ฟาติมาสาร - ชุมนุมสุดยอดผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งอัสซีซี (6 พ.ย. 2011)

วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงเชิญผู้แทนศาสนาต่างๆกว่า 100 ท่าน ให้มาร่วมงานจาริกแห่งความจริงและสันติภาพ ซึ่งจัดที่เมืองอัสซีซี ประเทศอิตาลี งานนี้ ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั่วโลก เพราะไม่บ่อยนักที่ผู้แทนศาสนาต่างๆจะมารวมตัวกัน นอกจากนี้ พระสันตะปาปายังเชิญผู้แทนของคนไม่มีศาสนามาร่วมงานด้วย




ก่อนจะพูดถึงรายละเอียด ขอย้ำว่า งานนี้ “ไม่ใช่งานภาวนาเพื่อสันติภาพ” แบบที่หลายคนเข้าใจ เพราะรายละเอียดในงาน ไม่มีการภาวนาร่วมกัน แต่เป็นการให้ผู้แทนศาสนาต่างๆมากล่าวแบ่งปันมุมมองสันติภาพและปฏิญาณร่วมกันว่าจะต่อต้านความรุนแรงทุกชนิด นั่นจึงเป็นที่มาของชื่องานว่า “งานจาริกแห่งความจริงและสันติภาพ” (PILGRIMAGE OF TRUTH, PILGRIMAGE OF PEACE)

เท่าที่ทราบ งานนี้ มีผู้แทน 3 ศาสนาจากประเทศไทยไปร่วมงานด้วย ได้แก่ พระสังฆราช ยอแซฟ ชูศักดิ์ สิริสุทธิ์ (ผู้แทนพระศาสนจักรคาทอลิกไทย), พระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม (ผู้แทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก), แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต และ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ... นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้แทนศาสนาในเมืองไทยให้ความสำคัญกับงานนี้

ในส่วนรายละเอียดงาน เริ่มด้วยพระสันตะปาปาและผู้แทนศาสนาต่างๆ นั่งรถไฟออกจากสถานีวาติกันไปยังสถานีอัสซีซี เพื่อร่วมงานพร้อมกัน เมื่อมาถึงมหาวิหารเมืองอัสซีซี พระสันตะปาปาทรงยืนรอต้อนรับและทักทายผู้แทนศาสนาต่างๆแบบทีละคนและเป็นกันเองมากๆ หากใครติดตามการถ่ายทอดสดทางเว็บไซต์โป๊ปรีพอร์ต (www.popereport.com) จะเห็นว่า พระสงฆ์ของพุทธศาสนาท่าทางสุภาพมากๆ สงฆ์ทุกองค์ยกมือไหว้พระสันตะปาปาแบบสุภาพเรียบร้อยจริงๆ

จากนั้น เมื่อพิธีเริ่มขึ้น ผู้แทนศาสนาต่างๆได้ออกมากล่าวแบ่งปันมุมมองสันติภาพตามหลักความเชื่อของตน อาทิ ...

พระอัยกา บาร์โธโลมิว ที่ 1 ผู้นำพระศาสนจักรออโธด็อกซ์แห่งคอนสแตนติโนเปิ้ล ประเทศตุรกี กล่าวว่า “มันถึงเวลาแล้วที่เราต้องหยุดที่จะใช้ศาสนาเป็นข้ออ้างในการสร้างสงคราม”

อาร์คบิช็อป โรแวน วิลเลี่ยมส์ ผู้นำศาสนจักรเชิร์ช ออฟ อิงแลนด์ กล่าวว่า “สันติภาพแท้จริงจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเรารักศัตรูเหมือนรักตัวเราเอง”

บาทหลวง นอร์แวน คันซาเรี่ยน ผู้นำคริสตชนอาร์เมเนีย กล่าวว่า “คำว่าให้อภัยจะไม่เกิดผล ถ้าเราพูด แต่ไม่ทำ”

ศาสนจารย์ อูลอฟ ฟิคเซ่ เลขาธิการสภาลูเธอรันสากล กล่าวว่า “ลูเธอรันจะทำทุกทางให้เกิดสันติภาพ มันน่าแปลกมากที่ชื่อเมืองหลายแห่งในโลกแปลว่าสันติภาพ แต่เมืองดังกล่าวกลับไม่เคยมีสันติเกิดขึ้นเลย”

