โป๊ปฟรังซิส: "พระคาร์ดินัลต้องมีเมตตา อดทนอดกลั้น อย่าเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางทุกสิ่ง"

สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงย้ำ พระคาร์ดินัลต้องเปี่ยมด้วยความเมตตา ต้องมีความอดทนอดกลั้น ต้องไม่อวดดี ไม่ทะนงตน อย่าเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง ทรงชี้ ความเมตตาไม่ใช่ความฉุนเฉียว ถ้าโกรธและอารมณ์จะปะทุ ก็ต้องให้อภัย พร้อมกันนี้ วาติกันประกาศรายชื่อวัดที่พระคาร์ดินัลเกรียงศักดิ์จะได้ปกครองในกรุงโรมแล้ว ได้แก่ วัดซานตา มารีอา อัดโดโลราต้า (วัดแม่พระมหาทุกข์) นั่นเอง




ช่วงสายวันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงประกอบพิธีสถาปนาพระคาร์ดินัลใหม่ 20 องค์ ภายในมหาวิหารนักบุญเปโตร วาติกัน หนึ่งในพระคาร์ดินัลใหม่นี้ ได้แก่ พระคาร์ดินัล ฟรังซิส เซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช แห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ ประเทศไทย นอกจากนี้ พิธีนี้ สมเด็จพระสันตะปาปากิตติคุณ เบเนดิกต์ ที่ 16 ก็มาร่วมพิธีด้วย

สำหรับบทเทศน์ประจำพิธีนี้ พระสันตะปาปาทรงกล่าวว่า "ตำแหน่งพระคาร์ดินัล แน่นอนมันคือเกียรติ แต่มันไม่ใช่เกียรติยศสูงศักดิ์ สิ่งนี้ เราเรียนรู้ได้จากชื่อของมันอยู่แล้ว คาร์ดินัลมาจากคำว่า 'cardo' (คาร์โด) แปลว่า บานพับ นี่ไม่ใช่เครื่องประดับ ไม่ใช่ของตกแต่งเหมือนกับชื่อตำแหน่งที่มีชื่อเสียงทรงเกียรติ แต่ตำแหน่งพระคาร์ดินัลคือแกนหลัก คือตำแหน่งของการสนับสนุนและขับเคลื่อนเพื่อชีวิตของกลุ่มคริสตชน

"ในพระศาสนจักร ขั้นตอนการทำงานทุกอย่างเริ่มจากความรักความเมตตา ทุกอย่างต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความรักความเมตตา และต้องถูกนำพาไปสู่ความรักความเมตตา ที่นี่ก็เช่นกัน พระศาสนจักรแห่งกรุงโรมได้ปฏิบัติแบบอย่างอันดีงามนี้ พระศาสนจักรถูกเรียกมาเพื่อรับผิดชอบทุกสิ่งด้วยความรักความเมตตา

"ด้วยเหตุนี้ พ่อเชื่อว่าเรื่องความเมตตาในจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ ฉบับที่ 1 จะเป็นสิ่งนำทางสำหรับการเฉลิมฉลองนี้และสำหรับงานอภิบาลของท่านด้วย เฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่วันนี้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล พวกเราทุกคน ตัวพ่อเองและพวกท่านทุกคนที่อยู่กับพ่อตรงนี้ จะต้องให้เราได้รับการนำทางจากและรับแรงบันดาลใจจากนักบุญเปาโล เฉพาะอย่างยิ่งในเนื้อหาที่ท่านระบุเรื่องความเมตตา

"นักบุญเปาโลบอกเราถึงความเมตตาว่า เหนือสิ่งอื่นใดแล้ว ความเมตตาคือความอดทนและความอ่อนโยนความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ในการรับใช้พระศาสนจักร หัวใจของเราต้องแผ่ออกไปตามขนาดหัวใจของพระคริสตเจ้า

"ความอดทน ความอดกลั้น คือความรู้สึกที่เหมือนกันกับความเป็นคาทอลิก มันหมายถึงการที่จะรักใครแบบไม่มีขอบเขต มันหมายถึงการรักโดยไม่เมินเฉยต่อสิ่งเล็กๆ

