โป๊ปฟรังซิส: “ตุรกีใจกว้างมากที่ต้อนรับผู้ลี้ภัยจากอิรักและซีเรีย”

สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงชื่นชมตุรกีที่เปิดประตูต้อนรับผู้ลี้ภัยสงครามทั้งจากซีเรียและอิรัก พร้อมย้ำ เป็นหน้าที่ทางศีลธรรมที่ทุกประเทศต้องช่วยเหลือตุรกีด้วยเช่นกันในการดูแลผู้ลี้ภัย ทรงสอน เราต้องมีความกล้าในทางที่ถูก อาทิ กล้าสร้างสันติภาพ ไม่ใช่กล้าแบบผิดๆ ด้วยการนำศาสนาไปสร้างความเข้าใจผิด









ช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ได้ประทับเครื่องบินพระที่นั่งของสายการบินอลิตาเลีย เที่ยวบิน “นายชุมพาบาล” (AZ 4000) จากสนามบินฟิวมิชิโน่ กรุงโรม ประเทศอิตาลี มาถึงสนามบินเอเซ็มโบก้า กรุงอังคารา ประเทศตุรกี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยพันธกิจการเสด็จเยือนตุรกีของพระสันตะปาปา จะใช้เวลาทั้งหมด 3 วัน คือตั้งแต่วันศุกร์ที่ 28 ถึงวันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน 2014

พันธกิจแรกที่พระสันตะปาปาทรงปฏิบัติเมื่อมาถึงตุรกี ก็คือ พระองค์ทรงเดินทางไปยังหลุมศพของ “มุสตาฟา อตาเติร์ก” ผู้ก่อตั้งและประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐตุรกี เพื่อวางพวงหรีด ณ หลุมศพแห่งนี้

โอกาสนี้ พระสันตะปาปาได้ลงพระนามในสมุดเซ็นต์ชื่อ โดยพระองค์ทรงเขียนว่า “ขอพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพประทานสันติและความเจริญรุ่งเรืองให้กับประชาชนชาวตุรกีที่รักทุกคน ขอให้ประเทศแห่งนี้กลายเป็นดินแดนแห่งความร่วมมืออย่างสันติระหว่างวัฒนธรรมและอารยธรรม และเป็นสถานที่ซึงมนุษย์ได้สัมผัสถึงการต้อนรับศักดิ์ศรีและการแสดงออกทางความเชื่อจะได้รับการคุ้มครอง”

เสร็จจากการเคารพหลุมศพของอตาร์เติร์ก พระสันตะปาปาได้เสด็จไปยังทำเนียบประธานาธิบดีของตุรกี เพื่อพบกับ เรเช็ป ทายิบ แอร์ดวาน ประธานาธิบดีของตุรกี โดย แอร์ดวาน ได้มอบของที่ระลึกแด่พระสันตะปาปาเป็นภาพโมเสกปราสาทคาสเตล ซาน อันเจโล่ ด้วย หลังจากนั้น ผู้นำทั้งสองได้สนทนาแบบส่วนตัวเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง

จากนั้น พระสันตะปาปาได้เสด็จออกมาพบกับคณะรัฐบาลและผู้บริหารประเทศ ก่อนจะตรัสสุนทรพจน์กับพวกเขาว่า “ดินแดนแห่งนี้มีค่ามากๆ กับคริสตชนทุกคน เพราะที่นี่คือบ้านเกิดของนักบุญเปาโล ผู้ก่อตั้งกลุ่มคริสตชนมากมายหลายกลุ่ม นอกจากนี้ ยังมีสถานที่ใกล้ๆ เมืองเอเฟซัสที่เป็นที่เคารพสักการะสืบต่อกันมาว่าที่นี่เป็นบ้านของแม่พระ สถานที่ซึ่งพระมารดาของพระเยซูเคยมาพักอาศัยอยู่ระยะหนึ่ง ที่นี่คือสถานที่ซึ่งผู้แสวงบุญจากทั่วโลกต้องมาเยือน ไม่เฉพาะแต่คาทอลิกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวมุสลิมด้วย

