Exclusive: คุยสบายๆสไตล์เยสุอิตกับ "โป๊ปฟรังซิส"

ก่อนหน้านี้ Pope Report เคยรายงานไปแล้วว่า สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงประทานการสัมภาษณ์แบบเป็นทางการเป็นครั้งแรกในสมณสมัยของพระองค์แก่ "คุณพ่ออันโตนิโอ สปาดาโร" สงฆ์เยสุอิตชาวอิตาเลี่ยนผู้เป็นบรรณาธิการ "ลา ชิวิลต้า คัตโตลิก้า" นิตยสารคาทอลิกชื่อดังของอิตาลี (บทสัมภาษณ์นี้ เกิดขึ้นก่อนที่ "ยูเจนิโอ สกัลฟารี่" ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ ลา รีปุบบลิก้า จะเข้าสัมภาษณ์พระสันตะปาปา) 

วันนี้ บทสัมภาษณ์ดังกล่าวได้รับการถอดความเป็นภาษาไทยเรียบร้อยแล้ว โดย "คุณวิไลลักษณ์ ตันพิบูลย์วงศ์, คุณพงษ์นรินทร์ รัตนรังสิกุล และเครือข่ายเพื่อนเยสุอิต" ซึ่งได้ส่งมาแบ่งปันกับผู้อ่าน Pope Report ทุกท่าน เพื่อไม่ให้เสียเวลา เราไปติดตามบทสัมภาษณ์นี้แบบเต็มๆกันเลย ...




คุณพ่อสปาดาโรได้เข้าพบพระสันตะปาปาที่วาติกัน ในห้องพักของพระองค์ที่หอพัก ซางตา มาร์ธา ซึ่งพระองค์เลือกที่จะใช้เป็นที่ประทับนับตั้งแต่การได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา คุณพ่อสปาดาโรเริ่มต้นการสัมภาษณ์ด้วยการบรรยายถึงที่ประทับของพระสันตะปาปา

บรรยากาศภายในห้องพักเรียบง่าย สมถะ พื้นที่ทำงานมีโต๊ะตัวเล็กๆ อยู่หนึ่งตัว พ่อรู้สึกประทับใจไม่เพียงแต่ความเรียบง่ายของเฟอร์นิเจอร์เท่านั้น แต่กับข้าวของในห้องพักซึ่งมีเพียงไม่กี่ชิ้น อันประกอบด้วย รูปวาดนักบุญฟรานซิส รูปปั้นพระแม่แห่งลูฮาน องค์อุปถัมภ์ของอาร์เจนตินา ไม้กางเขน และรูปปั้นนักบุญโยเซฟกำลังนอน จิตตารมณ์ของฆอร์เก้ มาริโอ แบร์โกโญ่ มิได้สร้างจาก "พลังที่กลมกลืน" อย่างที่พระองค์ทรงเรียก แต่เป็นพระพักตร์ของพระคริสตเจ้า ใบหน้าของนักบุญฟรานซิส นักบุญโยเซฟ และพระแม่มารีย์

พระสันตะปาปาตรัสถึงการเดินทางเยือนบราซิล พระองค์ทรงคิดว่าเรื่องนี้เป็นพระพรอย่างแท้จริง วันเยาวชนโลก เป็น “รหัสธรรม” สำหรับพระองค์ พระองค์ตรัสว่า พระองค์ไม่คุ้นเคยกับการพูดกับผู้คนเป็นจำนวนมากเช่นนี้ “โดยปกติพ่อจะมองไปที่บุคคลทีละคนๆ เพื่อที่จะพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับคนที่อยู่เบื้องหน้าพ่อ พ่อไม่คุ้นเคยกับการพูดกับมวลชน” พระสันตะปาปาทรงตั้งข้อสังเกต พระองค์ยังทรงตรัสถึงช่วงเวลาในระหว่างการประชุมเลือกตั้งพระสันตะปาปา เมื่อพระองค์เริ่มตระหนักว่าพระองค์อาจได้รับการเลือกตั้งเป็นพระสันตะปาปา ในระหว่างรับประทานกลางวันในวันพุธที่ 13 มีนาคม พระองค์ทรงสัมผัสถึงสันติสุขที่ไม่อาจอธิบายได้ลึกๆ ภายในใจ และการปลอบโยนที่หลั่งไหลมาสู่พระองค์ พร้อมกับความมืดมนอันยิ่งใหญ่ และความรู้สึกเหล่านั้นยังคงติดตรึงอยู่กับพระองค์จนถึงการเลือกตั้งในวันนั้น

พระสันตะปาปาได้ทรงตรัสไว้ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับความลำบากใจเป็นอย่างยิ่งในการให้สัมภาษณ์ พระองค์ตรัสว่า พระองค์ชอบที่จะคิดมากกว่าการให้คำตอบในทันทีต่อคำถามในการสัมภาษณ์ การสัมภาษณ์ครั้งนี้พระสันตะปาปาทรงหยุดการให้สัมภาษณ์หลายครั้งเพื่อเพิ่มเติมในถ้อยคำที่พระองค์ได้ทรงมีพระดำรัสไปแล้ว การพูดคุยกับพระสันตะปาปาฟรานซิส เป็นเหมือนดั่งการไหลของลาวาจากภูเขาไฟแห่งความคิดที่เชื่อมต่อแต่ละเรื่องเอาไว้ แม้แต่การจดบันทึกยังทำให้พ่อรู้สึกอึดอัด ราวกับว่าพ่อกำลังพยายามที่จะหยุดยั้งน้ำพุแห่งบทสนทนาที่กำลังพวยพุ่ง

ฆอร์เก้ มาริโอ แบร์โกโญ่คือใคร?

พ่อถามพระสันตะปาปาฟรานซิสอย่างตรงไปตรงมาว่า "ใครคือฆอร์เก้ มาริโอ แบร์โกโญ่?" พระองค์ทรงจ้องมองพ่ออย่างเงียบๆ พ่อขออนุญาตพระองค์ว่าพ่อจะถามพระองค์ด้วยคำถามนี้ได้หรือไม่ พระองค์ทรงพยักหน้าและตรัสว่า “พ่อไม่ทราบว่าอะไรจะเป็นคำอธิบายที่เหมาะสมที่สุด.... พ่อเป็นคนบาป นี่คือความหมายที่ถูกต้องที่สุด ไม่ได้เป็นการพูดให้ดูดีแบบที่เขียนกัน พ่อเป็นคนบาป”

พระสันตะปาปายังคงไตร่ตรองและรวบรวมสมาธิราวกับว่าพระองค์มิได้ทรงคาดคิดถึงคำถามนี้ ราวกับว่าพระองค์ทรงถูกบังคับให้ต้องไตร่ตรองให้หนักยิ่งขึ้น  “ใช่ บางทีพ่ออาจพูดได้ว่า พ่อเป็นคนฉลาด สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ แต่ก็ยังเป็นความจริงที่ว่าพ่อเป็นคนไร้เดียงสา ใช่แล้ว แต่บทสรุปที่ดีที่สุดที่มาจากภายใน และพ่อรู้สึกว่าเป็นจริงมากที่สุดคือ พ่อเป็นคนบาป ผู้ที่พระเจ้าทรงเหลียวแล” และพระองค์ทรงตรัสซ้ำว่า “พ่อเป็นคนหนึ่งที่พระเจ้าทรงเหลียวแล พ่อมักจะรู้สึกถึงคติพจน์ของพ่อที่ว่า Miserando atque Eligendo [โดยพระเมตตาและการเลือกสรรของพระองค์] ว่าเป็นสิ่งที่เป็นจริงที่สุดสำหรับพ่อ”

คติพจน์นี้ได้มาจากบทเทศน์ของเบเด ผู้น่าเคารพยกย่อง  (Bede the Venerable) ท่านแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระวรสารเรื่องการเรียกนักบุญมัทธิว "พระเยซูเจ้าทรงทอดพระเนตรเห็นคนเก็บภาษี และเมื่อพระองค์ทรงมองเขาด้วยความรู้สึกรัก พระองค์จึงทรงเลือกเขา พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ตามเรามาเถิด” พระสันตะปาปากล่าวเสริมว่า "พ่อคิดว่าอาการนามภาษาละติน miserando ไม่อาจแปลได้ทั้งในภาษาอิตาลีและสเปน พ่อชอบที่จะแปลอาการนามนี้ด้วยคำที่ไม่มีอยู่ อย่าง “misericordiando” ["mercy-ing" หรือการมีพระเมตตา]

พระสันตะปาปาฟรานซิสยังคงตรึกตรองและตรัสข้ามไปยังหัวข้ออื่นว่า "พ่อยังไม่รู้จักโรมดีนัก พ่อรู้จักบางอย่าง ซึ่งรวมถึงมหาวิหารพระแม่มารีย์องค์ใหญ่ พ่อมักจะไปที่นั่นอยู่เสมอ พ่อรู้จักมหาวิหารพระแม่มารีย์องค์ใหญ่ มหาวิหารนักบุญเปโตร... แต่เมื่อพ่อต้องมากรุงโรม พ่อมักจะอยู่ในละแวกถนน เดลลา สครอฟา ที่นั่นพ่อมักจะไปยังโบสถ์เซนต์หลุยส์แห่งฝรั่งเศส พ่อไปที่นั่นเพื่อรำพึงภาวนาต่อภาพวาด 'การเรียกนักบุญมัทธิว' ที่วาดโดยศิลปินคาราแวกจิโอ

"นิ้วมือของพระเยซูเจ้าทรงชี้ไปยังมัทธิว นั่นคือ พ่อเอง พ่อรู้สึกอย่างเดียวกับท่าน เช่นเดียวกับมัทธิว" ตรัสมาถึงตรงนี้ พระสันตะปาปาทรงตัดสินพระทัยราวกับว่าในที่สุดพระองค์ทรงพบภาพที่ทรงค้นหา “เป็นท่าทางของมัทธิวที่สะดุดใจพ่อ ท่านนักบุญกอบเอาเงินของท่าน ราวกับจะพูดว่า 'ไม่นะ ไม่ใช่ผม! เงินพวกนี้เป็นของผม' นี่ล่ะตัวพ่อ คนบาปผู้ที่พระเจ้าได้ทอดพระเนตรมายังพ่อ และนี่คือสิ่งที่พ่อพูดเมื่อพวกเขาถามว่า พ่อจะยอมรับการเลือกตั้งให้พ่อเป็นพระสันตะปาปาหรือไม่" แล้วพระองค์ทรงกระซิบในภาษาละตินว่า "พ่อเป็นคนบาป แต่พ่อเชื่อในพระเมตตาอันไม่มีที่สิ้นสุด และความอดทนขององค์พระเยซูคริสตเจ้า และพ่อยอมรับด้วยดวงจิตที่สำนึกบาป"

เหตุใดพระองค์จึงเข้าคณะเยสุอิต?

พ่อถามต่อไปว่า "พระสันตะปาปาครับ อะไรทำให้พระองค์เลือกที่จะเข้าคณะเยสุอิตครับ? อะไรเป็นสิ่งที่พระองค์ประทับใจเกี่ยวกับคณะเยสุอิต"

"พ่อต้องการอะไรที่มากกว่า แต่พ่อไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร พ่อเข้าสามเณราลัยของสังฆมณฑล พ่อชอบคณะโดมินิกัน และพ่อมีเพื่อนโดมินิกันหลายคน แต่แล้วพ่อกลับเลือกคณะเยสุอิต ซึ่งพ่อรู้จักดี เนื่องจากสามเณราลัยอยู่ในความดูแลของเยสุอิต สามสิ่งที่พ่อประทับใจเกี่ยวกับคณะคือ จิตตารมณ์แห่งการประกาศข่าวดี ความเป็นชุมชน และระเบียบวินัย และนี่เป็นสิ่งที่แปลก เพราะจริงๆ แล้วพ่อเป็นคนไม่มีระเบียบวินัย แต่ระเบียบวินัยของคณะ วิธีที่เยสุอิตจัดการกับเวลา สิ่งเหล่านี้ประทับใจพ่อเป็นอย่างมาก”

“และสิ่งที่มีความสำคัญมากจริงๆ สำหรับพ่อ คือ ความเป็นชุมชน พ่อมองหาหมู่คณะมาโดยตลอด พ่อไม่เคยจินตนาการเห็นตนเองเป็นพระสงฆ์ด้วยเพียงลำพังคนเดียว พ่อต้องการคณะนักบวช และคุณพ่ออาจจะสังเกตเห็นสิ่งนี้ได้จากความจริงที่ว่าพ่อพักอยู่ที่นี่ในซานตามาร์ธา ในช่วงเวลาของการประชุมเลือกตั้งพระสันตะปาปา พ่อก็อยู่ในห้อง 207 (ห้องพักที่ได้รับโดยการจับสลาก)  ห้องที่เราอยู่ในขณะนี้เป็นห้องพักสำหรับแขก พ่อเลือกที่จะอยู่ที่นี่ ในห้อง 201 นี้ เพราะเมื่อพ่อมีสิทธิที่จะพำนักในที่ประทับของพระสันตะปาปา เสียงภายในตัวพ่อบอกว่า ‘ไม่ใช่’  ที่ประทับของพระสันตะปาปาในสันตะสำนักมิได้หรูหรา แต่เป็นอาคารเก่าที่ได้รับการตกแต่งอย่างมีรสนิยม มีขนาดใหญ่โตแต่ไม่หรูหรา แต่ในที่สุดแล้ว พ่อรู้สึกว่าที่ประทับนี้มีรูปร่างเหมือนกรวยคว่ำขนาดใหญ่และกว้างใหญ่ไพศาล แต่ประตูทางเข้ากลับแคบเสียจริงๆ ผู้คนเข้ามาได้ทีละคนสองคน และพ่อก็ไม่อาจจะอาศัยอยู่ได้โดยปราศจากผู้คน พ่อต้องการที่จะใช้ชีวิตอยู่กับคนอื่นๆ”

มีความหมายอย่างไรในการที่เยสุอิตได้เป็นสังฆราชแห่งโรม

พ่อถามพระสันตะปาปาฟรานซิสเกี่ยวกับการที่พระองค์ทรงเป็นเยสุอิตคนแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นพระสังฆราชแห่งโรมว่า “พระองค์ทรงเข้าใจบทบาทในการรับใช้พระศาสนจักรสากลที่พระองค์ทรงได้รับการเรียก เมื่อพิจารณาด้วยจิตตารมณ์ของอิกญาซิโออย่างไร? การที่เยสุอิตได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปามีความหมายอย่างไร? อะไรคือปัจจัยสำคัญของจิตตารมณ์อิกญาซิโอที่จะช่วยพระองค์ในการปกครองพระศาสนจักร?”

