ฟาติมาสาร - โอกาสสุดท้ายของกลุ่มเลอแฟ๊บวร์ (25 ก.ย. 2011)

วันพุธที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา สายตาของคนที่ตามข่าวพระศาสนจักรคาทอลิกระดับโลก ต่างจับจ้องไปที่วาติกัน เพราะวันดังกล่าวเป็น “การเจรจาครั้งสุดท้าย” ระหว่างวาติกันกับสมาคมนักบุญปีโอ ที่ 10 (กลุ่มเลอแฟ๊บวร์) การเจรจานี้ ยืดเยื้อมาตั้งแต่ค.ศ.2009 และคาดว่า อีกไม่เกิน 2-3 เดือนต่อจากนี้ จะได้บทสรุปว่า กลุ่มเลอแฟ๊บวร์ จะได้กลับเข้าสู่พระศาสนจักรคาทอลิกแบบเต็มตัวหรือไม่  


มองซินญอร์ แบร์กนาร์ แฟลเลย์ ผู้นำกลุ่มเลอแฟ๊บวร์ เข้าพบพระสันตะปาปา

ก่อนลงลึกถึงรายละเอียด ผมมั่นใจว่า คริสตังไทย 95 เปอร์เซ็นต์ “ไม่เคย” รู้เรื่องความแตกแยกในพระศาสนจักรคาทอลิกระหว่างวาติกันกับกลุ่มเลอแฟ๊บวร์ ดังนั้น ผมขอเล่าเบื้องหลังสักเล็กน้อย เพื่อจะได้เข้าใจและลำดับเหตุการณ์ได้ถูกต้อง

การแตกหักอย่างเป็นทางการระหว่างวาติกันกับกลุ่มเลอแฟ๊บวร์ เกิดใน ค.ศ.1988 (23 ปีที่แล้ว) เมื่อพระสังฆราช มาร์กเซล เลอแฟ๊บวร์ ผู้ก่อตั้งสมาคมนักบุญปีโอ ที่ 10 จัดการอภิเษกสังฆราชใหม่ 4 องค์ โดยไม่ผ่านการอนุมัติจากพระสันตะปาปา การกระทำดังกล่าวถือเป็นการผิดกฏหมายพระศาสนจักรคาทอลิกอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ กลุ่มเลอแฟ๊บวร์ ยังเป็นพวกอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว พวกเขาจะถวายมิสซาจารีตลาติน (สงฆ์หันหลังให้สัตบุรุษ แบบก่อนสังคยานาวาติกัน ครั้งที่ 2) หลายครั้ง พวกเขาออกมาวิจารณ์สังคยานาวาติกัน ครั้งที่ 2 ว่าเป็นสังคยานาที่เกิดจากการดลใจของปีศาจ คำวิจารณ์นี้เป็นการพาดพิงไปยังสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 (ปัจจุบันเป็นบุญราศี) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากพระองค์เป็นคนเรียกประชุมสังคยานานี้เอง ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มเลอแฟ๊บวร์ ยังวิจารณ์พระสันตะปาปาทุกองค์ที่ได้รับเลือกตั้งหลังสังคยานาวาติกัน ครั้งที่ 2 (คนที่โดนกลุ่มเลอแฟ๊บวร์ อัดหนักๆ ได้แก่ สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 และ สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2) 

ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเลอแฟ๊บวร์กับพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 เรียกว่า “มองหน้ากันไม่ติด” ก็ว่าได้ หนึ่งในประเด็นที่กลุ่มเลอแฟ๊บวร์ยังออกมาตำหนิพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 จนถึงทุกวันนี้ ก็คือ “การจัดงานภาวนาเพื่อสันติภาพ” ที่เมืองอัสซีซี ประเทศอิตาลี เมื่อค.ศ.1986 งานดังกล่าว พระสันตะปาปาทรงเชิญผู้นำทุกศาสนามาร่วมภาวนากับพระองค์ หนึ่งในนั้นมี “องค์ดาไลลามะ” ด้วย ... ปีนี้ จะครบรอบ 25 ปีของงานดังกล่าว (1986-2011) พระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงจัดงานดังกล่าวขึ้นอีกครั้งที่เมืองอัสซีซีในวันที่ 27 ตุลาคม และทรงเชิญผู้นำทุกศาสนามาร่วมภาวนาพร้อมพระองค์ (องค์ดาไลลามะ จะมาร่วมอีกครั้ง) ครั้งนี้ กลุ่มเลอแฟ๊บวร์ ยังไม่เลิกวิจารณ์ โดยออกแถลงการณ์ในเว็บไซต์ของตนว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมที่จะไปร่วมภาวนากับศาสนาอื่นๆ (เลอแฟ๊บวร์ มองว่าไม่เหมาะสม เพราะเขายังยึดติดกับแนวทางดั้งเดิมก่อนสังคยานาวาติกัน ครั้งที่ 2 ที่ไม่เน้นศาสนสัมพันธ์ ... พูดง่ายๆ ปิดตัวเอง ไม่สุงสิงกับใคร)

ที่กล่าวมาเป็นการแตกหักอย่างรุนแรงระหว่างวาติกันกับกลุ่มเลอแฟ๊บวร์ กระทั่งวันที่ 24 มกราคม 2009 สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงลงนาม “ยกเลิก” โทษขับไล่สมาคมนักบุญปีโอ ที่ 10 ออกจากพระศาสนจักรคาทอลิก สาเหตุที่พระสันตะปาปาทรงยกเลิกโทษขับไล่นั้น เกิดจาก พระสังฆราช แบร์กนาร์ แฟลเลย์ อธิการกลุ่มเลอแฟ๊บวร์คนปัจจุบัน ได้เขียนจดหมายถึงพระสันตะปาปาเพื่อขอให้พระองค์ยกเลิกโทษขับไล่ เพราะหลังจากถูกขับออกจากพระศาสนจักร กลุ่มเลอแฟ๊บวร์ต้องดำเนินชีวิตอย่างทุกข์ทรมานมาก (ขาดการสนับสนุนหลายอย่าง) ประกอบกับ พระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 เคยประกาศไว้ในวันแรกที่พระองค์ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาว่า “จะทำทุกทางเพื่อให้เกิดความปรองดองในพระศาสนจักรคาทอลิก” เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์จึงตัดสินพระทัยอภัยโทษให้กับกลุ่มเลอแฟ๊บวร์ โดยให้เหตุผลว่า “พระศาสนจักรคาทอลิกแตกแยกมาพอแล้ว ตอนนี้ ถึงเวลาที่เราต้องสร้างเอกภาพในกลุ่มคริสตชนคาทอลิกให้เกิดอย่างจริงจังเสียที” 

กระนั้นก็ดี พระสันตะปาปาทรงยื่นเงื่อนไขว่า พระองค์ทรงอภัยโทษและอนุญาตให้กลุ่มเลอแฟ๊บวร์กลับเข้าสู่พระศาสนจักรคาทอลิกได้ แต่ทั้งนี้ กลุ่มเลอแฟ๊บวร์ไม่มีสิทธิ์ทำงานอภิบาล รวมทั้งบวชสงฆ์ใหม่ ถ้าหากยังไม่ยอมรับอำนาจของสังคยานาวาติกัน ครั้งที่ 2 และยอมรับอำนาจของพระสันตะปาปาทุกองค์หลังสังคยานาดังกล่าว (พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 ต้องการให้กลุ่มเลอแฟ๊บวร์ ยอมรับ-เคารพ-หยุดวิจารณ์ พระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 และ พระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ได้แล้ว)

