ฟาติมาสาร - 29 มิถุนายน ครบ 60 ปีชีวิตสงฆ์ของโป๊ปเบเนดิกต์ (26 มิ.ย. 2011)

วันที่ 29 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญของพระศาสนจักรคาทอลิก เพราะนี่คือวันสมโภชนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล สองกำลังหลักในการประกาศคริสตศาสนายุคแรกเริ่ม นอกจากนี้ ยังเป็นวันที่พระสันตะปาปาจะมอบ “ปัลลิอุม” (ผ้าขนแกะไว้สวมที่คอ) ให้กับพระอัครสังฆราชใหม่ทุกองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งในรอบปีที่ผ่านมา นี่คือสองสิ่งหลักที่พระศาสนจักรจะทำในวันที่ 29 มิถุนายนของทุกปี

การ์ดวันบวชพระสงฆ์ของ "โยเซฟ รัตซิงเกอร์" วันที่ 29 มิ.ย. 1951


อย่างไรก็ตาม ปีนี้ วันที่ 29 มิถุนายน ทวีความสำคัญขึ้นไปอีก เมื่อเป็นวันครบ 60 ปี “ชีวิตสงฆ์” ของสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ประมุของค์ที่ 265 แห่งพระศาสนจักรคาทอลิก

โยเซฟ รัตซิงเกอร์ (พระสันตะปาปาเบเนดิกต์) ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ.1951 ณ อาสนวิหารเมืองไฟร์ซิ่ง ประเทศเยอรมนี โดยประธานในพิธีบวช ได้แก่ พระคาร์ดินัล มิชาเอล โฟน ฟอลฮาแบร์ ความพิเศษในพิธีบวชวันนั้นคือ “2 พี่น้องรัตซิงเกอร์” เกยอร์ก (พี่ชาย) และ โยเซฟ ต่างได้รับศีลบวชพร้อมกัน ดังนั้น ถ้าจะพูดให้ถูกต้อง วันพุธที่ 29 มิถุนายนที่จะถึงนี้ เป็นวันครบรอบ 60 ปีชีวิตสงฆ์ของพี่น้องรัตซิงเกอร์นั่นเอง (ปัจจุบัน มองซินญอร์ เกยอร์ก รัตซิงเกอร์ เป็นสงฆ์เกษียณอายุในอัครสังฆมณฑลมิวนิคและไฟร์ซิ่ง ประเทศเยอรมนี)

สำหรับกิจกรรมพิเศษโอกาสครบรอบ 60 ปีชีวิตสงฆ์ของพระสันตะปาปา วาติกันได้เชิญชวนสังฆมณฑลต่างๆทั่วโลก จัดกิจกรรมเฝ้าศีลมหาสนิท 60 ชั่วโมง พิธีดังกล่าว อาจจะจัดแบบ 60 ชั่วโมงติดต่อกัน หรือไม่ติดต่อกันก็ได้ (แต่ขอให้นำชั่วโมงที่จัด มารวมกันให้ได้ 60 ชั่วโมง) ทั้งนี้ เพื่อเป็นถวายเกียรติแด่พระเจ้า และเป็นคำภาวนาเพื่อพระสันตะปาปาผู้มีแนวคิดปฏิรูปพระศาสนจักรให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ปีนี้ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ทรงพระชนมายุ 84 ชันษา ส่วนชีวิตสงฆ์แตะหลัก 60 ปี แสดงว่า พระองค์บวชเป็นพระสงฆ์ตั้งแต่อายุ 24 ปี กว่าครึ่งชีวิตอุทิศให้กับการรับใช้พระเจ้าและพระศาสนจักร หลายท่านที่ติดตามบทความของผมเป็นประจำ น่าจะทราบดีถึงพันธกิจของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ แต่ทุกสิ่งที่ท่านทราบ เป็นผลงานตั้งแต่เป็นพระสันตะปาปา ไม่ใช่ผลงานสมัยเป็นพระสงฆ์ พระสังฆราช และพระคาร์ดินัล