“การพิจารณาไตร่ตรอง” พระองค์ทรงตอบ "การพิจารณาไตร่ตรองเป็นสิ่งหนึ่งในหลายสิ่งที่ทำงานภายในจิตใจของนักบุญอิกญาซิโอ สำหรับท่านนักบุญแล้ว มันเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการฟันฝ่าพยายาม เพื่อที่จะรู้จักพระเป็นเจ้าและติดตามพระองค์อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น พ่อประทับใจในคำพูดที่อธิบายถึงวิสัยทัศน์ของนักบุญอิกญาซิโออยู่เสมอ non coerceri maximo, sed contineri a minimo divinum est (“จงอย่าถูกจำกัดด้วยความยิ่งใหญ่ที่สุด แต่จงอยู่ในความต่ำต้อยที่สุด นี่คือความศักดิ์สิทธิ์") พ่อคิดทบทวนถึงวลีนี้มากทีเดียว ในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาด้านบทบาทที่แตกต่างกันในการปกครองของพระศาสนจักร เกี่ยวกับการอยู่เหนือผู้อื่น เป็นสิ่งสำคัญที่จะไม่ถูกจำกัดด้วยพื้นที่อันกว้างขวางมากขึ้น และเป็นสิ่งสำคัญที่จะอยู่ได้ในพื้นที่อันจำกัด เรื่องของขนาดใหญ่และขนาดเล็กเป็นเรื่องของความใจกว้าง ขอขอบคุณต่อความใจกว้าง ซึ่งทำให้เราสามารถมองไปยังขอบฟ้าจากตำแหน่งที่เราอยู่ ซึ่งหมายถึง ความสามารถในการทำสิ่งเล็กๆน้อยๆ ในชีวิตประจำวันด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่ซึ่งเปิดรับพระเจ้าและผู้อื่น ซึ่งหมายถึงความสามารถในการชื่นชมสิ่งเล็กๆน้อยๆ ภายใต้ขอบฟ้าที่กว้างใหญ่ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้คือพระอาณาจักรของพระเจ้า

"คติพจน์นี้” พระองค์ตรัสต่อไป “ได้เสนอตัวแปรที่จะช่วยให้เข้าสู่สถานะที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับการพิจารณาไตร่ตรอง เพื่อที่จะรับฟังสิ่งที่มาจากพระเจ้าจากมุมมองของพระเจ้าเอง' สำหรับนักบุญอิกญาซิโอแล้ว หลักการที่ยิ่งใหญ่จะต้องถูกรวบรวมเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในสภาพแวดล้อมด้านสถานที่ เวลา และผู้คน ในแบบฉบับของพระองค์เอง พระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 ทรงนำทัศนคตินี้มาใช้ในการปกครองพระศาสนจักร เมื่อพระองค์ตรัสย้ำด้วยคติพจน์ที่ว่า 'มองทุกๆ สิ่ง เปลี่ยนดวงตาที่มืดบอดให้มองมากขึ้น แก้ไขเพียงเล็กน้อย' พระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 ทรงมองเห็นทุกสิ่ง ด้วยขอบเขตสูงสุด แต่พระองค์ทรงเลือกที่จะแก้ไขเพียงเล็กน้อย ด้วยขอบเขตต่ำสุด ท่านอาจมีโครงการขนาดใหญ่ และดำเนินการด้วยการใช้สิ่งที่เล็กน้อยที่สุดเพียงไม่กี่อย่าง หรือท่านอาจใช้วิธีการที่นุ่มนวล ที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าวิธีการที่แข็งกร้าว ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวในบทจดหมายถึงชาวโครินธ์ฉบับที่หนึ่ง”

"การพิจารณาไตร่ตรองต้องอาศัยเวลา ตัวอย่างเช่น คนจำนวนมากคิดว่าการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปสามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น พ่อเชื่อว่าเราต้องใช้เวลาในการวางรากฐานเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและมีประสิทธิภาพ และนี่คือเวลาของการพิจารณาไตร่ตรอง บางครั้ง การพิจารณาไตร่ตรองกลับเรียกร้องให้เรากระทำสิ่งที่คิดจะทำครั้งแรกในภายหลัง และนั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับพ่อในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้  การพิจารณาไตร่ตรองจะเกิดขึ้นต่อพระพักตร์พระเจ้า ให้มองหาสัญญาณ รับฟังสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ความรู้สึกของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจน ตัวเลือกของพ่อรวมถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับแง่มุมของชีวิตในแต่ละวัน เช่น การใช้รถที่ไม่โอ่อ่า เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาไตร่ตรองทางจิตวิญญาณที่ตอบสนองต่อความต้องการที่เกิดขึ้นจากการมองสิ่งต่างๆ ผู้คน และจากการอ่านสัญญาณแห่งกาลเวลา การพิจารณาไตร่ตรองในพระเป็นเจ้านำทางพ่อสำหรับวิธีการในการปกครองของพ่อ

"แต่พ่อมักจะระมัดระวังเสมอเมื่อต้องตัดสินใจอย่างเร่งรีบ พ่อมักจะระมัดระวังในการตัดสินใจครั้งแรก นั่นคือสิ่งแรกที่เข้ามาสู่ใจของพ่อเมื่อพ่อต้องตัดสินใจ สิ่งนี้มักจะเป็นสิ่งที่ผิด พ่อต้องรอคอยและประเมิน มองลึกเข้าไปในตัวเอง ใช้เวลาตามความจำเป็น ปรีชาญาณแห่งการพิจารณาไตร่ตรองจะชดเชยกับความคลุมเครือที่จำเป็นของชีวิต และช่วยเราให้ค้นพบวิธีการที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งมักจะไม่ตรงกันกับสิ่งที่ดูยิ่งใหญ่และแข็งแกร่ง"

คณะแห่งพระเยซูเจ้า

ดังนั้น การพิจารณาไตร่ตรองจึงเป็นเสาหลักของจิตตารมณ์ของพระสันตะปาปาฟรานซิส ซึ่งแสดงออกในลักษณะเฉพาะของอัตลักษณ์ความเป็นเยสุอิตของพระองค์ พ่อถามพระองค์ว่า ถ้าเช่นนั้นคณะแห่งพระเยซูเจ้าจะสามารถรับใช้พระศาสนจักรในทุกวันนี้ได้อย่างไร? อะไรคือลักษณะเฉพาะของคณะและในขณะเดียวกันเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นกับคณะแห่งพระเยซูเจ้า?

"คณะแห่งพระเยซูเจ้าเป็นสถาบันที่อยู่ภายใต้ความกดดัน" พระสันตะปาปาตรัสตอบ "โดยพื้นฐานแล้วคณะจะอยู่ภายใต้ความกดดันอยู่เสมอ เยสุอิตคือบุคคลที่ไม่ยึดตนเองเป็นจุดศูนย์กลาง คณะเองก็มีลักษณะของการมองหาศูนย์กลางที่ภายนอกคณะ ศูนย์กลางของคณะคือพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์ ดังนั้น หากคณะมีพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรเป็นจุดศูนย์กลางแล้ว คณะจะมีจุดอ้างอิงพื้นฐานสองจุดเพื่อความสมดุลและเพื่อการใช้ชีวิตอยู่ที่ชายขอบ ที่พรมแดน ถ้าหากคณะมุ่งมองแต่ตนเองมากจนเกินไป คณะก็จะกำหนดให้ตนเองเป็นจุดศูนย์กลางเหมือนดังโครงสร้างที่แข็งแกร่งและได้ติด 'อาวุธ' อย่างพร้อมสรรพ์ แต่หากเป็นเช่นนั้น คณะกำลังเสี่ยงภัยกับความรู้สึกปลอดภัยและความพึงพอใจกับตนเอง คณะต้องมี Deus semper maior หรือ “พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล” อยู่เหนือตนเองเสมอไป และการแสวงหาเพื่อเทิดพระเกียรติมงคลของพระเจ้ามากยิ่งขึ้น พระศาสนจักรในฐานะของเจ้าสาวที่แท้จริงของพระคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา พระคริสตเจ้าผู้ทรงพิชิตใจเรา พระผู้ที่เรามอบตนเองทั้งครบและการทำงานหนักทั้งสิ้นของเรา แม้เราจะเป็นเพียงหม้อดินที่ไม่เคยดีพอ ความกดดันนี้ดึงเราออกจากตัวเองอย่างต่อเนื่อง เครื่องมือที่ทำให้คณะแห่งพระเยซูเจ้าไม่วางตนเองเป็นจุดศูนย์กลางนั้น เป็นเครื่องมือที่แข็งแกร่งจริงๆ นั่นคือ มโนธรรม ซึ่งในขณะเดียวกันคือความเป็นพ่อและความเป็นพี่เป็นน้องกัน เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คณะปฏิบัติภารกิจได้บรรลุผลสำเร็จดียิ่งขึ้น"

พระสันตะปาปาทรงอ้างถึงข้อกำหนดในธรรมนูญของคณะแห่งพระเยซูเจ้าที่เยสุอิตต้อง “แสดงให้เห็นถึงมโนธรรมของตน" นั่นคือสถานการณ์ทางจิตวิญญาณภายใน เพื่อว่าอธิการสามารถจะตระหนักและมีความรู้ในการที่จะส่งบุคคลไปปฏิบัติภารกิจได้ดียิ่งขึ้น

"แต่เป็นเรื่องยากที่จะพูดเกี่ยวกับคณะ" พระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสต่อ “เมื่อคุณแสดงออกมากเกินไป คุณก็เสี่ยงต่อการถูกเข้าใจผิด คณะแห่งพระเยซูเจ้าสามารถจะอธิบายได้เฉพาะแต่ในรูปแบบของการบรรยายเท่านั้น เฉพาะแต่ในการบรรยายที่เราจะสามารถพิจารณาไตร่ตรองได้ ไม่ใช่การอธิบายทางด้านปรัชญาหรือเทววิทยา ซึ่งจะก่อให้เกิดการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากกว่า รูปแบบของคณะไม่ได้ก่อเป็นรูปเป็นร่างขึ้นด้วยการอภิปรายแสดงความคิดเห็น แต่ด้วยการพิจารณาไตร่ตรอง ซึ่งเชื่อได้อย่างแน่นอนว่าการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ มิติอันลึกลับของการพิจารณาไตร่ตรองไม่อาจจะกำหนดได้ด้วยขอบเขตและไม่อาจจะทำให้ความคิดสมบูรณ์ไป เยสุอิตจะต้องเป็นบุคคลซึ่งมีความคิดที่ยังไม่สมบูรณ์ ในความหมายของการคิดที่เป็นปลายเปิด คณะเคยมีช่วงเวลาที่เยสุอิตจะดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปิดและและมีความคิดที่ตายตัว เป็นการบำเพ็ญตนตามคำสั่งสอนมากกว่ารหัสธรรม ความบิดเบี้ยวของชีวิตเยสุอิตให้กำเนิดแก่ Epitome Instituti [บทสรุปความของสถาบัน]"

พระสันตะปาปาทรงอ้างถึงบทสรุปความ (Compendium) ที่จัดทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในทางปฏิบัติ ซึ่งดูเสมือนว่าจะนำมาใช้แทนธรรมนูญ บางทีการก่อตั้งคณะเยสุอิตอาจได้รับการปรับให้เข้ารูปเข้าร่างด้วยบทสรุปความนี้ สำหรับบางคนที่ไม่เคยอ่านธรรมนูญอันเป็นรากฐานนี้ ในทัศนะของพระสันตะปาปา ในช่วงเวลานี้ กฎต่างๆได้คุกคามที่จะเข้าครอบงำจิตวิญญาณ และคณะยอมอ่อนข้อให้กับความยั่วยวนที่จะอธิบายขยายความและให้คำนิยามของพระพรพิเศษของคณะด้วยความหมายที่แคบเกินไป

พระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสต่อไปว่า “ไม่ใช่ คณะเยสุอิตมักจะคิดอยู่เสมอ คิดแล้วคิดอีก มองไปยังทิศทางที่พวกเขาจะต้องไป โดยมีพระคริสตเจ้าเป็นจุดศูนย์กลาง นี่คือจุดแข็งที่แท้จริง และสิ่งนั้นผลักดันให้คณะค้นหา สร้างสรรค์ และมีใจเมตตา ดังนั้น ในขณะนี้ คณะแห่งพระเยซูเจ้าจะต้องไตร่ตรองถึงการปฏิบัติมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา ต้องอยู่ใกล้ชิดอย่างลึกซึ้งกับพระศาสนจักรทั้งครบ ทั้งกับ 'ประชากรของพระเจ้า' และ 'ฐานานุกรมสงฆ์แห่งพระศาสนจักรผู้เป็นพระมารดาศักดิ์สิทธิ์' สิ่งนี้เรียกร้องความอ่อนน้อมถ่อมตน ความเสียสละ และความกล้าหาญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคุณถูกเข้าใจผิด หรือเป็นประเด็นของความเข้าใจผิดและถูกใส่ร้ายป้ายสี แต่สิ่งนั้นเป็นทัศนคติที่ส่งผลมากที่สุด ให้เราคิดถึงความกดดันในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เมื่อหลายศตวรรษที่แล้ว ความขัดแย้งเกี่ยวกับพิธีกรรมของจีน พิธีกรรมของมาลาบาร์ และการตั้งถิ่นฐานในปารากวัย ”

“พ่อเป็นประจักษ์พยานด้วยตนเองในเรื่องของความเข้าใจผิดและปัญหาต่างๆที่คณะได้มีประสบการณ์เมื่อเร็วๆนี้ ในบรรดาผู้ที่ตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการขยายการปฏิญาณข้อที่สี่ว่าด้วยความนบนอบต่อพระสันตะปาปาไปยังเยสุอิตทุกคน สิ่งที่ทำให้พ่อเชื่อมั่นในช่วงเวลาของคุณพ่ออาร์รูเป [อธิการเจ้าคณะเยสุอิตในระหว่างปี 1965 ถึง 1983] คือข้อเท็จจริงที่ว่า คุณพ่อเป็นบุรุษแห่งการภาวนา ผู้ใช้เวลาอย่างมากในการสวดภาวนา พ่อจำได้ขณะที่คุณพ่อสวดภาวนาโดยนั่งอยู่บนพื้นในแบบญี่ปุ่น สำหรับในเรื่องนี้ คุณพ่อมีทัศนคติที่ถูกต้องและตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง”

แบบอย่างของ ปีเตอร์ เฟเบอร์ 'พระสงฆ์นักปฏิรูป'

พ่อสงสัยว่าจะมีบุคคลสำคัญในคณะเยสุอิตนับตั้งแต่การก่อตั้งคณะจนถึงปัจจุบันที่ส่งผลต่อพระองค์ในทางใดทางหนึ่งโดยเฉพาะ พ่อจึงถามพระสันตะปาปาว่า พวกท่านเหล่านั้นเป็นใครและเพราะเหตุใด? พระองค์ทรงเริ่มด้วยการกล่าวถึงนักบุญอิกญาซิโอแห่งโลโยลา [ผู้ก่อตั้งคณะเยสุอิต] และนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ แต่แล้วกลับทรงมุ่งเน้นไปยังอีกท่านหนึ่งซึ่งไม่ได้เป็นที่รู้จักกันมากนักในหมู่คนทั่วไปคือ ปีเตอร์ เฟเบอร์ [หรือเปโดร ฟาแบร์] (1506-1546) จากซาวอย ท่านเป็นหนึ่งในสหายกลุ่มแรกของนักบุญอิกญาซิโอ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วเป็นคนแรกที่ใช้ห้องร่วมกันเมื่อท่านทั้งสองเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยปารีส เพื่อนร่วมห้องคนที่สามคือนักบุญฟรังซิส เซเวียร์  พระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 ทรงประกาศแต่งตั้งท่านเป็นบุญราศี เมื่อวันที่ 5 กันยายน 1872 และยังคงเปิดรับหลักฐานสำหรับการแต่งตั้งให้ท่านเป็นนักบุญอยู่

