ฟาติมาสาร - นักบวช หรือ นักธุรกิจ (19 มิ.ย. 2011)

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา ช่วงที่สัตบุรุษวัดแม่พระฟาติมากำลังร่วมมิสซาแห่แม่พระ สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงเรียกประชุมคณะพระคาร์ดินัลและพระอัครสังฆราชระดับสูงในวาติกัน โดยรายละเอียดของการประชุมนั้น ไม่มีการเปิดเผยแต่อย่างใด



อย่างไรก็ตาม นักข่าวสายวาติกันทราบดีว่า การไม่เปิดเผยรายละเอียดคือความผิดปกติที่ชวนให้ค้นหาว่า รายละเอียดการประชุมคืออะไรบ้าง เพราะตามปกติ เวลาพระสันตะปาปาพบและประชุมกับใคร วาติกันจะแถลงทุกครั้ง ถ้าพระสันตะปาปาเรียกประชุมและไม่มีการแถลงรายละเอียด ให้สันนิษฐานว่า ต้องเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับแนวทางการบริหารพระศาสนจักรแน่ๆ ครั้งสุดท้ายที่มีการประชุมและไม่มีการแถลงรายละเอียด เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2010 ผลที่เกิดหลังจากนั้นคือ พระสันตะปาปาทรงสถาปนา “สมณสภาประกาศพระวรสารใหม่” (THE PONTIFICAL COUNCIL FOR NEW EVANGELIZATION) โดยสมณสภานี้ มีหน้าที่แพร่ธรรมให้คนยุโรปและอเมริกันที่ทิ้งพระ กลับใจมาหาพระองค์อีกครั้ง

กลับมาที่การประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา แม้วาติกันไม่แถลงรายละเอียด แต่ “อันเดรีย ตอร์นิเอลลี่” นักข่าวสายวาติกันมือวางอันดับ 1 ของโลก (ผมนำเสนอชื่อคนนี้ไปหลายครั้ง คงไม่ต้องบอกซ้ำว่า เขาเจ๋งเพียงใด) ได้ไปสืบข้อมูลจากคนวงใน มารายงานให้ทราบว่า การประชุมดังกล่าวมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ “การดำเนินชีวิตของนักบวชคณะต่างๆ”

ก่อนลงรายละเอียด ขออธิบายให้เข้าใจกันก่อนเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง “พระสงฆ์” กับ “นักบวช” ... พระสงฆ์หมายถึงพระสงฆ์สังกัดสังฆมณฑล อาทิ คุณพ่อของวัดแม่พระฟาติมา เรียกว่าพระสงฆ์ ส่วนคุณพ่อของซาเลเซียน, เยซูอิต, มหาไถ่ หรือ บราเดอร์คณะเซ็นต์คาเบรียล เราจัดเป็นนักบวช อีกหนึ่งความแตกต่างคือ นักบวชต้องอยู่ร่วมกันเป็น “หมู่คณะ” (อยู่ร่วมกันหลายคน) กล่าวคือต้องมีการสวดภาวนาร่วมมิสซาร่วมกัน ทานอาหารร่วมกัน เป็นต้น 

กลับมาเนื้อหากันต่อ ... วันนั้น พระสันตะปาปาทรงถามความเห็นที่ประชุมว่า “คิดอย่างไรกับการดำเนินชีวิตของนักบวชคณะต่างๆ ทุกวันนี้ คณะนักบวชยังยึดมั่นการดำเนินชีวิตเป็นหมู่คณะเหมือนจิตตารมณ์ดั้งเดิมหรือไม่ นอกจากนี้ บรรดานักบวชชายหญิงตระหนักไหมว่า พวกเขาต้องดำเนินชีวิตนักบวชให้เด่นชัดกว่าการดำเนินชีวิตฝ่ายโลก มากเพียงใด”  

