หลายสัปดาห์ก่อน ผมเคยเขียนบนเฟซบุ๊คโป๊ปรีพอร์ตเกี่ยวกับเรื่องแม่พระประจักษ์ที่พระศาสนจักรคาทอลิกให้การรับรอง ปรากฏว่า มีผู้ให้ความสนใจเยอะพอสมควร ผมเห็นว่า มันคงเป็นประโยชน์มากขึ้นถ้านำมาถ่ายทอดลงบนหน้ากระดาษฟาติมาสาร เพื่อช่วยให้ทุกคนได้รู้ว่า แม่พระประจักษ์ที่ไหนบ้างที่พระศาสนจักรรับรองแบบเป็นทางการ ก่อนลงลึกถึงรายละเอียด ขออธิบายว่า พระศาสนจักรคาทอลิกรับรองเหตุการณ์แม่พระประจักษ์เป็น 2 ยุค ยุคแรกคือ “ยุคก่อน ค.ศ.1542” นี่เป็นยุคที่สมณกระทรวงหลักความเชื่อยังไม่ถูกสถาปนา (CONGREGATION FOR THE DOCTRINE OF THE FAITH – หน่วยงานบัญญัติศัพท์ไทยเรียก “สมณกระทรวงพระสัจธรรม” แต่ผมขอเรียกสมณกระทรวงหลักความเชื่อ ถ้าเรียกพระสัจธรรม มีหวังคนทั่วไปงงกันทั้งประเทศ เพราะต้องมาตีความอีกว่า “สัจธรรมคืออะไร”) สมณกระทรวงหลักความเชื่อได้รับการแต่งตั้งโดยสมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 3 กระทรวงนี้เปรียบได้กับ “กระทรวงมหาดไทย” ยุคนั้น กระทรวงนี้ถูกตั้งมาเพื่อรับมือกับการแยกตัวออกไปของ “มาร์ติน ลูเธอร์” ส่วนหน้าที่อื่นๆที่สืบมาถึงปัจจุบันก็คือหน้าที่ตรวจสอบความเชื่อและกฏระเบียบต่างๆในพระศาสนจักรไม่ให้ผิดเพี้ยนนั่นเอง ส่วนยุคที่สอง เป็นยุคที่สมณกระทรวงหลักความเชื่อได้รับการสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการ (ค.ศ.1542 – ปัจจุบัน) เวลามีเหตุการณ์แม่พระประจักษ์ตามที่ต่างๆ สภาพระสังฆราชคาทอลิกท้องถิ่นจะส่งเรื่องมาให้หน่วยงานนี้ตรวจสอบ ถ้าทุกอย่างผ่านขั้นตอนที่กำหนด พระสันตะปาปาก็จะประกาศรับรองอย่างเป็นทางการสำหรับยุคก่อนตั้งสมณกระทรวงหลักความเชื่อ (ก่อนค.ศ.1542) พระศาสนจักรคาทอลิกให้การรับรองเหตุการณ์แม่พระประจักษ์ 5 ครั้ง ได้แก่ |
แม่พระแห่งเสาหลัก |
1) แม่พระแห่งเสาหลัก (VIRGEN DEL PILAR) – ใน ค.ศ.39 แม่พระประจักษ์มาหา “นักบุญยาค็อบ อัครสาวก (องค์ใหญ่)” ตอนนั้น นักบุญยาค็อบไปแพร่ธรรมที่เมืองซาราโกซ่า ประเทศสเปน ท่านกำลังท้อแท้มากเพราะมีคนกลับใจน้อยมาก แม่พระประจักษ์มาหาท่านและสัญญาว่า จะเป็นกำลังใจและช่วยเหลือในการประกาศพระวรสาร แม่พระได้มอบ “เสา” หนึ่งต้นให้นักบุญยาค็อบและสั่งให้ท่านสร้างวัดตรงนี้ แม่พระยังได้บอกอีกว่า แม่พระจะเป็นเสาหลักให้กับวัดนี้ตลอดไป |
แม่พระแห่งหิมะ |
2) แม่พระแห่งหิมะ (MADONNA DELLA NEVE) – เรื่องนี้ เกิดในคืนวันที่ 5 สิงหาคมของศตวรรษที่ 5 ช่วงเวลาดังกล่าว หากใครเคยไปกรุงโรม จะรู้ว่ามันเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดของปี แต่ในคืนนั้น พระสันตะปาปาลิเบริอุส ได้เห็นหิมะตก จากนั้นท่านได้เห็นนิมิตแม่พระในเวลาไล่เลี่ยกัน พระสันตะปาปาลิเบริอุสจึงได้สั่งให้สร้างมหาวิหารเพื่อถวายแด่แม่พระตรงจุดนั้น และนับแต่นั้นมา มหาวิหารแห่งนี้ก็มีชื่อว่า “ซานตา มารีอา มาจจอเร่” 1 ใน 4 มหาวิหารเอกของกรุงโรมซึ่งเป็นมหาวิหารของพระสันตะปาปา (หากใครไปกรุงโรมและไม่ได้มาที่นี่ ต้องบอกว่า คุณพลาดแล้วล่ะ) |
