ฟาติมาสาร: HAPPY BIRTHDAY … บุคคลแห่งปี 2013 (22 ธ.ค. 2013)

หากใครติดตามข่าวต่างประเทศ น่าจะทราบกันดีว่า TIME นิตยสารชื่อดังของอเมริกา ประกาศให้ สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ประมุขพระศาสนจักรคาทอลิก เป็นบุคคลแห่งปี 2013 อย่างเป็นทางการ


ก่อนจะลงรายละเอียดการได้รับเลือกเป็นบุคคลแห่งปี ผมขอกล่าวคำว่า HAPPY BIRTHDAY 77 ชันษา แด่สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส เนื่องจากวันอังคารที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ ขอบคุณพระเจ้าสำหรับการประทานพระสันตะปาปาที่สุดยอดสุดๆมาให้กับคริสตชนและมนุษยชาติในยุคนี้ นี่คือพระสันตะปาปาที่ถูกส่งมาได้ถูกยุคถูกสมัยมากๆ เรียกได้ว่า ใครฟังสิ่งที่พระองค์ตรัสสอนแล้วยังไม่หยุดคิด หรือยังปฏิเสธ ก็อาจจะต้องพิจารณามโนธรรมของตัวเองกันหน่อยแล้วล่ะ

กลับต่อกันที่การได้รับเลือกเป็นบุคคลแห่งปีกันต่อ ... เรื่องนี้ “แนนซี่ กิ๊บบ์ส” บรรณาธิการบริหารของ TIME ออกมายกย่องพระสันตะปาปาว่า “ปกติแล้ว หาได้น้อยมากที่จะมีบุคคลหน้าใหม่บนเวทีโลก ที่จะดึงดูดความสนใจของคนทั่วโลก ความสนใจจากเยาวชน และคนสูงอายุได้เร็วแบบนี้ เรียกได้ว่า สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงทำได้ และทำได้อย่างรวดเร็วมากๆ” 

นอกจากนี้ TIME วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ทำให้พระสันตะปาปาองค์ปัจจุบันชนะใจคนทุกชาติทุกศาสนาได้อย่างรวดเร็ว เป็นเพราะ “อดีต” ที่พระองค์เคยเป็น โดยทำภาพเปรียบเทียบกับสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 และ เบเนดิกต์ ที่ 16 โดยใต้ภาพของพระสันตะปาปา 2 องค์นี้เขียนว่า “นักเทวศาสตร์” แต่ภาพของพระสันตะปาปา ฟรังซิส เขียนว่า “อดีตพนักงานถูพื้น, อดีตพนักงานเปิดประตูไนท์คลับ และอาจารย์วิชาเคมี” พูดง่ายๆก็คือ ภูมิหลังของการทำงานที่สัมผัสกับคนยากจน ทำให้เวลาพระสันตะปาปา ฟรังซิส ตรัสสอนอะไร มันทำให้พระองค์ “เข้าถึงจิตใจ” ของคนทุกชาติทุกศาสนาได้อย่างรวดเร็ว คำสอนของพระองค์สามารถสัมผัสกับ “สภาพความเป็นอยู่แท้จริงของคนวงกว้าง” ได้อย่างลึกซึ้ง เวลาตรัสสอนและลงมือทำ จึงสื่อทุกอย่างออกไปได้ครบถ้วน แบบที่เป็นตัวของพระสันตะปาปาอย่างแท้จริง


ทั้งนี้ ผมลองสรุปเหตุการณ์ต่างๆตลอด 10 เดือนในสมณสมัยของพระองค์มาให้ติดตามกัน แล้วคุณจะเข้าใจเลยว่า การเป็นบุคคลแห่งปีนั้น ไม่ได้มาเพราะฟลุ๊คแต่อย่างใด …