รับไบ เดวิด โรเซ่น ผู้อำนวยการของสภาชาวยิวสากล กล่าวว่า “มีคำกล่าวไว้ว่า สันติภาพแท้จริงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์บนเรือของโนอาห์ ตอนนั้น น้ำท่วมโลก โนอาห์ได้กวาดต้อนสัตว์ทุกชนิดให้เข้าไปหลบภัยหนีน้ำในเรือของท่าน ปรากฏว่า  สัตว์ที่เป็นผู้ล่าและสัตว์ที่เป็นผู้ถูกล่า กลับใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งที่จริงแล้ว พวกมันเกลียดกันอย่างเอาเป็นเอาตาย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดบนเรือโนอาห์ มันเป็นภาวะไม่มีทางเลือก ทุกอย่างต้องสามัคคีกันให้มากที่สุด มิฉะนั้น จะไม่สามารถผ่านพ้นวิกฤติไปได้ ข้าพเจ้าอยากให้โลกเราสามัคคีและมีสันติภาพแบบนั้น แต่ไม่อยากให้ทุกอย่างต้องเกิดเพราะภาวะจำยอม แต่อยากให้เกิดจากความเข้าใจกันและกัน”

ศาสตราจารย์ วานเด้ อาบิมโบล่า ผู้แทนศาสนา “โยรูบา” ศาสนาท้องถิ่นของชาวไนจีเรีย กล่าวว่า “สันติภาพไม่ได้เกิดเฉพาะเราเคารพมนุษย์เท่านั้น แต่เราต้องเคารพธรรมชาติด้วย เพราะถ้าธรรมชาติถูกทำร้าย มนุษย์ก็จะทำร้ายมนุษย์ด้วยกัน เนื่องจากความเห็นแก่ตัวและการเอาตัวรอดจะปรากฏออกมา”

หลวงพ่อ ชี-ซอง ผู้แทนพุทธศาสนาแห่งเกาหลีใต้ กล่าวว่า “ขึ้นชื่อว่าศาสนา มันย่อมไม่มีที่ว่างให้กับความรุนแรงและการก่อการร้าย นอกจากนี้ ที่ใดมีศาสนา ที่นั่นต้องเรียนรู้ที่จะเคารพชีวิต”

ฮัสยิม มูซาดิ ผู้แทนนักวิชาการมุสลิมจากอินโดนีเชีย กล่าวว่า “ความผิดพลาดร้ายแรงสุดคือการแสวงหาผลประโยชน์ผ่านศาสนา เมื่อใดที่เรานำศาสนามาผูกกับความต้องการส่วนตน เมื่อนั้น สงครามจะบังเกิดอย่างแน่นอน”

ศาสตราจารย์ ยูเลีย คริสเตว่า ผู้แทนกลุ่มไม่เชื่อพระเจ้า (NON-BELIEVERS) ซึ่งได้รับเกียรติสูงสุดจากพระสันตะปาปาให้มาแบ่งปันด้วย เธอกล่าวว่า “สันติภาพจะเกิดได้ ถ้าเราเคารพเพศหญิงซึ่งเป็นเพศแม่ มนุษย์สมัยนี้ก่อสงครามย่อมๆ ด้วยการทำร้ายสตรีที่ไม่มีทางสู้” ... นอกจากจะกล่าวเรื่องสันติภาพแล้ว ยูเลีย ยังไม่ลืมจะกล่าวถึงพระศาสนจักรคาทอลิกในมุมมองคนไม่มีศาสนาว่า “ดิฉันติดตามสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 มานาน และประทับใจคำพูดของพระองค์ที่ว่า จงอย่ากลัว ดิฉันอยากบอกว่า ศาสนาก็อย่ากลัวกระแสโลกและกระแสวัฒนธรรมสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน”

จากนั้น สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงกล่าวบ้าง พระดำรัสของพระสันตะปาปาเป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลกอีกครั้ง เพราะพระองค์ทรงยืดอกยอมรับแบบสุภาพบุรุษว่า “ในฐานะคริสตชน ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวว่า ใช่ มันเป็นความจริงในหน้าประวัติศาสตร์ที่ศาสนาคริสต์เคยกดขี่ข่มเหงผู้อื่นผ่านทางการใช้พระนามของพระเจ้า เรายอมรับว่านี่เป็นความอัปยศอย่างยิ่ง ฉะนั้น ผู้นำคริสตชนทุกคน รวมถึงผู้นำศาสนาต่างๆ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อสอนศาสนิกชนของตนว่า เราต้องทำให้ความเชื่อในพระเจ้าของเราบริสุทธิ์ และต้องให้ความเชื่อนี้เป็นเครื่องมือในการสร้างสันติให้กับโลก”