ก่อนจะกล่าวถึงผลงานสมัยก่อนดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา ผมขอเล่าลำดับวันเวลาชีวิตสงฆ์ของพระสันตะปาปาสักหน่อย ถ้าจะพูดกันจริงๆ ชีวิตการเป็น “พระสังฆราช” ของ “โยเซฟ รัตซิงเกอร์” ถือว่าสั้นๆมาก เพราะท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอัครสังฆราชเพียง 30 วันเท่านั้น จากนั้น สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ก็สถาปนา พระอัครสังฆราช โยเซฟ รัตซิงเกอร์ เป็นพระคาร์ดินัลทันที (การได้รับแต่งตั้งเร็วขนาดนี้ น่าจะเป็นเครื่องหมายหรือสัญญาณบางอย่าง ซึ่งบ่งชี้ว่า บุคคลคนนี้ จะต้องรับหน้าที่สำคัญในอนาคต)

ลำดับเวลาของชีวิตสงฆ์ของ สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16

29 มิถุนายน 1951: รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ โดยพระคาร์ดินัล มิชาเอล โฟน ฟอลฮาแบร์

28 พฤษภาคม 1977: รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราช โดย พระสังฆราช โยเซฟ สตานเกิ้ล

27 มิถุนายน 1977: รับการสถาปนาเป็นพระคาร์ดินัล โดย สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6

19 เมษายน 2005: ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา   

จะเห็นได้ว่า ช่วงเวลาการทำหน้าที่พระสังฆราช สั้นมากๆ ส่วนใหญ่จะหนักทางการทำงานในสมณศักดิ์พระคาร์ดินัลมากกว่า

วกกลับมาที่ผลงานสำคัญก่อนได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปากันต่อ ... ผลงานสำคัญสุด น่าจะหนีไม่พ้น “ความลับข้อที่ 3 ของแม่พระฟาติมา” ผมมั่นใจว่า หลายคนไม่น่าจะทราบว่า บุคคลสำคัญสุดในการศึกษาความลับข้อที่ 3 ของฟาติมา ก็คือ พระคาร์ดินัล โยเซฟ รัตซิงเกอร์ ทุกข้อความที่ สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ทรงประกาศเกี่ยวกับความลับแห่งแม่พระฟาติมา ล้วนมาจากมันสมองและการทำงานวิชาการอย่างหนักของพระคาร์ดินัลรัตซิงเกอร์ (ความลับข้อที่ 3 คือพระสังฆราชในชุดขาวจะถูกยิง) 

อีกเรื่องที่หลายคนไม่ทราบเช่นกัน พระดำรัสที่เกี่ยวกับข้อความเชื่อและจุดยืนของพระศาสนจักร ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ตรัสในสมณสมัยของพระองค์ ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ มาจากพระคาร์ดินัลรัตซิงเกอร์ (จะเขียนเป็นโครงร่างไว้ แล้วพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 นำไปปรับแต่งอีกเล็กน้อย) ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจที่แนวทางบริหารพระศาสนจักรของพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 และ พระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ดูคล้ายกันมาก เพราะทั้งสองทำงานร่วมกันมานานถึง 24 ปี โดยพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 จะมีหน้าที่เป็น “คนเบื้องหน้า” ส่วนพระคาร์ดินัลรัตซิงเกอร์ (พระสันตะปาปาเบเนดิกต์) จะเป็นคนเบื้องหลัง เป็น “มันสมอง” ในการคิดวิเคราะห์ทุกอย่างให้นั่นเอง

... 25 ปีชีวิตสงฆ์ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า THE SILVER JUBILEE OF PRIESTHOOD (การฉลองชีวิตสงฆ์แบบเหรียญเงิน) ส่วน 50 ปีชีวิตสงฆ์ เรียกว่า THE GOLDEN JUBILEE OF PRIESTHOOD (การฉลองชีวิตสงฆ์แบบเหรียญทอง) แต่สำหรับ 60 ปีชีวิตสงฆ์ ไม่มีคำบัญญัติไว้ กระนั้น มันไม่สำคัญ เพราะสิ่งสำคัญกว่าคือการขอบคุณพระที่ประทานพระสันตะปาปาดีๆให้กับเรา นอกจากนี้ ผมค่อนข้างมั่นใจว่า สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 จะมีโอกาสฉลอง 70 ปีชีวิตสงฆ์ ด้วยซ้ำ เพราะพระพลานามัยของพระองค์ แข็งแรงเหลือเกิน  



AVE   MARIA

Comments