แม่พระแห่งวอลซิงแฮม |
3) แม่พระแห่งวอลซิงแฮม (OUR LADY OF WALSINGHAM) – เหตุการณ์นี่เกิดใน ค.ศ.1061 ที่หมู่บ้านวอลซิงแฮม เมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ แม่พระประจักษ์มาหา “ริเชลดิส เด เฟเวอร์เชส” สตรีขุนนางชั้นสูงซึ่งเป็นคริสตศาสนิกชนที่ศรัทธามาก แม่พระสั่งให้ เด เฟเวอร์เชส สร้างพระแท่นถวายมิสซาจุดที่ประจักษ์ อย่างไรก็ตาม ค.ศ.1538 พระเจ้าเฮนรี่ ที่ 8 สั่งให้ทำลายพระแท่นแห่งนี้ หลังจากออกกฏหมายทำลายอารามและโบสถ์คาทอลิกทุกแห่ง (เฮนรี่ ที่ 8 คือคนที่แตกหักกับพระสันตะปาปาเคลเมนต์ เรื่องการแต่งงานใหม่ และตั้งตนเป็นผู้นำเชิร์ช ออฟ อิงแลนด์) ปัจจุบัน แม่พระแห่งวอลซิงแฮม เป็นที่เคารพของทั้งคาทอลิกและแองกลิกันในอังกฤษ โดยคาทอลิกจะทำการฉลองในวันที่ 24 กันยายน ส่วนแองกลิกันฉลองวันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี |
แม่พระัแห่งลูกประคำ |
4) แม่พระแห่งลูกประคำ – ค.ศ.1208 แม่พระประจักษ์มาหา “นักบุญโดมินิก” ในอารามประเทศฝรั่งเศส และนี่คือจุดเริ่มต้นครั้งประวัติศาสตร์ของการสวดสายประคำ เพราะแม่พระได้มอบและสอนวิธีการสวดสายประคำให้กับมนุษยชาติ |
แม่พระแห่งภูเขาคาร์เมล |
5) แม่พระแห่งภูเขาคาร์เมล – ช่วงกลางศตวรรษที่ 13 แม่พระประจักษ์มาหา “นักบุญไซม่อน สต็อก” นักบวชชาวอังกฤษของคณะคาร์เมลไลต์ ซึ่งอยู่ในอารามบนภูเขาคาร์เมล ประเทศอิสราเอล ในการประจักษ์นี้ นักบุญสต็อก ได้วิงวอนแม่พระโปรดอวยพรคณะของตนเป็นพิเศษด้วย จากนั้น แม่พระได้ยื่น “สายจำพวก” ใส่มือของนักบุญสต็อก และตรัสว่า “นี่คือสิ่งพิเศษสำหรับท่าน ใครก็ตามที่สิ้นใจโดยถือสายจำพวกไว้ในมือ เขาก็จะได้รับความรอด” (นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเวลามีคนใกล้เสียชีวิต เราจึงได้เห็นการนำสายจำพวกมาไว้ในมือพวกเขา) ... จากนั้น ในศตวรรษที่ 14 การฉลองแม่พระแห่งภูเขาคาร์เมล จึงเป็นที่แพร่หลายในอังกฤษ โดยจะฉลองวันที่ 17 กรกฏาคมของทุกปี แต่พอศตวรรษที่ 15 การฉลองนี้แพร่หลายมากขึ้นในยุโรป ทำให้มีการย้ายวันฉลองแม่พระแห่งภูเขาคาร์เมล จากวันที่ 17 กรกฏาคม มาเป็นวันที่ 16 กรกฏาคม เพราะชาติต่างๆในยุโรปนั้น ฉลอง “นักบุญอเล็กซิส” ในวันที่ 17 กรกฏาคม นั่นเอง (ป้องกันการซ้ำกัน) ต่อมาเป็นยุคหลัง ค.ศ.1542 พระศาสนจักรคาทอลิกประกาศรับรองการประจักษ์ของแม่พระทั้งหมด 13 ครั้ง แบ่งเป็น วาติกัน (ภายใต้สมณกระทรวงหลักความเชื่อ) รับรอง 10 ครั้ง ส่วนอีก 3 ครั้งเป็นการรับรองจากสังฆมณฑลท้องถิ่น รายชื่อแม่พระประจักษ์ที่วาติกันรับรอง มีดังนี้ |
แม่พระแห่งกัวดาลูเป้ |
