ฟาติมาสาร - คุณสมบัติของพระสังฆราชที่ดี (11 ธ.ค. 2011)

ขณะที่ท่านกำลังอ่านบทความนี้ (ถ้าอ่านวันอาทิตย์ที่ 11 ธ.ค.) ตัวผมเองก็น่าจะอยู่ที่ประเทศอิสราเอลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังกลับจากสวีเดนในเดือนพฤศจิกายน 2010 ผมก็ไม่ได้ออกนอกประเทศอีกเลย หนึ่งปีให้หลัง ได้เวลาออกเดินทางอีกครั้ง แถมการไปครั้งนี้ต้องไปเมืองที่คนไทยส่วนมากไม่เคยได้ยินมาก่อนด้วย หวังว่า จะเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่น่าจดจำ   ...


เฮอร์ซลีย่า ประเทศอิสราเอล

พูดถึงอิสราเอล คริสตังส่วนมากจะนึกถึง “เยรูซาเล็ม” นครศักดิ์สิทธิ์ของ 3 ศาสนา (ยิว-คริสต์-อิสลาม) นอกจากนี้ อาจมีบ้างที่รู้จักเมืองอื่นๆเช่น เทล ฮาลวีฟ, ไฮฟา, กาลิลี, นาซาเร็ธ, เบ็ธเลเฮม และเยรีโฮ (สองเมืองหลังอยู่ในเขตปาเลสไตน์ และมีประวัติศาสตร์ทางพระคัมภีร์ เฉพาะอย่างยิ่ง เยรีโฮ นี่คือเมืองที่พระเยซูทำอัศจรรย์รักษาคนตาบอด 2 คน และเป็นเมืองที่พระเยซูพบกับ “ศักเคียส” คนเก็บภาษีผู้ร่ำรวยซึ่งทูลพระเยซูว่า “ถ้าผมไปโกงใครมา ผมจะคืนของให้คนนั้น 4 เท่า” ... ชื่อที่ถูกต้องของเมืองนี้คือ “เยรีโฮ” ไม่ใช่ “เยรีโค” แบบที่คนไทยเรียกกัน) 

ส่วนเมืองที่ผมจะไปนั้น ชื่อว่า “เฮอร์ซลีย่า” (HERZLIYA) เป็นเมืองธุรกิจและท่องเที่ยวของอิสราเอลซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ผมจะอยู่ที่นี่ประมาณหนึ่งอาทิตย์แล้วถึงกลับเมืองไทย ใจจริง ผมอยากจะลองหาเวลาแวบไปกรุงเยรูซาเล็ม เพราะใช้เวลาเดินทางไม่นาน ประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ตารางอบรมที่ผมได้รับจากบริษัทอัดแน่นทุกวัน คิดว่าคงจะไม่ได้ไปเยือนแน่ๆ น่าเสียดายมากเพราะมาถึงอิสราเอลแล้ว แต่ไม่ได้ไปเยือนสถานที่สำคัญทางคริสตศาสนาเลย

นอกเรื่องมานาน เข้าเรื่องดีกว่า ... ผมมีโอกาสได้อ่านบทสัมภาษณ์สั้นๆของ “พระคาร์ดินัล มาร์ก อวยเล็ต” ประธานสมณกระทรวงเพื่อพระสังฆราช หน่วยงานสำคัญของวาติกัน หน่วยงานนี้ชื่อบอกอยู่แล้วว่า “เพื่อพระสังฆราช” ดังนั้น หน้าที่สำคัญคงหนีไม่พ้น การแต่งตั้งพระสังฆราชใหม่นั่นเอง


