ฟาติมาสาร - เรื่องควรรู้เกี่ยวกับพระสันตะปาปา (4 ธ.ค. 2011)

เดือนที่แล้ว “ลอสแซร์วาตอเร่ โรมาโน่” หนังสือพิมพ์ประจำนครรัฐวาติกัน ได้เชิญพระคาร์ดินัลและพระสังฆราชผู้บริหารสมณกระทรวงและสมณสภาต่างๆในสันตะสำนัก รวมถึงเหล่า “วาติกานิสต้า” (VATICANISTA – นักข่าวสายวาติกัน) ชื่อดังหลายคน มาร่วมงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “ความเข้าใจผิดๆ ระหว่างพระศาสนจักรคาทอลิกกับสื่อมวลชน” ... ผมเห็นว่า รายละเอียดการประชุมน่าสนใจดี จึงขอนำมาแบ่งปันกัน  


รัชกาลที่ 5 เสด็จเยี่ยมพระสันตะปาปา เลโอ ที่ 13 (ภาพนี้ ถ่ายในสถานทูตวาติกันประจำประเทศไทย)


การประชุมนี้ จัดตามแนวคิดของ “โจวานนี่ เวียน” ผู้อำนวยการลอสแซร์วาตอเร่ โรมาโน่ โอกาสฉลอง 150 ปีการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ เนื้อหาในงานเริ่มด้วยการเล่าประวัติศาสตร์ระหว่างพระสันตะปาปากับสื่อมวลชนว่า สมเด็จพระสันตะปาปา เลโอ ที่ 13 (สมณสมัยค.ศ.1878-1903) ทรงเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกในประวัติศาสตร์ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแบบเป็นทางการ โดยพระองค์ทรงให้สัมภาษณ์กับ “เลอ ฟิเกโร” หนังสือพิมพ์ชื่อดังของฝรั่งเศสในประเด็นเกี่ยวกับลัทธิเกลียดชังชาวยิวที่เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆในสมัยนั้น (การสัมภาษณ์เกิดใน ค.ศ.1892) ... พระสันตะปาปา เลโอ ที่ 13 มีสถิติน่าสนใจหลายอย่าง พระองค์ทรงเป็นพระสันตะปาปาที่ “อายุยืน” มากสุดในพระศาสนจักร โดยสิ้นพระชนม์ขณะ 93 ชันษา นอกจากนี้ พระสันตะปาปา เลโอ ที่ 13 ทรงเป็นพระสันตะปาปาที่ปกครองพระศาสนจักรคาทอลิกยาวนานเป็นอันดับ 3 (สมณสมัย 25 ปี 150 วัน) รองจาก “นักบุญเปโตร” (นักประวัติศาสตร์คาดว่า สมณสมัยของนักบุญเปโตรอยู่ที่ 34 ปี) และ สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ซึ่งมีสมณสมัย 26 ปี 168 วัน

ถัดจากสมณสมัยของพระสันตะปาปา เลโอ ที่ 13 พระสันตะปาปาองค์ต่อไปที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนได้แก่ สมเด็จพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 11 (สมณสมัย ค.ศ.1922-1939), สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 (สมณสมัย ค.ศ.1963-1978), สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 (สมณสมัย ค.ศ.1978-2005) และสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 (สมณสมัย ค.ศ.2005-ปัจจุบัน)

