โป๊ปฟรังซิส: "ยุโรปต้องเป็นหนึ่งเดียวกันในการแก้ปัญหาต่างๆ"

สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงหวังเห็นชาวยุโรปร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันในการแก้ไขปัญหาต่างๆ อาทิ ปัญหาเศรษฐกิจและผู้ลี้ภัย ทรงย้ำ ประวัติศาสตร์ 2,000 กว่าปีที่ผ่านมา ยุโรปและศาสนาคริสต์มีความขัดแย้งกัน แต่เหนือสิ่งอื่นใด ทั้งสองก็ตั้งใจทำงานเพื่อคุณความดีของส่วนรวม ทรงชี้ เราต้องระวังเรื่องสิทธิมนุษยชนแบบผิดๆ และต้องอย่าใช้สิทธินี้ในทางที่ผิด







ช่วงสายวันอังคารที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ได้ประทับเครื่องบินของสายการบินอลิตาเลีย เที่ยวบิน "นายชุมพาบาล" ไปยังเมืองสทราซบูร์ (สตาร์สบรูก) ประเทศฝรั่งเศส เพื่อไปกล่าวสุนทรพจน์ที่รัฐสภาแห่งยุโรป การเยือนนี้เป็นการเยือนต่างประเทศที่ใช้เวลา "สั้นที่สุด" ในสมณสมัยของพระองค์ กล่าวคือ ออกจากโรมตอนเช้า และไปกล่าวสุนทรพจน์ที่รัฐสภา จากนั้น ขึ้นเครื่องบินกลับกรุงโรมทันที

โดยวันก่อนหน้านี้ (จันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน) พระสันตะปาปา ฟรังซิส ได้เสด็จไปยังมหาวิหารซางตา มารีอา มาจจอเร่ เพื่อสวดภาวนาขอแม่พระโปรดคุ้มครองและอวยพรพระองค์ให้ทำพันธกิจการเยือนครั้งนี้อย่างดีด้วย

ในส่วนพระดำรัสที่พระสันตะปาปาตรัสกับรัฐสภาของสหภาพยุโรป พระองค์ทรงกล่าวถึงเตือนว่า ตอนนี้ ทวีปยุโรปกำลังซูบผอมและโดดเดี่ยวอ้างว้างอย่างมากที่จะค้นหาบทบาทของตนเองประหนึ่งผู้นำของโลก เช่นเดียวกัน ยุโรปยังซูบผอมในการแสวงหาอัตลักษณ์ของตนเองในการเป็นผู้ปกป้องศักดิ์ศรีของมนุษย์, ผู้ยากไร้, ผู้อพยพ, ผู้ถูกกดขี่ข่มเหง, ผู้สูงอายุ และเยาวชน ซึ่งศักดิ์ศรีที่ว่านี้คือจิตวิญญาณของตนเอง

พระสันตะปาปาตรัสกับรัฐสภายุโรปว่า "ประวัติศาสตร์ 2,000 ปีที่ผ่านมามีการเชื่อมโยงกันระหว่างทวีปยุโรปกับคริสตศาสนา ความเชื่อมโยงนี้ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งหรือความผิดบกพร่อง แต่เป็นความปรารถนาที่จะทำงานเพื่อคุณความดีของส่วนรวม นี่คือปัจจุบันและอนาคตของเรา มันเป็นอัตลักษณ์ของเรา

"ข้าพเจ้าอยากจะขอร้องพลเมืองชาวยุโรปกว่า 500 ล้านคนได้มองมาที่ปัญหาของสหภาพยุโรป นั่นคือ ความซบเซาของเศรษฐกิจ, การว่างงาน, การอพยพลี้ภัย และอัตราความยากจนที่พุ่งสูงขึ้น ข้าพเจ้าอยากให้มองปัญหานี้เสมือนแรงขับเคลื่อนเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกัน ในการเอาชนะความกลัวและความไม่ไว้ใจกัน

"ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (ความมีเกียรติ) คือแนวคิดหลักในการซ่อมแซมสังคมที่เป็นผลมาจากสงครามโลก ครั้งที่ 2 และนำไปสู่โครงการสหภาพยุโรป ทุกวันนี้ แนวคิดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนยังคงเป็นศูนย์กลางต่อการอุทิศตนของสหภาพยุโรป แต่ข้าพเจ้าอยากย้ำว่า บ่อยครั้ง แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนถูกเข้าใจผิดๆ และถูกใช้ในทางที่ผิดเช่นกัน แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน ถูกแทนที่ด้วยแนวคิดเรื่องสิทธิส่วนบุคคล สิ่งนี้ได้นำไปสู่การขาดความห่วงใยต่อผู้อื่นและความเห็นแก่ตัว

"อนาคตของยุโรปขึ้นอยู่กับการรื้อฟื้นการเชื่อมต่อกันระหว่างการเปิดใจให้กับพระเจ้าและความสามารถในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เพื่อจะได้เผชิญหน้ากับสถานการณ์และปัญหาต่างๆ ได้" พระสันตะปาปา ตรัสย้ำ

นอกจากนี้ พระสันตะปาปายังได้ยืนยันว่า ศาสนาคริสต์ไม่ใช่ภัยคุกคามต่อทวีปยุโรป แต่นี่คือสิ่งที่ทำให้ยุโรปสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น พระองค์ตรัสว่า "ศาสนาสามารถช่วยยุโรปเผชิญหน้ากับพวกลัทธินิยมสุดขั้วหลากหลายรูปแบบซึ่งแผ่ขยายไปทั่วในทุกวันนี้"

ตอนท้าย พระสันตะปาปายังได้ขอร้องทวีปยุโรปเป็นหนึ่งเดียวกันในนโยบายที่ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสงคราม เพราะตอนนี้ มีไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยแบบเต็มที่ อาทิ สวีเดน

"เราไม่สามารถยอมให้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนต้องกลายเป็นสุสานฝังศพผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่! เราต้องช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเท่าที่เราจะสามารถทำได้ เราต้องช่วยอย่างเป็นรูปธรรม" พระสันตะปาปาตรัส พร้อมกับเสียงปรบมือจากผู้ฟังอย่างยาวนาน

Read More: Vatican







Comments