พระสันตะปาปาทรงอ้างอิงถึงผลงานตีพิมพ์ของเฟเบอร์ ซึ่งพระองค์ขอให้นักวิชาการเยสุอิตสองท่าน ได้แก่ มิเกล เอ. ฟิโอริโต และไฮเม เอช. อามาดีโอทำการแก้ไขและพิมพ์เผยแพร่ เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะแขวงเยสุอิตในประเทศอาร์เจนตินา ฉบับที่พระองค์ทรงชื่นชอบเป็นพิเศษคือฉบับของมิเชล เดอ ซาร์ตู   พ่อถามพระสันตะปาปาว่าเหตุใดพระองค์จึงทรงประทับใจต่อเฟเบอร์มากเป็นพิเศษ

พระสันตะปาปาตรัสว่า “เป็นเพราะบทสนทนาของท่านกับทุกคน” “แม้ผู้ที่ห่างไกลกับท่านมากที่สุด และแม้แต่กับผู้ที่เป็นอริกับท่าน ความศรัทธาอย่างซื่อๆ บางทีอาจจะเป็นความไร้เดียงสาในบางประการ การที่ท่านพร้อมที่จะทำงานได้ในทันที การพิจารณาไตร่ตรองชีวิตจิตอย่างรอบคอบระมัดระวัง ความจริงที่ว่าท่านเป็นคนที่มีความสามารถในการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่และเด็ดเดี่ยว ในขณะที่ยังคงไว้ซึ่งความอ่อนโยนและความรัก”

มิเชล เดอ ซาร์ตูเล่าถึงลักษณะของเฟเบอร์อย่างง่ายๆว่า ท่านเป็น “พระสงฆ์นักปฏิรูป” ผู้ซึ่งทำให้ประสบการณ์ภายใน การแสดงออกตามหลักคำสอน และการปฏิรูปด้านโครงสร้างแยกออกจากกันไม่ได้ พระสันตะปาปายังได้ตรัสต่อไปถึงการไตร่ตรองให้เห็นถึงโฉมหน้าที่แท้จริงของผู้ก่อตั้งคณะ

“อิกญาซิโอเป็นผู้ฝึกปฏิบัติจิต ไม่ใช่ฤาษีผู้บำเพ็ญตนอย่างเคร่งครัด” พระองค์ตรัสว่า “พ่อมักรู้สึกเคือง เมื่อได้ยินว่าการฝึกปฏิบัติชีวิตจิตจะถือว่าเป็นแบบอิกญาซิโอเฉพาะเมื่อได้กระทำในความเงียบเท่านั้น ความจริงแล้วการฝึกปฏิบัติชีวิตจิตสามารถถือว่าเป็นแบบอิกญาซิโอได้อย่างสมบูรณ์แบบ แม้จะกระทำในชีวิตประจำวันโดยปราศจากความเงียบก็ตาม การตีความการฝึกปฏิบัติชีวิตจิตที่เน้นการพิศเพ่งรำพึง ความเงียบ และการพลีกรรมใช้โทษบาป เป็นสิ่งบิดเบือนที่กลายเป็นที่แพร่หลายไปทั่ว แม้แต่ในคณะเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคณะเยสุอิตในประเทศสเปน พ่อค่อนข้างจะใกล้ชิดกับ

ขบวนการเคลื่อนไหวด้านการฝึกปฏิบัติชีวิตจิตของหลุยส์ ลาลเลมองต์  และฌอง-โจเซฟ ซูฮา  และเฟเบอร์ก็เป็นผู้ปฏิบัติจิตท่านหนึ่ง”

ประสบการณ์ในการปกครองพระศาสนจักร

ประสบการณ์อย่างไรในการปกครองพระศาสนจักร ในฐานะอธิการ และในฐานะอธิการเจ้าคณะแห่งพระเยซูเจ้า ที่มีส่วนช่วยในการหล่อหลอมคุณพ่อแบร์โกโญ่อย่างสมบูรณ์? รูปแบบการปกครองของคณะแห่งพระเยซูเจ้าเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจที่กระทำโดยอธิการ แต่ยังรวมถึงการให้คำแนะนำปรึกษาที่ครอบคลุมกว้างขวางจากบรรดาที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการ  ดังนั้น พ่อจึงถามว่า "พระองค์ทรงคิดว่าประสบการณ์ด้านการปกครองที่ผ่านมาจะช่วยพระองค์ในการปกครองพระศาสนจักรสากลได้หรือไม่?" หลังการหยุดนิดหนึ่งเพื่อไตร่ตรอง พระองค์ทรงตอบว่า

“จากประสบการณ์ของพ่อในฐานะอธิการเจ้าคณะ ด้วยความสัตย์จริงแล้ว พ่อไม่ได้ปฏิบัติตามวิธีนั้นเสมอไป นั่นคือ พ่อไม่ได้ทำการปรึกษาหารือที่จำเป็นเสมอไป และนี่ไม่ใช่สิ่งที่ดี ในช่วงเริ่มต้น รูปแบบการปกครองของพ่อในฐานะของเยสุอิตมีความผิดพลาดมากมาย นั่นเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับคณะ เยสุอิตทั้งรุ่นหายไป ด้วยเหตุนี้ พ่อพบว่าตัวเองเป็นเจ้าคณะในขณะที่ยังมีอายุน้อยเกินไป พ่อเพิ่งจะมีอายุเพียง 36 ปี มันบ้าจริงๆ พ่อต้องรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก และพ่อตัดสินใจในทันทีด้วยตนเอง ใช่! แต่พ่อต้องการเพิ่มเติมอย่างหนึ่งว่า เมื่อพ่อมอบความไว้วางใจให้กับใครแล้ว พ่อจะวางใจคนนั้นโดยสิ้นเชิง เขาหรือเธอคนนั้นจะต้องทำผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงจริงๆ พ่อจึงจะตำหนิคนๆนั้น แม้จะเป็นเช่นนี้ก็ตาม ในที่สุดแล้ว ผู้คนจะเหนื่อยหน่ายกับระบอบอำนาจนิยม

"ความเป็นเผด็จการและลักษณะการตัดสินใจที่รวดเร็วทำให้พ่อต้องประสบปัญหาที่ร้ายแรง และถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง พ่อเผชิญกับช่วงเวลาวิกฤตภายในครั้งใหญ่เมื่ออยู่ที่คอร์โดวา ที่แน่ๆคือ พ่อไม่เคยเป็นได้อย่างบุญราศีอีเมลดา [ผู้แสนดี] แต่พ่อก็ไม่เคยเป็นพวกอนุรักษ์นิยม เป็นเพราะวิธีการตัดสินใจแบบอำนาจนิยมของพ่อที่ก่อให้เกิดปัญหาขึ้น

"พ่อพูดสิ่งนี้จากประสบการณ์ชีวิต และเพราะต้องการที่จะทำให้ชัดเจนไปว่าอะไรที่เป็นอันตราย เมื่อเวลาผ่านไปพ่อได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง พระเจ้าทรงประทานการเจริญเติบโตทางความรู้ด้านการปกครองผ่านทางความผิดพลาดและบาปของพ่อ  ดังนั้น ในฐานะของอัครสังฆราชแห่งบัวโนสไอเรส พ่อประชุมกับพระสังฆราชผู้ช่วยทั้งหกท่านทุกสองสัปดาห์ และสภาพระสงฆ์ปีละหลายครั้ง พวกเขาตั้งคำถามและเราเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายกัน สิ่งนี้ช่วยพ่อได้เป็นอันมากในการทำการตัดสินใจที่ดีที่สุด แต่ตอนนี้พ่อกลับได้ยินบางคนบอกกับพ่อว่า 'อย่าปรึกษามากจนเกินไป และให้ตัดสินใจด้วยตนเอง' พ่อกลับเชื่อว่า การปรึกษาหารือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”

“ตัวอย่างเช่น สภาพระคาร์ดินัล สภาพระสังฆราช เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การปรึกษาหารือนี้เป็นจริงและใช้การได้ อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ใช้รูปแบบที่ตายตัวนัก พ่อไม่ต้องการคำปรึกษาที่เป็นเพียงสัญลักษณ์ แต่ต้องการคำปรึกษาที่แท้จริง คณะพระคาร์ดินัลที่ปรึกษาทั้งแปดท่าน กลุ่มที่ปรึกษาที่เป็น 'คนนอก' นี้ ไม่ได้เป็นเพียงการตัดสินใจของพ่อเท่านั้น แต่เป็นผลจากความประสงค์ของพระคาร์ดินัล ตามที่แสดงในการประชุมใหญ่ก่อนการเลือกพระสันตะปาปา และพ่อต้องการที่จะเห็นว่า นี่เป็นคำปรึกษาที่แท้จริง ไม่ใช่คำปรึกษาที่เป็นไปตามพิธีการ”

การคิดร่วมกับพระศาสนจักร

พ่อถามพระสันตะปาปาฟรานซิสว่า อะไรคือความหมายที่แท้จริงสำหรับพระองค์ในเรื่องเกี่ยวกับ “การคิดร่วมกับพระศาสนจักร" ตามแนวคิดของนักบุญอิกญาซิโอซึ่งเขียนไว้ในหนังสือการฝึกปฏิบัติชีวิตจิต? พระองค์ทรงตอบโดยการใช้ภาพลักษณ์

“ภาพลักษณ์ของพระศาสนจักรอย่างที่พ่อปรารถนาคือ ประชากรของพระเจ้าผู้มีใจศรัทธาและศักดิ์สิทธิ์ นี่เป็นคำนิยามที่พ่อมักจะใช้บ่อยๆ และยังมีภาพลักษณ์ตาม 'ธรรมนูญเกี่ยวกับหลักคำสอนของพระศาสนจักร' (ฉบับที่ 12) จากการสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง การเป็นของประชากรมีคุณค่าทางเทววิทยาเป็นอย่างมาก ในประวัติศาสตร์แห่งการไถ่กู้ พระเจ้าทรงช่วยประชากรให้รอดพ้น ไม่มีอัตลักษณ์ใดที่ครบสมบูรณ์หากไม่เป็นของประชากร ไม่มีใครได้รับการช่วยให้รอดพ้นแต่เพียงผู้เดียว ในฐานะของบุคคลที่แยกออกมาโดดเดี่ยว แต่พระเจ้าทรงชักจูงพวกเรา ให้มองที่สายใยแห่งความสัมพันธ์อันซับซ้อนที่เกิดขึ้นภายในชุมชนมนุษย์ พระเจ้าทรงเข้าสู่พลวัตนี้ ทรงมีส่วนร่วมในสายใยแห่งความสัมพันธ์ของมนุษย์

"ประชาชนเองรวมกันเป็นประชากร และพระศาสนจักรคือประชากรของพระเจ้าซึ่งกำลังเดินทางผ่านประวัติศาสตร์ ด้วยความปีติและความทุกข์โศก  ดังนั้น การคิดร่วมกับพระศาสนจักรคือหนทางของพ่อที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชากรนี้ และเหล่าสัตบุรุษทั้งมวลเมื่อพิจารณาโดยรวมจึงไม่มีผิดพลาดในเรื่องของความเชื่อ และบรรดาประชากรได้แสดงถึง infallibilitas in credendo หรือความเชื่อที่ไม่มีผิดพลาดนี้ โดยผ่านทางสัมผัสเหนือธรรมชาติของความเชื่อของทุกคนที่ร่วมเดินทางไปด้วยกัน นี่คือสิ่งที่พ่อเข้าใจในวันนี้ว่าเป็น 'การคิดร่วมกับพระศาสนจักร' ตามที่นักบุญอิกญาซิโอได้กล่าวถึง เมื่อเกิดการสานเสวนาท่ามกลางหมู่ประชากร พระสังฆราช และพระสันตะปาปาร่วมเดินทางไปด้วยกันบนเส้นทางนี้และเป็นสิ่งที่เป็นจริงแท้ อีกทั้งได้รับความช่วยเหลือจากพระจิตเจ้า ดังนั้น การคิดร่วมกับพระศาสนจักรนี้จะไม่ได้เกี่ยวข้องแต่เพียงกับเทววิทยาเท่านั้น

"นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับพระแม่มารีย์ ถ้าคุณต้องการรู้ว่าพระนางเป็นใคร ให้คุณถามกับนักเทววิทยา ถ้าคุณต้องการรู้ว่าจะรักพระนางได้อย่างไร คุณต้องถามกับประชาชน ในทางกลับกัน พระนางมารีย์ทรงรักพระเยซูเจ้าด้วยหัวใจของประชากร อย่างที่เราอ่านบทมักญีฟีกัต ดังนั้น เราไม่ควรแม้แต่จะคิดว่า 'การคิดร่วมกับพระศาสนจักร' หมายถึง การคิดร่วมกับผู้ใหญ่ของพระศาสนจักรเท่านั้น"

หลังการหยุดพักช่วงสั้นๆ พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเน้นย้ำในจุดต่อไปนี้ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด "และแน่นอน เราจะต้องระวังให้มากที่จะไม่คิดว่าความไม่มีพลาดของบรรดาสัตบุรุษทั้งมวลที่พ่อพูดถึงในแง่ของการสังคายนาวาติกันครั้งที่สองจะอยู่ในรูปแบบของประชานิยม ไม่ใช่เลย แต่เป็นประสบการณ์ของ 'พระศาสนจักรผู้เป็นพระมารดาศักดิ์สิทธิ์' ตามที่นักบุญอิกญาซิโอเรียก พระศาสนจักรในฐานะประชากรของพระเจ้า อันได้แก่พระสงฆ์และประชากรรวมอยู่ด้วยกัน พระศาสนจักรเป็นผลรวมทั้งสิ้นของประชากรของพระเจ้า

"พ่อเห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของประชากรของพระเจ้า ความศักดิ์สิทธิ์ในชีวิตประจำวัน" พระสันตะปาปาตรัสต่อไปว่า "มี 'ความศักดิ์สิทธิ์ระดับกลาง' ซึ่งรวมพวกเราทั้งหมดเข้าด้วยกัน มาเลก ผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้เขียนถึงเรื่องนี้" พระสันตะปาปาทรงหมายถึง โจเซฟ มาเลก (Joseph Malègue) นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส (1876-1940) โดยเฉพาะไตรภาคที่ยังเขียนไม่จบ เรื่อง “ศิลาดำ – ความรอดพ้นของชนชั้นกลาง” (Black Stones – The Middle Classes of Salvation)