“วันนี้ สิ่งที่เราต้องการคือการเสวนาพูดจากัน ซึ่งสามารถทำให้เราเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าของหลายสิ่งหลายอย่างที่เรามีร่วมกันได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

“มันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องก้าวไปข้างหน้าด้วยความอดทนในงานเสริมสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน สิ่งนี้ตั้งอยู่บนการเคารพพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนและหน้าที่ที่หยั่งรากลึกลงในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเราแต่ละคน บนหนทางนี้ พวกเราสามารถเอาชนะอคติและความกลัวที่ไร้เหตุผล และมีที่ว่างให้กับการเคารพกัน การพบปะกัน และการปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์เพื่อสิ่งดีงามทั้งปวง

“มันจำเป็นอย่างยิ่งที่พลเมืองทุกคน ทั้งที่เป็นชาวมุสลิม, ยิว และคริสต์ ทั้งที่เป็นตามกฏหมายและปฏิบัติตนตามบทบัญญัติ จะได้ใช้สิทธิเดียวกันและเคารพหน้าที่เดียวกัน พวกเขาจะพบว่ามันเป็นเรื่องง่ายที่จะมองกันและกันแบบพี่น้องที่กำลังเดินร่วมทางเดียวกัน และแสวงหาการปฏิเสธเรื่องเข้าใจผิด เสรีภาพของศาสนาและเสรีภาพของการแสดงออกทางความเชื่อจะช่วยให้มิตรภาพนี้เบ่งบานและกลายเป็นเครื่องหมายล้ำค่าของสันติภาพ

“มันนานเท่าไหร่แล้วที่ดินแดนตะวันออกกลางต้องประสบกับผลของการขาดสันติภาพ พวกเราต้องอย่ายอมแพ้ต่อความขัดแย้งที่ไม่มีวันจบสิ้นเสมือนกับว่าสถานการณ์ไม่มีวันจะดีขึ้น อาศัยความช่วยเหลือจากพระเจ้า พวกเราสามารถและพวเราต้องฟื้นฟูความกล้าแห่งสันติ! อาทิ ความกล้าที่จะนำไปสู่ความยุติธรรม รวมถึงความอดทนและความตั้งใจที่จะใช้วิธีการเจรจาทุกอย่าง และบนหนทางนี้ เราจะได้รับเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมของสันติและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“น่าเศร้ามากที่ถึงตอนนี้ เรายังคงเห็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงในซีเรียและอิรัก เฉพาะอย่างยิ่ง ความรุนแรงของการก่อการร้ายที่ยังแสดงให้เห็นว่าไม่มีทีท่าจะยุติเลย การเบียดเบียนข่มเหงที่เกิดในอดีตและยังคงเกิดในทุกวันนี้กับคนกลุ่มน้อย ไม่เฉพาะชาวคริสต์กับชาวยาซิดิสเท่านั้น ยังมีคนจำนวนมากที่ถูกบังคับให้ต้องละทิ้งบ้านและประเทศของตน เพื่อจะได้มีชีวิตรอด ถึงกระนั้น พวกเขาก็ยังมีศรัทธาต่อความเชื่อทางศาสนาของตน

“ตุรกีเป็นประเทศใจกว้างที่เปิดต้อนรับผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากสถานการณ์เหล่านี้ ส่วนบรรดานานาชาติก็มีพันธะทางศีลธรรมด้วยเช่นกันในการช่วยเหลือตุรกีในการดูแลผู้ลี้ภัย ... ข้าพเจ้ายังขอยืนยันอีกครั้งว่า ปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกำลังทางทหารอย่างเดียวเท่านั้น!” พระสันตะปาปา ตรัสในตอนท้าย

Read More: Vatican Radio






Comments