นั่นจะไม่มีกระแสเรียกของการเป็นสงฆ์ พึงระลึกว่า ความล้มเหลวในการส่งเสริมกระแสเรียกในท้องถิ่นหมายถึงการฆ่าตัวตายชัดๆ 

  • ทรงตั้งข้อสังเกตหลักสูตรฝึกอบรมเตรียมเป็นพระสงฆ์ ยังขาดเรื่อง "การวินิจฉัยแยกแยะให้เป็น" ผลที่ตามมาคือพระสงฆ์หลายคนมองสิ่งต่างๆ แค่ "ขาวหรือดำ" เท่านั้น 

  • ทรงแบ่งปัน แม้แต่คนที่มีเจตนาร้ายที่สุดวิจารณ์พระสันตะปาปา มันก็มีประโยชน์เช่นกัน เพราะมันทำให้พระองค์ได้คิดไตร่ตรองคำวิจารณ์ ถ้าเราไม่สนใจคำวิจารณ์ เราจะเป็นพวกไม่หัดดูตัวเอง




"ลา ชิวิลต้า คัตโตลิก้า" นิตยสารคาทอลิกภายใต้การดูแลของคณะเยสุอิต ตีพิมพ์พระดำรัสที่ สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ตรัสกับที่ประชุมสมัชชาคณะเยสุอิต ครั้งที่ 36 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา พระดำรัสเหล่านี้ เป็นการถามสดๆ จากสมาชิกเยสุอิต และพระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงตอบกลับแบบสดๆ เช่นกัน ประเด็นสำคัญมีดังนี้

คำถามเรื่องกระแสเรียกลดลงเยอะมาก เราจะส่งเสริมกระแสเรียกในท้องถิ่นอย่างไร อาทิ การแต่งตั้งสัตบุรุษเป็นสังฆานุกรดีไหม

- พระสันตะปาปาตรัสตอบว่า สมัยพระองค์เป็นพระสังฆราชอยู่ที่บัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา มีพระสงฆ์หลายคนมาพูดกับพระคาร์ดินัลแบร์โกโญ่ (พระสันตะปาปา ฟรังซิส) ว่า ในเขตวัดของตนเอง มีสัตบุรุษรวยๆ หลายคน เมื่อพระคาร์ดินัลแบร์โกโญ่ได้ยินเช่นนี้ สิ่งแรกที่คิดในใจคือ สงฆ์เหล่านี้กำลังทำให้สัตบุรุษรวยๆ กลายเป็นชนชั้นหนึ่งในเขตวัด จากนั้น พระสงฆ์เหล่านั้นถามพระคาร์ดินัลแบร์โกโญ่ว่า 'ท่านคิดอย่างไรเกี่ยวกับการแต่งตั้งสัตบุรุษรวยๆ เหล่านี้เป็นสังฆานุกร' เรื่องนี้ พระคาร์ดินัลแบร์โกโญ่ไม่ชอบใจมาก เพราะการแต่งตั้งคนรวยเป็นสังฆานุกรคือการตอบคำถามไม่ตรงจุด การทำแบบนี้คือการแสวงหาความก้าวหน้าจากการเป็นสงฆ์ ประเด็นเรื่องการแสวงหาความก้าวหน้าจากการเป็นสงฆ์ไม่ได้ช่วยให้พระศาสนจักรเติบโต มันไม่ได้ทำให้ความเข้มแข็งของศีลล้างบาปเติบโตขึ้นเลย ตรงกันข้าม มันสร้างปัญหาการเสพติดอำนาจและทำให้สัตบุรุษไม่มีวุฒิภาวะด้วย

