ฟาติมาสาร - แฮปปี้ เบิร์ธเดย์ 84 ชันษา แด่ โป๊ป เบเนดิกต์ ที่ 16 (17 เมษายน 2011)

วันที่ 16 เมษายน ค.ศ.1927 เป็นวันประสูติของสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ดังนั้น ขณะที่ท่านกำลังอ่านฟาติมาสารฉบับนี้อยู่ ไม่ว่าจะอ่านวันเสาร์ (16 เม.ย.) หรือวันอาทิตย์ (17 เม.ย.) สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงมีพระชนมายุครบ 84 ชันษา เรียบร้อยแล้ว




เดือนเมษายน จัดเป็นเดือนที่มีความหมายกับพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 นอกจากจะเป็นเดือนประสูติ ยังเป็นเดือนที่พระองค์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาองค์ที่ 265 แห่งพระศาสนจักรคาทอลิกอีกด้วย วันที่ได้รับเลือกคือวันที่ 19 เมษายน ค.ศ.2005 ฉะนั้น วันอังคารที่ 19 เมษายนที่จะถึงนี้ จะเป็นวันครบรอบ 6 ปีแห่งสมณสมัยการปกครองของพระองค์ 

6 ปีที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ผมมั่นใจเต็มเปี่ยมว่า พระศาสนจักรคาทอลิกได้คนที่ “เหมาะสมและชอบยิ่งนัก” ในการสานงานต่อจากสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 

ช่วงแรกๆในสมณสมัยของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ (ช่วง 2 ปีแรก) หลายสิ่งหลายอย่าง อาจดูขัดหูขัดตาและไม่ถูกใจใครหลายคน (รวมทั้งผมด้วย) เนื่องจากยังเป็นช่วงที่ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ต้อง “จับจังหวะ” การบริหารพระศาสนจักร รวมไปถึงปรับตัวให้เข้ากับหน้าที่ใหม่ นอกจากนี้ อาจมีเรื่อง “การไม่เปิดใจต้อนรับพระองค์” ในหมู่คริสตังหลายคน (เรื่องไม่เปิดใจ ผมว่าเป็นธรรมดา เพราะพวกเราอยู่ในยุคสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 มานานถึง 26 ปี ดังนั้น การมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่กับการเปิดใจรับคนใหม่เข้ามาแทนคนเก่า จึงเป็นเรื่องยากพอสมควร กระนั้น มันคงไม่ยากเกินไป หากเราได้ติดตามคุณความดีของคนใหม่แบบจริงจัง)

พูดถึงเรื่องติดตามพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ผมมั่นใจว่า ผมเป็นหนึ่งในคนที่ติดตามข่าวพระองค์แบบทุกฝีก้าว ตั้งแต่วันแรกที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้นำพระศาสนจักร จนมาถึงปัจจุบัน การตามทำข่าวพระสันตะปาปาองค์นี้ ช่วยให้ผมเกิดความ “แตกฉาน” ทางการอ่านข่าวและคิดวิเคราะห์ก่อนตัดสินใจ

หากยังจำกันได้ เดือนกันยายน ค.ศ.2006 ชาวมุสลิมหลายประเทศได้ทำการประท้วงสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 เนื่องจาก สำนักข่าวต่างๆ “พาดหัวข่าวว่า” พระสันตะปาปาตรัสลบหลู่ศาสดาของศาสนาอิสลาม ผลที่ตามมาก็คือเกิดการประท้วงในหลายประเทศ แต่ความจริงแล้ว พระองค์ไม่ได้ตรัสลบหลู่ศาสนาอิสลาม สิ่งที่พระองค์ตรัสในวันนั้นคือการหยิบยกคำพูดของการสนทนาระหว่าง จักรพรรดิมานูเอล ที่ 2 กับ นักวิชาการชาวเปอร์เซีย มาอ่านให้ผู้ฟังได้ฟังกัน คำพูดที่กลายเป็นข่าวใหญ่มีแค่ประโยคเดียว แต่ถ้าอ่านเนื้อหาสิ่งที่พระสันตะปาปาตรัสในวันนั้นทั้งหมด ความหมายจะกลายเป็นคนละอย่างกับสิ่งที่นักข่าวรายงานประโยคนั้นออกไป (นักข่าวพาดหัวข่าวแบบไม่รับผิดชอบ พูดง่ายๆคือเสี้ยมให้คนทะเลาะกัน เพื่อจะได้ขายข่าวให้น่าสนใจและมีคนอ่านเยอะๆ)