ในการสัมมนา มีการพูดถึงประวัติความสัมพันธ์ระหว่างพระสันตะปาปากับสื่อมวลชน นับตั้งแต่วันที่สมเด็จพระสันตะปาปา เลโอ ที่ 13 ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายเป็นไปด้วยดี จนมาถึง ค.ศ.1968 สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ทรงออกสมณสาส์น “ชีวิตมนุษย์” (HUMNAE VITAE) ซึ่งเนื้อหาหลักๆว่าด้วยการคัดค้านการทำแท้งและการคุมกำเนิด ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายก็เปลี่ยนไป เพราะสื่อมวลชนมองว่าพระสันตะปาปามีมุมมองขวางโลก พวกเขาจึงเริ่มเสนอข่าวเชิงต่อต้านจนทำให้คนมองพระศาสนจักรคาทอลิกในแง่ลบ ตั้งแต่นั้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างพระสันตะปาปากับสื่อมวลชนจึงไม่ค่อยราบรื่นเท่าที่ควร (สมณสาส์นนี้ออกค.ศ.1968 ช่วงดังกล่าว โลกกำลังสนใจการควบคุมจำนวนประชากร หลายประเทศเริ่มมีความคิดให้แต่ละครอบครัวมีลูกแค่ 1 คน ถ้ามีลูกเกิน 1 คน อาจผิดกฏหมาย หลายบ้านจึงหาทางออกด้วยการทำแท้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่พระศาสนจักรต่อต้านอย่างหนัก) 

ศาสตราจารย์ ลูเช็ตต้า สคาราฟเฟีย นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัย ลา ซาปิเอ็นซ่า กรุงโรม เล่าถึงการสิ้นสุดความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระสันตะปาปากับสื่อมวลชนว่า “จริงๆแล้ว สื่อมวลชนเริ่มวิจารณ์พระศาสนจักร ตั้งแต่ตอนที่สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 เรียกประชุมสังคยานาวาติกัน ครั้งที่ 2 เพราะพวกเขายังรับไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลงในพระศาสนจักรแบบฉับพลัน แต่ตอนนั้น คนทั่วไปมองว่า สังคยานาวาติกัน ครั้งที่ 2 เป็นเรื่องเทวศาสตร์ มันไม่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตหาเลี้ยงปากท้องของพวกเขา คนจึงไม่ต่อต้านแบบแรงๆ กระทั่ง พระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ออกสมณสาส์นชีวิตมนุษย์ การวิจารณ์พระศาสนจักรคาทอลิกจึงถูกจุดขึ้น เรียกว่าสิ้นสุดเวลาฮันนีมูนระหว่างพระสันตะปาปากับสื่อมวลชนแบบเป็นทางการก็ว่าได้ ตอนนั้น โลกตะวันตกเกิดความกลัวว่าประชากรจะล้นโลก พวกเขาจึงคิดหาวิธีควบคุมประชากร แต่พอพระสันตะปาปาออกมาตำหนิการคุมกำเนิดและการทำแท้ง ผู้นำประเทศต่างๆรวมถึงประชาชนจึงไม่พอใจ เพราะมันกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจในครอบครัวพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”


“หากติดตามความเคลื่อนไหวแบบใกล้ชิด จะพบว่า พระสันตะปาปาที่ปกครองต่อจากพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ต่างยืนยันความคิดต่อต้านการคุมกำเนิดและการทำแท้ง พระสันตะปาปาทุกองค์มองว่า การคุมกำเนิดคือการเปิดช่องว่างให้ชายหญิงที่มองเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องสนุกชั่วข้ามคืน มันไม่ใช่เพศสัมพันธ์ที่เกิดจากความรักของคู่สามีภรรยา สิ่งนี้ขัดต่อคำสอนของพระศาสนจักรที่ให้รักและซื่อสัตย์ต่อสามีภรรยาของตนแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คำสอนเรื่องนี้ กลายเป็นการสวนกระแสโลกตะวันตกที่มองว่า การมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ใช่คู่สามีภรรยาของตน เป็นเรื่องปกติ เมื่อเป็นเช่นนี้ สื่อมวลชนจึงจุดชนวนต่อต้านพระสันตะปาปาทุกครั้งที่พระองค์ต่อต้านการคุมกำเนิด”

เรื่องการคุมกำเนิด ผู้ร่วมการสัมมนาต่างลงความเห็นว่าพระศาสนจักรกับสื่อมวลชน “มองกันคนละมุม” พระศาสนจักรยึดศีลธรรมเป็นที่ตั้ง ส่วนสื่อมวลชนมองกระแสสังคมเป็นที่ตั้ง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดการปะทะทางความคิดตลอดเวลา และไม่ง่ายเลยหากจะหาความสมดุลให้กับประเด็นนี้

