สรุปผลการลงมติรับรองการประชุมสมัชชาพระสังฆราชคาทอลิก เรื่องครอบครัว



- หัวข้อการประชุมหลักๆ ครั้งนี้อยู่ที่เรื่องการอภิบาลครอบครัว หากเจาะลึกลงไปอีก เรื่องหลักจริงๆ จะมี 2 เรื่อง ได้แก่ "คาทอลิกที่หย่าร้างและไปแต่งงานใหม่ จะรับศีลมหาสนิทได้หรือไม่ และ การอภิบาลผู้ที่รักเพศเดียวกัน" ส่วนเรื่องอื่นๆ ได้แก่ความรุนแรงในครอบครัว, การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง และสิ่งลามกอนาจารที่คุกคามครอบครัว

- หลังการประชุมเสร็จสิ้นลง ได้มีการร่างเอกสารออกมา 94 หัวข้อ ซึ่งที่ประชุมต้องลงมติรับรองทุกหัวข้อ การที่หัวข้อเหล่านี้จะได้รับการเห็นชอบ จะต้องได้รับคะแนนเสียง 2 ใน 3 จากผู้เข้าร่วมการประชุม (ผู้ร่วมการประชุมสมัชชาที่มีสิทธิ์ลงคะแนน มี 265 คน โดยคะแนน 2 ใน 3 อยู่ที่ 177 เสียง)

- หัวข้อที่ "ผ่านความเห็นชอบแบบเฉียดฉิว" ได้แก่ หัวข้อ 85 ที่เป็นเรื่อง "Familiaris consortio" (หลักเกณฑ์ทั่วไป) รายละเอียดคือ "เป็นความรับผิดชอบของผู้อภิบาลที่จะต้องเดินร่วมทางไปกับผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์นี้ (คาทอลิกหย่าร้างและไปแต่งงานใหม่) หนทางของการวินิจฉัยตามคำสอนของพระศาสนจักรและภายใต้การชี้แนะของพระสังฆราช ... หัวข้อนี้ ได้รับการรับรองเพียงแค่ 178 เสียง ซึ่งเรียกว่าเฉียดฉิวมากๆ เพราะคะแนน 2 ใน 3 อยู่ที่ 177 เสียง

- ย้ำอีกครั้งว่า หัวข้อ 85 ไม่ได้แนะนำและไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ให้คาทอลิกที่หย่าร้างและไปแต่งงานใหม่รับศีลมหาสนิท เพียงแต่สนับสนุนให้ผู้อภิบาล "วินิจฉัยเป็นรายกรณีไป" และทุกอย่างจะเกิดขึ้น "ภายใต้กระบวนการวินิจฉัยของพระศาสนจักรและพระสังฆราช" อาทิ ความรอดฝ่ายวิญญาณ หรือเพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ของลูก

- พระศาสนจักรเรียกร้องให้คาทอลิกที่หย่าร้างและไปแต่งงานใหม่ รู้จักตรวจสอบความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนเอง โดยผ่านทางกระบวนการไตร่ตรองและเป็นทุกข์ถึงบาปที่เกิดขึ้น คาทอลิกที่หย่าร้างและไปแต่งงานใหม่ควรถามตัวเองว่า ตนดูแลลูกๆ อย่างดีหรือเปล่าเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาที่เกิดปัญหานี้ ได้เข้าสู่ภาวะวิกฤติ และยังต้องถามตัวเองว่า ได้พยายามอย่างเต็มที่หรือยังในการหาทางคืนดีกัน

- กล่าวโดยสรุป การประชุมนี้ "ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลักความเชื่อและหลักคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิก อาทิ คุณค่าของครอบครัว" แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่อ่อนโยนมากขึ้นคือ "การแสดงความเข้าใจต่อสถานการณ์ยากลำบากของคาทอลิกที่หย่าร้างและไปแต่งงานใหม่"

- นอกจากนี้ หัวข้อ 84 ระบุว่า "คาทอลิกที่หย่าร้างและไปแต่งงานใหม่ตามแบบพิธีตามกฏหมายบ้านเมือง (ไม่ได้แต่งงานตามพิธีคาทอลิก) เขาจำเป็นต้องเข้ามาอยู่ในกลุ่มคริสตชนให้มากยิ่งขึ้นเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ เพื่อจะช่วยเขาให้สัมผัสว่า เขาไม่ได้เป็นแค่ส่วนหนึ่งในพระศาสนจักรเท่านั้น แต่การที่เขาได้เป็นส่วนหนึ่งในพระศาสนจักรยังเป็นความชื่นชมยินดีและบังเกิดผลด้วย

- อย่างไรก็ตาม รูปแบบการมีส่วนร่วมนี้ยังต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป เช่น ความจริงก็คือคาทอลิกที่หย่าร้างและแต่งงานใหม่ไม่สามารถเป็น "พ่อทูลหัวหรือแม่ทูลหัว", ไม่สามารถสอนคำสอน และไม่สามารถอ่านบทอ่านได้ แต่สิ่งเหล่านี้สามารถเอาชนะได้ เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่รู้สึกว่า ตนเองถูกขับไล่ออกจากพระศาสนจักร แต่พวกเขาจะได้รู้สึกว่าตนเองต้องดำเนินชีวิตและเติบโตขึ้นในฐานะสมาชิกของพระศาสนจักร พวกเขาจะรู้สึกถึงความเป็นแม่ที่ต้อนรับอยู่เสมอ

- การดูแลคนเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่า ความเชื่อของกลุ่มคริสตชนอ่อนแอลง และก็ไม่ได้หมายความว่าประจักษ์พยานต่อการแต่งงานที่ลบล้างไม่ได้จะอ่อนแอลงไป ตรงกันข้าม พระศาสนจักรได้แสดงออกถึงความเมตตาผ่านทางการดูแลพวกเขา

- ส่วนหัวข้อ 76 เป็นเรื่องการเดินร่วมทางไปกับครอบครัวที่เผชิญสถานการณ์ว่า สมาชิกในครอบครัวมีแนวโน้มเบี่ยงเบนทางเพศ ใจความสำคัญระบุว่า "พวกเขาต้องได้รับความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และต้องได้รับการต้อนรับด้วยความเคารพ" อย่างไรก็ตาม พระศาสนจักรยังไม่เปลี่ยนแปลงหลักคำสอนที่ว่า การแต่งงานต้องเกิดระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น (สรุปคือไม่เห็นชอบกับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน)

ทั้งนี้ สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงกล่าวปิดการประชุมสมัชชาพระสังฆราชคาทอลิก เรื่องครอบครัว เมื่อช่วงค่ำวันเสาร์ที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา ใจความว่า

- สำหรับพระศาสนจักร การประชุมสมัชชาพระสังฆราชคาทอลิกเป็นเรื่องของการเป็นประจักษ์พยานต่อทุกคนว่า เราไม่เห็นด้วยกับผู้ที่สอนให้ขว้างก้อนหินใส่คนอื่น (พูดให้เข้าใจคือ "ไม่เห็นด้วยกับการใช้หลักความเชื่อมาลงโทษคนอื่น")

- ผู้ปกป้องหลักความเชื่อที่แท้จริง ไม่ใช่คนที่ยึดติดตามตัวอักษร

- บางครั้ง พระศาสนจักรชอบใช้ภาษาที่สวยหรู แต่มันดูล้าสมัยมากๆ และยังสื่อความหมายได้ไม่สมบูรณ์อีกด้วย

Comments