เงื่อนไขนี้ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ทรงยื่นให้กลุ่มเลอแฟ๊บวร์พิจารณาตั้งแต่ปี 2009 แต่กลุ่มเลอแฟ๊บวร์ ยังไม่ยอมรับง่ายๆ การเจรจาใช้เวลานานถึง 2 ปี จนดูเหมือนว่า พระสันตะปาปาและวาติกัน จะหมดความอดทนกับท่าทีของกลุ่มเลอแฟ๊บวร์ ที่สุดแล้ว วันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา วาติกันได้เรียก พระสังฆราช แบร์กนาร์ แฟลเลย์ อธิการกลุ่มเลอแฟ๊บวร์ มาพบเพื่อหารือกว่า 2 ชั่วโมง ก่อนที่จะยื่น “ข้อเสนอสุดท้าย” ให้กลุ่มเลอแฟ๊บวร์ไปพิจารณาว่าจะยอมรับหรือไม่ ถ้าไม่ยอม ก็จบกันเหมือนเดิม

ในข้อเสนอสุดท้ายที่ พระคาร์ดินัล วิลเลี่ยม เลวาด้า ประธานสมณกระทรวงหลักความเชื่อ ซึ่งเป็นผู้แทนพระสันตะปาปาและวาติกัน ในการเจรจากับ พระสังฆราช แบร์กนาร์ แฟลเลย์ ผู้นำคนปัจจุบันของกลุ่มเลอแฟ๊บวร์นั้น ใจความสำคัญอยู่ที่ ...

“สมาคมนักบุญปีโอ ที่ 10 (กลุ่มเลอแฟ๊บวร์) จะต้องยอมรับข้อความเชื่อหลักๆที่เป็นผลจากสังคยานาวาติกัน ครั้งที่ 2 อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง ข้อความเชื่อหลักๆนี้ ไม่มีสิทธิ์นำไปตีความต่อและไม่สามารถยืดหยุ่นได้ นอกจากนี้ สมาคมนักบุญปีโอ ที่ 10 ต้องยอมรับอำนาจและแสดงความนบนอบต่อพระสันตะปาปาทุกองค์ เฉพาะอย่างยิ่ง พระสันตะปาปาที่ได้รับเลือกหลังสังคยานาวาติกัน ครั้งที่ 2 ถ้าหากสมาคมนักบุญปีโอ ที่ 10 ยอมรับเงื่อนไขที่กล่าวมา สันตะสำนักจะประกาศรับรองสถานะของสมาคมให้ถูกต้องตามกฏหมายพระศาสนจักร โดยสมาคมนักบุญปีโอ ที่ 10 จะได้รับการรับรองสถานะเป็นองค์กรส่วนบุคคล (PERSONAL PRELATURE)”

นี่คือแถลงการณ์จากวาติกันถึงการยื่นคำขาดให้กลุ่มเลอแฟ๊บวร์ไปตัดสินใจ ... ดูรายละเอียดในแถลงการณ์แล้ว คริสตังไทย 99 เปอร์เซ็นต์ ไม่รู้เรื่องแน่นอนว่า “องค์กรส่วนบุคคล” (PERSONAL PRELATURE) คืออะไร

องค์กรส่วนบุคคลเป็นหน่วยงานที่มีการระบุไว้กฏหมายพระศาสนจักรคาทอลิก ลักษณะขององค์กรส่วนบุคคลจะประกอบไปด้วยอธิการเจ้าคณะ (ระดับคาร์ดินัลหรือสังฆราช), สงฆ์, นักบวช และฆราวาสแพร่ธรรม (คณะนักบวชส่วนมาก จะไม่มีสมาชิกหลากหลายถึงเพียงนี้ ทุกคณะจะมีแค่อธิการเจ้าคณะ, สงฆ์, นักบวช แต่ไม่มีฆราวาสแพร่ธรรม ... ที่ไม่มีเพราะ ฆราวาสแพร่ธรรม ต้องถวายคำปฏิญาณตนด้วย) ปัจจุบัน พระศาสนจักรคาทอลิกมีองค์กรส่วนบุคคลเป็น 1 องค์กรเท่านั้น ได้แก่ “โอปุส เดอี” องค์กรชื่อดังจากสเปน (สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ทรงมอบสถานะองค์กรส่วนบุคคุลให้โอปุส เดอี ในปี 1982) ถ้าหากสมาคมนักบุญปีโอ ที่ 10 ยอมรับเงื่อนไขที่วาติกันยื่นให้ เราก็จะได้เห็นพวกเขายกระดับสถานะตัวเองขึ้นเป็นองค์กรส่วนบุคคล อย่างเป็นทางการ

