โป๊ปฟรังซิส - พ่อไม่ชอบเทศน์โดยอ่านจากกระดาษที่เตรียมไว้ เพราะทำให้พ่อมองตาสัตบุรุษไม่ได้

  • สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงเผย พระองค์เป็นคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเทศน์โดยอ่านจากแผ่นกระดาษที่เตรียมไว้ เพราะวิธีนี้จะทำให้มองตาสัตบุรุษไม่ได้ และไม่รู้ว่าบทเทศน์นั้น เข้าไปสัมผัสจิตใจเขาหรือเปล่า นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมพระองค์ถึงเลี่ยงเทศน์ในมิสซาด้วยการอ่านจากแผ่นกระดาษอยู่เสมอ
  • ทรงแบ่งปันวิธีเตรียมเทศน์ในมิสซา พระองค์จะเตรียมล่วงหน้า 1 วัน โดยจะอ่านพระวรสารและบทอ่านของมิสซาวันพรุ่งนี้ออกมาดังๆ แล้วจะวงกลมประโยคที่โดนใจ จากนั้นจะไปรำพึงไตร่ตรองดูว่า จะเทศน์อย่างไร ถ้าหากคิดไม่ออกว่าจะเทศน์เรื่องอะไร วิธีที่ใช้คือ "นอนหลับพร้อมคิดถึงพระวรสารและบทอ่านของวันพรุ่งนี้" เพราะพอตื่นมาแล้ว แรงบันดาลใจจะออกมาเอง
  • ทรงสอน การใกล้ชิดสัตบุรุษ จะช่วยพระสงฆ์เทศน์ได้ดีขึ้น แต่ถ้าพระสงฆ์ถอยห่างจากสัตบุรุษ พระสงฆ์จะเทศน์ไม่รู้เรื่อง จะเทศน์ในเรื่องที่จับต้องไม่ได้ และบ่อยครั้ง เทศน์ในเรื่องที่สัตบุรุษไม่ได้อยากรู้



ช่วงสายวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คุณพ่ออันโตนิโอ สปาดาโร่ สงฆ์เยสุอิต ได้ทำการเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ชื่อว่า "Nei tuoi occhi è la mia parola" แปลเป็นไทยประมาณว่า "คำพูด (บทเทศน์) ของพ่อ ในดวงตาของท่าน" หนังสือเล่มนี้ คุณพ่อสปาดาโร่ ได้รวบรวมบทเทศน์ของสมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส สมัยยังเป็นพระอัครสังฆราชแห่งบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ตั้งแต่ค.ศ.1990-2013 และมีบทเทศน์ทั้งหมดกว่า 1,000 บท นอกจากนี้ ยังมีบทสัมภาษณ์พระสันตะปาปา ฟรังซิส ประกอบในเล่มด้วย

เนื้อหาภายในหนังสือเล่มนี้ พระสันตะปาปาทรงแบ่งปันเชิงลึกเกี่ยวกับการเตรียมตัวเทศน์ในมิสซา โดย Pope Report ได้อ่านเนื้อหาคร่าวๆ จากเพื่อนนักข่าวสายวาติกันที่ส่งมาให้ รายละเอียดต่างๆ มีดังนี้

- พระสันตะปาปา ฟรังซิส แบ่งปันว่า สมัยยังเป็นเณร พระองค์เป็นคนที่ไม่เห็นด้วยอย่างแรงกับบทเทศน์ที่เขียนเตรียมไว้ในกระดาษ พระองค์เคยตอบอาจารย์ในบ้านเณรที่ถามว่าทำไมไม่เขียนบทเทศน์ลงกระดาษ ไปว่า "ถ้าเราอ่านบทเทศน์จากแผ่นกระดาษ เราจะไม่มีทางมองตาสัตบุรุษได้เลย"

