ฟาติมาสาร - ครบ 16 ปีกับการมีเด็กช่วยมิสซาผู้หญิง (30 ต.ค. 2011)

ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นิตยสารเยซูอิตในสหรัฐอเมริกาตีพิมพ์บทความน่าสนใจชิ้นหนึ่งชื่อว่า “ปกป้องเด็กช่วยมิสซาผู้หญิง” (SAVE THE ALTAR GIRLS) เนื้อหาภายใน เป็นการเรียกร้องสิทธิให้เด็กผู้หญิงชาวอเมริกันทุกคนที่ “เริ่มจะถูกแบน” จากการเป็นเด็กช่วยมิสซา


เด็กช่วยมิสซาผู้หญิงถือหมวกและไม้เท้าให้พระสันตะปาปา

ตอนนี้ โบสถ์คาทอลิกหลายแห่งในอเมริกา อาทิ โบสถ์ในสังฆมณฑลฟีนิกซ์, แอริโซน่า, ลินคอล์น และ เนบราสก้า เริ่มมีคำสั่งห้ามเด็กผู้หญิงช่วยมิสซา เนื่องจากสงฆ์ชาวอเมริกันบางคนอยากให้เด็กช่วยมิสซาเป็นผู้ชาย เผื่อจะได้ชวนพวกเขาเข้าบ้านเณรเตรียมตัวบวชเป็นสงฆ์ในอนาคต (ในมุมมองของผม นี่เป็นเหตุผลโบราณมาก เพราะผมมั่นใจว่า ถ้าอยากให้เยาวชนเป็นพระสงฆ์ พระสงฆ์นั่นแหละที่ต้องปฏิบัติตัวดีๆ เพื่อเป็นแบบอย่างให้พวกเขาเกิดความประทับใจและอยากดำเนินชีวิตตาม)

ทั้งนี้ “เด็กช่วยมิสซาผู้หญิง” ถือกำเนิดขึ้น “แบบไม่เป็นทางการ” เป็นครั้งแรกในประเทศที่พระศาสนจักรคาทอลิกมีหัวก้าวหน้า อาทิ สหรัฐอเมริกา, เนเธอร์แลนด์, เบลเยียม และ ฝรั่งเศส กระนั้น ไม่มีการบันทึกวันเวลาแบบแน่ชัดว่า เด็กช่วยมิสซาผู้หญิงเกิดขึ้นวันไหนเมื่อไหร่ในประเทศเหล่านี้ รู้เพียงแค่ว่า มันเกิดขึ้นใน ค.ศ.1994 หลังจากมีเสียงเรียกร้องเรื่องความเสมอภาคระหว่างชายและหญิงดังขึ้นเรื่อยๆ วาติกันตัดสินใจศึกษาเอกสารและความถูกต้องตามหลักเทวศาสตร์ ก่อนจะสรุปว่า การเป็นเด็กช่วยมิสซาคือ “การช่วยเหลือและบริการพระสงฆ์ผู้ถวายมิสซา” (SERVICE) ไม่ใช่ “การอภิบาลศีลศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งเป็นหน้าที่เฉพาะสำหรับพระสงฆ์ ดังนั้น เด็กช่วยมิสซาไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กผู้ชายเท่านั้น แต่เด็กผู้หญิงก็สามารถเป็นได้

อย่างไรก็ตาม วันเวลาอย่างเป็นทางการที่พระศาสนจักรคาทอลิกมีเด็กช่วยมิสซาผู้หญิงและได้รับการแพร่ภาพออกไปทั่วโลก เกิดในวันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ.1995 สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ทรงถวายมิสซาระหว่างการเสด็จอภิบาลโบสถ์คาทอลิกในสังฆมณฑลโรม มิสซาดังกล่าว มีเด็กช่วยมิสซาผู้หญิงทั้งหมด 4 คน นับเป็นมิสซาประวัติศาสตร์ในสังฆมณฑลโรม เพราะเป็นครั้งแรกที่ดินแดนศูนย์กลางคาทอลิกมีเด็กช่วยมิสซาเป็นผู้หญิง ผลของมิสซานี้ ทำให้เด็กผู้หญิงคริสตังทั่วโลกมีสิทธิมากขึ้นในการเป็นเด็กช่วยมิสซา เพราะพระสันตะปาปาทรงสนับสนุนพวกเธอให้ทุกคนทั่วโลกได้ประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรมนั่นเอง

กลับมาต่อที่ประเด็นหลายสังฆมณฑลในอเมริกากำลังสั่งห้ามไม่ให้เด็กผู้หญิงเป็นเด็กช่วยมิสซา ตอนนี้ แว่วๆมาว่า มีโบสถ์คาทอลิกกว่า 500 แห่งได้ออกคำสั่งห้ามดังกล่าว กระนั้นก็ดี มันเป็นแค่ส่วนน้อยเท่านั้น เพราะการมีเด็กผู้หญิงเป็นเด็กช่วยมิสซา ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงและต้องกีดกันแต่อย่างใด สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ขนาดขึ้นชื่อว่าเป็นคนหัวอนุรักษ์นิยมขนบประเพณี ยังไม่มีปัญหากับประเด็นนี้เลย ในหลายๆมิสซาที่พระองค์ทรงถวายระหว่างเยือนประเทศต่างๆ เด็กผู้หญิงเป็นเด็กช่วยมิสซาตั้งหลายคน ที่ชัดเจนสุดคือการถวายมิสซาสถาปนา “บุญราศี จอห์น นิวแมน” ในระหว่างการเสด็จเยือนประเทศอังกฤษ เด็กช่วยมิสซาที่ทำหน้าที่ถือหมวกและไม้เท้าของพระสันตะปาปา ยังเป็นเด็กช่วยมิสซาหญิงทั้ง 2 คน ดังนั้น เรื่องห้ามผู้หญิงเป็นเด็กช่วยมิสซาในพระศาสนจักรสากล น่าจะตกลงไป ... ยกเว้น มิสซาจารีตลาติน (จารีตมิสซาก่อนสังคยานาวาติกัน ครั้งที่  2 ซึ่งสงฆ์หันหลังให้สัตบุรุษ) วาติกันย้ำว่า อันนี้ ห้ามผู้หญิงเป็นเด็กช่วยมิสซา เพราะต้องการยึดตามธรรมเนียมปฎิบัติดั้งเดิมก่อนสังคยานาวาติกัน ครั้งที่  2 นั่นเอง

เมื่อมองย้อนกลับมาดูเมืองไทย ถือว่า โชคดีที่เราค่อนข้างเปิดกว้างให้กับเด็กผู้หญิงขึ้นมาเป็นเด็กช่วยมิสซา แม้บางครั้ง มันจะดูขัดหูขัดตา เพราะมันไม่ชิน แต่อย่างน้อย ก็ยังดีที่เมืองไทยให้ความสำคัญกับความเสมอภาคและทำตามพระศาสนจักรสากลนั่นเอง



AVE   MARIA



Comments