ฟาติมาสาร - แฮปปี้ เบิร์ธเดย์ 85 ชันษาแด่พระสันตะปาปา (15 เมษายน 2012)

บทความนี้ ผมเขียนไว้ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 6 เมษายน หรือ 2 สัปดาห์ล่วงหน้าก่อนฟาติมาสารฉบับนี้จะวางแผงอยู่ที่หน้าประตูวัด สาเหตุที่ต้องรีบเขียนต้นฉบับนี้เพราะคืนวันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน (อาทิตย์ปาสกา) ผมจะเดินทางไปตุรกี หนึ่งในจุดหมายการเดินทางคือ “บ้านแม่พระที่เมืองเอเฟซัส” สถานที่ซึ่ง “เชื่อ” กันว่าแม่พระเสด็จขึ้นสวรรค์ที่นี่นั่นเอง (พระศาสนจักรคาทอลิกไม่ได้ประกาศรับรอง แต่ไม่ได้ปฏิเสธ พระสันตะปาปา 4 พระองค์เสด็จมาแสวงบุญที่นี่ ได้แก่ พระสันตะปาปา เลโอ ที่ 13, พระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23, พระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 และ พระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16)



จริงๆแล้ว หลายเมืองในตุรกีมีความเกี่ยวข้องกับคริสตศาสนา อาทิ ทาร์ซัส (บ้านเกิดนักบุญเปาโลก, โคโลสี และ อันติโอ๊ค แต่วันนี้ ขอกล่าวเฉพาะเมืองที่ผมจะไปเยือนก็แล้วกัน ได้แก่ “อิโคนิอุม” เมืองที่นักบุญเปาโลและนักบุญบาร์นาบัสถูกวางแผนทำร้ายด้วยการใช้ก้อนหินขว้าง (อ่านได้ในกิจการอัครสาวก 14:1-7), “ฮีเอราโปลิส” เมืองนี้มีกลุ่มคริสตชนที่เข้มแข็งตามที่นักบุญเปาโลระบุในจดหมายถึงชาวโคโลสี (4:13), “คัปปาโดเซีย” เมืองนี้ปรากฏในหนังสือกิจการอัครสาวก (2:9) แน่นอน ต้องรวม “เอเฟซัส” เมืองที่ปรากฏในหนังสือกิจการอัครสาวกและจดหมายของนักบุญเปาโลด้วย นอกเหนือไปจากการไปเยือนเมืองในพระคัมภีร์ ก็จะมีไปสถานที่สำคัญหลายแห่งในกรุงอิสตันบูลและ “ทรอย” เมืองในตำนาน ... ทริปนี้ ผมไม่ได้ตามรอยนักบุญเปาโลและไม่เน้นประวัติศาสตร์คริสตศาสนา

กลับมาต่อที่เรื่องราวของพระสันตะปาปากันต่อ สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ที่ผ่านมา มีข่าวในพระศาสนจักรที่สื่อมวลชนทั่วโลกให้ความสนใจ นั่นคือ บทเทศน์ของพระสันตะปาปาในมิสซาวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ช่วงเช้า (มิสซาเสกน้ำมันศักดิ์สิทธิ์และรื้อฟื้นคำมั่นสัญญาของการเป็นสงฆ์) บทเทศน์ดังกล่าว สื่อมวลชนยักษ์ใหญ่ อาทิ บีบีซี, ซีเอ็นเอ็น และรอยเตอร์ส พร้อมใจประโคมขึ้นเป็นข่าวเด่นเหมือนกันหมด

หากยังจำกันได้เกี่ยวกับเรื่องราวของ “กลุ่มสงฆ์ไม่นบนอบพระสังฆราช” กลุ่มสงฆ์คาทอลิกในออสเตรียที่เริ่มจะแผ่ขยายสมาชิกไปทั่วโลก สงฆ์กลุ่มนี้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปลายปี 2011 โดยสงฆ์คาทอลิก 250 คน ร่วมกันลงนามเรียกร้องให้สงฆ์คาทอลิกไม่ต้องนบนอบต่อพระสังฆราช ทั้งยังเรียกร้องให้พระศาสนจักรคาทอลิกทำการปฏิรูปเพื่อให้ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยการอนุญาตให้สงฆ์คาทอลิกแต่งงานมีครอบครัวได้, อนุญาตให้ผู้ชายที่มียังครอบครัวบวชเป็นสงฆ์ได้ และเรียกร้องให้สตรีบวชเป็นสงฆ์ได้ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนพระสงฆ์ ข้อเรียกร้องดังกล่าว นอกจากกลุ่มสงฆ์ไม่นบนอบพวกนี้ร่วมลงนามแล้ว ยังมีกลุ่มนักเทวศาสตร์จากเยอรมนี, สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรีย จำนวน 311 คน ร่วมลงชื่อสนับสนุนด้วย เรื่องดังกล่าวกลายเป็นที่วิตกในพระศาสนจักรคาทอลิกเป็นอย่างมาก เพราะมันไม่ต่างจากระเบิดเวลานั่นเอง