- แม้ทุกวันนี้ การเป็นพระสันตะปาปาจะต้องเทศน์โดยการอ่านจากแผ่นกระดาษที่เราเตรียมไว้ (เพื่อป้องกันความผิดพลาดและป้องกันการถูกบิดเบือน) แต่พ่อก็พยายามจะมองตาสัตบุรุษที่ร่วมพิธีอยู่ในลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตรอยู่เสมอ แม้ว่า สัตบุรุษจะมีจำนวนมหาศาล แต่พ่อพยายามโฟกัสด้วยการมองผู้ฟังอย่างน้อย 1-2 คน มองไปที่หน้าเขาเพื่อดูว่าเขาสัมผัสอะไรได้บ้าง บางครั้ง มันอาจใช้วิธีมองตาค่อนข้างยาก เพราะระยะทางระหว่างจุดที่พ่อยืนเทศน์กับที่นั่งสัตบุรุษมันไกลกันมาก แต่พ่อก็พยายามเต็มที่ แม้บางครั้งจะไม่สำเร็จก็ตาม

- เวลาพ่อเทศน์แล้วมองตาสัตบุรุษ พ่อจะรู้เลยว่า บทเทศน์นี้สัมผัสจิตใจของเขาไหม ถ้าพ่อมองไปที่สัตบุรุษหนึ่งคน สัตบุรุษคนอื่นจะเริ่มรู้สึกว่าพวกเขาก็ถูกพ่อสอดสายตามองด้วย เวลาถวายมิสซาที่มีสัตบุรุษมากๆ พ่อจะมองไปที่ตัวบุคคล แบบทีละคน ไม่ใช่มองไปที่ฝูงชนแบบไม่โฟกัสอะไรเลย

- นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมพ่อถึงพยายามเลี่ยงจะเทศน์ด้วยการอ่านจากกระดาษที่เตรียมไว้ พ่อมักจะใส่คำพูดเพื่อแสดงความรู้สึกนอกเหนือจากที่ใส่บนแผ่นกระดาษ

- สำหรับการเตรียมบทเทศน์มิสซาเช้าในวัดน้อยของหอพักซางตา มาร์ธา พ่อจะเตรียมช่วงบ่ายก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน พ่อจะมารำพึงพระวรสารและบทอ่านของมิสซาวันพรุ่งนี้ พ่อจะอ่านพระวรสารและบทอ่านออกมาดังๆ จากนั้น พ่อจะจดออกมาว่าเรื่องไหนที่โดนใจพ่อมากที่สุด พ่อจะวงกลมประโยคนั้นไว้ แล้วพ่อจะไปเตรียมต่อในช่วงที่เหลือของวัน โดยผ่านทางการรำพึงและไตร่ตรอง

- แต่มันก็มีบ้างนะที่บางวัน พ่อคิดไม่ออกจริงๆ ว่าจะเทศน์เรื่องอะไรดี หากเจอกรณีนี้ พ่อจะทำตามที่นักบุญอิ๊กญาซีโอสอน นั่นคือ 'นอนคิดถึงพระวรสารและบทอ่านของวันพรุ่งนี้ และเมื่อตื่นขึ้นมา แรงบันดาลใจมันจะออกมาเอง' บางครั้ง มันก็ออกมาดี บางครั้งก็ไม่มี แต่นี่แหละคือการเตรียมบทเทศน์และบอกกับตัวเองว่า เราพร้อมเทศน์แล้ว

- การได้พบปะสัตบุรุษและใกล้ชิดกับพวกเขา ช่วยพ่อเรื่องการเทศน์ได้มากด้วยนะ ยิ่งคุณใกล้ชิดสัตบุรุษมากเท่าไหร่ คุณก็จะเทศน์ได้ดีมากขึ้นเท่านั้น คุณจะรู้ถึงปัญหาชีวิตของสัตบุรุษ และคุณจะสามารถนำพระวาจาของพระเจ้าไปสู่ชีวิตของเขา

- เช่นเดียวกัน ยิ่งคุณถอยห่างจากสัตบุรุษมากแค่ไหน คุณก็จะสื่อสารกับพวกเขาไม่รู้เรื่อง พูดในสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ว่างเปล่า และบางครั้ง บทเทศน์ของคนที่ถอยห่างจากสัตบุรุษ ก็จะเป็นคำตอบที่ไม่มีใครถามหาด้วยซ้ำ