Must Read! คริสตชนคาทอลิกกับความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ในฐานะพลเมืองของชาติ



คริสตชนคาทอลิกกับความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ในฐานะพลเมืองของชาติ

บทนำ

1. ในประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เมื่อเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งและวุ่นวาย โดยเฉพาะมีความคิดเห็นที่แตกต่างอันนำไปสู่ความแตกแยกอย่างรุนแรงในสังคม ดังเช่นที่ประเทศไทยของเราในปัจจุบันที่กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ พระศาสนจักรคาทอลิกถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะให้แนวทางปฏิบัติจากคำสอนพระศาสนจักรเรื่องความรับผิดชอบต่อประเทศชาติแก่พี่น้องคริสตชน ในฐานะที่เราเป็นพลเมืองคนหนึ่งของชาติที่พึงใส่ใจในความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อแผ่นดินถิ่นเกิด และต่อมนุษยชาติ

ความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง และสังคม

2. ความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองเป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคนในชาติ เพื่อปกป้องและส่งเสริม “ความดีส่วนรวม” (Common Good) ซึ่งเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่และจำเป็นที่ต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงเรื่องกฎแห่งศีลธรรม (Moral Law) ในความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง   เมื่อเราคิดถึงเรื่องราวของกาอินที่ฆ่าน้องตนเอง ชื่ออาแบล (เทียบ ปฐก.4:1-16) พระเจ้าถามเขาในความรับผิดชอบว่าน้องเจ้าอยู่ไหน? แต่เขากลับตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่รู้ ข้าพเจ้าต้องเป็นผู้ดูแลน้องด้วยหรือ? (ปฐก.4:9) กาอินปฏิเสธความรับผิดชอบที่เขากระทำผิด  แต่แบบอย่างและคำตอบที่แท้จริงเรื่องความรับผิดชอบต่อเพื่อนพี่น้องนั้นต้องปฏิบัติตามที่พระเยซูคริสต์ทรงสอน เป็นคำอุปมาเรื่องชาวซามาเรียผู้มีจิตใจดี (เทียบ ลก.10:25-37) ซึ่งอาจประยุกต์ได้ว่า เราต้องรับผิดชอบต่อเพื่อนพี่น้องชาย/หญิงทั้งในประเทศชาติและในโลกด้วย แบบไม่มีขอบเขต ปราศจากอคติใดๆ และไม่มีความจำกัดเฉพาะกลุ่มของตน

3. คำสอนของพระศาสนจักรเรื่องความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองต้องมีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อในพระเยซูคริสต์ ผู้เป็นนายชุมพาบาลที่ดี นำความปีติยินดีและความหวังโดยการนำของพระจิตเจ้า เพื่อความเป็นปึกแผ่นและสามัคคีท่ามกลางเพื่อนพี่น้องที่กำลังอยู่ในภาวะที่โศกเศร้า ท้อแท้ และกระวนกระวายใจ (เทียบ ธรรมนูญเรื่อง การอภิบาลของพระศาสนจักรในโลกปัจจุบัน ความปีติยินดี และความหวัง Gaudium et Spes ข้อ 1)

4. คริสตชนมีฐานะเป็นทั้งประชากรแห่งสวรรค์และแห่งโลกนี้  เราจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ทางบ้านเมืองและสังคมอย่างซื่อสัตย์ ตามจิตตารมณ์ของพระวรสาร (เทียบ Guadium et Spes n.43a) ในขณะที่สถานการณ์ที่มีความสับสนทางการเมืองอยู่นี้ คริสตชนหลายคนอยากจะทราบว่า ตนเองควรยืนอยู่จุดไหน? ควรเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือไม่?  แน่นอนพระศาสนจักรสนับสนุนให้คริสตชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองตามสิทธิและหน้าที่ที่ระบุไว้ในกฎหมาย โดยมีพื้นฐานจากพระวรสารเป็นหลักคือ รักและรับใช้ผู้อื่น  ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องตระหนักว่า ในฐานะผู้มีความเชื่อจำเป็นต้องสลัดความเห็นแก่ตัวและการยึดถือปัจเจกบุคคล และจำเป็นต้องยึดหลักการว่ารักพระเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์ โดยการแสดงออกต่อหน้าที่ทางบ้านเมือง โดยพิจารณาจากมโนธรรมอันถูกต้องบนหลักความจริง เป็นการตอบคำถามที่เราอาจสงสัยต่อสถานการณ์ที่สับสน

