ฟาติมาสาร: บทสรุปพระสันตะปาปาเยือนเอเชีย (25 ม.ค. 2015)

เชื่อว่า หลายท่านได้ติดตามข่าวพระสันตะปาปาเยือนเอเชีย (ศรีลังกาและฟิลิปปินส์) จากสถานีโทรทัศน์และสื่อมวลชนสายต่างๆ กันไปแล้ว ถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างมากที่สื่อมวลชนไทยให้ความสนใจกับพระสันตะปาปามากขนาดนี้ อย่างไรก็ตาม ข่าวที่ทุกท่านติดตามจากสำนักข่าวทั่วไป อาจจะไม่ “เจาะลึก” เท่าไหร่ ดังนั้น ผมขอสรุปทุกอย่างแบบละเอียด เพื่อให้สมกับการเป็น POPE REPORT ตามรายละเอียดนี้เลย



การเยือนเอเชียของพระสันตะปาปา มีวัตถุประสงค์แต่ละประเทศไม่เหมือนกัน พระสันตะปาปามาศรีลังกา เพื่อสถาปนานักบุญโจเซฟ วาซ และให้กำลังใจกระบวนการคืนดีกันของคนในชาติ หลังจากต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งและสงครามในประเทศมาหลายสิบปี ส่วนฟิลิปปินส์ จุดประสงค์หลักของการมาเยือนคือการไปเยี่ยมผู้ประสบภัยจากพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ซึ่งพัดถล่มฟิลิปปินส์เมื่อปีที่แล้ว ดังนั้น เราน่าจะเห็นวัตถุประสงค์ของการมาเยือนเอเชียครั้งนี้ ได้ชัดขึ้นจากการสรุปนี้


เราต้องชนะความชั่วด้วยความดี – ต้องปลูกฝังคุณธรรมในการให้อภัยกัน

นี่คือบทสอนแรกในการมาเยือนศรีลังกา พระสันตะปาปาตรัสเรื่องนี้ในพิธีต้อนรับ ณ ทำเนียบประธานาธิบดีว่า “มันเป็นโศกนาฏกรรมในโลกของเราที่สังคมจำนวนมากต้องทำสงครามกันเอง การขาดความสามารถที่จะประนีประนอมความแตกต่างและความไม่ลงรอยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเก่าหรือเรื่องใหม่ ก็ได้ทำให้เกิดความตึงเครียดต่อชาติพันธุ์และศาสนา บ่อยครั้ง มันตามมาด้วยการปะทุของความรุนแรง

“เป็นเวลานานหลายปีที่ศรีลังกาเป็นที่รู้จักเกี่ยวกับความน่ากลัวของความขัดแย้ง และตอนนี้ ประเทศแห่งนี้กำลังแสวงหาการรวบรวมความสงบและการรักษาบาดแผลที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่งานที่ง่ายเลยที่จะเอาชนะมรดกแห่งความขมขื่นของความอยุติธรรม ความเป็นศัตรูกัน และความไม่ไว้ใจกันที่ถูกทิ้งไว้จากความขัดแย้ง

“สิ่งนี้ สามารถบรรลุได้ด้วยการชนะความชั่วด้วยความดีเท่านั้น (โรม 12:21) และโดยการปลูกฝังคุณธรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการคืนดีกัน ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และสันติภาพ กระบวนการของการเยียวยารักษายังจำเป็นต้องมีการแสวงหาความจริง การแสวงหานี้ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์จากการเปิดแผลเก่าที่เกิดขึ้น แต่มันเป็นวิธีการที่จำเป็นต่อการส่งเสริมความยุติธรรม การเยียวยารักษา และความสามัคคีกัน”