ที่ผมบอกว่า การตามข่าวพระสันตะปาปาองค์นี้ ทำให้เกิดความแตกฉานทางการรับรู้ข่าวสารในโลกยุคใหม่ก็เพราะ พฤติกรรมการรับรู้ข่าวสารของคนยุคนี้ จะอ่านข่าวกันแค่ “พาดหัว” เท่านั้น ถ้าข่าวน่าสนใจ ค่อยลงลึกไปอ่านรายละเอียดกันต่อ นักข่าว(ปี 2006) เลยจับทางได้ พวกเขาพาดหัวเรียกร้องความสนใจเพื่อให้ขายข่าวได้เท่านั้น จะถูกจะผิดอย่างไร เดี๋ยวคนที่ถูกนำเสนอข่าวก็ต้องออกมาแก้ข่าวเอง (จะสังเกตได้ว่า ยุคนี้ เราจะไม่ค่อยเห็นการฟ้องร้องสำนักข่าวที่ลงข่าวบิดเบือน แต่การแก้ข่าวจะตกเป็นหน้าที่ของฝ่ายที่เสียหายมากกว่า เรียกได้ว่า นักข่าวยุคนี้ ไม่ต้องกังวลเรื่องความถูกต้องของการนำเสนอข่าวเท่าที่ควร) ดังนั้น การติดตามข่าวสารยุคปัจจุบัน คุณต้องฟังข้อมูลให้ครบก่อนจะตัดสินใจเชื่อ อย่าเชื่อเพียงแค่เห็นแวบแรก ไม่งั้นจะเป็นเหมือนกับกรณีที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ เริ่มได้ใจผมก็คือ หลังจากเกิดเหตุประท้วงแล้ว พระองค์ทรงมีพันธกิจเสด็จเยือนตุรกี (เยือนสุเหร่าในอิสตันบลูและแสวงบุญบ้านแม่พระที่เมืองเอเฟซัส) หลายฝ่ายขอร้องพระองค์ว่า อย่าไปเลย มันอันตรายมาก เนื่องจากชาวมุสลิมในตุรกีบางส่วนยังคงไม่พอใจพระสันตะปาปา หนักกว่านั้นคือมีการขู่เอาชีวิตพระองค์ด้วย กระนั้น พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ก็ไม่กลัว พระองค์เสด็จไปตุรกี เสด็จไปหาชาวมุสลิมและถอดรองเท้าเดินเข้าไปในสุเหร่าของพวกเขา พระองค์ทรงกล่าวขอโทษชาวมุสลิมเกี่ยวกับพระดำรัสตอนดังกล่าว โดยตรัสว่า “ถ้าข้าพเจ้ากล่าวถ้อยคำก้าวร้าวและลบหลู่ท่าน ข้าพเจ้าต้องขอโทษด้วย เมื่อข้าพเจ้าทำผิด ข้าพเจ้าก็พร้อมจะขอโทษจากใจจริง” ประโยคนี้ ได้ใจชาวมุสลิมเป็นจำนวนมาก พวกเขาแปรเปลี่ยนความไม่พอใจ เป็นการยอมรับและโค้งคาราวะในความเป็น “คนจริงที่กล้าหาญ” ของพระสันตะปาปา ผมจำได้ว่า เหตุการณ์นี้ นิตยสารไทม์ (TIME) ยกย่องพระสันตะปาปาว่า “นี่คือผู้ชนะเฉกเช่นสุภาพบุรุษตัวจริง” เลยทีเดียว