อีกหนึ่งประเด็นน่าสนใจจากการสัมมนาก็คือ “จะทำอย่างไรให้พระสันตะปาปาที่ปกครองต่อจากสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ได้รับการยอมรับจากผู้คน เพราะปัญหาตอนนี้คือทุกคนต่างเชื่อฝังใจว่า พระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 เป็นพระสันตะปาปาที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์”

เรื่องนี้ โจวานนี่ เวียน ผู้อำนวยการลอสแซร์วาตอเร่ โรมาโน่ ให้มุมมองว่า “ไม่มีวันที่จะแก้ปัญหานี้ได้แน่นอน ยิ่งเป็นพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ยิ่งยากขึ้นไปอีก พระสันตะปาปาองค์ปัจจุบันทรงวางตัวเงียบมาก พระองค์ทรงเป็นคนขี้อายสุดๆจึงไม่ชอบตกเป็นเป้าความสนใจจากทุกคน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เวลาพิธีการต่างๆ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์จะวางตัวตามขั้นตอนเป๊ะๆ เราจึงไม่เห็นพระองค์เดินออกนอกขบวนแห่ไปทักทายเด็กๆเหมือนสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 เราต้องเข้าใจความสามารถในการยืนอยู่ต่อหน้าฝูงชนเยอะๆของเราแต่ละคนว่ามันต่างกัน สมมติให้เรายืนพูดต่อหน้าคนประมาณ 10,000 คน คนแรกพูดเสร็จแล้ว อาจมีการพูดทักทายผู้ฟังนอกเหนือจากหัวข้อที่ได้รับ แต่คนที่สองนั้น เมื่อพูดจบ เขาอาจเดินลงจากเวทีเลย ไม่มีการทักทายหยอกล้อใดๆทั้งสิ้น เพราะว่าเขาเขินอายและประหม่าเวลาอยู่ต่อหน้าคนเยอะๆ เราจะเห็นได้ว่า พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ทรงมีบุคลิกแบบคนที่สอง มันจึงเป็นเรื่องยากที่จะเห็นพระองค์หยอกล้อกับฝูงชนและสร้างความเป็นกันเองเพื่อซื้อใจพวกเขา”


“อย่างไรก็ตาม ถึงพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบันจะเป็นคนเงียบๆขี้อาย แต่พอถึงเวลาที่มีเรื่องความถูกต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง พระองค์จะไม่เงียบเหมือนเดิม เพราะหน้าที่ของพระองค์คือการปกป้องความถูกต้องและหลักศีลธรรม ตัวอย่างที่เราเห็นกันคือเรื่องสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ดุดันและขึงขังกับการแก้ปัญหานี้มาก เราจึงได้เห็นสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศหลายคนถูกจับสึกและติดคุกกันแล้ว”

สำหรับตัวผมเอง ผมได้ยินคนพูดเยอะมากว่า “ชอบพระสันตะปาปาองค์ที่แล้วมากกว่าองค์นี้” แต่พอถามกลับไปว่าทำไม คำตอบที่ได้คือ “องค์ก่อนดูใจดีกว่าองค์นี้มาก” ... อืม ตัดสินกันที่หน้าตาและความรู้สึกภายนอกล้วนๆ เรื่องนี้คงไม่สามารถบังคับให้ใครชอบใครได้ แต่ในฐานะที่ผมติดตามทำข่าวพระสันตะปาปาทั้งสองพระองค์มานานเกือบ 10 ปี (ปี 2012 ครบ 10 ปีพอดี) ผมอยากแบ่งปันมุมมองส่วนตัวดังนี้