สื่อมวลชนทั่วโลก ยกย่องพระสันตะปาปาว่า “ใจกว้างและกล้ายอมรับ” พระองค์ “ใจกว้าง” ที่เชิญผู้ไม่มีศาสนามาร่วมงานและให้กล่าวแบ่งปัน การเชิญมาพูดแบบนี้ ต้องถือว่าใจกว้างและใจกล้ามากๆ เพราะเชิญมาแล้ว เราไม่สามารถไปกำหนดว่า เขาต้องพูดเรื่องอะไรและห้ามพูดเรื่องอะไร ถ้าพูดโจมตี ก็ต้องก้มหน้ายอมรับ ส่วนเรื่อง “กล้ายอมรับ” คือการยอมรับความผิดพลาดในอดีตที่พระศาสนจักรคาทอลิกเคยกระทำ นี่คือการแสดงให้เห็นว่า พระสันตะปาปาไม่หนีความจริง อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด และกล้าเผชิญหน้ากับมัน อาทิ คดีสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศที่เราเห็นว่า พระสันตะปาปาไม่ปิดข่าว ตรงกันข้าม เลือกที่จะจัดการลงโทษขั้นเด็ดขาดกับพวกสงฆ์แตกแถวเหล่านั้น

ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นพิธีในช่วงเช้า ช่วงเที่ยง พระสันตะปาปาทรงเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารเที่ยงให้ผู้ร่วมงาน อาหารเป็นแบบง่ายๆ ได้แก่ ข้าวสวยเสิร์ฟพร้อมสลัดผัก และตบท้ายด้วยผลไม้ (อาหารแบบเอาให้ทานได้ทุกศาสนาจริงๆ) ส่วนช่วงบ่าย เป็นเวลาให้ผู้แทนศาสนาต่างๆภาวนาส่วนตัว ก่อนที่ตอนเย็น ทุกคนจะกลับมารวมกันอีกครั้ง เพื่อร่วมจุดเทียนสันติภาพและปล่อยนกพิราบ เป็นอันจบพิธี

งานจาริกแห่งความจริงและสันติภาพ นอกจากจัดเพื่อรำลึก 25 ปีที่ สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 เคยจัดงานขึ้น เรายังได้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนทุกศาสนาที่ต้องการเสริมสร้างสันติภาพให้กับโลก อีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่มาร่วมงาน ยังมีชื่อของ “ราจโมฮาน คานธี” บุตรชายของ “มหาตมา คานธี” อดีตผู้นำและนักการเมืองที่มีชื่อเสียงชาวอินเดียและศาสนาฮินดู ... เมื่อ 25 ปีที่แล้ว เขาได้ติดสอยห้อยตามพ่อของตนเองมาอัสซีซี เพื่อร่วมภาวนากับสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 วันนี้ เขามาอีกครั้งเพื่อเป็นตัวแทนของชาวฮินดูและเป็นตัวแทนของพ่อผู้ล่วงลับนั่นเอง

ในมุมมองของผม งานจาริกแห่งความจริงและสันติภาพ 2011 จัดว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ที่บอกระดับหนึ่งเพราะสื่อทั่วโลกให้ความสนใจทำข่าวกันเยอะ นอกจากนี้ ผู้แทนศาสนาต่างๆก็ตอบรับมาร่วมงานอย่างคับคั่ง แต่ถ้าจะให้ประสบความสำเร็จสูงสุด คงต้องวัดผลกันที่สันติภาพแท้จริงจะเกิดเมื่อไหร่ เพราะนั่นคือเป้าหมายสูงสุดของงานนี้นี่เอง

กล่าวโดยสรุป งานจาริกแห่งความจริงและสันติภาพ ณ เมืองอัสซีซี เปรียบเหมือนการประชุมสุดยอดผู้นำทางจิตวิญญาณระดับโลก ถ้าเรามองว่าการแบ่งปันมุมมองทางสันติภาพเปรียบเหมือนการแสดงวิสัยทัศน์ ผมว่า คริสตังควรจะภูมิใจได้เลยว่า ผู้นำของเรา (พระสันตะปาปา) เป็นคนใจกว้างและสุภาพบุรุษมาก กล้าเชิญกล้ารับฟังคนต่างศาสนาพูดถึงคาทอลิกในมุมของพวกเขาต่อหน้าสาธารณชน และกล้ายอมรับความผิดพลาดของพระศาสนจักรในสมัยก่อน แบบไม่ต้องสร้างภาพว่าเราถูกทุกอย่างนั่นเอง


AVE   MARIA

Comments