ฟาติมาสาร - สิ่งที่น่าจะเกิดก่อนสิ้นยุคโป๊ปเบเนดิกต์ (18 ธ.ค. 2011)

ผมนั่งเขียนบทความนี้ที่เมืองอิสตันบลู ประเทศตุรกี ระหว่างรอ 2 ชั่วโมงเพื่อเปลี่ยนเครื่องไปเมืองเทล อาวีฟ ประเทศอิสราเอล ผมพยายามหาสัญญาณอินเตอร์เน็ทเพื่อเช็คข่าวพระสันตะปาปาและวาติกัน แต่ไม่มีสัญญาณให้ใช้แบบฟรีๆเลย ดังนั้น วันนี้ขอเขียนบทความที่เกิดจากมุมมองของตัวเองแบบเพียวๆให้ติดตามก็แล้วกัน



 
บทความในวันนี้ไม่ได้นำข่าวประเด็นสำคัญมาถ่ายทอดให้ฟัง แต่ผมอยากวิเคราะห์สิ่งที่น่าจะเกิดในปีหน้า (2012) และปีต่อๆไปในสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 สิ่งเหล่านี้ ผมใช้ประสบการณ์การตามทำข่าวพระสันตะปาปาองค์นี้ตั้งแต่วันแรกที่ได้รับเลือกจนถึงปัจจุบัน มาเป็นพื้นฐานวิเคราะห์ ผมค่อนข้างมั่นใจว่า เรื่องทั้งหมดนี้ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ต้องการทำให้สำเร็จลุล่วงให้เร็วที่สุดในสมณสมัยของพระองค์

เรื่องแรกที่น่าจะเกิดแน่ๆในยุคของพระสันตะปาปาองค์นี้ ก็คือ “การพบกันของผู้นำพระศาสนจักรคาทอลิกกับผู้นำพระศาสนจักรออโธด็อกซ์แห่งมอสโก” นับตั้งแต่ขัดแย้งกันมา 1,000 กว่าปี ผู้นำพระศาสนจักรตะวันตก (พระสันตะปาปา) กับ ผู้นำพระศาสนจักรตะวันออก (พระอัยกาแห่งมอสโก) ก็ไม่เคยพบหน้ากันอีกเลย ยิ่งไปกว่านั้น ความสัมพันธ์ตกต่ำแบบสุดในช่วงปี 2000 เมื่อ “พระอัยกาอเล็กเซย์ ที่ 2” (สิ้นใจแล้ว) ออกมาตำหนิสมเด็จพระสันตะปาป จอห์น ปอล ที่ 2 อย่างรุนแรงว่าเป็น “โจรขโมยลูกแกะ” เพราะไม่พอใจที่พระสันตะปาปาสถาปนาสังฆมณฑลคาทอลิกเพิ่มขึ้นในประเทศรัสเชีย ผลที่ตามมาก็คือชาวออโธด็อกซ์บางส่วนเปลี่ยนมาเป็นคาทอลิก

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์สองฝ่ายเริ่มดีขึ้นในสมณสมัยของพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 เนื่องจาก “พระอัยกาคีริล” ผู้นำออโธด็อกซ์มอสโกคนใหม่ เป็นคณะทำงานคริสตศาสนสัมพันธ์กับคาทอลิกมาก่อน ท่านมีโอกาสมาวาติกันเป็นประจำ นอกจากนี้ ยังรู้จักมักคุ้นกับ “พระคาร์ดินัล โยเซฟ รัตซิงเกอร์” (พระสันตะปาปาองค์ปัจจุบัน) มาก่อนด้วย หลายฝ่ายคาดว่า อีกไม่นานเกินรอ ผู้นำพระศาสนจักรทั้งสองจะได้พบกันแบบซึ่งๆหน้าแน่นอน เพราะนี่คือความปรารถนาที่พระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 เคยฝันไว้ แต่ทำไม่สำเร็จ ดังนั้น พระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ต้องสานต่อให้ได้