พระสันตะปาปาเดินมาจ่ายค่าโรงแรมเอง

หากยังจำกันได้ วันต่อมาหลังจากได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประมุขพระศาสนจักรคาทอลิก พระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงเดินออกมาจ่ายค่าห้องพักระหว่างการเลือกตั้งพระสันตะปาปา นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พระสันตะปาปาออกมาจ่ายค่าโรงแรมด้วยพระองค์เอง นี่คือการ “จุดเริ่มต้นของการชนะใจ” เพราะหลังจากนั้น ความประทับใจก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ อาทิ การเดินถือกระเป๋าขึ้นเครื่องบินเอง ซึ่งไม่เคยมีพระสันตะปาปาองค์ไหนเดินถือกระเป๋าสัมภาระขึ้นเครื่องเอง มีแต่ผู้ติดตามจะถือให้

ไม่พักวังพระสันตะปาปา แต่เลือกห้องนอนเล็กๆแทน

ต่อจากการจ่ายค่าโรงแรม เรื่องชนะใจต่อมาคือ “การปฏิเสธเข้าพักในวังพระสันตะปาปา” แต่เลือกนอนที่ห้องในหอพักซางตา มาร์ธา ที่เป็นห้องเล็กๆต่อไป พระสันตะปาปา ฟรังซิส ให้เหตุผลว่า พระองค์มีจิตตารมย์นักบวชที่ต้องการอยู่เป็นหมู่คณะ ต้องการทำมิสซาแล้วมีคนมาร่วม ต้องการกินข้าวแล้วมีเพื่อนร่วมโต๊ะ ถ้าอยู่ในวังพระสันตะปาปา ทุกอย่างสบาย แต่จะอยู่แบบโดดเดี่ยว ดังนั้น ขอทำตัวติดดินต่อไปดีกว่า นอกจากนี้ พระองค์ยังปฏิเสธจะนั่งรถ “เมอร์เซเดส เบนซ์” ซึ่งเป็นรถประจำตำแหน่งพระสันตะปาปา พร้อมกล่าวว่า “มันหรูไป ไม่เหมาะกับผู้อภิบาล พ่อเดินเข้าไปดูในโรงรถพระสันตะปาปา แล้วเห็น ฟอร์ด โฟกัส รถเก่าปี 2008 พ่อจึงบอกทุกคนว่า พ่อขอใช้คันนี้ทำงานอภิบาลแล้วกัน” นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานด้วยรถฟอร์ด โฟกัส และไม่ต้องมีรถนำขบวนเหมือนสมัยก่อนด้วย

พ่อรู้สึกแย่ เมื่อเห็นพระสงฆ์มีรถหรูๆขับกัน

จากการที่พระสันตะปาปาปฏิเสธการนั่งรถเบนซ์ และเลือกรถคันเก่าๆแทน พระองค์จึงเทศน์สอนบรรดาพระสงฆ์เกี่ยวกับเรื่องรถยนต์จนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ใจความว่า “พ่อเป็นห่วงบรรดาพระสงฆ์และซิสเตอร์ที่มีรถใหม่ พ่ออยากให้พวกเขาซื้อของที่ใหม่และทันสมัยเมื่อถึงคราวจำเป็นเท่านั้น มันทำให้พ่อรู้สึกแย่มากๆเมื่อได้เห็นบรรดาพระสงฆ์มีรถใหม่และหรูหราขับกัน รถยนต์เป็นสิ่งจำเป็นก็จริง แต่เราต้องเลือกให้เหมาะสม เลือกให้มันดูเรียบง่ายเข้าไว้”

ล้างเท้าผู้หญิงในวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์


บทบาทสตรีในพระศาสนจักรเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานาน อาทิ สมควรบวชสตรีเป็นสงฆ์ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนพระสงฆ์หรือไม่ … พระสันตะปาปา ฟรังซิส ไม่เห็นด้วยกับการบวชสตรีเป็นสงฆ์ แต่เลือกที่จะ “ยกระดับการให้เกียรติ” สตรีในพระศาสนจักรให้มากกว่านี้ โดยทรงเริ่มทำให้เห็นด้วยการล้างเท้านักโทษสตรี ในมิสซาวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ พร้อมจุมพิตเท้าของนักโทษคนนั้น นอกจากนี้ พระสันตะปาปายังเทศน์เตือนสติทุกคนว่า “ในความคิดของพ่อ สตรีบางคนมีความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าพวกเราพระสังฆราชและพระสงฆ์ด้วยซ้ำ อาทิ แม่พระและบรรดานักบุญสตรีต่างๆ ดังนั้น เราต้องอย่าจำกัดบทบาทของสตรี แต่จงส่งเสริมพวกเธอให้สุดความสามารถ”