พระสันตะปาปาทรงรับทราบและติดตามปัญหานี้อย่างใกล้ชิด พระองค์จึงตรัสถึงสงฆ์กลุ่มนี้ในบทเทศน์มิสซารื้อฟื้นคำมั่นสัญญาของการเป็นสงฆ์ว่า “ไม่นานมานี้ กลุ่มสงฆ์จากประเทศในทวีปยุโรปได้ออกมาเรียกร้องให้สงฆ์ไม่นบนอบต่อพระสังฆราช ขณะเดียวกัน พวกเขายังได้แสดงออกถึงแบบอย่างของการไม่นบนอบ อาทิ ประเด็นเกี่ยวกับการบวชสตรีเป็นสงฆ์ เรื่องนี้ เป็นการตัดสินใจที่ไม่เคารพต่อคำสั่งสอนของพระศาสนจักร ประเด็นนี้ บุญราศี จอห์น ปอล ที่ 2 เคยประกาศแล้วว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ พระศาสนจักรไม่ได้รับอำนาจจากพระเจ้าให้กระทำการนี้ (บวชสตรีเป็นสงฆ์)”


“การไม่นบนอบพระสังฆราชเป็นหนทางสู่การปฏิรูปพระศาสนจักรอย่างนั้นหรือ? เราเชื่อว่า สิ่งที่คนกลุ่มนี้ออกมาเรียกร้อง พวกเขาถูกกระตุ้นด้วยความความห่วงใยต่อพระศาสนจักร พวกเขาถูกโน้มน้าวว่าความเชื่องช้าของพระศาสนจักร จะได้รับการพิชิตด้วยวิธีการที่รุนแรงฉับพลัน ทั้งนี้ เพื่อที่จะเปิดทางสู่หนทางใหม่ที่จะนำพระศาสนจักรให้ทันสมัยยิ่งขึ้น แต่การไม่นบนอบเป็นหนทางนำไปสู่การปฏิรูปจริงๆหรือ?” พระสันตะปาปาตรัสถามจิตใต้สำนึกของสงฆ์กลุ่มนี้

พระดำรัสดังกล่าว นับเป็นครั้งแรกที่พระสันตะปาปาระบุถึงกลุ่มสงฆ์ไม่นบนอบพระสังฆราชแบบทางการต่อหน้าสาธารณชน การตรัสเช่นนี้ นักข่าวสายวาติกันวิเคราะห์กันว่า พระสันตะปาปาแค่ตำหนิการกระทำของสงฆ์กลุ่มนี้เท่านั้น พระองค์ยังไม่โหดถึงขั้นประณามและขับไล่พวกเขาออกจากพระศาสนจักร พระสันตะปาปายังให้โอกาสพวกเขา “กลับตัวกลับใจ” คนเราเมื่อทำผิดพลาดเพราะถูกการประจญล่อลวง ก็ยังสมควรได้รับโอกาสให้กลับใจกลับมาหาพระ การให้โอกาสกลับตัวกลับใจนี้ อยู่ที่พวกสงฆ์ไม่นบนอบพระสังฆราชแล้วว่า จะเลิกเทศน์สอนปั่นหัวสัตบุรุษให้คล้อยตามข้อเสนอของตนหรือไม่ ถ้ายังดื้อดึงกระทำการเช่นนี้ต่อไป พระสันตะปาปาคงต้องลงโทษแบบพ่อสอนลูกกันบ้าง เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่างแก่คนอื่นและเพื่อไม่ให้พระศาสนจักรต้องเสื่อมเสียไปกว่านี้ ...




ปิดท้ายด้วยเรื่องที่อยากแจ้งให้ทราบ วันจันทร์ที่ 16 เมษายนนี้ จะเป็นวันคล้ายวันสมภพของสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 พระองค์จะมีพระชนมายุครบ 85 ชันษา (ทรงสมภพเมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ.1927) ส่วนวันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายนที่จะถึงนี้ จะเป็นวันครบรอบ 7 ปีแห่งสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ประมุของค์ที่ 265 ของพระศาสนจักรคาทอลิก (ได้รับเลือกใน ค.ศ. 2005) ในมุมมองของผม คิดว่า พระสันตะปาปาคงไม่ต้องการสิ่งใดที่มีค่าจากคาทอลิกทั่วโลก พระองค์ต้องการแค่ “คำภาวนา” และ “การร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์” เพื่อให้การสานงานต่อจากนักบุญเปโตร และนำพาพระศาสนจักรนั้น เป็นไปอย่างราบรื่นและสะท้อนให้ทุกคนสัมผัสถึงคำว่า “สวรรค์ ณ แผ่นดิน” นั่นเอง


AVE   MARIA


Comments