ฟาติมาสาร - อีกหนึ่งสังฆราชที่ “โป๊ป” ร่วมเลือก (26 ก.พ. 2012)

ย้อนกลับไปเมื่อวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (วันฉลองแม่พระแห่งลูร์ด) วาติกันได้ออกประกาศการแต่งตั้งพระสังฆราชคาทอลิกใหม่ 5 องค์ โดย 2 จาก 5 จัดเป็นเคสน่าสนใจมาก ที่บอกน่าสนใจเพราะคนหนึ่งเป็นพระสังฆราชใหม่ของเมืองลูร์ด ซึ่งพระสันตะปาปาทรงลงมาข้องเกี่ยวในการเลือกด้วยพระองค์เอง ส่วนอีกคนหนึ่ง กลายเป็นพระสังฆราชคาทอลิกที่อายุน้อยสุดในโลกไปแล้ว




ตั้งแต่ติดตามก้าวแรกในสมณสมัยการปกครองของสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 แบบใกล้ชิด 7 ปีเต็ม ผมจำได้ว่า มีพระสังฆราชผู้ปกครองสังฆมณฑลเพียง 3 องค์เท่านั้นที่ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ทรงลงมาข้องเกี่ยวในการเลือกและแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ (อาจมีมากกว่านี้ แต่ผมจำได้แค่สามท่าน) คนแรกก็คือ “พระอัครสังฆราช โจเซ่ โกเมส” พระอัครสังฆราชแห่งลอส แองเจลีส สหรัฐอเมริกา, คนที่สองคือ “พระคาร์ดินัล อันเจโล่ สโคล่า” พระอัครสังฆราชแห่งมิลาน อิตาลี และคนที่สามคือ “พระสังฆราช ฟรานเชสโก้ โมราเลีย” พระอัยกาแห่งเวเนเซีย (เวนิส) อิตาลี

ปกติแล้ว เวลาเลือกพระสังฆราชใหม่ ผู้ที่ทำการตัดสินใจหลักๆ จะเป็นคณะพระคาร์ดินัลในสมณกระทรวงเพื่อพระสังฆราช ส่วนพระสันตะปาปาจะมีหน้าที่แค่ลงนามเท่านั้น แต่กับ 3 เคสที่บอกไป มีความจำเป็นแตกต่างกันไปที่พระสันตะปาปาต้องลงมาข้องเกี่ยวด้วยตัวเอง 

เคสแรกของพระอัครสังฆราชโกเมส ตอนนั้น อัครสังฆมณฑลลอส แองเจลีส กำลังระส่ำหนักจากการที่ พระคาร์ดินัล ฌอน มาโฮนี่ย์ พระอัครสังฆราชองค์ก่อน ปกปิดเรื่องอื้อฉาว พอถึงคราวเปลี่ยนพระสังฆราช พระสันตะปาปาจึงต้องลงมาเลือกคนที่ “ใช่” และมีความสามารถสุดๆในการกอบกู้ความศรัทธาจากชาวอเมริกัน ซึ่งเมื่อพระสันตะปาปาพิจารณาแล้ว คนที่เหมาะสมสุดก็คือพระอัครสังฆราชโกเมสนั่นเอง ... เคสที่สองของพระคาร์ดินัลสโคล่า (ผมเคยเขียนลงฟาติมาสารไปแล้วว่า คนนี้มีสิทธิ์เป็นพระสันตะปาปาองค์ต่อไป) พระสันตะปาปาต้องลงมาข้องเกี่ยวอีกครั้ง เพราะอัครสังฆมณฑลมิลานเป็นหนึ่งในสังฆมณฑลที่ใหญ่สุดในโลก นี่คืออัครสังฆมณฑลที่กำหนดบทบาทหลายอย่างในพระศาสนจักรคาทอลิก ผู้ปกครองอัครสังฆมณฑลนี้มักจะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นพระสันตะปาปาองค์ใหม่เสมอ (องค์ล่าสุดคือ “พระคาร์ดินัล โจวานนี่ บัตติสต้า มอนตินี่” ซึ่งต่อมาได้รับเลือกเป็น “สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6” นั่นเอง) ... เคสที่สามเป็นของพระสังฆราชโมราเลีย เคสนี้เพิ่งเกิดสดๆร้อนๆ เมื่อ 31 มกราคม 2012 พระอัยกาแห่งเวเนเซียคนก่อนหน้านี้คือ “พระคาร์ดินัลสโคล่า” ซึ่งถูกย้ายไปปกครองมิลาน อัครสังฆมณฑลเวเนเซียมีความสำคัญต่อพระศาสนจักรไม่แพ้อัครสังฆมณฑลมิลาน เพราะนี่ก็เป็นเมืองผลิตพระสันตะปาปาหลายองค์ อาทิ สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 (ปัจจุบันเป็นบุญราศี) และ สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 1 ดังนั้น ผู้จะมาปกครองเวเนเซียจึงต้องถูกคัดแบบเน้นๆหน่อย และพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ก็ตัดสินใจเลือก พระสังฆราชโมราเลีย นั่นเอง

ล่าสุด สมองผมต้องบันทึกพระสังฆราชคนที่ 4 ที่พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ทรงเลือกด้วยพระองค์เอง นั่นคือ “พระสังฆราช นิโกลาส์ โบรว์เวต์” วัย 50 ปี โดยพระสันตะปาปาทรงเลือกพระสังฆราชองค์นี้ให้เป็นพระสังฆราชแห่ง “สังฆมณฑลตาร์บส์และลูร์ด ประเทศฝรั่งเศส” หรือพูดง่ายๆ นี่คือเมืองของแม่พระแห่งลูร์ด นั่นเอง