"พ่อเห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์" พระสันตะปาปาตรัสต่อว่า "ในความอดทนของประชากรของพระเจ้า หญิงผู้เลี้ยงดูบุตร  ชายผู้ทำงานเพื่อนำขนมปังกลับบ้าน ผู้ป่วย พระสงฆ์สูงอายุผู้มีบาดแผลมากมาย แต่ยังมีรอยยิ้มบนใบหน้าเพราะพวกเขาได้ทำงานรับใช้พระเจ้า นักบวชหญิงผู้ทำงานหนักและใช้ชีวิตซ่อนเร้นในอาราม สำหรับพ่อ นี่คือความศักดิ์สิทธิ์ร่วมกัน พ่อมักจะเชื่อมโยงความศักดิ์สิทธิ์กับความอดทน ไม่ใช่ความอดทนแบบ hypomoné [คำกรีกในพันธสัญญาใหม่] การรับผิดชอบในสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมในชีวิตเพียงเท่านั้น แต่เป็นความสม่ำเสมอในการก้าวไปข้างหน้าในแต่ละวันๆ นี่คือ ความศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักรนักต่อสู้ตามที่นักบุญอิกญาซิโอเอ่ยถึง นี่คือความศักดิ์สิทธิ์ของผู้ปกครองของพ่อ ทั้งคุณพ่อ คุณแม่ คุณย่าโรซาผู้รักพ่อเป็นอย่างมาก ในหนังสือทำวัตรของพ่อมีความประสงค์สุดท้ายของคุณย่าโรซา และพ่อมักจะอ่านอยู่บ่อยๆ เพราะสำหรับพ่อแล้วเป็นเสมือนบทสวด คุณย่าเป็นนักบุญผู้ทนทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก ทั้งทางจิตวิญญาณด้วย กระนั้นก็ตาม ท่านก็ยังก้าวเดินต่อไปด้วยความกล้าหาญ

"พระศาสนจักรที่เราควรจะคิดถึงคือบ้านของทุกๆคน ไม่ใช่วัดน้อยขนาดเล็กที่รองรับผู้คนได้เพียงแต่เฉพาะคนที่ได้รับเลือกกลุ่มเล็กๆ เราต้องไม่ลดขนาดอ้อมอกของพระศาสนจักรสากลให้เหลือเป็นเพียงรังที่ใช้ปกป้องคนที่ไม่โดดเด่นอะไร และพระศาสนจักรเป็นมารดา เป็นพระศาสนจักรที่บังเกิดผล และจะต้องเป็นเช่นนั้น  เมื่อพ่อรับรู้ถึงพฤติกรรมทางลบในหมู่พระสงฆ์ของพระศาสนจักร หรือในหมู่นักบวชชายหญิง สิ่งแรกที่เข้ามาสู่ใจของพ่อคือ 'นี่คือชายโสดที่เป็นหมัน' หรือ 'นี่คือสาวทึนทึก' พวกเขาไม่ได้อาจจะเป็นพ่อหรือแม่คนได้ ในแง่ที่พวกเขาไม่อาจให้กำเนิดแก่ชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณได้ ในทางตรงกันข้าม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพ่อได้อ่านเรื่องราวชีวิตของบรรดามิชชันนารีซาเลเซียนผู้ไปประกาศข่าวดีที่ปาทาโกเนีย พ่อได้เห็นเรื่องราวของความเต็มบริบูรณ์ของชีวิต ของชีวิตที่บังเกิดผล

"อีกตัวอย่างหนึ่ง จากเหตุการณ์เมื่อไม่กี่วันมานี้ซึ่งพ่อเห็นว่าได้รับความสนใจจากหนังสือพิมพ์ นั่นคือ กรณีที่พ่อได้โทรศัพท์ไปหาชายหนุ่มคนหนึ่งที่เขียนจดหมายมาหาพ่อ พ่อโทรศัพท์หาเขาเพราะจดหมายของเขางดงามยิ่งนัก และเรียบง่ายเหลือเกิน สำหรับพ่อแล้วนี่เป็นการกระทำที่สามารถสร้างสรรค์ทำให้บังเกิดผลได้ พ่อตระหนักดีว่าเขาเป็นชายหนุ่มที่กำลังเติบโต ตระหนักว่าเขาเห็นว่าพ่อเป็นเหมือนพ่อของเขา และจดหมายฉบับนั้นกำลังบอกบางอย่างในชีวิตของเขาให้กับพ่อคนนั้น พ่อไม่อาจจะพูดได้ว่า 'พ่อไม่สนใจ' การบังเกิดผลในลักษณะเช่นนี้ช่างเป็นสิ่งที่ดีงามสำหรับพ่อ"

พระศาสนจักรรุ่นใหม่และพระศาสนจักรโบราณ 

เรายังคงอยู่ในประเด็นเกี่ยวกับพระศาสนจักร พ่อถามพระสันตะปาปาในเรื่องของวันเยาวชนโลกที่จัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เหตุการณ์ยิ่งใหญ่นี้ได้ดึงดูดให้ผู้คนมุ่งความสนใจไปยังคนหนุ่มสาว และรวมถึงบรรดา "ปอดทางจิตวิญญาณ" อันได้แก่ พระศาสนจักรคาทอลิกที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ พ่อถามว่า "อะไรคือความหวังของพระองค์ต่อพระศาสนจักรสากลที่มาจากพระศาสนจักรทั้งหลายเหล่านี้?"

พระสันตะปาปาทรงตอบว่า "ในขณะที่พระศาสนจักรคาทอลิกรุ่นใหม่กำลังเจริญเติบโตขึ้น พระศาสนจักรเหล่านี้ได้พัฒนาการสังเคราะห์ความเชื่อ วัฒนธรรม และชีวิตเข้าด้วยกัน ดังนั้น จึงเป็นการสังเคราะห์ที่แตกต่างอออกไปจากสิ่งที่พัฒนาโดยพระศาสนจักรโบราณ สำหรับพ่อแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างพระศาสนจักรคาทอลิกโบราณกับพระศาสนจักรรุ่นใหม่มีความคล้ายคลึงกับความสัมพันธ์ระหว่างคนหนุ่มสาวและผู้สูงอายุในสังคมของเรา พวกเขาทั้งหมดล้วนร่วมกันสร้างอนาคตขึ้น บรรดาคนหนุ่มสาวสร้างอนาคตด้วยพละกำลัง ในขณะที่ผู้สูงอายุสร้างด้วยปัญญาญาณ แน่นอนว่าคุณมักจะต้องยอมเสี่ยงอยู่บ้าง พระศาสนจักรรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะรู้สึกเป็นอิสระพึ่งตนเอง ในขณะที่พระศาสนจักรโบราณมักจะต้องการกำหนดให้พระศาสนจักรรุ่นใหม่ปฏิบัติตามรูปแบบวัฒนธรรมของตน แต่พวกเราล้วนสร้างอนาคตร่วมกัน"

พระศาสนจักรเป็นดั่งโรงพยาบาลสนาม

เมื่อทรงประกาศสละตำแหน่ง พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงตรัสว่า โลกในปัจจุบันเป็นโลกของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก และกำลังต่อสู้กับปัญหาที่สำคัญยิ่งต่อชีวิตแห่งความเชื่อ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ยังตรัสว่า การจัดการกับปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยพลังกายและจิตวิญญาณ พ่อถามพระสันตะปาปาฟรานซิสว่า "อะไรคือสิ่งที่พระศาสนจักรต้องการมากที่สุดในช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์นี้? พวกเราจำเป็นต้องปฏิรูปไหม? พระองค์ทรงมีพระประสงค์สิ่งใดสำหรับพระศาสนจักรในปีที่จะมาถึงนี้?  พระองค์ทรงปรารถนาที่จะให้พระศาสนจักรเป็นแบบใด?"

พระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงเริ่มด้วยการแสดงความรักอันยิ่งใหญ่และความเคารพอย่างสูงสุดต่อผู้ดำรงตำแหน่งก่อนพระองค์ “พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ได้ทรงกระทำกิจการศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งใหญ่ และทรงถ่อมพระองค์ พระองค์ทรงเป็นบุคคลของพระเจ้า”

พระสันตะปาปาทรงตรัสต่อไปว่า “พ่อเห็นได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งที่พระศาสนจักรต้องการมากที่สุดในปัจจุบันนี้คือ ความสามารถในการรักษาบาดแผล และให้ความอบอุ่นแก่ดวงใจของบรรดาสัตบุรุษ พระศาสนจักรต้องการความใกล้ชิด การอยู่เคียงข้างกัน พ่อเห็นพระศาสนจักรเป็นดั่งโรงพยาบาลสนามหลังการสู้รบ นับเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์หากจะถามผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสว่า เขามีระดับไขมันหรือระดับน้ำตาลในเลือดเท่าไร! คุณต้องรักษาบาดแผลของเขาก่อน จากนั้นเราจึงจะสามารถคุยกันถึงเรื่องอื่นๆ การรักษาบาดแผล การรักษาบาดแผล.... และคุณจะต้องเริ่มจากสิ่งที่เป็นพื้นฐานขึ้นไป”

“บางครั้งพระศาสนจักรก็ปิดกั้นตนเองอยู่กับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อยู่ภายใต้กฎที่กำหนดขึ้นด้วยใจคับแคบ  สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องประกาศเป็นสิ่งแรกคือ พระเยซูคริสตเจ้าทรงช่วยคุณให้รอดพ้น และพระสงฆ์ของพระศาสนจักรจะต้องเป็นอภิบาลด้วยความเมตตาเหนือสิ่งใดทั้งหมด  ตัวอย่างเช่น พระสงฆ์ผู้ฟังคำสารภาพบาปมักจะตกอยู่ในอันตรายของการที่ไม่เคร่งครัดจนเกินไป ก็ผ่อนปรนจนเกินไป  ทั้งสองประเภทนี้ขาดซึ่งความเมตตา เพราะทั้งสองประเภทนี้ไม่ได้รับผิดชอบต่อบุคคลจริงๆ ผู้ที่เคร่งครัดไม่เข้าไปเกี่ยวข้องเพราะเขาจะปล่อยให้เป็นไปตามพระบัญญัติ พระสงฆ์ที่ผ่อนปรนไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยคำพูดง่ายๆ ว่า 'สิ่งนี้ไม่เป็นบาป' หรืออะไรทำนองนั้น  ในการอภิบาลสัตบุรุษ เราต้องอยู่ร่วมกันกับผู้คน และเราต้องรักษาบาดแผลของพวกเขา”

"เรากำลังดูแลประชากรของพระเจ้าอย่างไร? พ่อฝันถึงพระศาสนจักรที่เป็นเหมือนแม่และหญิงเลี้ยงแกะ พระสงฆ์ของพระศาสนจักรต้องเป็นผู้มีใจเมตตา มีความรับผิดชอบต่อประชากร และอยู่เคียงข้างเขาเช่นเดียวกับชาวซามาเรียผู้ใจดี ผู้ล้างทำความสะอาด และอุ้มชูเพื่อนบ้านของตน นี่คือเจตนารมณ์ที่แท้จริงของพระวรสาร พระเจ้าทรงยิ่งใหญ่กว่าบาป  การปฏิรูปโครงสร้างและองค์กรเป็นเรื่องรอง นั่นคือ สิ่งเหล่านั้นจะตามมาในภายหลัง สิ่งที่จะต้องปฏิรูปเป็นอย่างแรกคือ ทัศนคติ พระสงฆ์แห่งพระวรสารจะต้องเป็นบุคคลที่สามารถให้ความอบอุ่นแก่ดวงใจของผู้คน ผู้ที่เดินฟันฝ่าค่ำคืนที่มืดมนเคียงข้างไปกับพวกเขา ผู้รู้จักวิธีการเสวนา และออกจากตนเองเพื่อลงไปสู่ยามค่ำคืนของพวกเขา ก้าวเข้าไปในความมืด แต่ไม่หลงทาง ประชากรของพระเจ้าต้องการนายชุมพาบาล มิใช่พระสงฆ์ที่ประพฤติตนเช่นเจ้าขุนมูลนายหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระสังฆราชจะต้องให้ความช่วยเหลือในการก้าวย่างของพระเจ้าท่ามกลางสัตบุรุษของพวกท่านด้วยความอดทน เพื่อที่จะไม่มีใครถูกละทิ้งไว้เบื้องหลัง แต่สามารถติดตามไปกับฝูงแกะที่มีผู้นำที่มีไหวพริบในการหาวิถีทางใหม่ๆ”

"แทนที่จะเป็นเพียงพระศาสนจักรที่ต้อนรับและยอมรับด้วยการเปิดประตูเอาไว้เสมอ ขอให้เราพยายามเป็นพระศาสนจักรที่แสวงหาหนทางใหม่ๆ ที่สามารถก้าวออกจากตนเอง และไปตามหาผู้ที่ไม่ได้มาร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ ผู้ที่ละทิ้งศาสนาหรือมีใจเฉื่อยชา เพราะบางครั้งผู้ที่ละทิ้งศาสนากระทำเช่นนั้นด้วยเหตุผลบางประการ ถ้าหากว่าเราเข้าใจและประเมินพวกเขาอย่างถูกต้อง สิ่งนี้อาจจะนำพวกเขากลับคืนมาสู่พระศาสนจักร แต่การกระทำดังนี้ต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญ"

พ่อกล่าวกับพระสันตะปาปาฟรานซิสว่า มีคริสตชนที่ดำเนินชีวิตอยู่ในสถานการณ์ที่ผิดปกติสำหรับพระศาสนจักร หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ซับซ้อนซึ่งเป็นตัวแทนของบาดแผลที่ยังเปิดอยู่ พ่อพูดถึงการหย่าร้างและการแต่งงานใหม่ คู่สมรสเพศเดียวกัน และสถานการณ์ที่ยากลำบากอื่นๆ เราจะใช้งานอภิบาลชนิดใดสำหรับกรณีเหล่านี้? เครื่องมือชนิดใดที่จะนำมาใช้ได้?