ผมเชื่อว่าพระจิตทำงานในการเลือกพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 และ เบเนดิกต์ ที่ 16 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากๆ ตอนที่พระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ได้รับเลือก เป็นยุคคอมมิวนิสต์ครองโลก ประชาชนถูกกดขี่ข่มเหงและต้องใช้ชีวิตอย่างแร้นแค้น พวกเขาเฝ้ารออย่างมีความหวังว่า เมื่อไหร่ยุคคอมมิวนิสต์จะสิ้นสุดลงเสียที หนึ่งในสิ่งที่ช่วยให้คนดำเนินชีวิตอย่างมีความหวังคือศาสนา โชคดีที่พระสันตะปาปาที่ได้รับเลือกขึ้นมาช่วงนั้น (จอห์น ปอล ที่ 2) เป็นคนหน้าตายิ้มแย้มใจดี พระองค์เดินทางไปทั่วโลกเพื่อให้กำลังใจทุกคนมีความหวังในการสู้กับระบอบคอมมิวนิสต์ ผลที่ตามมาคือผู้คนมากมายที่อยู่ในอาการเศร้าหมองกลับมามีความหวังความสดใสในการสู้กับสงครามเย็น ที่สุดแล้ว คอมมิวนิสต์ล่มสลาย โดยมีพระสันตะปาปาเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อน

ส่วนยุคนี้ ยุคที่พระศาสนจักรเต็มไปด้วยปัญหาภายในอย่างสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศ มันเหมือนกับโรงเรียนที่มีปัญหาเด็กเกเร ถ้าครูฝ่ายปกครองของโรงเรียน ใจดีมากๆ เด็กก็คงไม่กลัวและคงจะดาหน้าทำผิดไปเรื่อยๆ พระศาสนจักรคาทอลิกในยุคนี้ต้องการผู้นำอย่างพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 นี่แหละ พระองค์ทรงมีบุคลิกของครูฝ่ายปกครองทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการเอาจริงกับการกวาดล้างปัญหาสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศให้หมดไป รวมถึงการนำสงฆ์ที่กระทำผิดไปดำเนินคดีตามกฏหมาย ถ้าเด็กเกเรเจอครูฝ่ายปกครองผู้ดุดันก็คงกลัวไปตามๆกันและคงไม่มีใครกล้าทำผิดอีก ทีนี้ขึ้นอยู่กับว่า พวกสงฆ์ที่ก่อคดีจะถูกนำตัวมาลงโทษได้มากน้อยขนาดไหน

นอกจากนี้ ข้อสงสัยที่ว่า “ทำไมพระสันตะปาปาองค์นี้ ไม่ค่อยเดินทางมาเยี่ยมคริสตังตามประเทศต่างๆเหมือนองค์ที่แล้ว” ... คำตอบคือนอกจากอายุที่มากแล้ว พระสันตะปาปายุคนี้ควรจะนั่งอยู่ที่วาติกันและแก้ปัญหาภายในพระศาสนจักรให้หมดไปจะดีกว่า ลองคิดดูว่า ถ้าปัญหาสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศยังโผล่ออกมาเรื่อยๆ แต่พระสันตะปาปาไม่แก้ปัญหา ตรงกันข้ามเดินทางไปเยี่ยมคริสตังตามประเทศโน้นประเทศนี้บ่อยๆ มันคงดูไม่ดีแน่ๆ นี่จึงเป็นที่มาว่า ทำไมคนทำงานจริงจังในพระศาสนจักรถึงเข้าใจเหตุผลที่พระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ไม่เสด็จเยือนต่างประเทศบ่อยๆเหมือนพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2

... ทั้งหมดก็เป็นบทสรุปจากการสัมมนาที่จัดโดยวาติกัน และรวมถึงความคิดเห็นส่วนตัวที่ผมอยากแบ่งปัน ผมเชื่อว่า บทความในวันนี้ จัดเป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะรับรู้เกี่ยวกับพระสันตะปาปา เพื่อจะได้ไม่เกิดความรู้สึกและความเข้าใจแบบผิดๆอีก


AVE   MARIA



Comments