พระคาร์ดินัล มาร์ก อวยเล็ต

ทุกวันนี้  หนึ่งในหน้าที่ที่พระคาร์ดินัลอวยเล็ตจะต้องทำก็คือรับเอกสารจากสมณทูตวาติกันทั่วโลกซึ่งจะส่งรายชื่อสงฆ์ผู้มีศักยภาพพอที่จะเป็นพระสังฆราชองค์ใหม่ในประเทศนั้นๆ จากนั้น พระคาร์ดินัลอวยเล็ตจะนำรายชื่อเหล่านี้เข้าที่ประชุมของสมณกระทรวงเพื่อพระสังฆราช เพื่อลงมติว่า ผู้ที่ถูกเสนอชื่อ มีประวัติใสสะอาดทั้งด้านความเชื่อและชีวิตสงฆ์หรือไม่ พอได้ชื่อที่เหมาะสมแล้ว พระคาร์ดินัลอวยเล็ตจะทำเรื่องไปยังสำนักพระสันตะปาปา เพื่อขอเข้าเฝ้าฯและให้พระองค์ลงนามอนุมัติชื่อนั้น และกำหนดวันเวลาเพื่อประกาศแก่สาธารณชนอย่างเป็นทางการถึงการแต่งตั้งพระสังฆราชองค์ใหม่

นี่คืองานหลักๆของพระคาร์ดินัลชาวแคนาดาผู้นี้ ทีนี้ เรามาดูบทสัมภาษณ์ท่านกันบ้าง พระคาร์ดินัลอวยเล็ตจะบอกเล่าความรู้สึกและหลักในการคัดเลือกพระสังฆราชองค์ใหม่ให้เราทราบ (พระคาร์ดินัลอวยเล็ตเป็นหนึ่งในทีมงานที่พระสันตะปาปาวางใจและสนิทสุด ท่านเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาทุกสัปดาห์เพื่อเสนอรายชื่อพระสังฆราชใหม่)

พระคาร์ดินัลอวยเล็ต เผยว่า สิ่งที่ทำให้ท่านลำบากใจสุดหลังทำหน้าที่นี้มาครบ 1 ปีคือสงฆ์ที่ได้รับการพิจารณาให้เป็นพระสังฆราชองค์ใหม่ มักจะปฏิเสธการรับโอกาสสำคัญนี้ โดยท่านกล่าวว่า “สิ่งที่เกิดบ่อยสุดก็คือสงฆ์ที่ถูกเสนอชื่อเป็นพระสังฆราช ส่วนมากจะปฏิเสธไม่ขอรับตำแหน่ง สาเหตุสำคัญที่ทำให้พวกเขาปฏิเสธการได้รับเลือกเป็นพระสังฆราชองค์ใหม่ เพราะกลัวตัวเองไม่เข้มแข็งพอที่จะรับมือกับความกดดันและปัญหายุ่งยากมากมายที่ต้องเข้าไปสะสาง เฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศซึ่งเป็นความอัปยศที่สุดของพระศาสนจักรคาทอลิก” 

ไม่น่าเชื่อว่า ปัญหาสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศจะทำให้บรรดา “สงฆ์ตัวเก็งอนาคตสังฆราช” ถึงกับออกอาการ “แหยง” ไม่อยากมารับผิดชอบแก้ปัญหาเหล่านี้ เพราะเมื่อรับหน้าที่แล้ว สิ่งที่ต้องทำไม่ใช่แก้ปัญหาเท่านั้น แต่พระสังฆราชทุกองค์ยังต้องพร้อมรับมือการตรวจสอบจากสื่อมวลชนตัวจริงที่จ้องอยู่แล้วว่า ท่านเหล่านั้นจะเลือกนิ่งเฉย หรือกระตืนรือร้นรู้ว่า อะไรดี อะไรชั่ว และจะจัดการหรือไม่ หากพระสังฆราชเลือกจะเมินเฉย ก็บอกได้เลยว่า ให้ดูตัวอย่างจากพวกคาทอลิกในอเมริกาและยุโรป เฉพาะอย่างยิ่งในไอร์แลนด์ให้ดีๆ  สัตบุรุษพร้อมจะทำหน้าที่ “คริสตังที่ดี” ออกมากดดันและปกป้องความถูกต้องให้กับพระศาสนจักรคาทอลิกที่พระเยซูทรงตั้งขึ้นตลอดเวลา แม้จะต้องแลกด้วยความเจ็บปวดทางจิตใจก็ตาม