มโนธรรมของมนุษย์

5. มโนธรรม คือ เสียงของพระเจ้าที่อยู่ภายในตัวเรา เพื่อดลใจและช่วยเราให้รู้จักเลือกสิ่งที่ดีงามและหลีกเลี่ยงสิ่งชั่วร้ายตามกฎของพระเจ้า มโนธรรมที่เที่ยงตรงจะช่วยนำทางเราให้รู้จักว่า อะไรคือสิ่งจริงและถูกต้อง และไม่ตกอยู่ในภาวะหลอกลวงตนเอง ซึ่งอาจมีอิทธิพลมาจากเล่ห์เหลี่ยมของผู้อื่น และจากการประจญของอำนาจใฝ่ต่ำที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้อันนำไปสู่การทรยศต่อความจริงเกี่ยวกับตัวเราเอง และสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ในโลกที่สับสนอลหม่าน  มโนธรรมนี้แหละจะเป็นตัวนำไปสู่ความประพฤติ ต้องตัดสินใจในการเลือกความดีงามหรือหลีกเลี่ยงสิ่งเลวร้าย ดังนั้น การมีมโนธรรมที่ถูกต้อง เที่ยงธรรม และการตัดสินใจอย่างกล้าหาญ จึงจำเป็นต่อผู้ที่มีความรับผิดชอบฐานะพลเมืองของชาติ (เทียบ คำสอนพระศาสนจักรสากล หรือ CCC ข้อ 1777-1778)

6. เนื่องจากธรรมชาติของมโนธรรมอันศักดิ์สิทธิ์มีอยู่ในตัวมนุษย์ เราต้องมีความภูมิใจในสิทธิที่จะเลือกในสิ่งที่ถูกต้องตามที่มโนธรรมชี้นำ เราต้องมีเสรีภาพในการตัดสินใจเพื่อจะกระทำสิ่งที่ถูกต้องและหลีกเลี่ยงความชั่วร้าย ซึ่งต้องสอดคล้องกับความจริงที่พระเจ้าเปิดเผยผ่านทางพระวาจาของพระองค์ในพระคัมภีร์  เราจำเป็นต้องเรียนรู้อย่างถูกต้องทั้งกฎของพระเจ้าและกฎของธรรมชาติ โดยผ่านทางการสั่งสอนจากอำนาจของพระศาสนจักร (เทียบ CCC ข้อ 1783-1785) การตัดสินใจที่ผิดพลาดนั้นหลายครั้งเกิดขึ้นจากการขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องความจริงหรือการเพิกเฉยต่อการแสดงความจริง จึงเป็นหน้าที่ของพระศาสนจักรที่ต้องสอนสัตบุรุษให้มีมโนธรรมอันถูกต้องตรงกับความจริง เพื่อยืนหยัดและไม่หลงผิดตามกระแสของสถานการณ์ที่สับสนและการใช้อำนาจในทางที่ผิด (เทียบ CCC.1790-1794) การพิจารณามโนธรรมอย่างถูกต้องในพระจิตเจ้าเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การปฏิบัติในชีวิตจริงเพื่อสร้างสันติ (เทียบ CCC. ข้อ 1785)

การเลือกระบอบการปกครองและผู้นำประเทศ

7. ทั้งจากเอกสารของสภาสังคายนาวาติกัน ที่ 2  เรื่อง ธรรมนูญการอภิบาลทางสังคมในโลกปัจจุบัน ความปีติยินดีและความหวัง (Gaudium et Spes)  และคำแถลงการณ์เรื่อง สิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ย้ำว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ และเป็นหน้าที่ที่จะเลือกผู้นำประเทศของตนเอง ดังที่สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ในพระสมณสาสน์ “โอกาสครบ 100 ปี ของสมณสาสน์ Rerum Novarum”  ประกาศเมื่อ 1 พ.ค.1991 ข้อ 46 ซึ่งน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราที่เป็นคาทอลิกไทยและรวมถึงพี่น้องชาวไทยทุกคนผู้มีความปรารถนาดีว่าดังนี้ “พระศาสนจักรเห็นคุณค่าอันแท้จริงของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น ระบอบนี้ต้องทำให้พลเมืองทุกคนที่มีสิทธิได้เข้าร่วมในการเลือกตั้งผู้แทนทางการเมืองอย่างยุติธรรม และผู้ทำหน้าที่ในการเลือกตั้งนั้น ทำหน้าที่ใช้สิทธิ์อย่างดียิ่งยวด โดยเฉพาะในช่วงที่มีการถ่ายโอนอำนาจการปกครอง ต้องให้เป็นไปด้วยสันติวิธีและเหมาะสม ทั้งสิทธิและหน้าที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบในฐานะเป็นพลเมืองของชาติ และต้องมีความเคารพต่ออำนาจทางการเมืองที่มีอยู่เพื่อการรับใช้สังคม และเพื่อความดีของส่วนรวมจริงๆ (เทียบ CCC.ขัอ 1902)