สำหรับประวัติพระสังฆราชโบรว์เวต์ ท่านจบการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกจากมหาวิทยาลัยเกรโกเรียน กรุงโรม จากนั้น ค.ศ.1996-1998 ถูกส่งไปทำงานในกรุงเยรูซาเล็ม ประเทศอิสราเอล และช่วยสอนภาษาฝรั่งเศสให้กับเด็กนักเรียนที่นั่น มาถึง ค.ศ.2008 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชผู้ช่วยแห่งสังฆมณฑลน็องแตร์ ด้วยความที่เป็นคนสายอนุรักษ์นิยมและรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของพระศาสนจักรอย่างเคร่งครัด ชื่อเสียงของท่านจึงดังไปถึงวาติกันว่าเป็นคนรุ่นใหม่แต่เปี่ยมด้วยความรู้ด้านประเพณีวัฒนธรรมของพระศาสนจักรอย่างล้นเหลือ ที่สำคัญ ท่านเชี่ยวชาญการถวายมิสซาลาตินแบบสุดๆ

ผลงานที่เด่นชัดและพระสันตะปาปาทรงสนใจมากสุด ก็คือ เมื่อวันคริสต์มาสปีที่แล้ว พระสังฆราช นิโกลาส์ โบรว์เวต์ ได้ถวายมิสซาสมโภชพระคริสตสมภพ (มิสซาเที่ยงคืน) ในรูปแบบมิสซาลาตินตามที่พระสันตะปาปาทรงอนุญาต มิสซาดังกล่าวมีสัตบุรุษมาร่วมเกือบหมื่นคน แถมคนที่มาร่วมไม่ได้มีผู้อาวุโสที่เกิดทันมิสซารูปแบบนี้เท่านั้น แต่ยังมีเยาวชนคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่มาร่วมด้วย นอกจากนี้ พระสังฆราชโบรว์เวต์ ยังมีพรสวรรค์ในการจัดกิจกรรมเสริมศรัทธา อาทิ การจาริกแสวงบุญ ในวันสมโภชพระจิตเจ้า ท่านได้รื้อฟื้นประเพณีเดินจาริกแสวงบุญจากกรุงปารีสไปยังเมืองชาร์ตส์ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร (ถ้านึกไม่ออก ก็ขอให้นึกถึง การเดินเท้าจากกรุงเทพฯ – ราชบุรี) งานนี้ มีสัตบุรุษมาร่วมอย่างคับคั่ง เพราะพวกเขาอยากให้ธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ซานโดร มาจิสแตร์ นักข่าวอาวุโสสายวาติกันที่มีคอนเน็กชั่นซึ้ปึ๊กกับบรรดาพระคาร์ดินัลระดับบิ๊กๆในวาติกัน ชี้ว่า เหตุผลแท้จริงของการแต่งตั้งนี้ เกิดจากการที่พระสันตะปาปาต้องการพระสังฆราชที่มีหัวอนุรักษ์นิยมและเคร่งครัดเหมือนกลุ่มเลอแฟ๊บวร์ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็สามารถปรับตัวเข้ากับยุคสมัยได้ (ฝรั่งเศสมีคริสตังที่เคร่งแบบเลอแฟ๊บวร์เยอะ พวกเขาอยากร่วมมิสซาลาติน แต่ไม่ได้ต้องการเข้ากลุ่มเลอแฟ๊บวร์ที่กำลังเตรียมแตกหักกับพระศาสนจักร) เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่เหมาะสมที่สุดในฝรั่งเศสก็คือพระสังฆราช นิโกลาส์ โบรว์เวต์ นั่นเอง

การที่ ลูร์ด ไม่ใช่สังฆมณฑลใหญ่ระดับพระคาร์ดินัลปกครอง แต่การที่พระสันตะปาปาทรงลงมามีส่วนร่วมกับการเลือกพระสังฆราชให้สังฆมณฑลนี้ แสดงให้เห็นว่า ลูร์ดเป็นสังฆมณฑลระดับโลกอย่างแท้จริง การมอบหมายให้ พระสังฆราชโบรว์เวต์ ซึ่งอายุยังไม่ 50 ปี มาทำหน้าที่บริหานั้น แสดงให้เห็นว่า พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ทรงเชื่อมือและเชื่อใจคนหนุ่มท่านนี้แบบสุดๆ ฉะนั้น จากนี้ไปถ้าใครไปแสวงบุญเมืองลูร์ด คงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชวนศรัทธามากยิ่งไปอีกอย่างแน่นอน   .....


พระสังฆราช ลินาส โวโดปยาโนวาส

จบจากการแต่งตั้งพระสังฆราชแห่งเมืองลูร์ด ก็มาถึงอีกหนึ่งการแต่งตั้งพระสังฆราชในวันเดียวกันที่สร้างสถิติใหม่ในพระศาสนจักร เมื่อพระสันตะปาปาทรงแต่งตั้ง “พระสังฆราช ลินาส โวโดปยาโนวาส” วัย 38 ปี ให้เป็นพระสังฆราชผู้ช่วยแห่งสังฆมณฑลเตลเชย์ ประเทศลิธัวเนีย พระสังฆราชองค์นี้สังกัดคณะฟรานซิสกัน ท่านเกิดวันที่ 8 มิถุนายน 1973 จากนั้น รับศีลบวชเป็นสงฆ์วันที่ 15 กรกฏาคม 2000 (บวชอายุ 27 ปี) ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2012

... สถิติดังกล่าว ทำให้ตอนนี้ ท่านเป็นพระสังฆราชคาทอลิกที่อายุน้อยที่สุดในโลกที่ยังมีชีวิตอยู่นั่นเองครับ


AVE   MARIA


Comments