"การที่จะเรียนรู้ความรักโดยผ่านทางความกรุณา ความเมตตากรุณาหมายถึงการหนักแน่นและการยืนหยัดในความตั้งใจที่จะทำแต่สิ่งดีงามต่อผู้อื่น แม้กับผู้ที่ไม่เป็นมิตรกับเราด้วย

"นักบุญเปาโลยังกล่าวต่อไปอีกว่า ความเมตตาคือการไม่อิจฉาหรือการอวดดี มันไม่ใช่การยกตัวสูงขึ้นด้วยความทะนงตน ... พวกเราทุกคน ทุกช่วงอายุ ล้วนแต่แพ้ต่อความอิจฉาและความทะนงตน เพราะธรรมชาติของเราเกิดบาดแผลจากบาป ... นักบุญเปาโลยังกล่าวอีกว่า ความเมตตาไม่ใช่ความหยิ่งยะโสหรือหยาบคาย ไม่ใช่การยืนหยัดทำตามแนวทางของตัวเอง ทั้งสองลักษณะนี้แสดงให้เห็นถึงคนที่ตั้งมั่นอยู่ในความเมตตาและไม่ยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง

"การเอาตัวเป็นศูนย์กลางกลายเป็นการไม่เคารพกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บ่อยครั้ง เราไม่ได้สังเกตเรื่องนี้ เพราะความเคารพคือความสามารถล้ำค่าที่จะยอมรับผู้อื่น ยอมรับศักดิ์ศรีของเขา สถานะของเขา และความต้องการของพวกเขา การเอาตัวเองเป็นที่ตั้งทำให้เรามองแต่ความต้องการของตัวเอง เราจะคิดว่าสิ่งนั้นเฉยๆ แม้มันจะเป็นเรื่องสำคัญก็ตาม

"อย่างไรก็ตาม ความเมตตานำให้เราถอยห่างจากการให้ตัวเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้เพื่อให้เรากลับไปยังศูนย์กลางแท้จริงคือพระคริสตเจ้า ผู้เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง

"ความเมตตาไม่ใช่ความฉุนเฉียว ไม่ใช่การขุ่นเคืองใจ บรรดาผู้อภิบาลใกล้ชิดกับสัตบุรุษมีโอกาสสูงมากๆ ที่จะขี้โมโหง่าย โกรธง่าย บางที พวกเราเสี่ยงเหลือเกินที่จะทำลายความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานของเรา มันทำให้เราขอโทษน้อยลง แต่ความเมตตาจะปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระ มันปลดปล่อยเราจากการวู่วาม ... สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องรับไม่ได้สำหรับคนของพระศาสนจักร แม้ในช่วงเวลาที่อารมณ์ปะทุก็ยังต้องให้อภัย นี่ไม่ใช่เรื่องของความคับแค้นใจ พระเจ้าจะช่วยเราจากสิ่งเหล่านี้!

"สุดท้ายนี้ ความรักนำพาทุกสิ่ง เชื่อทุกสิ่ง หวังในทุกสิ่ง และอดทนในทุกสิ่ง สี่คำที่ว่านี้คือแผนงานชีวิตจิตและชีวิตอภิบาล ความรักของพระคริสตเจ้าไหลรินสู่จิตใจด้วยพระจิต ช่วยเราให้ดำเนินชีวิตให้เหมือนกับคนที่พร้อมจะให้อภัย พร้อมเสมอที่จะวางใจ เพราะพวกเรามีความเชื่อเต็มเปี่ยมในพระเจ้า พร้อมจะบันดาลความหวัง เพราะพวกเรามีความหวังทั้งครบในพระเจ้า เป็นคนที่พร้อมจะอดทนในทุกสถานการณ์และอดทนกับพี่น้องของเรา ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า" พระสันตะปาปา ตรัสในตอนท้าย