ในเมื่อปัญหาสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศเป็นปัญหาระดับโลกที่สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 ต้องการกำจัดให้หมดไป บรรดาผู้ปกครองในพระศาสนจักรไล่ตั้งแต่ระดับโลกไปจนถึงระดับท้องถิ่นต่างๆ จะต้องมี “ดีเอ็นเอ” (DNA) ที่คล้ายๆกับพระสันตะปาปาองค์นี้ นั่นคือ รักความถูกต้องและกล้าออกมาขอโทษสัตบุรุษ ถ้าสงฆ์ภายใต้การปกครองของตนทำผิดร้ายแรง

พระคาร์ดินัลอวยเล็ตได้พูดถึงลักษณะของพระสังฆราชที่ดี 3 ประการ ซึ่งท่านและสมณกระทรวงเพื่อพระสังฆราช จะใช้พิจารณาเวลาเลือกพระสังฆราชองค์ใหม่ คุณสมบัติที่ว่า ได้แก่   ...

1) ต้องเป็น “นักเทวศาสตร์” (THEOLOGIAN) นี่เป็นคุณสมบัติตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะพระสังฆราชต้องเป็นผู้รู้จริงทางความเชื่อ ไม่ใช่ ถามอะไรแล้ว ตอบแบบมั่วๆซั่วๆ นอกจากนี้ พระสังฆราชจะต้องเป็นผู้ร้อนรนในการประกาศพระวรสารและพระนามของพระเยซู พระสันตะปาปาคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในสังฆมณฑลต่างๆ พระสังฆราชจะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นหนึ่งในคนที่สัตบุรุษจะพูดอย่างภาคภูมิใจเสมอว่า “พระสังฆราชของเรา จริงจังกับการแพร่ธรรมมากๆ”

2) ต้องเป็น “ผู้ขอโทษ” (APOLOGIST) อย่างที่บอกไป ยุคนี้ สงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นเยอะมาก แทบทุกสังฆมณฑลทั่วโลกก็ว่าได้ ในเมื่อพระสันตะปาปาทรงแสดงตนเป็นแบบอย่างในการกล่าวขอโทษคริสตังที่ตกเป็นเหยื่อของสงฆ์แตกแถว พระสังฆราชก็ต้องกล้าออกมาขอโทษสัตบุรุษ ไม่ใช่ปกป้องพวกพ้องของตน

3) ต้องเป็น “ผู้ปกป้องความเชื่อในที่สาธารณะ” (PUBLIC DEFENDER OF FAITH) พระคาร์ดินัลอวยเล็ต บอกว่า ข้อนี้เป็นคุณสมบัติที่เพิ่งได้รับการบรรจุแบบสดๆร้อนๆ เนื่องจากสมัยนี้ มีปัญหาและคำถามมากมายที่ท้าทายความเชื่อคาทอลิก อาทิ การทำแท้ง และการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ปัญหาแบบนี้ พระสันตะปาปาเรียกร้องให้พระสังฆราชคาทอลิกทั่วโลก กล้าออกมาประกาศให้ชัดไปเลยว่า พระศาสนจักรคาทอลิกไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง พระสังฆราชต้องไม่เก็บตัวเงียบ เพราะกลัวว่า ถ้าพูดไปแล้ว จะถูกสังคมเล่นงาน

... หวังว่า คุณสมบัติที่ “พระคาร์ดินัล มาร์ก อวยเล็ต” เล่าให้ฟังนั้น จะมีอยู่ครบในบรรดาพระสังฆราชคาทอลิกไทยทุกองค์ เพื่อจะได้ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระสันตะปาปาในการทำให้พระศาสนจักรคาทอลิกที่พระเยซูทรงตั้งขึ้น เปี่ยมด้วยความศักดิ์สิทธิ์สูงสุด เหมือนที่ “บุญราศี จอห์น ปอล ที่ 2” และ สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงสอนเราเสมอว่า “จงอย่ากลัวที่จะดำเนินชีวิตเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ จงอย่ากลัวที่จะเป็นนักบุญประจำสหัสวรรษนี้”


AVE   MARIA


Comments