8. เพื่อให้ประเทศชาติได้ผู้นำที่ดีเข้ามาบริหารประเทศและมีวิสัยทัศน์ เพื่อความดีส่วนรวมนั้นเป็นหน้าที่ของคริสตชนผู้มีมโนธรรมที่ถูกต้องจึงจะบรรลุถึงเป้าหมายที่ปรารถนา เพื่อผลรวมอันดีงามของสภาพสังคมที่เผชิญอยู่ (เทียบ Gaudium et Spes n. 26a) พระศาสนจักรย้ำเตือนประการแรก คือ เรื่องความยุติธรรมในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อการได้มาซึ่งบุคคลที่ดีเหมาะสม มีคุณภาพกับหน้าที่และตำแหน่ง บุคคลที่ได้รับเลือกนั้นต้องมีความแน่วแน่ในอุดมการณ์ต้องทำหน้าที่ “เพื่อความดีส่วนรวม” เท่านั้น ถ้าหากเลือกเขาด้วยเหตุผลอื่นๆ หรือการชักนำแบบผิดๆ อาจจะนำมาซึ่งภัยพิบัติ และความหายนะมาสู่ประเทศชาติได้ (เทียบ CCC. ข้อ 2238)

9. พระศาสนจักรคาทอลิกสั่งสอนเสมอว่า การเลือกระบอบการปกครองประเทศ รวมทั้งการเลือกผู้ปกครองทางการเมืองนั้นต้องมาจากการตัดสินใจอย่างอิสระของประชากรของประเทศ (เทียบ Gaudium et Spes n. 74) คริสตชนต้องมีความสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบต่อสภาพสังคมทางการเมืองด้วย และจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคมที่แสดงเจตนารมณ์เพื่อความดีส่วนรวม และความมั่นคงถาวรของประเทศ ต้องมีความเคารพซึ่งกันและกันเพื่อความเป็นเอกภาพในความแตกต่าง ส่วนผู้ที่เป็นนักการเมืองนั้น พระศาสนจักรสอนว่า พวกเขาจะต้องตระหนักถึงความถูกต้องตามกฎหมาย การฟังความคิดเห็นของคนในสังคมที่มีความแตกต่าง โดยเฉพาะในการแก้ไขรากเหง้าของปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ด้วยความเคารพสิทธิและเสียงของประชาชน แม้แต่เป็นเพียงกลุ่มหนึ่งที่ปกป้องสิทธิของพวกเขาโดยวิธีการที่ถูกต้องและซื่อสัตย์  ในส่วนของพรรคการเมือง พวกเขาต้องส่งเสริมและนำมาซึ่งความดีของส่วนรวมอันเป็นหัวใจการปกครอง ขจัดความไม่ถูกต้องในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว หรืออีกนัยหนึ่ง คือ มิให้ความสำคัญของส่วนตัวมีอิทธิพลเหนือไปกว่าความดีงามของส่วนรวม (เทียบ Gaudium et Spes n.75) ดังนั้น หน้าที่ของคริสตชนที่ดี คือ เป็นผู้ที่ถามตนเองว่า คุณภาพของบุคคลที่เราจะเลือกให้เป็นผู้นำนั้นมีลักษณะเช่นไร? (เทียบ อพย. 18:21-22) 

ข้อเตือนใจของพระสันตะปาปาฟรังซิส

10. เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2013 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เทศน์สอน ณ วัดน้อยนักบุญมาร์ธา ณ กรุงวาติกัน ซึ่งมีประเด็นที่อาจช่วยเราให้พิจารณาถึงความรับผิดชอบต่อสถานการณ์บ้านเมือง และหน้าที่ของการเป็นคาทอลิกที่ดี พอสรุปได้ดังนี้

ก. การเป็นคาทอลิกที่ดีต้องสวดภาวนาให้ผู้ปกครองบริหารบ้านเมือง เพื่อพวกเขาจะได้บริหารประเทศอย่างดี ถ้าหากผู้ปกครองบ้านเมืองไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อประชาชน เราจำเป็นต้องภาวนาขอพระเจ้าให้พวกเขากลับใจและเปลี่ยนแปลงตนเอง

ข. ผู้ปกครองบ้านเมืองต้องมีจิตใจรักประชาชนอย่างแท้จริง และมีความสุภาพถ่อมตน เป็นแบบอย่างที่ดี เพราะว่าถ้าหากเขาขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เขาไม่ใช่ผู้ปกครองที่ดี แต่เป็นเพียงแค่ผู้ควบคุมกฎเกณฑ์เท่านั้น !

