ฟาติมาสาร - ก้าวร้าวและทำเพื่อตัวเอง (16 กันยายน 2012)

ขณะที่เรากำลังอ่านบทความนี้กันอยู่ สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 กำลังเสด็จเยือนประเทศเลบานอน เพื่อปฏิบัติพันธกิจเยี่ยมกลุ่มคริสตชนในตะวันออกกลาง หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเสด็จเยือนครั้งนี้จะผ่านพ้นไปด้วยดี ไม่มีความรุนแรงจากสงครามในซีเรียมารบกวน (เลบานอนอยู่ติดกับซีเรีย) โดยการเสด็จเยือนครั้งนี้ จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2012




ในส่วนรายละเอียดพระสันตะปาปาเยือนเลบานอน ผมจะนำมาเสนอแบบละเอียดในสัปดาห์หน้า ส่วนสัปดาห์นี้ มีเรื่องสำคัญและน่าเป็นห่วงมากกว่าที่เราต้องมาติดตามกัน ...

เหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 เดือน ปีแห่งความเชื่อก็จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ (เริ่มวันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม 2012) อย่างไรก็ตาม ความอึมครึมของเรื่องปวดหัวบางเรื่องก็เข้ามาทำลายบรรยากาศปีแห่งความเชื่อเข้าให้แล้ว เรื่องที่ว่าก็คือกลุ่มสงฆ์คาทอลิกไม่นบนอบพระสังฆราชในออสเตรีย ได้ออกมาตำหนิพระสันตะปาปาและแนวทางคำสั่งสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกอีกครั้ง

การออกมาวิจารณ์อย่างแรงครั้งนี้ เกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา มองซินญอร์ เฮลมุต ชูร์เลอร์ ผู้นำกลุ่มสงฆ์ไม่นบนอบพระสังฆราชในออสเตรีย ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวแสดงจุดยืนของกลุ่มอีกครั้ง โดยเป็นการโจมตีบรรดาผู้บริหารในพระศาสนจักรว่าใช้อำนาจแบบไม่ฟังเสียงเรียกร้องของคนข้างล่าง ยิ่งกว่านั้น ยังเรียกร้องให้มีการประกาศธรรมนูญสิทธิขั้นพื้นฐานของประชากรในพระศาสนจักรคาทอลิกอีกด้วย (คล้ายกับ BILL OF RIGHTS หรือสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ซึ่งจะเน้นไปที่การปกป้องสิทธิของพลเมืองในกรณีที่ถูกรัฐบาลล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน)

การเสนอเรื่องธรรมนูญสิทธิขั้นพื้นฐานของประชากรในพระศาสนจักรนี่แหละที่ได้กลายเป็นเรื่องให้เกิดการวิพากษ์กันอย่างกว้างขวาง เพราะกลุ่มสงฆ์ไม่นบนอบพระสังฆราชได้นำประเด็นเก่าที่เคยถูกหยิบมาถกเถียงในสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 มาเล่นใหม่อีกครั้ง หัวข้อนี้คือ “LEX ECCLESIAE FUNDAMENTALIS” ซึ่งหัวข้อนี้เทียบได้กับกฎหมายสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่กล่าวไปในย่อหน้าก่อนหน้านี้นั่นเอง (เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ ได้ถูกปิดประเด็นลงไปในปี 1981 สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ทรงบอกว่า ไม่มีความจำเป็นต้องมาพูดถึงเรื่องนี้)

“เรากำลังพูดถึงการมอบสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับประชากรของพระเจ้า รวมไปถึงโครงสร้างที่มอบการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องต่างๆให้กับคนทุกระดับในพระศาสนจักร นอกจากนี้ เรายังอยากให้มีการควบคุมการใช้อำนาจในพระศาสนจักรด้วย” นี่คือถ้อยแถลงของ มองซินญอร์ชูร์เลอร์ ผู้นำกลุ่มสงฆ์ไม่นบนอบ ในอดีตมองซินญอร์คนนี้เคยเป็นถึงอุปสังฆราชของอัครสังฆมณฑลเวียนนา ประเทศออสเตรีย รวมไปถึงเป็นอดีตประธานคาริตัสออสเตรียด้วย

ทั้งนี้ กลุ่มสงฆ์ไม่นบนอบพระสังฆราชในออสเตรีย ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2006 ตอนนั้นมีสมาชิกไม่กี่คน เนื่องจากสงฆ์หลายคนยังไม่กล้าประกาศตัวเป็นสมาชิก แต่พอเดือนเมษายน 2012 สมาชิกของกลุ่มเพิ่มถึง 300 คน เลยมีการจัดตั้งเป็นสมาคมสงฆ์คาทอลิกไม่นบนอบพระสังฆราชนานาชาติ (มีทั้งในอเมริกา, แคนาดา, ไอร์แลนด์, เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์) และล่าสุด ในการแถลงข่าวครั้งนี้เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา กลุ่มสงฆ์ไม่นบนอบพระสังฆราชในออสเตรีย ประกาศว่า สมาชิกสงฆ์ในกลุ่มเพิ่มเป็น 500 คนแล้ว หรือคิดเป็น 12เปอร์เซ็นต์ของจำนวนสงฆ์คาทอลิกในออสเตรีย (4,200 องค์)