พระศาสนจักรคาทอลิกให้ความเคารพทุกศาสนา

บทสอนที่สองเกิดในงานศาสนสัมพันธ์ เหตุการณ์นี้ประทับใจมากๆ ช่วงเริ่มพิธี พระสงฆ์ของพุทธศาสนาได้นำสวดภาวนา ตามด้วย ผู้นำศาสนาฮินดูได้ขึ้นมาทักทายพระสันตะปาปา พร้อมนำอาภรณ์สีส้มมาคลุมไหล่ให้พระสันตะปาปา จากนั้น เป็นผู้นำชาวมุสลิมขึ้นกล่าว โดยผู้นำมุสลิมได้กล่าวประณามการก่อการร้ายโดยนำพระนามของพระเจ้ามาเป็นข้ออ้าง เฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเป็นพระสันตะปาปาที่ตรัสเป็นคนสุดท้าย

พระสันตะปาปากล่าวว่า “สังคายนาวาติกัน ที่ 2 ประกาศชัดเจนว่า พระศาสนจักรคาทอลิกให้ความเคารพอย่างถึงที่สุดต่อศาสนาอื่นๆ ในส่วนตัวข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะกล่าวย้ำว่า พระศาสนจักรคาทอลิกให้ความเคารพต่อพวกท่าน เคารพขนบธรรมเนียมประเพณีของพวกท่าน และเคารพความเชื่อของพวกท่าน

“ความเชื่อทางศาสนาต้องไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงและสงคราม พวกเราต้องชัดเจนและทำให้ชัดไปเลยที่จะดำเนินชีวิตในสันติ เราต้องประณามการกระทำที่ก่อให้เกิดความรุนแรง”




เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ต้องมี “ขอบเขต”

บทสอนที่สามที่ดังไปทั่วโลกก็คือการให้สัมภาษณ์นักข่าวบนเครื่องบินจากศรีลังกาไปฟิลิปปินส์ (เที่ยวบินนี้ พระสันตะปาปาบินผ่านเมืองไทยด้วย) นักข่าวถามพระสันตะปาปาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับเสรีภาพในการแสดงความเห็น พร้อมอ้างอิงถึงเหตุการณ์คนร้ายบุกยิงที่ทำการหนังสือพิมพ์ “ชาร์กลี เอ๊บโด” กลางกรุงปารีส

พระสันตะปาปาตรัสตอบว่า “ทั้งศาสนาและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นคือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ แต่การฆ่ากันด้วยพระนามของพระเจ้า ถือเป็นความวิปริต มันต้องมีขอบเขตที่จะแสดงออกทางความคิดเห็น พ่อขอยกตัวอย่างนะ ดร.อัลแบร์โต้ กาสปาร์รี่ ซึ่งเป็นผู้ดูแลประสานงานการเดินทางของพระสันตะปาปาทุกทริป และเขาก็ยืนข้างๆ พ่อในตอนนี้ ถ้าหากเพื่อนที่แสนดีอย่าง ดร.กาสปาร์รี่ มาด่าคุณแม่ของตัวพ่อเอง(พระสันตะปาปา) ดร.กาสปาร์รี่จะต้องถูกพ่อจัดให้สักป้าปอย่างแน่นอน! มันเป็นเรื่องปกติที่ว่า คุณไม่สามารถยั่วยุ คุณไม่สามารถกล่าวหาให้ร้ายความเชื่อของคนอื่น คุณไม่สามารถเล่นตลกกับความเชื่อของคนอื่น ถ้าหากเกิดเรื่องแบบนี้ คุณเตรียมพบกับความรุนแรงได้เลย”


ผู้นำประเทศต้องซื่อสัตย์และใส่ใจคนยากจน

บทสอนที่สี่ พระสันตะปาปาตรัสในพิธีต้อนรับที่ทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ “ตอนนี้ ฟิลิปปินส์เผชิญกับความท้าทายในการสร้างรากฐานที่มั่นคงของสังคมยุคใหม่ นั่นคือ การเคารพคุณค่าของมนุษย์ มันเป็นเรื่องสำคัญอย่างไม่เคยมีมาก่อนที่ผู้นำทางการเมืองต้องมีความโดดเด่นในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตและการอุทิศตนให้กับคุณความดี ศีลธรรมมีความจำเป็นมากๆ ในการสร้างสังคมที่เปี่ยมด้วยความยุติธรรมและการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”