หลังพิธีจบลง พระสันตะปาปาทรงประกาศอนุมัติแต่งตั้งนักบุญใหม่ 3 องค์ด้วย ได้แก่ บุญราศี จัน-เอมิลี เดอ วีลเนิฟ, บุญราศี มารีอัม บาอัวร์ดี้ และ บุญราศี  มารีอัม ซุลตานาห์ โดยมิสซาสถาปนานักบุญใหม่ จะจัดวันที่ 17 พฤษภาคม 2015

อนึ่ง พระคาร์ดินัลใหม่มีดังนี้

1) พระคาร์ดินัล โดมินิก มัมแบร์ติ สมณมนตรีแห่งสมณศาลปรมาภิไธย

2) พระคาร์ดินัล มานูเอล โชเซ่ มาการิโอ ดู นาสซิเมนโต้ พระอัยกาแห่งลิสบอน ประเทศโปรตุเกส

3) พระคาร์ดินัล เบอร์ฮาเนเยซุส เดเมริว ซูเรฟิว พระอัครสังฆราชแห่งอัดดิส อาเบบา ประเทศเอธิโอเปีย

4) พระคาร์ดินัล จอห์น ดิว พระอัครสังฆราชแห่งเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์

5) พระคาร์ดินัล เอโดอาร์โด้ เมนิเชลลี่ พระอัครสังฆราชแห่งอันคอน่า-โอสิโม่ ประเทศอิตาลี

6) พระคาร์ดินัล เปียร์ เหงียน ฟาน ยอน พระอัครสังฆราชแห่งฮานอย ประเทศเวียดนาม

7) พระคาร์ดินัล อัลเบร์โต้ ซัวเรส อินดา พระอัครสังฆราชแห่งโมเลเรีย ประเทศเม็กซิโก

8) พระคาร์ดินัล ชาร์ลส์ เมือง โบ พระอัครสังฆราชแห่งย่างกุ้ง ประเทศพม่า

9) พระคาร์ดินัล ฟรังซิส เซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวานิช พระอัครสังฆราชแห่งกรุงเทพฯ ประเทศไทย

10) พระคาร์ดินัล ฟรานเชสโก้ มอนเตเนโกร พระอัครสังฆราชแห่งอากริเจนโต้ ประเทศอิตาลี

11) พระคาร์ดินัล ดาเนียล เฟร์นานโด สตูร์ล่า พระอัครสังฆราชแห่งมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย

12) พระคาร์ดินัล ริการ์โด้ บลาสเกซ เปเรซ พระอัครสังฆราชแห่งบายาโดลิด ประเทศสเปน

13) พระคาร์ดินัล โฆเซ่ หลุยส์ ลากุนซ่า มาเอสโตรฆวน พระอัครสังฆราชแห่งดาวิด ประเทศปานามา

14) พระคาร์ดินัล อาร์ลินโด โกเมส ฟูร์ตาโด้ พระอัครสังฆราชแห่งซานติอาโก้ เด กาโป เวิร์ด ประเทศเคปเวิร์ด

15) พระคาร์ดินัล โซอาเน่ ปาติต้า มาฟี่ พระอัครสังฆราชแห่งตองก้า ประเทศตองก้า

16) พระคาร์ดินัล โฮเซ่ เด เฮซุส ปาดิเอ็นโต้ โรดริเกซ พระอัครสังฆราชกิตติคุณแห่งมานิซาเลส ประเทศโคลอมเบีย

17) พระคาร์ดินัล ลุยจิ เด มาจิสตริส ประเทศอิตาลี

18) พระคาร์ดินัล คาร์ล-โยเซฟ เราเบอร์ สมณทูตชาวเยอรมัน

19) พระคาร์ดินัล หลุยส์ เอ็กตอร์ บีลาบา พระอัครสังฆราชกิตติคุณแห่งตูกูมัน ประเทศอาร์เจนตินา

20) พระคาร์ดินัล ชูลิโอ ดูอาร์เต้ ลังกา พระสังฆราชกิตติคุณแห่งไซ-ไซ ประเทศโมซัมบิก


Comments