ฟาติมาสาร - ว่าที่พระสันตะปาปาองค์ต่อไป ?? (10 ก.ค. 2011)

สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากการครบรอบ 60 ปีชีวิตสงฆ์ของสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ข่าวดังที่สุดในวงการคาทอลิกระดับโลก ได้แก่ ข่าวพระสันตะปาปาทรงแต่งตั้ง “พระคาร์ดินัล อันเจโล่ สโคล่า” ให้เป็นพระอัครสังฆราชคนใหม่ของอัครสังฆมณฑลมิลาน ประเทศอิตาลี

พระคาร์ดินัล อันเจโล่ สโคล่า ขณะรับเสด็จพระสันตะปาปา

ข่าวนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนต่างประเทศ อาทิ บีบีซี, ซีเอ็นเอ็น, รอยเตอร์ส และ เอพี อย่างล้นหลาม ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คำตอบคือ 99 เปอร์เซ็นต์ของพระอัครสังฆราชแห่งมิลาน (ส่วนมากเป็นพระคาร์ดินัล) จะเป็น “ตัวเก็งโดยอัตโนมัติ” ที่จะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาองค์ต่อไปนั่นเอง

ไม่ต้องมองอื่นไกล ในรอบ 111 ปีที่ผ่านมา (นับตั้งแต่ ค.ศ.1900) มีพระอัครสังฆราชจากมิลาน 2 องค์ ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา นั่นคือ สมเด็จพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 11 (ค.ศ.1922) และ สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 (ค.ศ.1963) นอกจากนี้ มิลานยังเป็นหนึ่งในอัครสังฆมณฑลที่มีความซับซ้อนและมีความสำคัญสุดในโลก กล่าวคือ มิลานมีคริสตังประมาณ 5 ล้านคน (ถือว่าเยอะมากๆ) นอกจากนี้ อัครสังฆมณฑลมิลานยังมี “จารีตมิสซา” เป็นของตัวเอง นั่นคือ “จารีตอัมโบรซีอาโน่” (ใช้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 สมัย “นักบุญอัมโบรส” เป็นพระอัครสังฆราชปกครองมิลาน) ซึ่งต่างจากจารีตโรมันแบบที่พระศาสนจักรแห่งกรุงโรมและทั่วโลกใช้กัน

หลายท่านคงงงว่า จารีตอัมโบรซีอาโน่ คืออะไร ... ก่อนสังคยานาวาติกัน ที่ 2 พระศาสนจักรคาทอลิกมีจารีตมิสซาสำคัญๆอยู่ 4 แบบ ได้แก่ จารีตลาติน (ใช้ในที่กรุงโรมและประเทศต่างๆ) จารีตอัมโบรซีอาโน่ (ใช้ในอัครสังฆมณฑลมิลาน) จารีตโมซาราบิค (ใช้ในสเปน) และ จารีตตะวันออก (ใช้ในตะวันออกกลางและอินเดีย) พอมีการสังคยานาวาติกัน ที่ 2 จารีตพิธีในพระศาสนจักรคาทอลิกถูกประกาศให้ใช้ “จารีตโรมัน” (แบบที่ใช้กันในทุกวันนี้)

บทความนี้ พูดถึงพระอัครสังฆราชแห่งมิลาน ดังนั้น เราจะมาดูความแตกต่างระหว่าง “จารีตอัมโบรซีอาโน่” กับ “จารีตโรมัน” กันเล็กน้อย นั่นคือ

1) จารีตอัมโบรซีอาโน่ จะมอบสันติสุขแก่กัน ในช่วงเริ่มต้นมิสซา (ตามคำสอนของพระเยซูที่ว่า “จงไปคืนดีกันก่อนจะมานมัสการพระเจ้า”) ขณะที่จารีตโรมัน เราจะมอบสันติสุขก่อนการรับศีลมหาสนิท

2) จารีตอัมโบรซีอาโน่ จะสวดบทภาวนาเพื่อมวลชน หลังจากพระสงฆ์เทศน์จบ ส่วนบทยืนยันความเชื่อ จะสวดหลังพระสงฆ์รับของถวาย แต่จารีตโรมันจะกลับกัน หลังพระสงฆ์เทศน์จบ จะเป็นบทยืนยันความเชื่อและบทภาวนาเพื่อมวลชน

3) จารีตอัมโบรซีอาโน่ จะไม่สวดบท “ลูกแกะพระเจ้า ผู้พลีพระชนม์เพื่อยกบาปของโลก” แต่จารีตโรมัน จะมีการสวดบทนี้

4) เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าของจารีตอัมโบรเซียโน่ มี 6 สัปดาห์ แต่จารีตโรมัน มี 4 สัปดาห์

นี่เป็นความต่างคร่าวๆ จะเห็นได้ว่า มิลานเป็นอัครสังฆมณฑลที่มี “เอกลักษณ์” และ “มรดกล้ำค่า” มากมาย มิลานเป็นเมืองที่ผลิตนักบุญชื่อดังของพระศาสนจักรมากมายหลายองค์ อาทิ นักบุญอัมโบรส, นักบุญคาร์โล บอร์โรเมโอ (ภาษาอังกฤษคือ “ชาร์ลส์ บอร์โรเมโอ” ซึ่งเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2) นอกจากนี้ มิลานยังเป็นอัครสังฆมณฑลที่เก็บรักษา “ภาพวาดการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย” (THE LAST SUPPER) ด้วย

ในส่วนขององค์กรฆราวาส ว่ากันว่า ฆราวาสมิลาน “มีพลังเข้มแข็ง” มากสุดในพระศาสนจักรคาทอลิก องค์กรฆราวาสของมิลานที่ดังที่สุดคือ “กลุ่มเอกภาพและความเสมอภาค” (COMUNIONE E LIBERAZIONE) องค์กรนี้ขับเคลื่อนด้วยพลังฆราวาส 95 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นพระสงฆ์และนักบวชชายหญิง องค์กรนี้มีสมาชิกกระจายใน 80 ประเทศทั่วโลก พระศาสนจักรให้การสนับสนุนองค์กรนี้มากๆ ตัวอย่างชัดเจนคือ กลุ่มแม่บ้านที่ทำงานรับใช้ในวังพระสันตะปาปา ก็เป็นสมาชิกขององค์กรนี้นี่เอง

นี่คือภาพคร่าวๆของอัครสังฆมณฑลมิลาน จะเห็นว่า มองไปทางไหนก็สำคัญทุกด้าน การปกครองคริสตังกว่า 5 ล้านคน ไม่ต่างจากการบริหารประเทศใดประเทศหนึ่ง (คริสตังเมืองมิลาน มีจำนวนเท่ากับประชากรสิงคโปร์ทั้งประเทศ) สงฆ์คาทอลิกในมิลานมีประมาณ 1,000 องค์ หากผู้นำพระศาสนจักรบริหารผิดพลาดไม่ชอบมาพากล มีสิทธิ์สูงที่จะถูกพลังฆราวาสต่อต้านได้ง่ายๆ (“กลุ่มเอกภาพและความเสมอภาค” พร้อมตรวจสอบการทำงานของพระอัครสังฆราชและพระสงฆ์อยู่ตลอดเวลา)

สำหรับเบื้องหลังการเลือกพระอัครสังฆราชของมิลาน สื่อต่างประเทศให้ความสนใจกันอย่างมาก ตามปกติ เวลาพระสันตะปาปาแต่งตั้งพระสังฆราชปกครองสังฆมณฑล คณะพระคาร์ดินัลจะประชุมสรรหาผู้เหมาะสม แล้วเสนอชื่อให้พระสันตะปาปาลงนามแต่งตั้ง แต่กรณีของอัครสังฆมณฑลมิลาน พระสันตะปาปาไม่เลือกรายชื่อที่ถูกเสนอเข้ามา เพราะพระองค์ทรงมีรายชื่อคนๆนั้นอยู่ในใจแล้ว นั่นคือ พระคาร์ดินัล อันเจโล่ สโคล่า ประมุขแห่งอัครสังฆมณฑลเวเนเซีย (เวนิส)  

สาเหตุที่พระสันตะปาปาทรงเจาะจงเลือกพระคาร์ดินัลสโคล่า มีการวิเคราะห์สาเหตุหลักๆ ดังนี้

1) พระคาร์ดินัลสโคล่า เป็นชาวมิลานโดยกำเนิด ที่สำคัญ สมัยเป็นวัยรุ่น พระคาร์ดินัลสโคล่า เป็นสมาชิกกลุ่มเอกภาพและความเสมอภาค ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การบริหารงานอัครสังฆมณฑลมิลานเป็นไปอย่างราบรื่น (การทำงานในอัครสังฆมณฑลมิลาน พระอัครสังฆราชและพระสงฆ์ต้องรับฟังเสียงฆราวาสแบบสุดๆ)