พ่อเป็นใครจะไปตัดสิน “เกย์”

ระหว่างเที่ยวบินกลับจากงานเยาวชนโลกที่บราซิล พระสันตะปาปา ฟรังซิส ถูกผู้สื่อข่าวถามว่า “เรื่องกลุ่มผู้สนับสนุนเกย์ในวาติกัน พระองค์มีแนวทางต่อเรื่องนี้อย่างไร” คำตอบของพระสันตะปาปาเป็นข่าวดังและได้รับคำชมไปทั่วโลก พระองค์ตอบว่า …

“คนที่เป็นเกย์ที่แสวงหาพระเจ้า คนที่เป็นเกย์ซึ่งมีจิตใจดีงาม แน่นอนว่า พ่อเป็นใครมาจากไหนที่จะไปตัดสินพวกเขา คำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกอธิบายเรื่องนี้ชัดเจนอยู่แล้วว่า เราต้องไม่ไปลดความสำคัญของคนที่เป็นเกย์ ต้องไม่ไปแบ่งแยกพวกเขา พวกเขาต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคม”


พระสังฆราชอย่าทำตัวเป็นเจ้าชายเด็ดขาด

หลังจากเทศน์สอนและย้ำเรื่องความยากจนหลายต่อหลายครั้ง แต่เหมือนบรรดาพระสังฆราชและพระสงฆ์บางองค์ยังทำหูทวนลม ไม่ปฏิบัติตาม พระสันตะปาปาจึงกระทุ้งดังๆ จนสื่อทั่วโลกให้ความสนใจไปเป็นข่าวหน้าหนึ่ง โดยบทเตือนสติแบบแรงๆ มีดังนี้ …

แด่สมณทูต พระสันตะปาปาเตือนพวกเขาว่า “จงอย่าหลงลืมเป็นอันขาดว่า ท่านคือ ‘ผู้อภิบาล’ ที่ต้องนำพระเยซูคริสต์ไปให้กับโลก จงปลีกตัวออกจากการทำตัวเป็น ‘ผู้ดีชั้นสูงในสังคม’ ทั้งทางจิตวิญญาณและการดำเนินชีวิต การทำแบบนี้ทำให้ชีวิตฝ่ายโลกสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่มันทำลายพันธกิจศักดิ์สิทธิ์ของการเป็นผู้แทนพระสันตะปาปา”

แด่พระสังฆราช พระสันตะปาปาเตือนว่า “พ่อขอตำหนิพระสังฆราชและพระสงฆ์คาทอลิกที่มีความมักใหญ่ใฝ่สูง จำไว้ว่า บรรดาพระสังฆราชพระสงฆ์ พวกเราแต่งงานกับพระศาสนจักรแล้ว แต่ถ้าหากเราหวังเกี่ยวกับความร่ำรวยหรือความดูดี ถ้าคิดแบบนั้น มันอัปยศชัดๆ การเป็นพระสังฆราชพระสงฆ์และปรารถนาว่า สังฆมณฑลของเราต้องใหญ่ขึ้น มันเป็นเหมือนกับ ‘การมีชู้ทางจิตวิญญาณ’ (Spiritual Adultery) พ่อขอเตือนเลยนะว่า พระสังฆราชต้องอย่าเพลี่ยงพล้ำตกลงไปใน ‘จิตแห่งการทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูงในชีวิตสงฆ์’ เพราะนี่คือมะเร็งร้าย