"เราต้องประกาศพระวรสารทั่วทุกมุมถนน" พระสันตะปาปาตรัส "เทศน์สอนถึงข่าวดีแห่งพระอาณาจักรสวรรค์ และแม้จะเป็นแต่การเทศน์ของเรา รักษาโรคและการบาดแผลทุกชนิด  ที่บัวโนสไอเรส พ่อเคยได้รับจดหมายจากบุคคลที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ 'ผู้ได้รับบาดแผลทางสังคม' เพราะพวกเขาบอกพ่อว่า พวกเขารู้สึกเหมือนพระศาสนจักรได้ประณามพวกเขาอยู่ตลอดเวลา แต่พระศาสนจักรไม่ต้องการที่จะกระทำเช่นนี้ ระหว่างเที่ยวบินกลับจากริโอ เดอ จาเนโร พ่อพูดว่า หากบุคคลที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นผู้มีความมุ่งมั่นในทางที่ดี และแสวงหาพระเจ้า พ่อเป็นใครที่จะไปตัดสินพวกเขา ด้วยการพูดเช่นนี้ ด้วยการกล่าวเช่นนี้ พ่อได้พูดตามที่หลักคำสอนพูด ศาสนามีสิทธิที่จะแสดงความเห็นของตนเพื่อรับใช้ประชาชน แต่ในการสร้างโลก พระเจ้าทรงกำหนดให้เราเป็นอิสระ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าไปแทรกแซงทางจิตวิญญาณต่อชีวิตของมนุษย์”

“ครั้งหนึ่งเคยมีคนถามพ่อในลักษณะยั่วอารมณ์ว่า พ่อเห็นพ้องด้วยกับการรักร่วมเพศหรือ พ่อตอบคำถามนี้ด้วยอีกคำถามหนึ่ง 'ช่วยบอกพ่อหน่อยเถิดว่า เมื่อพระเจ้าทรงทอดพระเนตรไปที่ผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ พระองค์จะทรงยอมรับถึงการดำรงอยู่ของพวกเขาเหล่านี้ด้วยความรัก หรือพระองค์จะปฏิเสธและประณามพวกเขาเหล่านี้? เราต้องคิดคำนึงถึงมนุษย์ในลักษณะที่เป็นบุคคลเสมอไป ในที่นี้เรากำลังเข้าไปสู่รหัสธรรมของความเป็นมนุษย์ ในการดำเนินชีวิต พระเจ้าทรงอยู่เคียงข้างมนุษย์ และเราต้องอยู่เคียงข้างพวกเขาโดยเริ่มต้นจากสถานการณ์ของพวกเขา เราจำเป็นที่จะต้องอยู่เคียงข้างพวกเขาด้วยใจเมตตา เมื่อเกิดสิ่งนั้นขึ้น พระจิตเจ้าจะดลใจให้พระสงฆ์พูดในสิ่งที่ถูกต้อง”

“นี่คือประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของการสารภาพบาปในฐานะของศีลศักดิ์สิทธิ์ นั้นคือ การประเมินตามแต่กรณี และพิจารณาไตร่ตรองว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบุคคลที่แสวงหาพระเจ้าและพระหรรษทาน การสารภาพบาปไม่ได้เป็นการเข้าห้องทรมาน แต่เป็นสถานที่ซึ่งพระเมตตาของพระเจ้าจะเป็นแรงกระตุ้นให้เราทำสิ่งที่ดียิ่งขึ้น พ่อยังคิดถึงสถานการณ์ของผู้หญิงที่ล้มเหลวในชีวิตแต่งงานในอดีตและทำแท้งอีกด้วย ต่อมา ผู้หญิงคนนี้สมรสใหม่ และตอนนี้เธอมีความสุขและมีลูกห้าคน การทำแท้งในอดีตยังคงเป็นทุกข์อันหนักหน่วงในมโนธรรมของเธอ และเธอรู้สึกเป็นทุกข์เสียใจอย่างแท้จริง เธอต้องการที่จะก้าวต่อไปในชีวิตคริสตชน คุณพ่อผู้ฟังคำสารภาพบาปจะทำอย่างไร?”

"เราไม่อาจยืนยันเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง การสมรสของผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ และวิธีการต่างๆ ในการคุมกำเนิด สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้ พ่อไม่ได้พูดถึงสิ่งเหล่านี้มากนักและพ่อถูกตำหนิในเรื่องนั้น แต่เมื่อเราพูดเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ เราจะต้องพิจารณาถึงบริบทแวดล้อมด้วย สำหรับกรณีนั้น การสอนของพระศาสนจักรมีความชัดเจน และพ่อเป็นบุตรของพระศาสนจักร แต่ก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องพูดเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา”

"การสอนหลักคำสอนและศีลธรรมของพระศาสนจักรไม่ได้มีค่าเท่ากันในทุกประการ การอภิบาลในพระศาสนจักรจะต้องไม่ยึดติดอยู่กับการถ่ายทอดคำสอนจำนวนมากมายที่ไม่ปะติดปะต่อกันซึ่งนำมาบังคับใช้อย่างแข็งกร้าว การประกาศข่าวดีในลักษณะของธรรมทูตมุ่งเน้นไปที่สาระสำคัญ ในสิ่งที่จำเป็น นี่เป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าดึงดูดใจมากกว่า เป็นสิ่งที่ทำให้หัวใจลุกร้อน อย่างที่เกิดกับสานุศิษย์ที่เอมมานุส เราจะต้องค้นหาสมดุลใหม่ มิฉะนั้นแม้กระทั่งโครงสร้างทางศีลธรรมของพระศาสนจักรก็อาจจะล้มครืนลงดุจเดียวกับบ้านกระดาษ(การเรียงไพ่) ต้องสูญเสียความสดชื่นและหอมหวนของพระ วรสาร การนำเสนอพระวรสารจะต้องเรียบง่าย ลึกซึ้ง กระจ่างแจ้งมากขึ้น ด้วยการนำเสนอวิธีนี้จึงจะทำให้ความสำคัญทางศีลธรรมยังคงดำรงอยู่ต่อไป”

“พ่อพูดถึงเรื่องนี้โดยคิดถึงการเทศน์และเนื้อหาของบทเทศน์ของพวกเราด้วย บทเทศน์ที่งดงาม การเทศน์ที่แท้จริงจะต้องเริ่มด้วยการประกาศลำดับแรก การประกาศข่าวดีแห่งความรอดพ้น  ไม่มีสิ่งใดจะมั่นคง  ลึกซึ้ง และแน่นอนไปกว่าการประกาศนี้ ต่อจากนั้นคุณต้องสอนคำสอนเบื้องต้น (catechesis) จากนั้นคุณจึงจะสามารถก่อให้เกิดแม้กระทั่งผลสืบเนื่องทางศีลธรรม(moral consequence) แต่การประกาศถึงความรักที่ช่วยให้รอดพ้นของพระเจ้าจะต้องอยู่เหนือกฎเกณฑ์ข้อบังคับทางศีลธรรมและศาสนา ทุกวันนี้บางครั้งก็ดูราวกับว่าลำดับขั้นในทางตรงข้ามมีอิทธิพลมากกว่า บทเทศน์เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการวัดความใกล้ชิดและความสามารถในการเข้าถึงสัตบุรุษของผู้อภิบาล เนื่องจากผู้ที่เทศน์สอนจะต้องเข้าใจถึงหัวใจของชุมชนของตน และสามารถมองเห็นถึงพระประสงค์ของพระเป็นเจ้าอันมีชีวิตชีวาและกระตือรือร้น  ดังนั้น ข่าวดีแห่งพระวรสารจะไม่ถูกลดทอนลงเหลือเพียงในบางแง่มุมที่แม้จะมีความเกี่ยวข้องกัน แต่ด้วยตัวข่าวดีเองไม่ได้แสดงถึงหัวใจแห่งข่าวดีของพระเยซูคริสตเจ้า”

พระสันตะปาปาผู้ทรงเป็นนักบวช

พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรก นับจากพระสันตะปาปาเกรโกรีที่ 16 นักบวชแห่งคณะคามาลโดลิส ผู้ได้รับการเลือกตั้งในปี 1831  พ่อถามว่า "อะไรคือบทบาทเฉพาะของนักบวชชายและหญิงในพระศาสนจักรทุกวันนี้?"

"นักบวชชายและหญิงเป็นผู้เผยพระวจนะ" พระสันตะปาปาตรัส "พวกเขาเป็นผู้ที่ได้รับเลือกให้ติดตามองค์พระเยซูเจ้า ในการเลียนแบบชีวิตที่เชื่อฟังองค์พระบิดาเจ้า ถือความยากจน ใช้ชีวิตร่วมกับคณะนักบวช และถือความบริสุทธิ์   ในเรื่องนี้ คำปฏิญาณมิอาจจะจบลงที่การแสดงล้อเลียน ตัวอย่างเช่น ชีวิตภายในคณะกลายเป็นนรก และความบริสุทธิ์กลายเป็นวิถีชีวิตสำหรับหนุ่มโสดผู้ไม่มีบุตร คำปฏิญาณถือความบริสุทธิ์จะต้องเป็นคำปฏิญาณที่บังเกิดผล ในพระศาสนจักร นักบวชได้รับเรียกให้เป็นประกาศก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสดงให้เห็นว่าพระเยซูทรงใช้ชีวิตอย่างไรบนโลกนี้ และเพื่อประกาศว่าอาณาจักรของพระเจ้าจะดำรงอยู่ในความสมบูรณ์แบบอย่างไร นักบวชจะต้องไม่ย่อท้อในการเป็นประกาศก นี่ไม่ได้หมายถึงการต่อต้านฝ่ายปกครองของพระศาสนจักร แม้ว่าหน้าที่การเป็นประกาศกและโครงสร้างทางการปกครองจะไม่สอดคล้องต้องกัน พ่อกำลังบอกว่าการประกาศข่าวดีเป็นสิ่งที่ดีเสมอ แต่ไม่ควรเป็นสาเหตุของความหวาดกลัว ให้เรา คิดถึงสิ่งที่นักบุญผู้ยิ่งใหญ่ พระสงฆ์ และนักบวชชายหญิงทั้งหลายได้กระทำ นับตั้งแต่นักบุญแอนโธนี่ เจ้าอาวาส (St. Anthony the Abbot) เป็นต้นมา บางครั้งการเป็นประกาศกอาจจะหมายถึงการก่อให้เกิดกระแสเคลื่อนไหว พ่อไม่ทราบว่าจะอธิบายอย่างไรดี.... ผู้เป็นประกาศกต้องป่าวประกาศ พลุ่งพล่าน บางคนบอกว่า 'ยุ่งเหยิง' แต่ในความเป็นจริง พระพรพิเศษของนักบวชเป็นเสมือนเชื้อแป้ง ผู้เป็นประกาศกประกาศถึงจิตตารมณ์แห่งพระวรสาร"

โรมันคูเรีย

พ่อถามพระสันตะปาปาว่าพระองค์ทรงคิดอย่างไรต่อสภาโรมันคูเรีย หน่วยงานต่างๆ ที่ช่วยพระสันตะปาปาในการปฏิบัติภารกิจ

"สภาโรมันคูเรียเป็นหน่วยงานที่ทำงานรับใช้พระสันตะปาปาและพระสังฆราช" พระองค์ตรัสว่า "สภานี้จะต้องทำงานช่วยเหลือสังฆมณฑลบางแห่งโดยเฉพาะและสภาพระสังฆราช” พวกเขาเป็นเครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีเมื่อการปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างไม่สู้ดีนัก ก็มีความเสี่ยงของการที่จะกลายเป็นสถาบันเพื่อการตรวจสอบยับยั้ง นับเป็นสิ่งที่น่าแปลกใจที่มีการส่งเรื่องการกล่าวโทษต่อการไม่ปฏิบัติตามหลักคำสอนดั้งเดิมมาที่กรุงโรม พ่อคิดว่าคำกล่าวโทษทั้งหลายนี้ควรจะได้รับการไต่สวนโดยสภาพระสังฆราชในท้องถิ่น โดยสามารถที่จะขอรับความช่วยเหลือที่สำคัญจากกรุงโรม  อันที่จริง การกล่าวโทษเหล่านี้ควรจะได้รับการดูแลเป็นการภายในของแต่ละท้องถิ่น สภาโรมันเป็นผู้ไกล่เกลี่ย พวกเขาไม่ใช่คนกลางหรือผู้จัดการ”

ในวันที่ 29 มิถุนายน ในระหว่างพิธีแต่งตั้งพระอัครสังฆราชประมุขจำนวน 34 องค์ พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงตรัสถึง "วิถีแห่งการเป็นเพื่อนร่วมงาน" ว่าเป็นหนทางที่นำพระศาสนจักรไปสู่ "การเจริญเติบโตที่สอดคล้องกับการรับใช้     ผู้สืบทอดสูงสุด" ดังนั้นพ่อจึงถาม "เราจะประสานการสืบทอดตำแหน่งของนักบุญเปโตร (Petrine primacy) กับการเป็นเพื่อนร่วมงานด้วยความกลมกลืนสอดคล้องกันได้อย่างไร? หนทางสายใดที่จะเป็นไปได้จากมุมมองของคริสตจักรต่างๆ ทั่วโลก?"

พระสันตะปาปาตรัสตอบว่า "เราต้องก้าวไปด้วยกัน ประชาชน พระสังฆราช และพระสันตะปาปา สภาพระสังฆราชควรจะดำเนินการในระดับต่างๆกัน บางทีอาจจะถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนวิธีการดำเนินการของสภาพระสังฆราช เพราะสำหรับพ่อดูเหมือนว่าวิธีการในปัจจุบันยังขาดพลวัตที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สิ่งนี้จะมีคุณค่าด้านความ สัมพันธ์ระหว่างคริสตศาสนิกชนทั้งหมดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับพี่น้องนิกายออร์โธดอกซ์ของเรา พวกเราสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมขึ้นเกี่ยวกับความหมายของการเป็นเพื่อนร่วมงานและขนบธรรมเนียมของสภาพระสังฆราชจากพวกเขา ความพยายามร่วมกันในการไตร่ตรองเพื่อแสวงหาวิธีการปกครองพระศาสนจักรในช่วงศตวรรษต้นๆ ก่อนที่จะการแบ่งแยกระหว่างพระศาสนจักรตะวันออกและตะวันตกจะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา สิ่งสำคัญสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างคริสตจักรไม่เพียงแต่เราจะต้องรู้จักกันให้ดียิ่งขึ้น แต่เรายังต้องตระหนักว่าสิ่งที่พระจิตเจ้าทรงหว่านให้แก่ผู้อื่นนั้นนับเป็นของประทานสำหรับเราเอง พ่อต้องการที่จะให้มีการปรึกษาหารือกันต่อจากที่เคยเริ่มต้นในปี 2007 โดยคณะกรรมการร่วม (คาทอลิก-ออร์โธดอกซ์) เกี่ยวกับการสืบทอดตำแหน่งของนักบุญเปโตร ซึ่งนำไปสู่การลงนามในเอกสารราเวนนา เราจะต้องก้าวต่อไปบนทางสายนี้”

พ่อถามพระสันตะปาปาฟรานซิสว่าทรงวาดภาพความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักรในอนาคตในแง่ของการตอบสนองนี้อย่างไร? พระองค์ตรัสตอบว่า “เราต้องก้าวเดินไปด้วยกันในความแตกต่าง ไม่มีทางอื่นอีกที่จะทำให้เป็นหนึ่งเดียวกัน นี่คือหนทางของพระเยซูเจ้า"

ผู้หญิงกับความเป็นมาในพระศาสนจักร

และความเห็นเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในพระศาสนจักรเป็นอย่างไร? พระสันตะปาปาทรงอ้างอิงถึงเรื่องนี้ในหลายๆโอกาส พระองค์ได้ทรงหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาในระหว่างการเดินทางกลับจากริโอ เดอ จาเนโร โดยเรียกร้องว่า พระศาสนจักรยังคงขาดหลักเทววิทยาที่ลึกซึ้งในเรื่องของผู้หญิง พ่อถามว่า "ผู้หญิงควรจะมีบทบาทอย่างไรในพระศาสนจักร? เราจะทำให้บทบาทของผู้หญิงเป็นที่ประจักษ์มากขึ้นได้อย่างไร"