นอกจากเรียกร้องเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชากรในพระศาสนจักรแล้ว มองซินญอร์ชูร์เลอร์ยังย้ำแนวทางของกลุ่มอีกครั้ง นั่นคือ “การเรียกร้องให้สงฆ์คาทอลิกสามารถแต่งงานมีครอบครัวได้ โดยกลุ่มสงฆ์ไม่นบนอบพระสังฆราชเชื่อว่า นี่คือโมเดลแก้ปัญหาขาดแคลนพระสงฆ์ได้อย่างแน่นอน” ข้อเรียกร้องนี้เองที่ทำให้สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ถึงกับผิดหวังและโกรธเป็นอย่างมาก พระองค์ทรงตำหนิสงฆ์กลุ่มนี้อย่างรุนแรงไปเมื่อวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ช่วงปาสกาที่ผ่านมา โดยทรงเทศน์ในมิสซารื้อฟื้นคำมั่นสัญญาของการเป็นสงฆ์ว่า “การไม่นบนอบต่อพระสังฆราชและเสนอแนวทางพวกนี้ แน่ใจหรือว่ามันจะนำไปสู่การปฏิรูปพระศาสนจักรคาทอลิกให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น” (หากยังจำกันได้ ช่วงปาสกาที่ผ่านมา ผมนำเรื่องนี้มาเล่าไปแล้ว ตอนนั้น บทเทศน์นี้ดังไปทั่วโลก เพราะเป็นครั้งแรกในสมณสมัยของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่พระองค์ตำหนิกลุ่มคนในที่สาธารณะ)

มองซินญอร์ชูร์เลอร์และสงฆ์กลุ่มนี้ก็ได้ทราบคำตำหนิจากพระสันตะปาปา พวกเขาไม่ได้ตอบโต้ในตอนนั้น แต่ ณ วันนี้ที่มีการแถลงข่าว พวกเขากล้าๆย้อนถามพระสันตะปาปาผ่านสื่อมวลชนว่า “พระสันตะปาปาถามว่า การไม่นบนอบเป็นหนทางนำไปสู่การปฏิรูปหรือ พวกเราอยากไปตอบคำถามนี้ต่อหน้าพระองค์มากๆ เราทำเรื่องขอเข้าเฝ้าไปนานแล้ว แต่ไม่มีการตอบรับมาจากวาติกันเลย”

ตอนท้ายของการแถลงข่าว มองซินญอร์ชูเลอร์พาดพิงถึงกลุ่มเลอแฟ๊บวร์ที่วาติกันกำลังเจรจาเรื่องการคืนดีกันอยู่ “วาติกันทำพลาดอย่างมหันต์ที่หันไปเจรจาและเอาใจกลุ่มเลอแฟ๊บวร์ ทั้งๆที่ควรจะใส่ใจข้อเรียกร้องของกลุ่มเรามากกว่า เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนและมีคนจำนวนมากให้ความสนใจ การไปเจรจากับกลุ่มเลอแฟ๊บวร์นั้น เป็นเรื่องเสียเวลาเพราะเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยและเป็นเรื่องที่ไม่ได้แก้ปัญหาขาดแคลนพระสงฆ์เลย”

... ทั้งหมดก็เป็นประเด็นร้อนที่ถูกจุดขึ้นก่อนปีแห่งความเชื่อ ในมุมมองของผม ข้อเรียกร้องของกลุ่มสงฆ์ไม่นบนอบพระสังฆราช มีแค่เรื่องเดียวที่ผู้บริหารพระศาสนจักรควรตระหนักให้มากๆ นั่นคือ “การใช้อำนาจอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้” ส่วนเรื่องอื่นๆ ผมคิดว่าเป็นข้อเสนอที่รุนแรงไปหน่อย ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ประกอบกับ “การแสดงออก” ของกลุ่มนี้ที่ดูก้าวร้าวเหลือเกิน ดังนั้น ผมไม่เชื่อว่า สัตบุรุษส่วนมากจะเอาใจช่วยพวกเขา เพราะทุกอย่างดูมองโลกแบบเข้าข้างตัวเอง และดูจะตอบสนองความต้องการของตัวเองมากกว่าเพื่อส่วนรวม


AVE   MARIA

Comments