พูดถึงการให้สถานะองค์กรส่วนบุคคล ต้องยอมรับว่า พระสันตะปาปาและวาติกัน “ใจถึงมากๆ” เพราะองค์กรส่วนบุคคลมีสถานะเท่ากับ “สังฆมณฑล” เลยทีเดียว จะต่างกันก็แค่สังฆมณฑลมี “ขอบเขตภูมิศาสตร์จำกัด” (อาทิ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ครอบคลุมกี่จังหวัดก็ว่ากันไป) แต่องค์กรส่วนบุคคล ไม่มีการจำกัดขอบเขต ดังนั้น พวกเขาสามารถดำเนินงานได้ทั่วโลก นอกจากนี้ การได้รับสถานะองค์กรส่วนบุคคล หมายความว่า เวลาเกิดปัญหาใดๆก็ตาม สมาคมนักบุญปีโอ ที่ 10 สามารถเข้าไปปรึกษากับพระสันตะปาปาได้โดยตรง สิ่งนี้ จะต่างจากพวกคณะนักบวชที่มีโครงสร้างสังกัดสมณกระทรวงในวาติกัน (เวลามีปัญหา คณะนักบวชต้องไปปรึกษาพระคาร์ดินัลเจ้ากระทรวงก่อน แล้วค่อยไปถึงพระสันตะปาปา แต่องค์กรส่วนบุคคลเข้าหาพระสันตะปาปาได้เลย)

ในมุมมองของผม คิดว่า กลุ่มเลอแฟ๊บวร์น่าจะต่อรองขอให้ตนเองได้สถานะองค์กรส่วนบุคคล เพราะพวกเขาไม่เป็นมิตรกับหลายฝ่ายในวาติกัน ถ้าจะให้สถานะแค่คณะนักบวช คงเป็นเรื่องยากที่จะพูดกันรู้เรื่อง ส่วนพระสันตะปาปาคงพิจารณาแล้วว่า ถ้าจะให้กลุ่มเลอแฟ๊บวร์ยอมรับเงื่อนไขเหล่านั้น (ซึ่งยากมากที่กลุ่มเลอแฟ๊บวร์จะยอมรับ เพราะมันเป็นสิ่งที่พวกเขาต่อต้านมาตลอด) ก็คงต้องแลกด้วยสิ่งที่พวกเขาต้องการ การได้สถานะองค์กรส่วนบุคคล ถ้าองค์กรได้รับสถานะเป็นกลุ่มที่นบนอบเชื่อฟังพระสันตะปาปา ก็ปกครองง่ายไม่เกิดปัญหา แต่ถ้าคุมไม่ได้ เรื่องปวดหัวจะตามมาเพียบ

... 23 ปีแห่งความแตกหักอย่างรุนแรง วาติกันกับกลุ่มเลอแฟ๊บวร์จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ต้องติดตามกันต่อ งานนี้ วาติกันไม่ได้กำหนดเดดไลน์ว่าจะต้องให้คำตอบเมื่อไหร่ แค่บีบอ้อมๆว่า ถ้าจะให้ดี 2-3 เดือน ก็ควรจะได้คำตอบแล้ว เท่ากับว่าไม่น่าจะเกินสิ้นปี เราคงจะทราบอย่างเป็นทางการว่า ข้อเสนอสุดท้ายกับโอกาสสุดท้ายของสมาคมนักบุญปีโอ ที่ 10 ที่จะได้กลับมาเป็นหนึ่งเดียวกับพระศาสนจักรคาทอลิกนั้น จะเกิดขึ้นจริง หรือจะเป็นคู่ขนานต่อไป ...


AVE   MARIA



Comments