เรื่องต่อไปคือ “ความสัมพันธ์การทูตวาติกัน-จีน” นี่เป็นอีกหนึ่ง “ฝันค้าง” ตั้งแต่สมณสมัยพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 พระองค์อยากมาเยือนเมืองจีนมากๆ แต่รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนไม่ต้อนรับ เพราะกลัวว่าพระสันตะปาปาจะมาปลุกคนจีนให้ล้มล้างระบอบคอมมิวนิสต์ แม้ตอนนี้ พระสันตะปาปาจะชื่อเบเนดิกต์ แต่ความยากของงานนี้ยังเหมือนเดิม หนำซ้ำ อาจจะแย่กว่าเดิม เนื่องจากพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ออกมาตำหนิรัฐบาลจีนเสมอๆที่แทรกแซงพระศาสนจักรคาทอลิกจีน และเบียดเบียนเสรีภาพในการนับถือศาสนา ฉะนั้น ผมเชื่อว่า พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ไม่น่ามีโอกาสได้เสด็จเยือนเมืองจีนค่อนข้างแน่ 

เรื่องต่อมาที่พระสันตะปาปายกเป็นปัญหาเร่งด่วนต้องแก้ไข ก็คือ “ปัญหาสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศ” ผมมั่นใจปี 2012 จะเป็นปีที่พวกสงฆ์ผิดวินัยจะดำเนินชีวิตในเครื่องแบบสงฆ์ได้ลำบากมาก พระสันตะปาปาทรงส่งสัญญาณเอาจริงกับการแก้ปัญหามาตั้งแต่เกิดคดีสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศในไอร์แลนด์ เหตุการณ์ในครั้งนั้นร้ายแรงถึงขั้นรัฐบาลไอริชสั่งปิดสำนักงานสถานทูตประจำวาติกันไปเลย (แต่พูดแบบรักษาน้ำใจว่า “เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย”) พระสันตะปาปาตระหนักดีว่า ทุกอย่างเกิดจากการร่วมกันปกปิดความผิดตั้งแต่ระดับรากหญ้า พระสงฆ์ช่วยกันปิดข่าว ดังนั้น ยิ่งช่วยพวกพ้องปกปิดความผิด การจัดการยิ่งต้องเด็ดขาดขึ้นไปอีก ตัวอย่างชัดเจนคือการล่วงละเมิดทางเพศในอารามเบเนดิกติน กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ งานนั้น พระสันตะปาปาสั่งว่า สมาชิกในอารามต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาสอบสวน วาติกันไม่แทรกแซง แต่จะให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม เพราะพระศาสนจักรคาทอลิกต้องโปร่งใส (TRANSPARENCY) ทีนี้ เราต้องมาดูว่า ก่อนจะหมดสมณสมัยของพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 พระศาสนจักรคาทอลิกจะโปร่งใสและตรวจสอบได้ตามเจตนารมณ์ของพระองค์หรือไม่

เรื่องสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศ มีคนบอกผมว่าให้เชื่อและวางใจใน “พระญาณสอดส่องของพระเจ้า” (DIVINE PROVIDENCE) ต่อให้สงฆ์ผู้กระทำผิดจะปกปิดเรื่องร้ายๆไว้อย่างไร พระญาณสอดส่องของพระเจ้าก็จะทำงานให้ความจริงปรากฏในที่สุด แม้มันอาจต้องใช้เวลานาน 30-40 ปีก็ตาม หลายคนกลัวว่า พระศาสนจักรคาทอลิกจะล่มสลายเพราะปัญหาสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศ แต่ผมมั่นใจว่า พระศาสนจักรคาทอลิกไม่ล่มสลายแน่นอน เพราะพระเยซูทรงตั้งขึ้นและทรงเป็นเสาหลักด้วยพระองค์เอง ในประวัติศาสตร์ พระศาสนจักรเจอยุคมืดที่เกิดจากคนของตัวเองมาหลายครั้ง แต่เราก็ผ่านมาได้แม้จะเจ็บปวดหัวใจและเสียศรัทธาไปมากก็ตาม ทุกครั้ง พระเจ้ามีแผนการของพระองค์อยู่เสมอ สำคัญสุด คริสตังต้องวางใจและศรัทธาในพระเจ้าให้มากๆ อย่าศรัทธาในศาสนาเพราะความเลื่อมใสตัวบุคคล แต่จงศรัทธาเพราะคำสอนของพระเยซูคริสต์    

