ฟาติมาสาร - เปิดบัญชี “ธนาคารวาติกัน” (8 กรกฎาคม 2012)

นับตั้งแต่ ค.ศ.1978 เป็นต้นมา ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของธนาคารวาติกันตกต่ำย่ำแย่มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นสมณสมัยของพระสันตะปาปาองค์ไหน ก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้เลย ทั้งสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 1, สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 แม้กระทั่งสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ภาพลักษณ์ของสถาบันการเงินแห่งนี้ก็หนีไม่พ้น “ลึกลับ” และ “ไม่โปร่งใส” จะแก้ไขอย่างไรก็ดูไม่ดีขึ้นเสียที

นี่คือ "อาคารสำนักงานของธนาคารวาติกัน"

ความลึกลับและไม่โปร่งใสนี้ เกิดขึ้นเพราะมีแก๊งค์ฟอกเงินและมาเฟียจากแคว้นซิซิเลีย ประเทศอิตาลี เข้ามาเกี่ยวข้อง (หากใครเคยดูหนังเรื่อง “เดอะ ก็อด ฟาเธอร์” ก็น่าจะจินตนาการกันได้) แม้พระสันตะปาปาทุกพระองค์ที่กล่าวไปบนย่อหน้าแรกจะพยายามแก้ไขปัญหา ก็แก้ไม่ได้เสียที

ช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของธนาคารวาติกันก็ถูกตอกย้ำถึงความไม่โปร่งใสเข้าไปอีก หลังบอร์ดบริหารทั้งพระคาร์ดินัลและฆราวาสได้ลงมติไม่ไว้วางใจ “ก็อตติ เตเดสคี่” ประธานธนาคารวาติกัน ให้พ้นจากตำแหน่งในข้อหาไม่โปร่งใสและมีส่วนในการปล่อยเอกสารวาติกันให้สื่อมวลชนนำไปรวมเล่มขาย

หลังจากปลดอดีตนายธนาคารออกไปแล้ว บอร์ดบริหารธนาคารวาติกันได้ทำการปรับภาพลักษณ์ (รีแบรนด์ดิ้ง) องค์กรครั้งใหญ่ ด้วยการทำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ธนาคารวาติกัน นั่นคือ การเชิญคณะทูตชาติต่างๆที่ประจำสันตะสำนักและคณะสื่อมวลชนเข้าชมการบริหารงานขององค์กร รวมไปถึงนำเสนอข้อมูลทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นยอดเงินทั้งหมดของผู้ฝากเงิน, จำนวนผู้ฝากเงิน, สัดส่วนของเงินฝากว่ามาจากทวีปต่างๆเป็นเท่าไหร่บ้าง กลยุทธ์การสื่อสารนี้ อาจดูไม่หวือหวามากนัก แต่บอร์ดบริหารธนาคารวาติกันหวังว่าจะช่วยให้ภาพลักษณ์ขององค์กรดูดีขึ้น

ในส่วนของการเปิดเผยตัวเลขข้อมูลต่างๆ ปรากฏว่า ปัจจุบัน ธนาคารวาติกันมีลูกค้ามาเปิดบัญชีเงินฝากทั้งหมด 33,000 บัญชี คิดเป็นมูลค่า 6 พันล้านยูโร (ประมาณ 237,000 ล้านบาท – สองแสนสามหมื่นเจ็ดพันล้านบาท) ในจำนวนเงินเหล่านี้ เป็นของลูกค้าในทวีปยุโรป 77.3 เปอร์เซ็นต์, 7.3 เปอร์เซ็นต์ เป็นของวาติกัน, 6.3 เปอร์เซ็นต์เป็นทรัพย์สินจากแอฟริกา, 4.1 เปอร์เซ็นต์เป็นทรัพย์สินจากอเมริกาใต้, 2.5 เปอร์เซ็นต์เป็นทรัพย์สินจากเอเชีย, 2.3 เปอร์เซ็นต์ เป็นทรัพย์สินจากอเมริกาเหนือ และ 0.2 เปอร์เซ็นต์เป็นทรัพย์สินจากโอเชียเนีย

ทั้งนี้ เงื่อนไขของผู้มีสิทธิ์เปิดบัญชีกับธนาคารวาติกัน จะเป็นบรรดาพระคาร์ดินัลและสมณทูต (พวกนี้ถือได้สัญชาติวาติกันอยู่แล้ว), พระสังฆราช, บรรดาพนักงานที่ทำงานในวาติกัน, คณะนักบวช และองค์กรคาทอลิกที่ได้รับการรับรองสถานะจากพระศาสนจักร ในส่วนของบุคคลและห้างร้านต่างๆที่ทำธุรกิจ จะต้องได้รับการอนุมัติจากธนาคารก่อนว่าจะสามารถเปิดบัญชีเงินฝากได้ไหม (แต่บอกได้เลยว่า ข้อกำหนดต่างๆเข้มงวดได้ ดังนั้น เลิกฝันได้เลยว่าเราจะสามารถเปิดบัญชีกับธนาคารวาติกัน) หลักๆเลย ผู้ที่จะฝากเงินกับธนาคารวาติกัน จะต้องมีคุณสมบัติคร่าวๆได้แก่ ต้องไม่มีความประพฤติและดำเนินกิจกรรมต่างๆที่ขัดกับหลักคำสอนคาทอลิก อาทิ การค้ามนุษย์, การใช้แรงงานเด็ก, การค้าอาวุธสงคราม, การผลิตกับระเบิด และทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง เป็นต้น