พระองค์ตรัสตอบว่า “พ่อคอยเฝ้าระวังถึงการแก้ปัญหาที่อาจลดทอนลงเหลือเป็นเพียงเรื่องของ 'หญิงที่มีความเป็นชาย' เพราะผู้หญิงมีคุณลักษณะที่ต่างไปจากผู้ชาย แต่สิ่งที่พ่อได้ยินเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงที่มักจะได้รับแรงบันดาลใจจากอุดมการณ์ของความเป็นชาย ผู้หญิงกำลังถามคำถามที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นซึ่งควรจะได้รับการตอบสนอง พระศาสนจักรไม่อาจจะคงความเป็นตนเองได้หากไม่มีผู้หญิงและการกระทำตามบทบาทหน้าที่ของเธอ ผู้หญิงสำคัญต่อพระศาสนจักร พระแม่มารีย์ ผู้หญิงคนหนึ่ง มีความสำคัญมากกว่าพระสังฆราชทั้งหลาย พ่อพูดเช่นนี้เพราะเราจะต้องไม่สับสนระหว่างหน้าที่และศักดิ์ศรี ดังนั้น เราจึงต้องตรวจสอบบทบาทของผู้หญิงในพระศาสนจักรต่อไป เราต้องทำงานให้หนักยิ่งขึ้นเพื่อพัฒนาเทววิทยาที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับผู้หญิง ด้วยการปฏิบัติดังนี้จึงจะทำให้เป็นไปได้ที่จะสะท้อนให้เห็นถึงหน้าที่ของพวกเธอในพระศาสนจักร อัจฉริยภาพของผู้หญิงเป็นสิ่งจำเป็นในขณะที่เราต้องตัดสินใจในสิ่งที่สำคัญ ความท้าทายในวันนี้คือ การคิดเกี่ยวกับบทบาทเฉพาะของผู้หญิง รวมถึงบทบาทต่างๆ ซึ่งพระศาสนจักรใช้อำนาจหน้าที่ในการดำเนินการในด้านต่างๆ ของพระศาสนจักร"

การสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง

"อะไรคือสิ่งที่การสังคายนาวาติกันครั้งที่สองกระทำได้สำเร็จ?" พ่อถาม

"การสังคายนาวาติกันครั้งที่สองเป็นการศึกษาพระวรสารอีกครั้งหนึ่งในมุมมองของวัฒนธรรมร่วมสมัย" พระสันตะปาปาตรัสตอบ "การสังคายนาวาติกันครั้งที่สองสร้างการเคลื่อนไหวใหม่ที่มาจากพระวรสารเดียวกัน ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นมีอยู่มากมาย ขอให้ย้อนระลึกถึงพิธีกรรมต่างๆ งานการปฏิรูปพิธีกรรมเป็นการรับใช้ประชาชนโดยการศึกษาพระวรสารซ้ำจากสถานการณ์ประวัติศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม ใช่ มีการตีความเกี่ยวกับความต่อเนื่องและความไม่ต่อเนื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ พลวัตของการศึกษาพระวรสาร ทำให้ข่าวดีเหล่านั้นเป็นจริงขึ้นในวันนี้ซึ่งเป็นแบบอย่างของการสังคายนาวาติกันครั้งที่สองเป็นสิ่งที่ถาวรจะไม่เปลี่ยนสภาพย้อนกลับอย่างแน่นอน นอกจากนั้น ยังมีประเด็นเฉพาะต่างๆ เช่น พิธีศีลมหาสนิทตามแบบวีตุสออร์โต (Vetus Ordo)    พ่อคิดว่าการตัดสินใจของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ (การตัดสินใจของพระองค์ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2007 เพื่ออนุญาตให้สามารถใช้พิธีบูชาขอบพระคุณแบบไทรเดนทีน ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น) เป็นการกระทำที่เหมาะสมและได้รับแรงจูงใจด้วยความปรารถนาที่จะช่วยผู้คนที่มีความอ่อนไหวในเรื่องนี้ แม้ว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือความเสี่ยงที่กระบวนการสร้างอุดมการณ์แบบ Vetus Ordo จะถูกแสวงหาผลประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง"

การแสวงหาและค้นพบพระเจ้าในทุกสิ่ง

ในงานวันเยาวชนโลกที่ริโอ เดอ จาเนโร พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงประกาศซ้ำๆว่า "พระเจ้าทรงมีอยู่จริง ทรงแสดงพระองค์ในทุกวันนี้ พระองค์ทรงประทับอยู่ทุกๆแห่ง" นี่คือวลีที่สะท้อนสำนวนของนักบุญอิกญาซิโอ "การแสวงหาและค้นพบพระเจ้าในทุกสิ่ง" ดังนั้น พ่อจึงถามพระสันตะปาปาว่า "แล้วพระองค์แสวงหาและค้นพบพระเจ้าในทุกสิ่งได้อย่างไร?"

"สิ่งที่พ่อพูดในริโอ อ้างถึงเวลาที่เราแสวงหาพระเจ้า" พระองค์ตรัสตอบ "ความจริงแล้ว มีสิ่งล่อลวงใจให้แสวงหาพระเจ้าในอดีต หรือในอนาคตที่เป็นไปได้ พระเจ้าทรงดำรงอยู่ในอดีตอย่างแน่นอน เพราะเราสามารถมองเห็นรอยพระบาทของพระองค์ และพระเจ้ายังคงอยู่ในอนาคตตามพระสัญญา แต่พระเจ้า "ที่เป็นรูปธรรม" หากจะพูดไปคือในปัจจุบันนี้ ด้วยเหตุผลนี้ การบ่นว่าไม่เคยช่วยให้เราค้นพบพระเจ้า การบ่นว่าในทุกวันนี้เกี่ยวกับโลกที่ 'ป่าเถื่อน' บางครั้งการบ่นว่าเหล่านี้จบลงด้วยการก่อให้เกิดความปรารถนาที่จะให้มีคำสั่งในลักษณะของการอนุรักษ์อย่างสมบูรณ์ภายในพระศาสนจักรด้วย เพื่อเป็นการป้องกัน ไม่ใช่เช่นนั้น พระเจ้าจะต้องทรงถูกค้นพบในโลกของทุกวันนี้”

"พระเจ้าทรงแสดงพระองค์ในการเผยแสดงทางประวัติศาสตร์ เวลาทำให้กระบวนการเริ่มต้นขึ้น และพื้นที่ทำให้ตกผลึก พระเจ้าทรงอยู่ในกระบวนการทางประวัติศาสตร์”

"เราต้องไม่มุ่งเน้นไปที่การครอบครองพื้นที่ที่มีการใช้กำลัง แต่ควรเริ่มต้นกระบวนการทางประวัติศาสตร์ในระยะยาว เราจะต้องเริ่มต้นกระบวนการ มากกว่าการครอบครองพื้นที่ พระเจ้าทรงแสดงพระองค์ทันเวลา และทรงปรากฏพระองค์ในกระบวนการของประวัติศาสตร์ สิ่งนี้ให้ความสำคัญกับการกระทำที่ก่อให้เกิดพลวัตใหม่ในประวัติศาสตร์ และเรียกร้องความอดทน การรอคอย”

"การค้นพบพระเจ้าในทุกสิ่งมิได้เป็น 'การทดลองแบบยูรีกา' เมื่อเราปรารถนาที่จะพบพระเจ้า เราอยากที่จะตรวจสอบพระองค์ทันทีโดยวิธีการทดลอง แต่คุณไม่อาจจะพบพระเจ้าด้วยวิธีนี้ คุณสามารถพบพระเจ้าได้ในสายลมที่อ่อนโยนโดยการรับรู้ของเอลียาห์ ความรู้สึกที่ได้ค้นพบพระเจ้าเป็นสิ่งที่นักบุญอิกญาซิโอเรียกว่า ความรู้สึกทางจิตวิญญาณ นักบุญอิกญาซิโอขอให้เราเปิดความรู้สึกทางจิตวิญญาณของเราเพื่อพบพระเจ้า ซึ่งอยู่นอกเหนือวิธีการทดลองอย่างสิ้นเชิง ทัศนคติในการไตร่ตรองเป็นสิ่งที่จำเป็น จะเป็นความรู้สึกที่ท่านกำลังเคลื่อนไปตามเส้นทางแห่งความเข้าใจที่ดีและมีความรักต่อสิ่งต่างๆ และสถานการณ์ สันติสุขที่ลึกซึ้ง การปลอบโยนทางจิตวิญญาณ ความรักของพระเจ้า และความรักต่อทุกสรรพสิ่งในพระเจ้า สิ่งนี้เป็นสัญญาณว่าคุณจะอยู่ในวิถีทางที่ถูกต้องแล้ว"

ความเชื่อมั่นและความผิดพลาด

พ่อถามพระองค์ว่า “ดังนั้น ถ้าหากการพบพระเป็นเจ้า ไม่ใช่ ‘ยูรีกาในเชิงประจักษ์’ และถ้าการพบนี้เป็นการเดินทาง ซึ่งมองเห็นด้วยสายตาแห่งประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงกระทำผิดพลาดด้วยเช่นกันหรือ?”

พระสันตะปาปาตรัสว่า “ใช่แล้ว ในการแสวงหาและค้นพบพระเจ้าในทุกสิ่ง ยังคงมีส่วนที่ไม่แน่นอนอยู่ มันต้องเป็นเช่นนั้น ถ้าใครสักคนกล่าวว่าเขาได้พบพระเจ้าอย่างแน่นอน โดยไม่รู้สึกแม้เพียงสักเศษเสี้ยวหนึ่งของความไม่แน่ใจ นี่ไม่ใช่สิ่งที่ดีแน่” สำหรับพ่อ นี่เป็นกุญแจดอกสำคัญทีเดียว ถ้าใครสักคนหนึ่งมีคำตอบสำหรับทุกคำถาม นั่นเป็นเครื่องหมายแสดงว่า พระเป็นเจ้าไม่ได้ประทับอยู่กับเขา มันหมายความว่าเขาเป็นประกาศกเทียมที่ใช้ศาสนาเพื่อประโยชน์ของตนเอง ผู้นำประชากรของพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่อย่างเช่น โมเสส เหลือที่ว่างไว้เสมอสำหรับความรู้สึกสงสัย คุณต้องเหลือที่ว่างไว้สำหรับพระเป็นเจ้า ไม่ใช่สำหรับความแน่ใจของพวกเรา เราต้องมีความสุภาพถ่อมตน ความไม่แน่นอนอยู่ในทุกครั้งของการพิจารณาไตร่ตรองที่แท้จริง ซึ่งเปิดกว้างต่อการค้นหาคำยืนยันในการปลอบประโลมทางจิตวิญญาณ

“ความเสี่ยงของการแสวงหาและค้นพบพระเจ้าในทุกสิ่ง ได้แก่ ความพยายามที่จะให้คำอธิบายมากเกินไป การพูดด้วยความแน่ใจและความหยิ่งยโสแบบมนุษย์ว่า‘พระเจ้าอยู่ที่นี่’ เราจะพบเพียงแต่พระเจ้าที่เข้ากันได้กับวิธีการของเรา ทัศนคติที่ถูกต้องคือแบบของนักบุญออกัสติน นั่นคือ แสวงหาพระเจ้าเพื่อที่จะค้นพบพระองค์ ค้นพบพระเจ้าเพื่อที่จะแสวงหาพระองค์ตลอดไป ในหลายๆ ครั้ง เราแสวงหาเหมือนกับเรามีดวงตาที่มืดบอด เหมือนกับที่มีกล่าวไว้ในพระคัมภีร์ และนี่เป็นประสบการณ์ของเหล่าบรรดาปิตาจารย์แห่งความเชื่อ ผู้เป็นแบบอย่างของพวกเรา เราควรจะอ่านบทจดหมายถึงชาวฮีบรู บทที่ 11 อีกครั้งหนึ่ง อับราฮัมละทิ้งบ้านของท่านโดยไม่รู้ว่าท่านกำลังจะไปที่ใด เพราะด้วยความเชื่อ บรรพบุรุษแห่งความเชื่อของพวกเราทุกท่านสิ้นชีวิตโดยได้เห็นสิ่งดีงามตามพระสัญญาที่มีไว้กับพวกท่าน แต่เป็นการเห็นอยู่ไกลๆ… ชีวิตของเราไม่เหมือนกับบทละครที่ทุกสิ่งได้ลิขิตไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว แต่ชีวิตเป็นสิ่งที่ดำเนินไป เดิน ทำงาน แสวงหา เห็น... เราต้องก้าวออกไปผจญภัยเพื่อแสวงหาพระเจ้า เราต้องยอมให้พระเจ้าค้นหา และพบปะกับเรา”

“เพราะพระเป็นเจ้าทรงเป็นองค์ปฐม พระเจ้าจึงทรงเป็นลำดับต้นเสมอและทรงเริ่มต้นกระทำก่อน  พระเจ้าเป็นเหมือนดั่งดอกอัลมอนด์ในดินแดนซิซิลีของเจ้า อันโตนิโอ ซึ่งมักจะผลิบานก่อนเสมอ เราอ่านพบถ้อยคำนี้ในหนังสือเรื่องประกาศก (The Prophet) เราได้พบปะกับพระเจ้าที่ทรงพระดำเนินไปตามเส้นทาง  ณ ที่ชุมทาง ใครบางคนอาจจะกล่าวว่า นี่เป็นแนวคิดแบบสัมพัทธภาพ(Relativism) นี่เป็นแนวคิดแบบสัมพัทธภาพหรือ? ใช่ ถ้าเราเข้าใจผิดว่าแนวคิดนี้เป็นแนวคิดแบบสรรพเทวนิยมอันคลุมเครือ แนวคิดนี้ไม่ใช่แบบสัมพัทธนิยมหากเราจะทำความเข้าใจแนวความคิดนี้ตามความหมายของพระคัมภีร์ว่า พระเจ้าทรงเป็นความประหลาดใจอยู่เสมอ ดังนั้น คุณจึงไม่รู้เลยว่าจะพบพระองค์ได้ที่ไหนและเมื่อไร คุณจะไม่กำหนดเวลาและสถานที่ที่จะพบกับพระองค์ ดังนั้น คุณต้องเพ่งรำพึงถึงการพบปะนั้น การพิจารณาไตร่ตรองจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก

“ถ้าหากคริสตชนเป็นผู้เชื่อในการรื้อฟื้นรูปแบบที่บริสุทธิ์ตามแบบแผนแต่โบราณของคริสต์ศาสนา(Restorationist) การเชื่อฟังกฎ (Legalist) ถ้าเขาต้องการให้ทุกสิ่งชัดเจนและปลอดภัย เขาก็จะไม่พบอะไรเลย  ขนบธรรมเนียมและความทรงจำในอดีตต้องช่วยเหลือเราให้กล้าหาญที่จะเปิดพื้นที่ใหม่ให้แก่พระเจ้า  ใครก็ตามที่ทุกวันนี้ยังคงแสวงหาวิธีแก้ปํญหาด้วยระเบียบวินัยอยู่เสมอ ใครก็ตามที่โหยหา “ความมั่นคง” ตามลัทธิคำสอนมากเกินจริง ใครก็ตามที่ดื้อรั้นที่จะรื้อฟื้นอดีตซึ่งจบสิ้นไปนานแล้ว พวกเขามีมุมมองที่ตายตัวและมองแต่ตนเองฝ่ายเดียว  ด้วยแนวทางนี้ ความเชื่อจึงกลายเป็นอุดมการณ์หนึ่งในท่ามกลางอุดมการณ์อื่นๆ อีกมากมาย  พ่อมีความเชื่อมั่นตามหลักคำสอน นั่นคือ พระเจ้าทรงประทับอยู่ในชีวิตของมนุษย์ทุกคน พระเจ้าทรงสถิตอยู่ในทุกคน แม้ว่าชีวิตของเขาคนนั้นอาจจะเป็นความวิบัติ ถึงแม้ว่าชีวิตนั้นจะถูกทำลายโดยความชั่วร้าย ยาเสพติด และสิ่งเลวร้ายอื่นๆ อีกมากมาย พระเจ้าก็ทรงสถิตอยู่ในชีวิตของมนุษย์ผู้นั้น ถึงแม้ว่าชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งจะเป็นดั่งผืนดินที่เต็มไปด้วยขวากหนามและวัชพืช แต่ยังคงมีพื้นที่ว่างที่เมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามจะเติบโตขึ้น คุณต้องวางไว้ใจในพระเจ้า”

พวกเราต้องมองโลกในแง่ดีหรือ?