ถ้านำความยากจนออกจากพระวรสาร เราจะไม่เข้าใจสิ่งที่พระเยซูสอนเลย

บทสอนที่ห้า พระสันตะปาปาตรัสกับบรรดาพระสังฆราช พระสงฆ์ และนักบวชโดยเฉพาะ (เพราะมิสซานี้ จำกัดผู้เข้าร่วมเฉพาะบรรดาพระสงฆ์และนักบวชเท่านั้น)

พระสันตะปาปา ตรัสว่า “ในฐานะที่เป็นผู้แทนของพระคริสต์ เราต้องเป็นคนแรกที่ต้อนรับพระหรรษทานแห่งการคืนดีให้เข้าสู่จิตใจเรา เราจะสามารถประกาศฤทธานุภาพแห่งไม้กางเขนได้อย่างไรกัน ถ้าหากเรายังปฏิเสธที่จะให้พระวาจาของพระเจ้า มาปลุกให้เราตื่นจากการหลงใหลในบางสิ่งบางอย่างแบบไม่ลืมหูลืมตา

“สำหรับพระสงฆ์และนักบวช การดำเนินชีวิตด้วยการไตร่ตรองความยากจนของพระคริสตเจ้า ผู้ซึ่งทั้งชีวิตของพระองค์เองได้ให้ความสำคัญกับการทำตามพระประสงค์ของพระบิดา ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก มีเพียงการเป็นผู้ยากไร้เท่านั้นที่เราจะสามารถกล่าวถึงตัวเองได้ว่า เราเป็นผู้ต่ำต้อยที่สุดในบรรดาพี่น้องชายหญิงของเรา ความยากจนคือศูนย์กลางของพระวรสาร นี่คือหัวใจของพระวรสาร ถ้าเรานำความยากจนออกไปจากพระวรสาร พวกเราจะไม่สามารถเข้าใจสารทั้งหมดของพระเยซูคริสต์ได้เลย

“พ่อขอกล่าวเป็นพิเศษไปยังพระสงฆ์หนุ่มที่เพิ่งบวชใหม่ พ่อขอให้ท่านออกไปอยู่เคียงข้างเยาวชนที่กำลังสับสนกับชีวิต จงทำให้พวกเขาเห็นว่าพระศาสนจักรคือเพื่อนบนการเดินทางของเขา จงออกไปอยู่กับทุกคนที่ประสบปัญหาด้านจิตใจ จงประกาศความงดงามและความจริงแห่งพระวรสารให้กับพวกเขา”

ทั้งนี้ ช่วงเทศน์ มีเรื่องขำๆเกิดขึ้น เมื่อพระสันตะปาปาทรงเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงข้อความจากพระวรสารที่พระเยซูทรงถามบรรดาศิษย์ว่า “ท่านรักเราไหม ... ถ้ารัก จงเลี้ยงดูแกะของเรา” แต่ว่า พระสันตะปาปาทรงพูดคำว่า “ท่านรักเราไหม” แล้วทรงทิ้งช่วงไปสักพัก พระสังฆราช พระสงฆ์ และนักบวชที่ร่วมพิธีจึงตอบพร้อมกันว่า “รัก” พระสันตะปาปาจึงตอบกลับว่า “ขอบคุณมากๆ” ทำให้ทุกคนหัวเราะชอบใจกันใหญ่




ภัยที่คุกคามครอบครัว ก็เป็นภัยที่คุกคามสังคม

บทสอนที่หก พระสันตะปาปาทรงร่วมชุมนุมครอบครัวที่ฟิลิปปินส์ งานนี้ ครอบครัวคาทอลิกกว่าแสนชีวิตมาร่วมงานอย่างคับคั่ง ในงานดังกล่าว พระสันตะปาปาทรงทำภาษามือที่บอกรักว่า “I LOVE YOU” พูดคุยกับผู้พิการทางการได้ยินด้วย เรียกได้ว่า เป็นภาพที่น่ารักมากๆ