“นอกจากนี้ พระสังฆราชต้องอยู่ในสังฆมณฑลของตัวเอง พ่อพูดแบบนี้หมายความว่า ยุคนี้เป็นยุคที่เราไปไหนมาไหนได้ง่ายมากๆ แต่กฏของการพำนักในสังฆมณฑลยังไม่ได้ล้าสมัยไปตามยุค การพักอาศัยในสังฆมณฑลไม่ใช่หน้าที่เท่านั้น แต่ยังมีความหมายถึงรากเหง้าเชิงเทวศาสตร์ด้วย ฉะนั้น จงหลีกเลี่ยงการเป็น ‘พระสังฆราชประจำสนามบิน’ ที่เดินทางไปทั่ว แต่แทบไม่อยู่สังฆมณฑลเลย”

พระสันตะปาปาพยายามย้ำเรื่องเหล่านี้มาก เฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ชีวิตแบบพอเพียง อย่าอู้ฟู่ฟุ้งเฟ้อ แน่นอนว่า มีพระสังฆราชคนหนึ่งจากเยอรมนีท้าทายพระสันตะปาปามากๆ หากยังจำกันได้ ผมเคยรายงานไปแล้วว่า เขาคือ “พระสังฆราช ฟรานซ์ ปีเตอร์ เทบารท์ซ ฟอน เอลส์ท” แห่งสังฆมณฑลลิมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ที่สร้างบ้านพักอย่างหรูหราราคากว่า 200 ล้านบาท และการเดินทางด้วยเครื่องบินชั้นเฟิร์สคลาสทุกครั้ง ตอนนี้ พระสังฆราชองค์นี้ถูกถอดจากตำแหน่งและถูกสั่งพักภารกิจแล้ว

อยากให้พระศาสนจักรบาดเจ็บ มากกว่าเจ็บป่วย

ความประทับใจต่อมาคือการประกาศแนวทางที่ชัดเจนในการอภิบาลคริสตชน ในสมณสมัยของพระองค์ พระสันตะปาปา ฟรังซิส ประกาศย้ำว่า “บางครั้ง การอยู่ในสังคมพระศาสนจักรสังคมวัด หรือนั่งอยู่แต่ในห้องทำงานในบ้านพักพระสงฆ์ มันเหมือนกับเราอยู่ในห้องที่ปิดตาย ไม่ช้าก็เร็วเราจะป่วย จริงอยู่ เมื่อเราออกไปท้องถนน เราอาจประสบอุบัติเหตุ แต่พ่ออยากบอกว่า พ่ออยากให้พระศาสนจักรบาดเจ็บ มากกว่าเจ็บป่วยจากการนั่งเฉยๆ สุขสบายไปวันๆ ทำงานด้วยปากพูด แต่การกระทำไม่ปรากฏแบบชัดเจน” … พระดำรัสนี้ พระสันตะปาปาประกาศอีกหลายครั้ง เพราะต้องการกระตุ้นบรรดาพระสงฆ์ให้กล้าออกไปลุยงานตามท้องถนน เหมือนที่พระองค์ทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง (ตอนอยู่อาร์เจนติน่า พระสันตะปาปาจะนั่งรถเมล์และรถไฟ ไปอภิบาลคนในสลัมอย่างน้อยๆวันละ 3 ชั่วโมง)

กล้าปฏิรูปโรมันคูเรีย กล้าเปลี่ยน ถ้าเจอสิ่งไม่ถูกต้อง

เป็นที่รู้กันว่า เรื่องสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศในพระศาสนจักรคาทอลิกเป็นเหมือนสิ่งโสโครกที่ถูกซุกอยู่ใต้พรมมานานหลายสิบปี รวมไปถึงเรื่อง “มาเฟีย” ในโรมันคูเรีย การที่บรรดาพระคาร์ดินัลเล่นพรรคเล่นพวก เล่นการเมือง มากกว่าทำงานเพื่อพระเจ้า ประกอบกับคดีฟอกเงินและคอร์รัปชั่นในธนาคารวาติกันที่หนักขึ้นเรื่อยๆ พระสันตะปาปาองค์ก่อนๆรู้ปัญหานี้ แต่ไม่กล้าลงมือแก้ไขแบบหักดิบ เพราะยังเกรงๆอิทธิพลบางอย่างที่ไม่มีใครรู้ แต่ทุกคนสัมผัสกับอิทธิพลของมันได้