ค. มนุษย์ทุกคน ทั้งชายหญิงต้องทำหน้าที่พลเมืองที่ดีและมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมืองของตน โดยเฉพาะผู้ทำหน้าที่เป็นผู้นำในสังคมและประเทศชาติ ต้องถามตัวเองเสมอว่า 
• เรารักประชาชนของเราจริงๆ และทำหน้าที่รับใช้พวกเขาให้ดีขึ้นไหม?
• เรามีความสุภาพพอที่จะฟังเสียงของทุกคนไหม ถ้าหากมีความเห็นแตกต่าง เราได้เลือกหนทางที่ดีที่สุดหรือไม่ ?

ง. พระสันตะปาปาฟรังซิสยังย้ำอีกว่า คำสอนของพระศาสนจักรด้านสังคมบ่งชี้ว่า การเมืองเป็นรูปแบบที่สำคัญในการปกครอง ซึ่งต้องนำมาซึ่งความรัก ความเมตตา ความถูกต้อง เพราะว่านี่เป็นเครื่องมือในการรับใช้สังคมอย่างดี  ดังนั้น คำพูดที่ว่าคาทอลิกไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่องการเมืองนั้นไม่ถูกต้อง ตรงกันข้ามคาทอลิกที่ดีต้องมีส่วนร่วมในระบอบทางการเมืองในการปกครอง และจำเป็นต้องมอบสิ่งที่ดีงามของเราเพื่อจรรโลงสังคม เพื่อจะทำให้ผู้ปกครองที่ดีสามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

จ. โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ผู้ปกครองประเทศไม่ได้ดำเนินตามครรลองครองธรรมในการปกครอง และการตัดสินใจของเขาขาดความชาญฉลาด คริสตชนต้องเลียนแบบนักบุญเปาโล ที่ท่านกล่าวว่า “เราต้องสวดภาวนาเพื่อพระมหากษัตริย์ และผู้ปกครองบ้านเมือง เพื่อจะให้ท่านเหล่านั้นทำหน้าที่อย่างดี และเปี่ยมไปด้วยความรักต่อประชาชน รับใช้ประชาชน มีจิตใจสุภาพถ่อมตน” (เทียบ 1 ทิโมธี 2:1-3)

สรุป ข้อแนะนำสู่การปฏิบัติ

1. คาทอลิกต้องมีสำนึกในความรับผิดชอบต่อสถานการณ์บ้านเมืองตามมโนธรรมที่ซื่อตรงต่อความจริง

2. แม้ว่ามีการแบ่งแยกฝ่าย อาจจะเป็นแบบเปิดเผยและ/หรือไม่เปิดเผย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในกรณีเช่นนี้คาทอลิกต้องสำนึกถึงความจริงแห่งความเชื่อที่ว่า เราต่างก็เป็นพี่น้องกัน มีพระเจ้าเป็นพระบิดาของเราทุกคน และเราเป็นพี่น้องร่วมผืนแผ่นดินไทย มีเชื้อชาติและสัญชาติไทยด้วยกัน

3. คริสตชนคาทอลิกทุกคนต้องกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง สร้างสรรค์และมุ่งสู่เอกภาพในความรัก ความยุติธรรม และสันติ เพื่อความมั่นคงของประเทศชาติเป็นหลักสำคัญ

4. เหนือกว่าความขัดแย้งใดๆ โดยตระหนักว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นอ่อนแอและเป็นคนบาป เราคริสตชนคาทอลิกมีความเชื่อมั่นเสมอในพลังของพระเจ้าและพระเมตตาของพระองค์แบบเหนือธรรมชาติ เพื่อขจัดความขัดแย้งทั้งปวง ดังนั้น เราจึงต้องภาวนา พลีกรรม อ้อนวอนต่อพระเจ้ามากเป็นพิเศษ

5. ณ วาระใดก็ตามที่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยมาถึง เป็นหน้าที่ของคาทอลิกจะต้องใช้สิทธิเพื่อการเลือกตั้งผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองในทุกระดับ ด้วยมโนธรรมที่ถูกต้อง และเลือกบุคคลที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม และมีความตั้งใจจริงที่จะเสริมสร้างความดีส่วนรวม


ณ กรุงเทพฯ  วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556/ค.ศ. 2013


พระสังฆราช ยอแซฟ ชูศักดิ์  สิริสุทธิ์
เลขาธิการสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย


มองซินญอร์ วิษณุ ธัญญอนันต์
รองเลขาธิการสภาฯ

Comments

  1. If the Catholic church feels so strongly about the things said on the newsletter about the common goods and responsibility to the society, why didn't the Catholic church come out to condemn the Redshirts when they burn the city in '53. I don't get it.

    ReplyDelete

Post a Comment