สิ่งต่อไปที่น่าจะเกิดคือ “การปฏิรูปพิธีกรรมให้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น” พิธีกรรมนี้ไม่ได้รวมแค่มิสซาหรือบทสวดเท่านั้น แต่รวมไปถึงศิลปะศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ อาทิ บทเพลงและสถาปัตยกรรมการตกแต่งโบสถ์ เดือนที่แล้ว มีข่าวจากวาติกันออกมาว่า พระสันตะปาปเตรียมตั้งสมณสภาศิลปะศักดิ์สิทธิ์ หน่วยงานนี้จะมีหน้าที่รับผิดชอบ “การตรวจแบบโครงสร้างการตกแต่งโบสถ์ที่ถูกสร้างใหม่” สาเหตุที่พระสันตะปาปามีแนวคิดนี้เพราะช่วงหลังมีโบสถ์คาทอลิกสร้างใหม่เยอะมาก แต่มีน้อยมากที่สร้างถูกหลักเกณฑ์พระศาสนจักร ตัวอย่างที่ดังไปทั่วโลกคือสังฆมณฑลออเร้นจ์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้เงินหลายพันล้านบาทไปประมูล “อาสนวิหารคริสตัล” (เป็นอาสนวิหารของโปรเตสตันท์ รูปทรงแก้วคริสตัลอลังการ) แล้วได้ไปครอบครอง สาเหตุที่อาสนวิหารนี้ถูกประมูลเพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบโบสถ์นี้ถูกฟ้องร้องล้มละลาย คาทอลิกจึงเข้าไปประมูลมาเป็นทรัพย์สินตนเอง แต่พระสันตะปาปาไม่ปลื้มกับเรื่องนี้ เพราะเป็นการใช้เงินไม่คุ้มค่า ที่สำคัญ รูปทรงของอาคารนี้ ออกไปทางสำนักงานออฟฟิศมากกว่าจะเป็นโบสถ์สรรเสริญพระเจ้า และนี่จึงเป็นที่มาของพระดำริจัดตั้งทีมงานรับผิดชอบการตรวจสอบแบบของการสร้างโบสถ์คาทอลิก  

สิ่งต่อไปที่น่าจะเกิดคือ “การฟื้นฟูความเชื่อในยุโรปให้กลับมาอีกครั้ง” พูดกันตรงๆ ตอนนี้ ยุโรปเป็นทวีปที่คริสตังมีความเชื่ออ่อนแอมากๆ คนจำนวนมากประกาศตนไม่มีศาสนา พระสันตะปาปาวางแผนแก้ปัญหาด้วยการตั้งสมณสภาเพื่อการประกาศพระวรสารใหม่ เพื่อฟื้นฟูการแพร่ธรรมและความเชื่อคาทอลิกในยุโรปให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง งานนี้ น่าจะมีการ “นำเข้า” ธรรมทูตจากเอเชียและแอฟริกาเข้าไปช่วยแพร่ธรรมในยุโรป แต่ไม่รู้จะแก้ปัญหาได้ไหม เพราะปัญหาความเชื่อตกต่ำคงใช้เวลานานหลายปีในการฟื้นฟู เหมือนกับเศรษฐกิจยุโรปที่อีกนานกว่าจะฟื้นตัวได้อีกครั้ง    

สุดท้าย “การปลุกมโนธรรมแยกแยะความดี ความชั่ว” นี่เป็นสิ่งที่พระสันตะปาปาประกาศทุกปี พระองค์ทรงมองว่า ตอนนี้ มนุษย์มีปัญหาในการแยกแยะความดี ความชั่ว และเรื่องถูกผิด คนจำนวนมากมอง “ความชั่ว” เป็นเรื่องหยวนๆ โกงบ้างก็ไม่เป็นไร แต่อย่าทำให้เราเดือดร้อนก็แล้วกัน ปัญหาเหล่านี้ลุกลามไปทั่วโลก เราต้องดูว่า พระศาสนจักรจะมีวิธีปลุกมโนธรรมในจิตใจสัตบุรุษอย่างไร เพราะนี่เป็นหนึ่งในความท้าทายที่รอการแก้ไขอย่างแท้จริง

ทั้งหมดก็เป็นมุมมองที่เกิดจากประสบการณ์การติดตามพระสันตะปาปาองค์นี้ มาตั้งแต่วันแรกที่ได้รับเลือกจนถึงปัจจุบัน ... ผมเริ่มเขียนบทความที่ตุรกีในวันอาทิตย์ที่ 11 ธ.ค. 2011 แต่ขณะที่ทุกคนอ่านฟาติมาสารฉบับนี้อยู่ ผมน่าจะกลับถึงเมืองไทยเรียบร้อยแล้วครับ (กลับถึง 16 ธ.ค. 2011)


AVE   MARIA




Comments