พระดำรัสของพระสันตะปาปาเตือนใจพ่อให้ระลึกถึงการไตร่ตรองของพระองค์ในอดีต ในขณะที่ทรงเป็นพระ     คาร์ดินัลพระองค์ทรงบันทึกไว้ว่า พระเจ้าทรงประทับอยู่ในเมืองอยู่แล้ว ในท่ามกลางทุกคนและเป็นหนึ่งเดียวกับแต่ละคน ในความเห็นของพ่อ นี่เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะกล่าวถึงคำพูดของนักบุญอิกญาซิโอในหนังสือการฝึกปฏิบัติชีวิตจิตว่า พระเจ้าทรง “ทำงานหนักและปฏิบัติงาน” ในโลกของเรา ดังนั้น พ่อจึงถามว่า “พวกเราต้องมองโลกในแง่ดีหรือ? อะไรคือสัญญาณแห่งความหวังในโลกปัจจุบัน? พ่อจะยังมองโลกในแง่ดีได้อย่างไรในโลกที่ตกอยู่ในสภาวะวิกฤตนี้?

“พ่อไม่อยากจะใช้คำว่า มองโลกในแง่ดี เพราะนี่เป็นเรื่องของทัศนคติทางจิตวิทยา” พระสันตะปาปาตรัส “พ่ออยากจะใช้คำว่า ความหวัง แทน ตามบทจดหมายถึงชาวฮีบรู บท 11 ที่พ่อได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ บรรดาปิตาจารย์แห่งความเชื่อยังคงเดินอยู่ ยังคงเผชิญกับความยากลำบาก และความหวังก็ไม่เคยทำให้ผิดหวังเหมือนกับที่มีกล่าวไว้ใน  จดหมายถึงชาวโรม ขอให้เราคิดถึงปริศนาแรกในบทละครอุปรากรของปุชชีนี เรื่องตูรันโด  (Turandot)” พระสันตะปาปาตรัส

ถึงตอนนี้ พ่อระลึกถึงบทกวีที่จำได้แทบจะขึ้นใจเป็นถ้อยคำของเจ้าหญิงในอุปรากร ซึ่งคำตอบก็คือ ความหวัง  “ในยามราตรีอันมืดมัว ปีศาจที่เปล่งประกายเรืองรองโผบินไป /  ปีศาจนั้นลอยเด่นขึ้นและสยายปีกออก /  ในความดำมืดเป็นเอนกอนันต์ของมนุษยชาติ /  โลกทั้งโลกอ้อนวอนต่อปีศาจนั้น /  และโลกทั้งโลกวิงวอนต่อมัน /  แต่ปีศาจนั้นกลับอันตรธานไปในยามรุ่งอรุณ /  เพื่อไปจุติใหม่ในดวงใจ /  และในทุกค่ำคืนปีศาจนั้นจะถือกำเนิดขึ้น /  และในแต่ละวันมันจะสิ้นชีพลง!”

“เห็นไหม” พระสันตะปาปาฟรานซิสตรัส “ความหวังแบบคริสต์นั้นไม่ใช่ปีศาจ และไม่ได้โป้ปดหลอกลวง แต่เป็นคุณธรรมเชิงเทวศาสตร์ และดังนั้นในท้ายที่สุดแล้ว ความหวังเป็นของขวัญจากพระเป็นเจ้า ซึ่งไม่สามารถลดทอนให้เหลือเป็นเพียงการมองโลกในแง่ดี ซึ่งเป็นเพียงวิสัยของมนุษย์ พระเป็นเจ้ามิได้ทรงทำให้เข้าใจผิดเรื่องความหวัง พระเจ้ามิอาจจะปฏิเสธพระองค์เอง พระเจ้าคือพระสัญญาทั้งปวง”

ศิลปะและการสร้างสรรค์

พ่อตกตะลึงกับการที่พระสันตะปาปาทรงอ้างอิงถึงอุปรากรเรื่องตูรันโดของปุชชีนี ในขณะที่ทรงตรัสถึงรหัสธรรมเกี่ยวกับความหวัง  พ่ออยากจะเข้าใจให้มากขึ้นถึงภูมิความรู้ด้านศิลปะและวรรณคดีของพระองค์  พ่ออ้างถึงพระดำรัสของพระองค์ในปี 2006 ที่ว่า ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายรู้วิธีที่จะนำเสนอโศกนาฏกรรมและความจริงอันแสนเจ็บปวดของชีวิตด้วยความงดงาม ดังนั้น พ่อจึงถามพระองค์ว่า ศิลปินและนักประพันธ์ที่พระองค์ทรงโปรดเป็นใครบ้าง และพวกเขามีลักษณะอะไรที่ร่วมกันบ้าง

“พ่อชอบนักประพันธ์ที่แตกต่างหลากหลายกันไป พ่อชอบดอสโตเยฟสกี  (Dostoevsky) และโฮแดร์ลิน  (Hölderlin) มาก  พ่อจดจำโฮแดร์ลินได้จากบทกวีที่ท่านประพันธ์ขึ้นสำหรับวันเกิดของคุณย่าของท่าน บทกวีนั้นงดงามและชุบชูจิตวิญญาณเป็นอันมากสำหรับพ่อ ท่อนจบของบทกวีนั้นกล่าวว่า  “ขอให้บุรุษจงยึดไว้ให้มั่นซึ่งสิ่งที่เคยให้คำสัญญาไว้ในวัยเยาว์” พ่อประทับใจกับบทกวีนี้เพราะพ่อรักคุณย่าโรซาของพ่อมาก และในบทกวีนี้ โฮแดร์ลินเปรียบเทียบคุณย่าของเขากับพระแม่มารีย์ ผู้ให้กำเนิดแก่พระเยซูเจ้า เพื่อนของชาวโลกนี้ที่ไม่เคยมองใครว่าเป็นคนต่างถิ่น

“พ่อได้อ่านเรื่อง คู่หมั้นหมาย  (The Betrothed) ประพันธ์โดย อเลสซานโดร มอนซูน (Alessandro Manzoni) ถึงสามจบ และพ่อมีหนังสือเล่มนี้บนโต๊ะของพ่อ เพราะพ่อยังอยากจะอ่านหนังสือนี้อีกครั้งหนึ่ง มอนซูนได้ให้กับพ่ออย่างมากมาย เมื่อพ่อยังเป็นเด็ก คุณย่าของพ่อสอนให้พ่อท่องบทเริ่มต้นของ คู่หมั้นหมาย จนจำขึ้นใจ “สาขานั้นของทะเลสาปโคโมเปลี่ยนทิศทางไปทางใต้ระหว่างแนวภูเขาที่ทอดตัวต่อเนื่องกันไป.....”  พ่อชอบ เจอราร์ด แมนลีย์ ฮอปกินส์  (Gerard Manley Hopkins) มากเช่นกัน

ในบรรดาจิตรกรทั้งหลาย พ่อชอบคาร์ราแวกจิโอ (Caravaggio) ภาพเขียนของท่านพูดกับพ่อ แต่พ่อก็ชอบชากาลล์  (Chagall) ด้วย โดยเฉพาะภาพ การตรึงกางเขนสีขาว (White Crucifixion) ในบรรดาคีตกวี แน่นอนว่า พ่อชื่นชอบโมสาร์ท  (Mozart)  ผลงาน The ‘Et incarnatus est’ (พระทรงบังเกิด) จากเพลงมิสซาในบันไดเสียงซีไมเนอร์ (Mass in C minor) ไม่มีบทเพลงใดจะเทียบเท่า บทเพลงนี้สามารถยกจิตใจเราขึ้นหาพระเจ้า!  พ่อรักบทเพลงของโมสาร์ทที่บรรเลงโดยคลารา ฮาสคีล  (Clara Haskil) โมสาร์ททำให้จิตใจพ่อเอิบอิ่ม แต่จะให้พ่อนึกเกี่ยวกับเพลงของเขาคงไม่ได้ พ่อต้องฟังเพลงของเขาก่อน พ่อชอบฟังเพลงของบีโธเฟน  (Beethoven) แต่ในแบบที่สร้างสรรค์ และผู้ที่ตีความบทเพลงของบีโธเฟนได้สร้างสรรค์ที่สุดสำหรับพ่อคือ วาทยากรเฟิร์ทแวงเลอร์ (Furtwängler)  แล้วก็มีเพลง พระมหาทรมาน (Passions) ของบาค  (Bach) งานเพลงของบาคที่พ่อรักมากที่สุดคือ บทคำร้องขอพระเมตตา ‘เออบาร์เมอดิช’ (Erbarme Dich)  น้ำตาของเปโตรในบทเพลงการทรมานของนักบุญมัทธิว ซึ่งนับว่าเป็นสุดยอด  จากนั้นในลำดับขั้นที่ต่างออกไป ไม่ในลักษณะเดียวกัน พ่อรักวากเนอร์  (Wagner)  พ่อชอบฟังเพลงของเขา แต่ไม่ใช่ฟังตลอดเวลา การแสดงอุปรากรเรื่อง ริง  (Ring) ของวากเนอร์โดยเฟิร์ทแวงเลอร์ที่โรงละคร ลา สกาล่า (La Scala) เมืองมิลาน ในปี 1950 เป็นการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดสำหรับพ่อ แต่ก็มีการแสดงเรื่อง ปาร์ซิวาล  (Parsifal) โดยวาทยกรคแนปเปิร์ทสนุช (Knappertsbusch) ในปี 1962 ด้วยเช่นกัน

“เราควรจะกล่าวถึงภาพยนตร์ด้วย ภาพยนตร์เรื่อง ‘ลา สตราดา ’ (La Strada) ของเฟลลินี (Fellini) บางทีอาจจะเป็นภาพยนตร์ที่พ่อชอบมากที่สุด  พ่อเชื่อว่าพ่อได้ชมภาพยนตร์อิตาเลียนที่นำแสดงโดย แอนนา แมกนานี่ และอัลโด ฟาบริซี่ เมื่อครั้งที่พ่ออายุได้ 10 ถึง 12 ขวบ ภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่พ่อชอบคือ “โรม เมืองเปิด ” (Rome, Open City)  พ่อติดนิสัยการชมภาพยนตร์มาจากพ่อแม่ของพ่อ พวกท่านเคยพาพวกเราไปชมภาพยนตร์ค่อนข้างบ่อย

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปพ่อชอบศิลปินแนวโศกนาฏกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคคลาสสิก มีคำนิยามที่เซบันเตส  (Cervantes) จับใส่ปากให้หนุ่มโสด คาร์ราสโก (Carrasco) เป็นผู้กล่าวสรรเสริญ ดอน กิโฆเต้ (Don Quixote) ว่า ‘เด็กๆ มีมันอยู่ในมือ บรรดาหนุ่มๆ อ่านมัน ผู้ใหญ่เข้าใจมัน และผู้สูงอายุยกย่องมัน’ สำหรับพ่อแล้ว นี่เป็นคำนิยามอันยอดเยี่ยมสำหรับวรรณกรรมคลาสสิก”

พ่อถามพระสันตะปาปาถึงการสอนวรรณกรรมให้แก่เด็กนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษา

“มันค่อนข้างจะเสี่ยงทีเดียว” พระองค์ตรัสตอบ “พ่อต้องแน่ใจว่านักเรียนของพ่อได้อ่านเรื่องเอลซิด  (El Cid) แต่บรรดาเด็กๆ ไม่ชอบวรรณกรรมเรื่องนี้ พวกเขาต้องการอ่านเรื่องของการ์เซีย ลอร์คา  (Garcia Lorca)  ดังนั้น พ่อจึงตัดสินใจว่า เด็กๆ ต้องศึกษาเรื่องของเอลซิดที่บ้าน แต่ที่โรงเรียนพวกเขาจะได้เรียนเรื่องที่พวกเขาชื่นชอบมากที่สุด  แน่นอนว่า คนหนุ่มสาวต้องการที่จะอ่านงานวรรณกรรมที่ ‘ปลุกเร้าอารมณ์’ เหมือนกับงานร่วมสมัยเช่น La Casada Infiel หรือวรรณกรรมเช่น La Celestina โดยเฟอร์นันโด เดอ โรฮาส  (Fernando de Rojas)  แต่ด้วยการอ่านสิ่งเหล่านี้ พวกเขาจะได้ลิ้มรสแห่งวรรณกรรม บทกวี และพวกเขาจะเริ่มอ่านวรรณกรรมของนักประพันธ์ท่านอื่นๆ ต่อไป  และสำหรับพ่อแล้ว สิ่งนั้นเองที่เป็นประสบการณ์อันยิ่งใหญ่  พ่อสามารถสอนได้ตามหลักสูตร แต่ด้วยวิธีการที่ไม่เป็นระเบียบแบบแผน นั่นคือ ไม่ได้เรียงลำดับตามที่พวกเราได้วางแผนไว้ล่วงหน้า แต่โดยลำดับที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติด้วยการอ่านงานของนักประพันธ์เหล่านี้  และวิธีการแบบนี้เหมาะสมกับพ่อดี พ่อไม่ชอบให้มีตารางเวลาที่เคร่งครัด แต่พ่อชอบที่จะรู้ว่าเราจะต้องมุ่งหน้าไปที่ใดสำหรับการอ่านของเรา โดยเรารับรู้ได้คร่าวๆ ว่ากำลังมุ่งหน้าไปทิศทางใด  จากนั้น พ่อเริ่มให้พวกเขาได้มีโอกาสเขียนด้วย  ในท้ายที่สุดแล้ว พ่อตัดสินใจส่งเรื่องที่เขียนโดยเด็กของเราสองคนไปให้กับบอร์เกส  (Borges)  พ่อรู้จักกับเลขานุการของเขาซึ่งเป็นครูสอนเปียโน  และบอร์เกสชอบเรื่องเหล่านี้เป็นอันมาก  ดังนั้น เขาจึงเขียนคำนำให้แก่หนังสือที่รวบรวมเรื่องราวเหล่านี้

“ดังนั้น พระคุณเจ้า ความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับชีวิตของมนุษย์?” พ่อถาม พระสันตะปาปาทรงพระสรวลและตรัสว่า “สำหรับเยสุอิตแล้ว สิ่งนี้สำคัญมาก!  เยสุอิตต้องมีความคิดสร้างสรรค์”

