ฟาติมาสาร - แนวโน้มการแต่งงานตามจารีตคาทอลิก (13 ม.ค. 2013)

เชื่อว่า คนที่ไม่ใช่คาทอลิกหลายคนน่าจะมีความฝันอย่างหนึ่งคืออยากจัดพิธีแต่งงานในโบสถ์คาทอลิก (หรือจะเป็นโปรเตสแตนท์ก็ได้) ความฝันแบบนี้ส่วนมากจะเกิดกับชาวเอเชีย เพราะหลายประเทศในเอเชียไม่ได้มีศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติ การแต่งงานในโบสถ์ที่มีโครงสร้างและการตกแต่งภายในอลังการ น่าจะช่วยให้งานแต่งงานของพวกเขาดูสวยสดงดงาม  


อย่างไรก็ตาม ความคิดที่ว่ากลับตรงกันข้ามในทวีปยุโรปซึ่งทุกชาติมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ตอนนี้ คนยุโรปส่วนมากเลือกไม่แต่งงานตามแบบคาทอลิกที่จัดในโบสถ์ แต่เลือกไปจัดที่ศาลาว่าการของเมือง รวมทั้งจัดตามสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นภูเขาหรือทะเล (ส่วนมากจะจัดฤดูร้อน) เรียกได้ว่า ชาวยุโรปส่วนมากแทบให้ความสำคัญกับการแต่งงานตามจารีตศาสนาลดลงไปเรื่อยๆ

ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน (ประมาณปี 2008) ผมเคยได้รับข้อมูลว่า อัตราการแต่งงานในโบสถ์ของชาวยุโรป (แต่งงานตามจารีตศาสนา) เริ่มลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง บทวิเคราะห์ดังกล่าวสรุปว่า ถ้าอัตรายังเพิ่มแบบนี้ไปเรื่อยๆ ภายในไม่เกิน 5 ปี อัตราการแต่งงานแบบไปจดทะเบียนที่เขตหรือศาลาว่าการเมือง (CIVIL MARRIAGE) น่าจะทิ้งห่างอัตราการแต่งงานในโบสถ์ซึ่งจะมีการจดทะเบียนตามกฎหมายพระศาสนจักร (RELIGIOUS MARRIAGE) อย่างแน่นอน (ตอนนั้น อัตรายังสูสีกัน การแต่งงานแบบจดทะเบียนที่เขต มีจำนวนมากกว่าเล็กน้อย)

ช่วงปี 2009-2010 ที่ผมมีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตในแถบสแกนดิเนเวีย ผมยิ่งเห็นบทวิเคราะห์นี้เป็นความจริงยิ่งขึ้นไปอีก ตอนที่ไปร่วมมิสซาที่โบสถ์คาทอลิกแห่งเดียวของเมืองที่ผมอาศัย พวกกรรมการวัดบอกผมว่า ในปีๆหนึ่ง ถ้ามีคาทอลิกมาแต่งงานในโบสถ์ถึง 5 คู่ก็ถือว่าสุดยอดแล้ว เพราะค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1-2 คู่ต่อปีเท่านั้น ซึ่งจำนวนดังกล่าวไม่เฉพาะคาทอลิกเท่านั้น แต่ชาวสวีดิชนิกายเชิร์ชออฟสวีเดน (โปรเตสแตนท์) ก็พบปัญหานี้เหมือนกัน  สาเหตุของปัญหาเหล่านี้ น่าจะวิเคราะห์ได้ไม่ยากนั่นคือมันเกิดจาก “อัตราคนไม่นับถือศาสนาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ” นั่นเอง

ล่าสุด อัตราการแต่งงานในโบสถ์คาทอลิกในอิตาลี ก็ช่วยตอกย้ำบทวิเคราะห์และวิกฤตินี้อีกครั้ง เมื่อ “อิล ฟอโญ่” หนังสือพิมพ์ชื่อดังของอิตาลีเสนอข่าวว่า ตอนนี้ จำนวนคาทอลิกอิตาเลี่ยนที่จัดพิธีแต่งงานในโบสถ์ลดลงเยอะมาก เฉพาะอย่างยิ่งในแถบภาคเหนือของอิตาลี ไม่ว่าจะเป็นเมืองใหญ่ๆอย่าง มิลาน, ตูริน, โบโลญญ่า, ฟลอเร็นซ์, แบร์กาโม่ และเจนัว คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในเมืองเหล่านี้เลือกจัดพิธีแค่ไปจดทะเบียนสมรสที่ศาลากลางเมืองเท่านั้น ตัวเลขในส่วนนี้อยู่ที่ 52 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนที่จัดพิธีแต่งงานในโบสถ์และไปจดทะเบียนสมรสกับราชการอยู่ที่ 48 เปอร์เซ็นต์

