ฟาติมาสาร - การบ้านสำหรับสภาพระสังฆราชคาทอลิกทั่วโลก (29 พ.ค. 2011)

สัปดาห์ที่แล้ว ผมรายงานว่า วาติกันออกเอกสาร “UNIVERSAE ECCLESIAE” (พระศาสนจักรสากล) เอกสารว่าด้วยการถวายมิสซาแบบดั้งเดิมก่อนสังคยานาวาติกันที่ 2 คล้อยหลังไม่กี่วัน วาติกันออกเอกสารสำคัญอีกฉบับ คราวนี้ไม่เกี่ยวกับมิสซาลาติน แต่เป็นเรื่องการป้องกันสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศที่กำลังเป็นปัญหาหนักสำหรับพระศาสนจักรคาทอลิกทั่วโลก 



เอกสารฉบับนี้ วาติกันได้สั่งการบ้านสภาพระสังฆราชคาทอลิกทั่วโลก (รวมทั้งประเทศไทย) ให้ร่างข้อกำหนดและแนวทางปฏิบัติ เมื่อเกิดคดีสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศในประเทศของตน แล้วส่งกลับไปที่สมณกระทรวงหลักความเชื่อ หน่วยงานสำคัญสุดของสันตะสำนัก (คล้ายกระทรวงมหาดไทย) โดยวาติกันสั่งให้ส่งเอกสารดังกล่าว ก่อนวันที่ 31พฤษภาคม 2012 เท่ากับว่า ทุกประเทศมีเวลาในการร่างเอกสารเท่ากัน นั่นคือ 1 ปีเต็มๆ  

สาเหตุที่วาติกันสั่งให้ร่างเอกสาร ก็เพราะต้องการให้สภาพระสังฆราชคาทอลิกประเทศต่างๆ มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเวลาเกิดปัญหา อาทิ มีแนวทางปกป้องเด็ก, การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจของเหยื่อผู้บริสุทธิ์, การดูแลสงฆ์ที่ถูกกล่าวหา, การติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ, การรับมือสื่อมวลชน และการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยทางจิตได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์

ปัจจุบัน มีสภาพระสังฆราชคาทอลิก 4 ประเทศเท่านั้น ที่มีมาตรการและแนวทางป้องกันสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศแบบชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, ไอร์แลนด์, เยอรมนี และสหราชอาณาจักร (อังกฤษ, สกอตแลนด์, ไอร์แลนด์เหนือ และเวลส์) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแล้ว เราจะพบว่า ที่ 4 ประเทศนี้มีมาตรการเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทั้ง 4 ชาติ เคยเกิดกรณีสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศมามากมายแล้วนั่นเอง พวกเขาจึงต้องหามาตรการรับมืออย่างจริงจัง

ทีนี้ เราไปดูรายละเอียดเอกสารกันสักเล็กน้อย ในเอกสารนี้ วาติกันให้คำแนะนำ 9 ข้อ เพื่อใช้ในการร่างเอกสารมาตรการรับมือสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศ ได้แก่

1) การล่วงละเมิดทางเพศเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จัดเป็นอาชญากรรมร้ายแรง เพราะคำกล่าวหาทั้งหมด มักจะพาดพิงมายังวาติกัน (เวลาเกิดคดีแบบนี้ สื่อมวลชนจะมุ่งไปที่วาติกันเป็นอันดับแรกว่า จะรับผิดชอบอย่างไร)

2) พระศาสนจักรท้องถิ่นควรจะให้เกียรติและดูแลผู้เปิดเผยเรื่องเหล่านี้ ด้วยความเคารพ

3) พระศาสนจักรท้องถิ่นควรให้ความช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งทางกายและใจ

4) เมื่อการสอบสวนเบื้องต้นเกิดขึ้น ต้องเคารพสิทธิส่วนบุคคลและไม่ทำลายชื่อเสียงของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

5) พระศาสนจักรท้องถิ่นต้องแจ้งสงฆ์ที่ถูกกล่าวหาก่อนว่า เขาถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำผิด พระศาสนจักรท้องถิ่นต้องให้โอกาสเขาในการแสดงความบริสุทธิ์ ถ้าหากกรณีที่เกิด ไม่มีหลักฐานบ่งชี้อย่างชัดเจน

6) เมื่อเกิดคดีความ พระสังฆราชท้องถิ่นมีหน้าที่รับผิดชอบเบื้องต้น และสามารถขอความช่วยเหลือ รวมถึงคำปรึกษาจากหน่วยงานหรือผู้เชี่ยวชาญในการทำคดีดังกล่าว

7) เมื่อเกิดคดีสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศ พระศาสนจักรท้องถิ่นควรจะปฏิบัติตามกฏหมายในประเทศของตนเป็นอันดับแรก

8) ตลอดระยะเวลาการสอบสวน พระศาสนจักรท้องถิ่นมีหน้าที่ดูแลสงฆ์ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

9) ระหว่างที่คดีความยังไม่ถูกตัดสิน สงฆ์ที่ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศ มีสิทธิ์ถูกสั่งพักภารกิจการอภิบาล ถ้าหากว่า สงฆ์องค์นั้น ยังคงมีพฤติกรรมชอบล่วงละเมิดทางเพศเด็กและเยาวชน รวมถึงมีพฤติกรรมที่ส่อว่า จะก่อคดีขึ้นอีกครั้ง

นี่ก็เป็นคำแนะนำ 9 ข้อที่วาติกันมอบให้สภาพระสังฆราชคาทอลิกทั่วโลก นอกจากนี้ คุณพ่อเฟเดริโก้ ลอมบาร์ดี้ ผู้อำนวยการสื่อมวลชนวาติกัน ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า     ...

“สาเหตุที่วาติกันสั่งการบ้านสภาพระสังฆราชคาทอลิกทั่วโลก เพราะต้องการย้ำพระสังฆราชทุกองค์ว่า เมื่อเกิดเรื่องแบบนี้ ท่านต้องร่วมรับผิดชอบ จะทำเมินเฉยหรือทอดทิ้งเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่ได้เด็ดขาด นอกจากนี้ เวลาเกิดคดีความในประเทศต่างๆ พระสังฆราชท้องถิ่นคือบุคคลแรกที่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งช่วยเหลือเหยื่อผู้บริสุทธิ์, ให้ความเป็นธรรมกับสงฆ์ที่ถูกกล่าวหา และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากนั้น ค่อยส่งเรื่องมาที่วาติกัน เพื่อขอรับการช่วยเหลือต่อไป”      



AVE   MARIA

Comments