พรมแดนกับห้องทดลอง

ในโอกาสที่บรรดาคุณพ่อและพนักงานของลา ซิวิลตา แคตโตลิกา เข้าเฝ้าพระสันตะปาปา พระองค์ตรัสเกี่ยวกับความสำคัญของตรีลักษณ์ ได้แก่ “การเสวนา การพิจารณาไตร่ตรอง และพรมแดน” และพระองค์ทรงเน้นเป็นพิเศษในประเด็นสุดท้าย โดยอ้างอิงถึงคำของพระสันตะปาปาปอลที่ 6 และสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสเกี่ยวกับคณะเยสุอิต “ที่ใดก็ตามในพระศาสนจักร แม้จะเป็นพื้นที่ที่ยากลำบากและรุนแรงที่สุด ที่ทางแพร่งแห่งอุดมการณ์ ในแนวรบทางสังคม ตั้งแต่ในอดีตมาและแม้แต่ในปัจจุบันได้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างความปรารถนาที่ลุ่มลึกที่สุดของมนุษย์กับข่าวดีที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องของพระวรสาร บรรดาเยสุอิตได้อยู่และกำลังอยู่ที่นั่น”  พ่อถามพระสันตะปาปาฟรานซิสว่า วารสารที่ตีพิมพ์โดยคณะเยสุอิตควรจะให้ความสำคัญต่อสิ่งใด

“คำสำคัญทั้งสามคำที่พ่อได้ให้ไว้กับ ลา ซิวิลตา แคตโตลิกา สามารถนำไปใช้ได้กับวารสารของคณะเยสุอิตทั้งหมด บางทีอาจจะมีการมุ่งเน้นที่ต่างออกไป ขึ้นกับสภาพธรรมชาติและวัตถุประสงค์ของวารสารเหล่านั้น เมื่อพ่อเน้นถึงเรื่องพรมแดน พ่อหมายความโดยเฉพาะถึงบรรดาผู้ที่ทำงานในโลกของวัฒนธรรม เพื่อที่จะสอดแทรกเข้าไปในสภาพ แวดล้อมที่พวกเขาดำเนินงานอยู่ และเป็นบริบทที่พวกเขากำลังไตร่ตรองถึง  มีอันตรายที่ซุ่มซ่อนอยู่เสมอสำหรับการใช้ชีวิตอยู่แต่ในห้องทดลอง  ชีวิตของเราไม่ใช่ ‘ความเชื่อในห้องทดลอง’ แต่เป็น ‘การเดินทางของความเชื่อ’ เป็นความเชื่อในแง่ของประวัติศาสตร์  พระเป็นเจ้าทรงเผยแสดงพระองค์ในฐานะของประวัติศาสตร์ ไม่ใช่บทสรุปของความจริงที่เป็นนามธรรม  พ่อกลัวความเชื่อแบบห้องทดลอง เพราะในห้องทดลอง คุณรับเอาปัญหาต่างๆ และนำพวกมันกลับไปบ้าน เพื่อเอาชนะควบคุมพวกมัน เพื่อแต่งแต้มสีสัน ออกไปจากบริบทของพวกมัน  คุณไม่สามารถนำพรมแดนกลับไปบ้านได้ แต่คุณต้องใช้ชีวิตอยู่ในชายแดนและตั้งมั่นอย่างกล้าหาญ

พ่อขอให้พระองค์ทรงยกตัวอย่างจากประสบการณ์ส่วนพระองค์

“เมื่อกล่าวถึงประเด็นด้านสังคม การจัดประชุมเพื่อศึกษาปัญหายาเสพติดในชุมชนแออัดเป็นเรื่องหนึ่ง แต่แทบจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลยทีเดียวถ้าเราจะออกไปที่นั่น ใช้ชีวิต และทำความเข้าใจกับปัญหาจากภายในและศึกษาปัญหานั้น  มีจดหมายที่ดีเยี่ยมฉบับหนึ่งเขียนโดยคุณพ่ออาร์รับเป้ไปยังศูนย์วิจัยและกิจการทางสังคมเกี่ยวกับเรื่องความยากจน คุณพ่อกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่มีใครที่จะกล่าวถึงความยากจนได้เลย ถ้าเขาคนนั้นไม่เคยมีประสบการณ์กับความยากจนมาก่อน ไม่เคยมีสายสัมพันธ์โดยตรงใดๆ กับสถานที่ที่มีความยากจน  คำว่า insertion เป็นคำที่อันตรายมาก เพราะในบางศาสนาถือว่าสิ่งนี้เป็น fad และความวิบัติเกิดขึ้นได้ถ้าเราขาดวิจารณญาณไตร่ตรอง แต่นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ”

คนทำงานที่พรมแดนมีอยู่มากมาย ขอให้เรานึกถึงเหล่านักบวชหญิงที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาล พวกเขาทำงานอยู่ที่พรมแดน พ่อมีชีวิตรอดมาได้เพราะคนหนึ่งในบรรดาพวกเธอ เมื่อพ่อเข้ารับการรักษาโรคปอดที่โรงพยาบาล แพทย์ได้สั่งยาเพนนิซิลินและสเตปโตมัยซินให้กับพ่อในปริมาณหนึ่ง  ซิสเตอร์ที่ทำหน้าที่ดูแลพ่อเพิ่มปริมาณยาเป็นสามเท่าด้วยความชาญฉลาดและกล้าหาญ เธอรู้ดีว่าต้องทำอะไรเพราะเธออยู่ดูแลคนไข้ตลอดเวลา  แม้จะเป็นแพทย์ที่เก่ง แพทย์ทั้งหลายอยู่แต่ในห้องปฏิบัติการ บรรดาซิสเตอร์อยู่ที่พรมแดนและมีการเสวนากับคนชายขอบอยู่ทุกวัน การทำความคุ้นเคยกับพรมแดนหมายถึงการพูดถึงดินแดนที่อยู่ห่างไกลออกไป ขังตนเองอยู่แต่ในห้องทดลอง ห้องทดลองเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่การไตร่ตรองของเราจะต้องเริ่มจากประสบการณ์

ความเข้าใจตนเองของมนุษย์

พ่อถามพระสันตะปาปาฟรานซิสถึงความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่เกิดขึ้นในสังคมและวิธีที่มนุษย์ตีความใหม่เกี่ยวกับตนเอง  ถึงตอนนี้ พระองค์ลุกขึ้นและไปหยิบหนังสือทำวัตรออกมาจากโต๊ะของพระองค์  มันเป็นภาษาละติน และขาดวิ่นเพราะใช้งานมานานปี  พระองค์ทรงพลิกไปที่หน้าสำหรับบทอ่านประจำวันศุกร์ของสัปดาห์ที่ 27 เทศกาลธรรมดา และอ่านถ้อยคำในบันทึกเตือนใจลำดับแรก (Commonitorium Primum) ของนักบุญวินเซนต์แห่งเลอแรงส์ (St. Vincent of Lerins) ที่ว่า “แม้กระทั่งคำสอนของคริสตศาสนาต้องเป็นไปตามกฎเหล่านี้ รวบรวมเข้าไว้ในแต่ละปี พัฒนาไปตามกาลเวลา ลึกซึ้งขึ้นไปตามยุคสมัย”

พระสันตะปาปาทรงแสดงความคิดเห็นว่า “นักบุญวินเซนต์แห่งเลอแรงส์เปรียบเทียบระหว่างพัฒนาการด้านชีววิทยาของมนุษย์กับการส่งผ่านความเชื่อที่สั่งสมมาจากยุคสมัยหนึ่งไปยังอีกยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นตามกาลเวลา  ที่จุดนี้ ความเข้าใจตนเองของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา และดังนั้น ความตระหนักรู้ของมนุษย์จึงลึกซึ้งขึ้น  ขอให้เราคิดถึงเมื่อการค้าทาสยังเป็นที่ยอมรับ หรือโทษการประหารชีวิตเป็นสิ่งที่ยอมให้เกิดขึ้นได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ  นักพระคัมภีร์และนักเทววิทยาช่วยให้พระศาสนจักรเจริญวุฒิภาวะด้านการวินิจฉัยดีขึ้น  แม้แต่ศาสตร์อื่นๆ และพัฒนาการของศาสตร์เหล่านั้นก็ช่วยให้พระศาสนจักรมีความเข้าใจได้ดีขึ้น  กฎของพระศาสนจักรและคำสั่งสอนที่เคยใช้ได้ผล แต่ในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้กลับสูญเสียคุณค่าไปหรือหมดความหมาย  มุมมองที่เห็นคำสอนของพระศาสนจักรเป็นเสาหลักในการปกป้องไม่ให้มีความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ หรือความเข้าใจที่ต่างออกไป เป็นสิ่งที่ผิด

“ท้ายที่สุดแล้ว ในทุกยุคสมัยในประวัติศาสตร์ มนุษย์พยายามที่จะทำความเข้าใจและแสดงตัวตนของพวกเขาออกมาให้ดียิ่งขึ้น  ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไป มนุษย์จึงเปลี่ยนวิธีที่พวกเขารับรู้เกี่ยวกับตนเอง  การที่มนุษย์แสดงออกถึงตัวตนด้วยการสลักเสลา “ปีกแห่งชัยชนะแห่งซาโมเทรซ” (Winged Victory of Samothrace) ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีคาร์ราแวกจิโอ ชากาลล์ และภาพนิ่งของเดลี (Deli)  แม้กระทั่งรูปแบบในการแสดงออกเกี่ยวกับความจริงก็สามารถกระทำได้ในหลายรูปแบบ และนี่เป็นสิ่งที่จำเป็นโดยแท้สำหรับการเผยแผ่ความหมายที่ไม่มีข้อจำกัดแห่งเวลาของพระวรสาร”

“มนุษย์กำลังแสวงหาตนเอง และแน่นอนว่า ในการแสวงหานี้ พวกเขาอาจจะกระทำผิดพลาดได้ พระศาสนจักรมีประสบการณ์กับช่วงเวลาที่โชติช่วง เหมือนกับในยุคสมัยของโทมัส อากวีนัส (Thomas Aquinas) แต่พระศาสนจักรก็ประสบกับช่วงเวลาที่เสื่อมโทรมด้านความสามารถในการคิด  ตัวอย่างเช่น เราต้องไม่สับสนระหว่างอัจฉริยภาพของโทมัส อากวีนัส กับยุคสมัยของกลุ่มสานุศิษย์ของโทมัสอันเสื่อมโทรม  น่าเสียดายที่พ่อได้เรียนปรัชญาจากตำราของกลุ่มสานุศิษย์ของโทมัสที่เสื่อมโทรมและส่วนใหญ่ล้มเหลวนี้  ดังนั้น เมื่อคิดถึงมนุษย์ พระศาสนจักรควรที่จะมุ่งมั่นพยายามที่จะบรรลุถึงอัจฉริยภาพไม่ใช่ความเสื่อมโทรม”

“เมื่อไรที่การก่อร่างสร้างความคิดจะไม่บังเกิดผล?  เมื่อมันไม่มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่มนุษย์ หรือแม้กระทั่งเมื่อมันเกรงกลัวต่อมนุษย์ หรือหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง  ความคิดหลอกลวงสามารถเปรียบได้กับยูริซิส (Ulysses) ที่เผชิญกับบทเพลงของไซเรน (Siren) หรือเหมือนกับแทนเฮาเซอร์ (Tannhäuser) ที่ลุ่มหลงมัวเมากับสุรานารีร่วมกับบรรดาซาไทร์ (Satyrs) และนักบวชหญิงของแบคคัส (Bacchantes) หรือเหมือนกับปาร์ซิวาลในองค์ที่สองของอุปรากรของวากเนอร์ในพระราชวังของคลิงซอร์ (Klingsor) การคิดของพระศาสนจักรจะต้องรื้อฟื้นอัจฉริยภาพ และทำความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้นว่ามนุษย์เข้าใจตนเองว่าเป็นอย่างไรในทุกวันนี้ เพื่อที่จะพัฒนาและทำให้คำสอนของพระศาสนจักรลึกซึ้งยิ่งขึ้น”

การภาวนา

พ่อถามพระสันตะปาปาฟรานซิสถึงวิธีการสวดภาวนาที่พระองค์ชื่นชอบ

“พ่อสวดบททำวัตรทุกเช้า พ่อชอบภาวนาด้วยบทสดุดี หลังจากนั้น พ่อจะถวายบูชามิสซาขอบพระคุณ พ่อสวดสายประคำ สิ่งที่ชอบมากๆ คือการเฝ้าศีลในตอนเย็น แม้เมื่อพ่อเสียสมาธิและคิดถึงเรื่องอื่นๆ หรือแม้กระทั่งเผลอหลับไปในระหว่างสวดภาวนา ในตอนกลางคืนระหว่างเวลาหนึ่งถึงสองทุ่ม พ่อจะใช้เวลาเฝ้าอยู่ต่อหน้าศีลศักดิ์สิทธิ์สวดภาวนาเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง แต่พ่อมักจะภาวนาอยู่ในใจแม้ตอนที่รอเข้ารับการทำฟัน หรือในเวลาอื่นๆ ของวัน

“การสวดภาวนาสำหรับพ่อแล้วมักจะเต็มไปด้วยความทรงจำและการระลึกถึง แม้แต่ความทรงจำถึงชีวิตของพ่อเองในอดีตหรือสิ่งที่พระเป็นเจ้าได้ทรงทำให้พระศาสนจักรของพระองค์หรือให้แก่สังฆมณฑลใดสังฆมณฑลหนึ่ง  สำหรับพ่อแล้ว นี่เป็นความทรงจำซึ่งนักบุญอิกญาซิโอกล่าวถึงในสัปดาห์แรกของการฝึกปฏิบัติชีวิตจิตเกี่ยวกับการพบกับพระคริสตเจ้าผู้เปี่ยมด้วยพระเมตตา ผู้ถูกตรึงกางเขน  และพ่อถามตนเองว่า “พ่อได้ทำอะไรเพื่อพระคริสตเจ้าบ้าง? พ่อกำลังทำอะไรอยู่เพื่อพระคริสตเจ้า? ” นี่เป็นความทรงจำที่นักบุญอิกญาซิโอได้กล่าวไว้ใน “บทพิจารณาไตร่ตรองสำหรับประสบการณ์ความรักของพระเจ้า” เมื่อท่านได้ขอให้พวกเรารำพึงถึงของขวัญที่พวกเราได้รับ แต่ที่สำคัญกว่าอื่นใดทั้งหมด พ่อรู้ว่าพระเจ้าทรงจำพ่อได้ พ่ออาจจะลืมพระองค์ไปบ้าง แต่พระองค์ไม่เคยที่จะลืมพ่อ  ความทรงจำมีบทบาทพื้นฐานสำหรับหัวใจของคณะเยสุอิต ความทรงจำในพระพรของพระเจ้า ความทรงจำที่กล่าวถึงในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ ความทรงจำในกิจการของพระเจ้าซึ่งเป็นรากฐานของพันธสัญญาระหว่างพระเป็นเจ้ากับประชากรของพระองค์  ความทรงจำนี้เองที่ทำให้พ่อเป็นบุตรของพระองค์ และทำให้พ่อเป็นพ่อด้วย”



Comments