1) แม่พระแห่งกัวดาลูเป้ เม็กซิโก – กรณีนี้ เกิดในวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ.1531 แม่พระประจักษ์มาหา “นักบุญฮวน ดีเอโก้” ชาวนาเชื้อสายอินเดียนแดง โดยแม่พระขอให้สร้างอารามบนภูเขาเตเปยัค กระนั้น เมื่อนักบุญดีเอโก้ นำเรื่องนี้ไปแจ้งพระสังฆราชท้องถิ่น แต่พระสังฆราชตอบกลับว่า “ถ้าเป็นแม่พระประจักษ์จริงๆ แม่พระต้องทำอัศจรรย์ให้ท่านเชื่อเพื่อตัดสินใจเรื่องที่เกิด” นักบุญดีเอโก้จึงกลับไปหาแม่พระ และแม่พระบอกกับท่านว่า “จงนำดอกกุหลาบบนภูเขาเตเปยัคใส่ไว้ในเสื้อคลุมและนำไปมอบให้พระสังฆราช เดือนธันวาคมเป็นฤดูหนาวซึ่งดอกไม้จะไม่ผลิบาน แต่เมื่อเจ้าเปิดเสื้อคลุมออก ดอกกุหลาบจะผลิบานและส่งกลิ่นหอมไปทั่ว” เมื่อนักบุญดีเอโก้ทำตามนี้ พระสังฆราชก็มั่นใจว่า นี่เป็นการประจักษ์ของแม่พระจริงๆ ท่านจึงตัดสินใจสร้างมหาวิหารบนนั้น และตั้งแต่นั้นมา มหาวิหารแม่พระแห่งกัวดาลูเป้ ก็เป็นที่โด่งดังไปทั่วโลก ... ปัจจุบัน มหาวิหารแห่งนี้ เป็นมหาวิหารคาทอลิกที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก มหาวิหารนักบุญเปโตร วาติกัน และ มหาวิหารแม่พระแห่งอปาเรชิด้า เมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล ... วาติกันยังไม่รับรองแบบทางการต่อการประจักษ์ที่อปาเรชิด้า (ส่วนคำถามที่ว่า สักการะสถานแม่พระที่มีผู้แสวงบุญไปภาวนามากสุดในโลกอยู่ที่ไหน หลายคนต้องตอบว่า “ลูร์ด” แน่ๆ แต่บอกได้เลยว่าผิด เพราะอันดับหนึ่งของโลกคือมหาวิหารแม่พระแห่งอปาเรชิด้า เมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล อันดับสองคือ ลูร์ด และอันดับสามคือ กัวดาลูเป้ ประเทศเม็กซิโก ส่วนอันดับสี่คือฟาติมา ประเทศโปรตุเกส) |
แม่พระแห่งเลาส์ |
2) แม่พระแห่งเลาส์ ฝรั่งเศส – การประจักษ์นี้กินเวลาถึง 54 ปี ระหว่างค.ศ.1664-1718 แม่พระประจักษ์มาหา “เบเนดิกตา ร็องกูเรล” เด็กเลี้ยงแกะชาวฝรั่งเศสที่เมืองแซงต์ เอเตียง ... หากยังจำกันได้ ช่วงปี 2008 ผมเคยรายงานว่า สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงประกาศรับรองการประจักษ์ที่เลาส์อย่างเป็นทางการ ปัจจุบัน สักการะสถานแห่งเลาส์ มีสัตบุรุษมาภาวนาปีละ 120,000 คน |
แม่พระแห่งเหรียญอัศจรรย์ |
3) แม่พระแห่งเหรียญอัศจรรย์ – แม่พระประจักษ์มาหา “นักบุญแคทเธอรีน ลาบูเร” ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในค.ศ.1830 นักบุญแคทเธอรีนได้เห็นแม่พระประจักษ์มาหลายครั้ง โดยเป็นแม่พระปฏิสนธินิรมลกำลังแผ่มือแจกจ่ายพระหรรษทาน หลังจากการวินิจฉัยโดยพระสังฆราชท้องถิ่นเป็นเวลา 2 ปี พระอัครสังฆมราชแห่งอัครสังฆมณฑลปารีสตัดสินใจสร้างเหรียญเป็นรูปแม่พระผู้ปฏิสนธินิรมลกำลังแจกจ่ายพระหรรษทานให้กับสัตบุรุษ แม่พระบอกกับนักบุญแคทเธอรีนว่า “ใครก็ตามที่สวมเหรียญนี้จะได้รับพระหรรษทานอันอุดม” นอกจากนี้ ในเหรียญดังกล่าว มีตัวอักษร “M” ซึ่งหมายถึงแม่พระ และสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ทรงนำตัวอักษรในเหรียญดังกล่าวไปเป็นตราประจำพระองค์ด้วย .... วันนี้ เนื้อที่มีเท่านี้ ขอเก็บการประจักษ์ที่เหลือไว้เล่าต่อในสัปดาห์หน้านะครับ ...
AVE MARIA
Comments
Post a Comment