โป๊ปฟรังซิส: "มรดกที่คริสตชนให้ลูกหลานคือการเป็นประจักษ์พยานถึงพระวรสาร"

สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส พระสังฆราชแห่งกรุงโรม ทรงย้ำ มรดกที่คริสตชนควรมอบให้ลูกหลานคือการเป็นประจักษ์พยานและดำเนินชีวิตตามหลักพระวรสาร เหมือนอย่างที่กษัตริย์เดวิดทรงสั่งบุตรชายตอนที่พระองค์กำลังจะสิ้นพระชนม์ ทรงชี้ คริสตชนต้องมีความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตาย เพราะนี่คือการที่เราจะได้ไปอยู่ในบ้านของพระเจ้า


ช่วงเช้าวันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงถวายมิสซาเช้าในวัดน้อยประจำหอพักซางตา มาร์ธา มิสซานี้ พระสันตะปาปาตรัสสอนว่า:

- บทอ่านจากหนังสือพงศ์กษัตริย์ที่เราได้ฟังในวันนี้ (1 พกษ 2:1-4,10-12) เราได้ฟังเหตุการณ์ตอนที่กษัตริย์เดวิดสิ้นพระชนม์ แม้กษัตริย์เดวิดจะเป็นคนบาป แต่เขาก็ไม่ใช่ผู้กดขี่ข่มเหงประชาชน เขายังคงอยู่ในใจของประชากรของพระเจ้าจนวาระสุดท้ายของชีวิต

- เราก็เช่นกัน เราควรวอนขอพระเจ้าสำหรับพระหรรษทานที่จะตายในบ้านฝ่ายจิตในพระศาสนจักร เราทุกคนเป็นคนบาป แต่พระศาสนจักรก็เป็นเหมือนแม่ของเรา แม้เราจะเป็นคนบาป แต่พระศาสนจักรก็จะชำระล้างเราให้สะอาด

- สิ่งที่พ่ออยากให้เราไตร่ตรองต่อการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์เดวิดก็คือ ท่านตายในสันติ แน่นอนว่า หลังจากที่ตายแล้ว ท่านจะได้ไปอยู่กับบรรดาบรรพบุรุษ นี่คืออีกหนึ่งพระหรรษทานที่เราสามารถวอนขอจากพระเจ้า นั่นคือ ตายในความหวังว่า ชีวิตหลังความตายเราจะได้ไปอยู่กับครอบครัวของเราที่กำลังรอเราอยู่

- นักบุญเทเรซาแห่งลีซีเออซ์ ตอนที่ท่านกำลังจะสิ้นใจ ท่านดิ้นรนสู้กับความดีและความชั่ว ท่านได้ยินเสียงปีศาจบอกว่า ชีวิตหลังความตายมีแต่ความว่างเปล่าที่รออยู่ ปีศาจไม่ต้องการให้ท่านเชื่อในพระเจ้า แต่เราก็รู้อยู่แล้วว่า ชีวิตคือการต่อสู้ดิ้นรนและทูลถามพระเจ้าถึงพระหรรษทานที่จะให้เราสิ้นใจอยู่ในความหวัง

- การจะตายอย่างมีความหวังถึงชีวิตในโลกหน้า เราต้องเริ่มด้วยการวางใจในพระเจ้า ทั้งในสถานการณ์ที่ยากลำบากไม่ว่ามันจะเลวร้ายขนาดไหนก็ตาม

- เรื่องสุดท้ายที่อยากแบ่งปันคือมรดกที่กษัตริย์เดวิดมอบให้ทุกคนหลังจากปกครองประชากรมา 40 ปี ท่านทิ้งมรดกเหล่านี้ให้บุตรชายของตน สอนเขาให้รักษากฏของพระเจ้า เดินตามทางของพระเจ้าและเคร่งครัดต่อธรรมบัญญัติของพระองค์

- สำหรับเราคริสตชน มรดกสำคัญสุดที่เราจะทิ้งไว้ให้ลูกหลานก็คือ การเป็นประจักษ์พยานถึงพระเจ้า เหมือนบรรดานักบุญที่ดำเนินชีวิตตามหลักพระวรสารนั่นเอง!

Read More: Vatican Radio

Comments