ส่วนบทสอนนั้น พระองค์กล่าวว่า “บทอ่านที่เราได้ฟังเมื่อครู่นี้ เป็นเรื่องที่นักบุญโยเซฟได้รู้พระประสงค์ของพระเจ้าจากการนอนหลับแล้วฝันเห็นทูตสวรรค์มาแจ้งข่าวกับตน (จากนั้น พระสันตะปาปาทรงทำท่า “นอนหลับ” ทำให้ทุกคนปรบมือชอบใจกันใหญ่) เรื่องความฝัน พ่ออยากแบ่งปันว่าพ่อชอบมากๆ เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความฝันภายในครอบครัว เพราะพ่อแม่ทุกคนฝันถึงลูกชายหรือลูกสาวของตัวเองตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ตลอดระยะเวลา 9 เดือน เรื่องนี้เป็นความจริงใช่ไหม? พวกท่านฝันถึงลูกชายลูกสาวว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่ครอบครัวจะไม่มีความฝัน เพราะเมื่อคุณสูญเสียความสามารถที่จะคิดฝัน คุณก็สูญเสียความสามารถและพลังที่จะรักไปแล้ว

“โดยส่วนตัวแล้ว พ่อชอบนักบุญโยเซฟมากๆ ท่านเป็นคนเงียบๆ แต่เข้มแข็งมากๆ ในห้องทำงานของพ่อ มีรูปนักบุญโยเซฟกำลังนอนอยู่ด้วยนะ พ่ออยากเล่าให้ฟังว่า เวลาพ่อมีปัญหาหนักใจ พ่อจะจดปัญหานี้ใส่กระดาษและไปวางไว้ใต้รูปนักบุญโยเซฟที่กำลังนอน เพื่อที่ท่านจะได้นำปัญหาของพ่อไปฝัน (ทุกคนหัวเราะชอบใจ)

“กลับเข้าเรื่องกันต่อ พ่ออยากแบ่งปันภัยที่คุกคามครอบครัว นั่นคือ การล่าอาณานิคมเชิงความคิดซึ่งทำลายครอบครัว สิ่งนี้เกิดจากวัตถุนิยม เพราะพวกวัตถุนิยมและวิถีชีวิตเหล่านี้ได้ทำลายครอบครัวและทำลายความต้องการขั้นพื้นฐานของศีลธรรมคริสตศาสนา มันทำให้เราตกเป็นทาสของวัตถุต่างๆ เราต้องฉลาดพอที่จะเอาตัวรอดจากภัยที่มาทำลายครอบครัว

“มีคนบางกลุ่มกังวลเรื่องประชากรจะล้นสังคม พ่อจึงอยากชื่นชม บุญราศี เปาโล ที่ 6 ที่ทรงออกสมณสาส์นชีวิตมนุษย์ (ค.ศ.1968) สมณสาส์นนี้เป็นการยืนยันหลักคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกที่ไม่เห็นด้วยกับการคุมกำเนิด บุญราศี เปาโล ที่ 6 มองเห็นภัยคุกคามที่จะทำลายครอบครัวด้วยการกีดกันลูกที่จะเกิดมา พระองค์ทรงมีความกล้าที่จะเตือนฝูงแกะของพระองค์ว่า หมาป่ากำลังเข้ามาใกล้และจะทำร้ายเรา ภัยใดที่มาคุกคามครอบครัว มันก็คือภัยที่คุกคามสังคมด้วย ดังนั้น ขอให้เราช่วยกันปกป้องสถาบันครอบครัวจากภัยคุกคาม เพราะนี่คือทรัพย์สมบัติล้ำค่าที่สุด




พระเจ้าไม่ทอดทิ้งเรา แม้เราจะเจอเรื่องเลวร้ายสุดในชีวิต

บทสอนที่เจ็ด เกิดในเหตุการณ์สุดประทับใจ เมื่อพระสันตะปาปาทรง “สวมเสื้อกันฝน” และถวายมิสซาท่ามกลางพายุไต้ฝุ่นระดับ 2 ที่พัดถล่มเมืองตั๊กโลบัน ก่อนเริ่มมิสซานี้ พายุได้พัดถล่มหลายอย่าง รวมไปถึงพระแท่นถวายมิสซา จนทำให้ต้องมีการเปลี่ยนพระแท่นด้วย อย่างไรก็ตาม พระสันตะปาปาไม่เคยกลัว พระองค์ยังยืนยันว่า ต้องการอยู่กับสัตบุรุษกว่า 500,000 คนที่มานอนตากฝนฝ่าพายุ เพื่อร่วมมิสซากับพระสันตะปาปา