- เมื่อวิถีชุมชนคริสตชนปรากฎออกมา ชุมชนเหล่านี้จะทำให้เกิดการถกเถียงอย่างจริงจัง เพราะเมื่อฆราวาสเริ่มจะมีบทบาทเข้มแข็งในแถวหน้า คนแรกที่จะรู้สึกอึดอัดก็คือสงฆ์บางคน พ่อไม่ได้ด่วนสรุป แต่พ่อกำลังหมายความว่าอย่างนั้น เรื่องกระแสเรียกลดลงอย่างมาก จะมีการหารือกันในการประชุมสมัชชาพระสังฆราชคาทอลิกครั้งต่อไป พ่อเชื่อว่ากระแสเรียกยังมีอยู่ แต่คำถามง่ายๆ ก็คือกระแสเรียกได้รับการนำเสนอและเอาใจใส่มากแค่ไหน

- ถ้าพระสงฆ์มัวแต่ทำตัวรีบๆ และหมกมุ่นกับปัญหาการบริหารจัดการ ถ้าพระสงฆ์ไม่สวมหมวกผู้นำด้านกระแสเรียกฝ่ายจิต แต่เป็นฆราวาสที่ขึ้นมานำแล้วพระสงฆ์ต้องตาม ถ้าพระสงฆ์ไม่เข้ามามีส่วนร่วม แต่ไปเรียกฆราวาสให้มามีส่วนร่วมกับความเข้าใจในกระแสเรียก มันก็ชัดเจนว่า ที่นั่นจะไม่มีกระแสเรียกของการเป็นสงฆ์ พึงระลึกว่า ความล้มเหลวในการส่งเสริมกระแสเรียกในท้องถิ่นหมายถึงการฆ่าตัวตายชัดๆ ความล้มเหลวแบบนี้หมายถึงพระศาสนจักรที่เป็นหมัน ไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ นี่เป็นเรื่องที่น่าห่วงมากๆ

- กลับมาที่เรื่องการแสวงหาความก้าวหน้าจากการเป็นสงฆ์ นี่คือหายนะร้ายแรงสุดในพระศาสนจักรทุกวันนี้ การแสวงหาความก้าวหน้าจากการเป็นสงฆ์คือความร่ำรวย ถ้ามันไม่ได้หมายถึงความรวยในตัวเงิน มันก็หมายถึงความทะนงตน มันเป็นความร่ำรวยที่เกิดการยึดติดกับการครอบครองสิ่งต่างๆ การแสวงหาความก้าวหน้าจากการเป็นสงฆ์คือรูปแบบที่ร้ายแรงสุดของความร่ำรวยที่พระศาสนจักรต้องทนทุกข์ในยุคนี้

คำถามเรื่องความกล้าในการเป็นประกาศก

- พระสันตะปาปาตรัสตอบว่า ความกล้าไม่ได้หมายความว่ากล้าทำให้เกิดเสียงดังขึ้น แต่มันยังหมายถึงทำให้เกิดเสียงดังและต้องทำให้ดีด้วย ต้องรู้ว่าจะทำอย่างไรและทำเมื่อไหร่ แต่สิ่งสำคัญสุดคือเราต้องแยกแยะให้ได้ก่อนว่า เราควรจะทำให้เกิดเสียงนี้หรือไม่ บางครั้ง เสียงประกาศกนี้คือการต่อสู้กับการโกงในบางประเทศ

คำถามเรื่อศีลธรรม

- พ่อสังเกตถึงการขาดหายไปในการวินิจฉัยสิ่งต่างๆ ในหลักสูตรฝึกอบรมพระสงฆ์ เรากำลังเดินอยู่บนหนทางที่เสี่ยงมากๆ กับความเคยชินที่มองสิ่งต่างๆ แค่ขาวหรือดำ

การโดนวิจารณ์เสียๆ หายๆ 

- พ่อคิดว่า แม้แต่คนที่มีเจตนาร้ายกับเราที่สุดซึ่งวิจารณ์เรา ก็เป็นประโยชน์กับเราได้นะ พ่อเชื่อว่า มันสำคัญกว่านั้นที่จะรับฟังและไตร่ตรองคำวิจารณ์ของเขา เราต้องอย่าปิดประตูใส่คำวิจารณ์ เพราะถ้าทำแบบนั้น เราจะเคยชินกับการปิดประตูใส่คนอื่น และไม่หันมามองดูตัวเองเลย