มาในยุคของพระสันตะปาปา ฟรังซิส พระองค์แก้ปัญหานี้ด้วยความนิ่งและเด็ดขาด เริ่มด้วยการตั้งคณะพระคาร์ดินัล 8 องค์เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการปฏิรูปโรมันคูเรีย พระคาร์ดินัลชุดนี้ พระสันตะปาปาวิเคราะห์มาหลายเดือนว่าเป็นคนที่ฝากความหวังได้และโปร่งใสมากๆ จึงแต่งตั้งเข้ามาทำหน้าที่แก้ปัญหาพระศาสนจักร นอกจากนี้ ทรงตั้งทีมงานตรวจสอบธนาคารวาติกัน เพื่อป้องกันการฟอกเงิน แต่การแก้ปัญหาธนาคารวาติกัน ทำให้มาเฟียบางคนไม่พอใจ และทนายความในอิตาลีก็เตือนพระสันตะปาปาว่า ระวังจะถูกลอบปลงพระชนม์ แต่พระสันตะปาปาก็ไม่กลัว เดินหน้าลุยต่อไป ส่วนการแก้ปัญหาสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศ พระสันตะปาปาก็ตั้งคณะกรรมการปกป้องผู้เยาว์แล้ว เรียกได้ว่า พระองค์กล้าลุยแบบจริงจังเพื่อให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป


โทรหาประชาชน

นอกจากจะแก้ปัญหาเก่งแล้ว พระสันตะปาปายังเป็นที่พึ่งของประชาชนอีกด้วย พระองค์จะอ่านจดหมายหลายร้อยฉบับในหนึ่งวัน แล้วจะไล่โทรศัพท์ไปหาคนที่กำลังเดือดร้อนแบบสุดๆ ทุกๆวันจะมีข่าวว่า คนนั้นคนนี้ได้รับโทรศัพท์จากพระสันตะปาปา เรียกได้ว่า พระสันตะปาปา ฟรังซิส ใส่ใจสัตบุรุษมากๆ จนมีคำกล่าวในอิตาลีกันว่า ทุกๆวัน คนที่เขียนจดหมายหาพระสันตะปาปาจะรอโทรศัพท์ด้วยความตื่นเต้น เพราะวันดีคืนดี โทรศัพท์ที่โทรมาปลอบใจและให้คำปรึกษา อาจเป็นพระสันตะปาปาก็เป็นได้

บทสรุป

ทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่พระสันตะปาปา ฟรังซิส ได้ทำตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา ในฐานะที่ผมนั่งทำข่าวของพระองค์ทุกวันแบบไม่มีวันหยุด คำสอนที่พระสันตะปาปาสอนแล้วผมจำขึ้นใจคือ “ถ้าทำผิด จงสำนึกผิดด้วยความสุภาพถ่อมตน แล้วขอการอภัยโทษจากพระเจ้า จำไว้ว่า พระเจ้าไม่ต้องการเห็นคนบาปตาย แต่พระองค์ต้องการให้คนบาปกลับใจ” คนยุคนี้ ทำผิดแล้วไม่ค่อยยอมรับผิด จะโทษคนอื่นไปทั่ว บทสอนนี้ ผมว่าเรามาปรับใช้กับชีวิตเราได้ แล้วชีวิตจะสงบขึ้น

สุดท้าย ถ้าถามผมว่า คำไหนที่พระสันตะปาปา ฟรังซิส ตรัสมากที่สุดในสมณสมัยของพระองค์ ผมมั่นใจว่า พระสันตะปาปาจะพูดกับเราแต่ละคนว่า “สวดให้พ่อด้วยนะ” เพราะคำภาวนา คือคำที่พระองค์ต้องการมากที่สุดสำหรับการทำหน้าที่พระสันตะปาปาในยุคนี้


AVE   MARIA

Comments