ฟาติมาสาร: นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของวาติกัน (8 ก.ย. 2013)

สัปดาห์ที่แล้วเพิ่งจะเขียนเรื่องบรรดาพระคาร์ดินัลชาวอเมริกันออกมาบ่น พระคาร์ดินัล ตาร์ชิซิโอ แบร์โตเน่ เลขาธิการนครรัฐวาติกันไปหยกๆ ไม่กี่วันถัดมา สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงประกาศแต่งตั้งเลขาธิการนครรัฐวาติกันคนใหม่ทันที โดยผู้มาทำหน้าที่แทนได้แก่ “พระอัครสังฆราช ปิเอโตร ปาโรลิน” ปัจจุบันเป็นสมณทูตวาติกันประจำประเทศเวเนซุเอล่า




อย่างที่กล่าวในสัปดาห์ที่แล้ว ตำแหน่งนี้มีความสำคัญมาก เพราะเทียบเท่า “นายกรัฐมนตรีของวาติกัน” (พระสันตะปาปาคือกษัตริย์) การแต่งตั้งครั้งนี้สร้างความยินดีแบบสุดๆให้กับหลายคนที่ตั้งหน้าตั้งตารอการปฏิรูปโรมันคูเรียอย่างเป็นทางการ ซึ่งตำแหน่งแรกที่ทุกคนหวังให้มีการเปลี่ยนแปลงก็คือตัวเลขาธิการนครรัฐวาติกันนี่แหละ

สำหรับพระอัครสังฆราช ปิเอโตร ปาโรลิน เลขาธิการนครรัฐวาติกันคนใหม่ ปัจจุบันอายุ 58 ปี ซึ่งต้องบอกว่าอายุแค่นี้ยัง “หนุ่มมาก” กับการทำหน้าที่นี้ ถ้าจะให้ฟันธงแบบไม่กลัวหน้าแหก ผมกล้าพูดเลยว่า พระอัครสังฆราชองค์นี้เตรียมได้รับแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัลอย่างแน่นอน เพราะคนทำหน้าที่เลขาธิการนครรัฐวาติกันต้องเป็นพระคาร์ดินัล และถ้าหากทำหน้าที่ได้ดีต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้สูงว่า จะได้ทำหน้าที่นี้ไปอีกหลายปีจนอาจจะถึงอายุ 80 ปี (ถ้าไม่ถูกเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาองค์ต่อไปซะก่อน) เพราะพระคาร์ดินัลที่ทำหน้าที่นี้ ส่วนมากจะลาเกษียณตอนอายุ 80 ปี

พระอัครสังฆราช ปิเอโตร ปาโรลิน ได้รับการยกย่องเป็น “นักการทูตเก่งที่สุดของวาติกันในตอนนี้” ท่านได้รับมอบหมายให้ทำการเจรจาครั้งสำคัญหลายวาระ อาทิ การเจรจาเสรีภาพในการนับถือศาสนากับรัฐบาลจีนและรัฐบาลเวียดนาม รวมไปถึงทำหน้าที่สมณทูตวาติกันประจำเวเนซุเอล่า ซึ่งต้องรับมือกับ “อูโก้ ชาเวซ” อดีตประธานาธิบดีผู้ล่วงลับของเวเนซุเอล่า แต่ทั้งหมดนี้ พระอัครสังฆราชปาโรลิน ผ่านมาได้หมดอย่างไรปัญหา

การนำ “นักการทูต” มาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีวาติกัน ถือเป็นเรื่องถูกต้องที่สุดในสายตาของนักวิเคราะห์หลายคน เพราะตำแหน่งนี้ต้องทำการเจรจาเรื่องสำคัญกับผู้นำประเทศต่างๆ รวมไปถึงเจรจาไกล่เกลี่ยเรื่องขัดแย้งในพระศาสนจักร ในอดีตผู้ทำหน้าที่นี้เป็นนักเรียนการทูตแทบทั้งสิ้น แต่พระคาร์ดินัลแบร์โตเน่ เลขาธิการนครรัฐวาติกันคนก่อนไม่ได้จบการทูต การทำหน้าที่จึงมีแต่ปัญหาขัดแย้งเพราะขาดทักษะการเจรจาและไม่มีไหวพริบแก้ปัญหา (พวกนักการทูตจะเจรจาและแก้ปัญหาแบบสายฟ้าแลบ จะไม่ปล่อยให้เรื่องลุกลามและบานปลายจนคุมไม่ได้)

ในส่วนของกระแสตอบรับการแต่งตั้งพระอัครสังฆราชปาโรลิน สำนักข่าวชั้นนำทั่วโลกต่างขึ้นเป็นข่าวด่วน (BREAKING NEWS) อย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็น BBC, CNN หรือแม้กระทั่ง อัล จาซีร่าห์ ทุกสำนักรายงานเหมือนกันหมดว่า “นี่คือการแต่งตั้งครั้งสำคัญที่จะสลายขั้วการเมืองวาติกันให้หมดไป เพราะบุคลิกและนิสัยของพระอัครสังฆราชปาโรลิน คือรักที่จะเป็นสะพานเชื่อมให้ทุกคนคุยกัน”

ตอนแรก ผมอ่านข้อความที่ว่าเป็นสะพานเชื่อมให้คุยกัน ก็ยังไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ จึงโทรศัพท์ไปถาม “มองซินญอร์ วิษณุ ธัญญอนันต์” ว่า “รุ่นพี่ของพ่อ มีนิสัยแบบที่นักข่าวพูดไว้จริงหรือ” (มองซินญอร์วิษณุ เป็นรุ่นน้องนักเรียนการทูตของสันตะสำนัก ห่างจากพระอัครสังฆราชปาโรลินไม่กี่รุ่น)

คำตอบที่ได้รับคือ “เป็นความจริง ท่านปาโรลินเป็นการแต่งตั้งที่ถูกต้องและเหมาะสมมาก ท่านเป็นคนที่ประสานทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน มีเมตตาและเป็นที่รักของทุกคน ท่านเคยเป็นหนึ่งในแคนดิเดตที่จะได้เป็นพระสังฆราชของมิลานและเวเนเซียด้วย นั่นแสดงให้เห็นถึงความสามารถที่โดดเด่นมากๆ” 

ได้ยินแบบนี้ ผมจึงหายสงสัยและเข้าใจทันทีว่า ทำไมนักข่าวสายวาติกันในต่างประเทศ รวมถึงบรรดาพระคาร์ดินัลในวาติกันหลายองค์จึงออกมาชื่นชมเป็นการใหญ่ งานนี้ จึงได้แต่หวังว่า ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงของโรมันคูเรียจะนำมาซึ่งความราบรื่นในการทำงานกับพระศาสนจักรท้องถิ่นทั่วโลก


AVE   MARIA


หมายเหตุ – วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2013 สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงตอบรับ “คำขอเข้าเฝ้า” จาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย โดยการเข้าเฝ้าครั้งนี้ พระสันตะปาปาให้เวลานายกรัฐมนตรีของไทยเข้าเฝ้า 30 นาที ... เรื่องราวจะเป็นอย่างไร Pope Report จะนำมาเล่าให้ฟังต่อไป


Comments

  1. คงไม่เรียก "Your Holiness" เป็น "Your Loneliness" นะคะ !!!!

    ReplyDelete

Post a Comment