2) พระคาร์ดินัลสโคล่า ทำงานร่วมกับพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 มาตั้งแต่ ค.ศ.1972 (ตอนนั้น พระคาร์ดินัลสโคล่า เพิ่งบวชเป็นสงฆ์ได้ 2 ปี ส่วนพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ยังเป็นสงฆ์เหมือนกัน) การร่วมงานกันมานานถึง 39 ปี เพียงพอที่จะทำให้พระสันตะปาปามั่นใจว่า คนนี้แหละที่มีแนวคิดเหมือนตน กล่าวคือมีแนวคิดปกป้องความเชื่อและคำสอนดั้งเดิมของพระศาสนจักร เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะอดีตผู้ปกครองอัครสังฆมณฑลมิลานอย่าง “พระคาร์ดินัล คาร์โล มารีอา มาร์ตินี่” (ปกครองระหว่าง ค.ศ.1980-2002) มีแนวคิดเสรีนิยมเกินไป ทำให้เกิดความขัดแย้งพอสมควรในกลุ่มคริสตังมิลาน แนวคิดแปลกๆของพระคาร์ดินัลมาร์ตินี่ ได้แก่ “การสนับสนุนให้ผู้ป่วยระยะสุดท้าย สามารถทำการุณยฆาตตนเอง” (คนป่วยที่ดูแล้วสิ้นใจแน่ๆ สามารถปฏิเสธการรักษาจากแพทย์ได้ ... สิ่งนี้ ขัดกับหลักคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกสิ้นเชิง) และ “การสนับสนุนให้ผู้หญิงบวชเป็นสังฆานุกรได้”  

3) พระคาร์ดินัลสโคล่า มีความสามารถในการใช้เครื่องมือสื่อสารในการแพร่ธรรม ... ระหว่างการเป็นประมุขอัครสังฆมณฑลเวเนเซีย พระคาร์ดินัลสโคล่าเป็นผู้จัดทำนิตยสาร “โอเอซิส” นิตยสารศาสนสัมพันธ์ 5 ภาษา ได้แก่ อิตาเลี่ยน, อังกฤษ, อาระบิค, เปอร์เซีย และ อูรดู (พูดในอินเดีย) นิตยสารฉบับนี้ มีบทบาทสำคัญในยุโรปฝั่งตะวันออก, แอฟริกาเหนือ และเอเชียใต้ เพราะพื้นที่ที่กล่าวมานี้ มีความซับซ้อนทางศาสนาค่อนข้างมาก เนื่องจากชาวคริสต์คาทอลิก, คริสต์ออโธด็อกซ์, มุสลิม และฮินดู อาศัยร่วมกันเยอะมาก พระสันตะปาปาจึงมองว่า ผู้ที่จะเป็นพระสันตะปาปาในอนาคต ต้องมีความสามารถในการสร้างศาสนสัมพันธ์กับศาสนาต่างๆได้ ดังนั้น พระคาร์ดินัล อันเจโล่ สโคล่า เป็นหนึ่งในผู้มีความสามารถที่น่าจะ “ฉายแวว” รับผิดชอบภาระอันหนักอึ้งนี้ได้ (นอกจากนี้ พระคาร์ดินัลสโคล่า ยังเป็นคนที่ใช้ “นิว มีเดีย” แพร่ธรรม ท่านมีทั้ง เว็บไซต์ส่วนตัว www.angeloscola.it และทวิตเตอร์ @angeloscola เพื่อเป็นช่องทางติดต่อสัตบุรุษ)    

ทั้งหมดคือเหตุผลหลักๆที่สื่อต่างประเทศวิเคราะห์ว่า ทำไมพระสันตะปาปาถึงเชื่อมั่นในตัวพระคาร์ดินัลสโคล่า ถึงขนาดนี้ แต่ไหนแต่ไรมา เมื่อถึงการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ชื่อของพระอัครสังฆราชแห่งมิลาน จะปรากฏขึ้นมาเป็นตัวเต็ง 1 ใน 3 อยู่เสมอ (เป็นอย่างนี้ทุกครั้ง) และการเลือกตั้งพระสันตะปาปาครั้งต่อไป ชื่อของ “พระคาร์ดินัล อันเจโล่ สโคล่า” ก็คงจะติดโผด้วยเช่นกัน เพราะอายุของท่าน 69 ปีเท่านั้น ซึ่งยังถือว่าหนุ่มมากกับคนที่ดำรงสมณศักดิ์พระคาร์ดินัล ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาองค์ต่อไป   ...... 


AVE MARIA

Comments