พระสันตะปาปาทรงเทศน์สอนว่า “ตอนอยู่ที่กรุงโรม เมื่อพ่อได้เห็นหายนะภัยพิบัตินี้ พ่อรู้สึกว่า พ่อต้องมาอยู่กับพวกท่านให้ได้ แม้มันจะมาช้าไปสักนิด แต่พ่อก็มาอยู่ที่แล้ว พ่อมาที่นี่เพื่อมาบอกพวกท่านว่า พระเยซูคือพระเจ้า พระองค์จะไม่ทำให้เราผิดหวัง พวกท่านอาจพูดกับพ่อว่า ลูกรู้สึกแย่มากๆ เพราะลูกต้องสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่าง ใช่ มันเป็นความจริง ถ้าท่านพูดแบบนั้น พ่อก็เคารพสิ่งที่ท่านพูดด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจของพ่อ แต่พระเยซูอยู่ที่นี่ พระองค์ทรงถูกตรึงอยู่บนไม้กางเขน และจากบนนั้น พระเยซูจะไม่ทอดทิ้งเรา พระเยซูคือพระเจ้าของเรา ในทุกสิ่งทุกอย่างนั้น พระองค์เป็นเหมือนเรา นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมพวกเรามีพระเจ้าที่ทรงร้องไห้ไปกับเราและเดินร่วมทางไปกับเราในช่วงเวลาที่ยากลำบากสุดของชีวิต”

หลังมิสซาจบลง พระสันตะปาปาทรงไปเยี่ยมชาวบ้านที่ประสบภัยพายุไต้ฝุ่น พระองค์ทรงเข้าไปในบ้านและทักทายพวกเขา อย่างไรก็ตาม พระสันตะปาปาต้องบินกลับกรุงมะนิลาก่อน 13.00 น. เพราะถ้าช้ากว่านั้น เครื่องบินจะบินขึ้นฟ้าไม่ได้ เพราะพายุจะเข้า เราจึงได้เห็นรถพระสันตะปาปาขับซิ่งสุดฤทธิ์เพื่อพาพระสันตะปาปามาขึ้นเครื่องกลับ ที่สุดแล้ว เครื่องบินก็ออกตอน 12.59 น.! อย่างไรก็ตาม เครื่องบินที่ออกจาหลังจากพระสันตะปาปา ต้องประสบอุบัติเหตุลื่นไถลออกนอกรันเวย์ เพราะเจอพายุนั่นเอง




เยาวชนอย่าทำตัวเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีทุกอย่างพร้อม แต่ทำประโยชน์ไม่เป็น

บทสอนที่แปด พระสันตะปาปาทรงพบเยาวชนกว่า 45,000 คน ภายในมหาวิทยาลัยซานโต โทมัส กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยในสันตะสำนัก

ช่วงเริ่มพิธี มีเยาวชนมาแบ่งปันความเชื่อ หนึ่งในนั้นคือเยาวชนหญิงที่ถูกทอดทิ้งให้ดำเนินชีวิตข้างถนน ที่ทูลถามพระสันตะปาปาว่า “ทำไม พระเจ้าต้องให้เด็กเป็นโสเภณี” นั่นเอง

พระสันตะปาปาตรัสแบ่งปันทุกคนว่า “หลายคนยังคงสงสัยว่า ทำไมเด็กๆ ยังต้องทนทุกข์ระทม (จากปัญหาเด็กต้องเป็นโสเภณี) พ่ออยากแบ่งปันว่า โลกเราทุกวันนี้ สูญเสียความสามารถในการร้องไห้ร่วมกับผู้ที่ต้องประสบทุกข์ยาก ลองถามตัวเองซิว่า เราเรียนรู้