เห็นตัวเลขแบบนี้อาจดูต่างไม่มาก แต่สำหรับอิตาลี สิ่งที่เกิดถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะนี่คือประเทศที่มีวัฒนธรรมคาทอลิกเข้มแข็งมาก “อิล ฟอโญ่” เผยว่าสาเหตุหลักที่ทำให้หนุ่มสาวอิตาเลี่ยนไม่ให้ความสำคัญกับการจัดงานแต่งงานตามธรรมเนียมคาทอลิก มีอยู่ 3 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่   ...

1) จำนวนคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีศาสนาเพิ่มมากขึ้น เมื่อถึงเวลาแต่งงาน ก็ไม่จำเป็นต้องไปแต่งงานกันตามหลักศาสนา เพราะตนเองไม่มีศาสนา

2) การจัดงานแต่งงานในโบสถ์ มีค่าใช้จ่ายสูงมาก เพราะคู่บ่าวสาวต้องเสียเงินค่าสถานที่ ค่าจัดดอกไม้ ค่านักขับร้อง เมื่อเทียบกับการไปจดทะเบียนสมรสเลยที่ศาลากลางของเมือง ประหยัดกว่าเยอะ อันนั้นแค่เชิญพยานไปร่วมลงนามต่อหน้านายทะเบียนที่จะเป็นผู้ประกอบพิธี ก็เป็นอันสมบูรณ์แล้ว (ให้นายทะเบียนหรือเจ้าพนักงานเป็นผู้ประกอบพิธี แทนที่ของพระสงฆ์)

3) วัฒนธรรมการอยู่กินก่อนแต่ง อันนี้เป็นพฤติกรรมที่แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลก ผู้คนจำนวนมากเห็นด้วยกับความคิดนี้ เพราะถ้าอยู่กินก่อนแต่งแล้วเข้ากันไม่ได้ ก็แค่เลิกกันไป ยังไม่มีพันธะผูกพันตามกฎหมายทางโลกและกฎหมายพระศาสนจักร พฤติกรรมนี้เป็นอีกหนึ่งตัวการที่ทำให้ความสำคัญของการแต่งงาน ไม่ว่าจะแต่งในโบสถ์คาทอลิกหรือจะไปแต่งที่ศาลาว่าการของเมือง ต้องถูกลดความสำคัญลง

3 สาเหตุที่ว่าเป็นเรื่องที่เกิดในอิตาลี อย่างไรก็ตาม จำนวนคนแต่งงานตามจารีตศาสนาในอิตาลียังไม่ถือว่าแย่ ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆในยุโรป ภูมิภาคที่มีอัตราการแต่งงานตามจารีตศาสนาต่ำสุดในยุโรปได้แก่สแกนดิเนเวีย (สวีเดน, นอร์เวย์, ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก) แถบนั้นมีอัตราการประชากรแต่งงานตามหลักศาสนาแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งภูมิภาค ส่วนมากจะจดทะเบียนกันที่ศาลาว่าการ (สแกนดิเนเวียเป็นหนึ่งในดินแดนที่มีอัตราคนไม่นับถือศาสนามากสุดในโลก คนที่นั่นส่วนมากเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง แบบว่า ทุกสิ่งที่เกิด เกิดจากตัวเราเอง)

สุดท้าย เมื่อมองย้อนกลับมาที่เมืองไทย ผมคิดว่า คาทอลิกไทยที่สมัครใจแต่งงานในโบสถ์ตามจารีตศาสนา ยังไม่น่าเป็นห่วง เหตุผลก็เป็นเพราะที่ผมกล่าวไปในบรรทัดแรกของบทความ มันคือความฝันของชาวเอเชีย (นอกเหนือไปจากความศรัทธาในศาสนา) แต่กระนั้น อย่าประมาทแล้วกัน เพราะเทรนด์และวัฒนธรรมอะไรที่เกิดขึ้นและแผ่ขยายอิทธิพลที่ยุโรปแล้ว มันจะใช้เวลาไม่นานในการมาเผยแพร่ตัวเองที่เมืองไทย .... 


AVE   MARIA

Comments