อีกหนึ่งประเด็นที่คนทั่วโลกให้ความสนใจและสงสัยกันมานานนั่นคือ “ธนาคารวาติกันมีการนำเงินฝากทั้งหมด ไปลงทุนต่อยอดบ้างไหม” เพราะธนาคารทั่วไปยังมีการนำเงินฝากทั้งหมดไปลงทุนในพันธบัตรหรือตลาดหุ้น เรื่องนี้ เปาโล ชิปริอานี่ ผู้อำนวยการธนาคารวาติกัน ได้ชี้แจงให้คณะทูตและสื่อมวลชนได้หายสงสัยว่า “ธนาคารวาติกันก็เหมือนสถาบันการเงินทั่วไป เรานำเงินฝากส่วนมาก ไปลงทุนในตลาดพันธบัตร ส่วนตลาดหุ้น เรานำเงินจำนวนนี้ไปลงทุนแค่ 5 เปอร์เซ็นต์”

นอกจากจะเปิดบัญชีเงินฝากให้คณะทูตและสื่อมวลชนได้รับรู้แล้ว ธนาคารวาติกันยังนำเสนอโปรแกรม “WORLD-CHECK” ซึ่งเป็นโปรแกรมระดับโลกที่ธนาคารและบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกจะใช้กัน (ธนาคารวาติกันเพิ่งจะนำมาติดตั้ง แต่ทั่วโลกเขาเริ่มใช้กันมานานแล้ว) โปรแกรมนี้จะช่วยตรวจเช็คการโอนเงินเข้าและออกผ่านทางฐานข้อมูลขนาดยักษ์ หลังจากส่งข้อมูลแล้ว ภายในเวลา 20 วินาที เราจะทราบได้เลยว่า ตัวบุคคลหรือองค์กรที่โอนเงินเข้าหรือออกนั้น อยู่ในข่ายต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน, คดีอาชญากรรม หรือก่อการร้ายหรือเปล่า (ถ้าผมจำไม่ผิด โปรแกรมนี้ถูกบริษัททอมสัน รอยเตอร์ส ซื้อกิจการไปแล้ว)

ทั้งหมดนี้ ก็เป็นข้อมูลที่ธนาคารวาติกันเชิญสื่อมวลชนเข้าไปรับฟัง เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ตัวเองว่า โปร่งใสและพร้อมเปิดให้ธนาคารกลางโลกได้ตรวจสอบอย่างถูกต้อง

พูดถึงธนาคารวาติกัน หลายคนที่เคยไปเยือนวาติกัน คงงงว่ามันอยู่ตรงไหน คำตอบคือมันอยู่ในพื้นที่ชั้นในของวาติกัน ผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยวส่วนมากจะมีโอกาสไปเยือนแค่พื้นที่ชั้นนอก อาทิ มหาวิหารนักบุญเปโตรและพิพิธภัณฑ์วาติกัน ส่วนพื้นที่ชั้นในของวาติกัน เราต้องมีบัตรผ่านเข้าออกถึงจะเข้าไปได้ โดยส่วนตัว ผมค่อนข้างโชคดีที่มีโอกาสได้เข้าไปในธนาคารวาติกันถึง 2 ครั้ง (ภายใต้การนำของมองซินญอร์ วิษณุ ธัญญอนันต์) ทำให้ได้เห็นว่า ตู้เอทีเอ็มภาษาลาตินที่ร่ำลือกันนักหนา มีหน้าตาเป็นอย่างไร และระบบประตูเข้าออกที่ว่ากันว่า โจรปล้นทรัพย์ไม่มีทางหนีรอดออกไปได้นั้น มีลักษณะแบบไหน (ลักษณะเป็นประตูอัตโนมัติตู้กระจก เข้ามาแล้วต้องสแกนตัวด้วยรังสีทีละคน สแกนนาน 30 วินาที ทั้งเข้าและออก)

ใจจริงแล้ว ผมอยากถ่ายรูปภายในธนาคารวาติกันและนำมาแบ่งปันให้ทุกคนได้เห็น เพื่อจะได้เข้าใจภาพง่ายขึ้น แต่น่าเสียดาย เพราะมันเป็นกฎของสถาบันการเงินอยู่แล้วว่า เมื่อเข้ามาแล้ว ห้ามถ่ายภาพเด็ดขาด ทุกคนจึงต้องอ่านและจินตนาการตามจากตัวหนังสือนี่แหละครับ


AVE   MARIA


Comments