“ทุกวันนี้ มีเยาวชนหลายคนที่ทำตัวเป็นพิพิธภัณฑ์ พวกเขามีทุกอย่างในชีวิต แต่กลับไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร พวกเราไม่ต้องการพิพิธภัณฑ์แบบนี้ แต่พวกเราต้องการเยาวชนที่เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ พวกลูกอาจถามพ่อว่า ‘เราจะเป็นนักบุญได้อย่างไร’ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายเช่นกัน

“นอกจากนี้ ยังมีเยาวชนอีกมากที่เรียนรู้จะเป็นผู้ให้ แต่ไม่เรียนรู้จะเป็นผู้รับ นี่คือสิ่งที่พวกลูกขาดหายไป จงหัดเรียนรู้ที่จะวอนขอ มันไม่ง่ายที่จะเข้าใจเรื่องนี้ แต่ยังไงขอให้เราเรียนรู้ที่จะได้รับสิ่งต่างๆ ด้วยความสุภาพถ่อมตน จงเรียนรู้พระวรสารจากคนยากจนและเด็กกำพร้า เพราะพวกเขาสอนเราได้มากจริงๆ”




มิสซาพระสันตะปาปามีคนร่วม 6 ล้านคน มากสุดในประวัติศาสตร์

มิสซาปิดการเยือนฟิลิปปินส์ ถูกจัดขึ้น ณ สวนสาธารณะลูเนต้า กรุงมะนิลา ท่ามกลางสัตบุรุษที่มาร่วมกว่า 6 ล้านคน โดยนี่เป็นมิสซาพระสันตะปาปาที่มีสัตบุรุษมาร่วมมากสุดในประวัติศาสตร์ (สถิติเดิมก็เกิดที่สวนสาธารณะลูเนต้าแห่งนี้ เมื่อครั้งที่สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 เสด็จเยือนในปี 1995 ครั้งนั้น มีคนมาร่วม 5 ล้านคน)

มิสซานี้ พระสันตะปาปา ตรัสสอนว่า “ปีศาจคือบิดาของการโกหก มันทำให้เราไขว้เขวจากพระเจ้าด้วยคำสัญญาของความพึงพอใจแบบสั้นๆและความรื่นเริงบันเทิงใจแบบผิวเผิน และเราก็ใช้ของขวัญที่พระเจ้าประทานให้แบบสุรุ่ยสุร่ายไปกับพวกอุปกรณ์ต่างๆ นั่นคือ เราใช้ของขวัญและพระพรที่พระเจ้าให้ไปกับเงินพนันและการกินดื่ม พวกเราหลงลืมที่จะดำรงอยู่ในสิ่งที่เป็นความจริง พวกเราหลงลืมที่ดำรงอยู่ในหัวใจแห่งการเป็นลูกของพระเจ้า นี่คือบาป บาปของการหลงลืมหัวใจที่ว่า พวกเราเป็นลูกของพระเจ้า”

นอกจากนี้ ก่อนที่พระสันตะปาปาจะมาเยือนฟิลิปปินส์ มีข่าวการจับเด็กเร่ร่อนไปขังและทรมาน พระสันตะปาปาจึงเตือนสติทุกคนว่า “พวกเราต้องปกป้อง ชี้แนะ และส่งเสริมบรรดาเยาวชน เราต้องช่วยเหลือพวกเขาในการสร้างสังคมที่มีคุณค่าทางมรดกแห่งจิตวิญญาณและวัฒนธรรม สำคัญสุด เราต้องมองเด็กๆที่เกิดมาว่าเป็นของขวัญจากพระเจ้า”

... และทั้งหมดนี้คือบทสรุปของพระสันตะปาปาเยือนทวีปเอเชีย เรียกได้ว่า เป็นการตามทำข่าวพระสันตะปาปาที่ “สนุกที่สุด” ครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะมันมีทุกรสชาติ มีประวัติศาสตร์ถูกจารึกขึ้นมาใหม่ และมีความประทับใจของพระสันตะปาปาแบบสุดๆ หวังว่า ทุกท่านจะเต็มอิ่มกับบทสรุปแบบละเอียดยิบของพระสันตะปาปาเยือนเอเชียในครั้งนี้นะครับ


AVE   MARIA

Comments