ผมไม่แน่ใจว่า ทำไมพระสันตะปาปาทรงถามแบบนี้ แต่มั่นใจว่า พระองค์ทราบถึงปัญหาที่เกิดกับพระศาสนจักรหลายประเทศ นั่นคือ แรกเริ่ม คณะนักบวชได้ตั้งสถาบันการศึกษาและสาธารณสุขไว้รับใช้สังคม จิตตารมณ์ของผู้ตั้งคณะต้องการรับใช้คนยากจนและคนด้อยโอกาสในสังคม แต่พอเวลาผ่านไป บรรดานักบวชที่มารับช่วงต่อกลับเมินเฉยจิตตารมณ์ดั้งเดิม พวกเขานำต้นทุนที่นักบวชยุคบุกเบิกลงแรงไว้ ไปต่อยอดเพื่อแสวงหากำไรให้มากๆ ให้กับสถาบันของตน ปัญหาแบบนี้ พบเห็นได้หลายประเทศทั่วโลก
นอกจากนี้ การที่พระสันตะปาปาถามว่า “ยังยึดมั่นการดำเนินชีวิตเป็นหมู่คณะหรือไม่” ผมคิดว่า พระสันตะปาปาน่าจะหมายถึงเวลาที่นักบวชตั้งสถาบันการศึกษาและสาธารณสุขแล้ว พวกเขายอมรับมติของคณะ เวลาที่มีการโยกย้ายหรือไม่ เพราะนักบวชบางประเทศ เวลามีการโยกย้ายเมื่อครบวาระ เขาไม่ยอมย้าย เพราะถือว่า ตัวเองได้ลงหลักปักฐานกับสิ่งสร้างตรงนี้ไปแล้ว ถ้าพิจารณาจากการดำเนินชีวิตเป็นหมู่คณะ นักบวชก็ต้องนบนอบเชื่อฟังคำสั่งของอธิการเจ้าคณะ ไม่ใช่ดื้อดึง เพื่อจะมาอยู่กับอาณาจักรที่ตัวเองสร้างขึ้นมา  

ส่วนเรื่อง “นักบวชตระหนักไหมว่า ต้องดำเนินชีวิตนักบวชให้เด่นกว่าการดำเนินชีวิตฝ่ายโลกเพียงใด” เรื่องนี้ ถ้าให้ผมตีความ พระสันตะปาปาน่าจะหมายความว่า ยุคนี้ ถ้านักบวชมีหน้าที่เป็น “นักบริหาร” สถาบันการศึกษาและโรงพยาบาล พระสันตะปาปาต้องการให้พวกเขาเป็นนักบริหารที่ใช้ “จิตตารมณ์นักบวช” นำหน้าการเป็นนักบริหารที่ใช้ธุรกิจพาณิชย์ชี้นำ จิตตารมณ์เวลาตั้งสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาลคือการช่วยเหลือผู้ยากไร้ ดังนั้น เวลารับนักเรียนหรือคนไข้ ก็ต้องใช้ “หัวใจนักบวช” ต้อนรับพวกเขา ไม่ใช่ว่า เอะอะก็ต้องดูที่ตัวเงินก่อน (เรื่องการให้นักบวชไปบริหารโรงเรียนและโรงพยาบาล มีให้เห็นหลายประเทศทั่วโลก พระสันตะปาปาจึงต้องการเตือนสติพวกเขาว่า หน้าที่หลักของพวกท่านคือเป็นนักบวช ไม่ใช่นักธุรกิจนักบริหาร)  

ทั้งหมดเป็นประเด็นของการประชุมที่จบไป งานนี้ ไม่มีบทสรุปของการประชุม เพราะเป็นการเปิดประเด็น เพื่อระดมความคิด โดยที่ตอนปิดประชุม พระสันตะปาปาทรงมอบหมายให้สมณกระทรวงเพื่อพระสงฆ์ สมณกระทรวงเพื่อนักบวช และสมณสภาเพื่อฆราวาส ไปหารือร่วมกันถึงแนวทางปฏิบัติที่จะมาปรับใช้กับแนวทางการดำเนินชีวิตของคณะนักบวชให้มีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น 

... หลายสัปดาห์ก่อน ผมเคยรายงานว่า ช่วงเวลาแห่งการปฏิรูปและชำระล้างสิ่งแย่ๆได้เริ่มขึ้นแล้ว หัวข้อการประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา น่าจะเป็นอีกหนึ่งเคสที่ “เข้าคิว” เตรียมรับการปฏิรูป เพื่อให้การดำเนินชีวิตของพระสงฆ์และนักบวช เปี่ยมด้วยความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ตอกย้ำข้อเขียนของผมว่า “ปีนี้แหละ จะเป็นปีที่เราได้เห็นความเป็นตัวตนของพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 มากที่สุด” 



AVE   MARIA

Comments

  1. รีบ ๆๆ ดำเนินการสักทีเถอะ เอะอะก็ต้องดูที่ตัวเงินก่อน นักบวช ไม่ใช่นักธุรกิจบริหาร

    ReplyDelete
  2. คำว่า พระสงฆ์ และนักบวช ในภาษาอังกฤษ ใช้คำว่าอะไรครับ

    ReplyDelete

Post a Comment