นอกจากบทสอนเรื่อง “จงกล้าที่จะขอโทษ ถ้ารู้ว่าเราทำผิด” อีกสิ่งหนึ่งที่ผมจับประเด็นได้ในสมณสมัยของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ก็คือ “จงดำเนินชีวิตประดุจผู้ศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ทุกคนให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ มันขึ้นอยู่กับเราว่า จะตอบรับกระแสเรียกให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือไม่”  

ตลอด 6 ปีที่ตามทำข่าวพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ผมคิดว่า ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของบทเทศน์ที่พระองค์สอนสัตบุรุษ เน้นหนักไปที่การดำเนินชีวิตให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ พระองค์พยายามกระตุ้นและให้กำลังใจเราทุกคนว่า “เราก็เป็นนักบุญได้ ถ้าหากดำเนินชีวิตตามที่พระเยซูสอน” พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ยกตัวอย่าง “นักบุญในยุคสมัยของเรา” อาทิ สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 และ บุญราศีเทเรซาแห่งกัลกัตต้า มาเป็นแรงบันดาลใจให้เราได้เห็นอยู่เสมอ การยกตัวอย่างคนใกล้ตัวในยุคนี้ จะช่วยให้สัตบุรุษมีแรงกระตุ้นที่จะดำเนินชีวิตเลียนแบบอย่างทั้งสองท่านได้ง่ายขึ้น แบบว่า คนคุ้นเคยที่เห็นกันเป็นประจำนั่นเอง

6 ปีที่ผ่านมา ผมไม่รู้ว่า ทุกท่านจะรู้สึกอย่างไรกับพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ แต่สำหรับผม การได้ติดตามพระองค์ในทุกๆวัน ช่วยให้ผมปรับเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับพระองค์ได้เยอะ ความรู้สึกจากเฉยๆผสมไม่มั่นใจ แปรเปลี่ยนมาเป็นการสนับสนุนและให้กำลังใจอย่างเต็มเปี่ยม ผมคิดว่า คริสตังทุกคนควรจะดีใจและภูมิใจที่ได้เกิดมาในสมณสมัยของ 2 พระสันตะปาปาผู้ยิ่งใหญ่ ทั้ง สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 และ สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16

หากเปรียบกับฟุตบอล พระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 คือกุนซือที่นำทีมเล่นเกมบุกแบบหวือหวา การเล่นเกมบุกมากๆ มีข้อดีคือเข้าถึงและได้ใจสัตบุรุษจำนวนมาก แต่ข้อเสียคือเกมรับ (กองหลัง) อาจมีปัญหาได้ เนื่องจากบุกเพลินจนลืมป้องกัน ส่วนพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 คือกุนซือเยอรมันซึ่งเล่นฟุตบอลด้วยระบบทีมเวิร์ก หากใครติดตามทีมชาติเยอรมนี น่าจะรู้ว่า ทีมอินทรีเหล็กเป็นพวกกองหลังแข็งแกร่งไว้ก่อน ส่วนกองหน้าก็พอใช้ได้ แต่อาจไม่อยู่ในระดับสุดยอดนัก

ในเมื่อพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 เคยเล่นเกมบุกแบบดุดัน จนบางครั้ง กองหลังมีปัญหา (อาทิ เกิดคดีสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศในพระศาสนจักร) พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 ก็จะเป็นกุนซือที่มาสานต่อด้วยการแก้ปัญหาดังกล่าวให้หมดไป (ซึ่งก็ทำได้ดีด้วย) นอกจากนี้ พระองค์ยังพาพระศาสนจักรก้าวเดินไปข้างหน้า แม้จะเล่นเกมรุกได้ไม่ดุดันเท่าพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ก็ตาม 

สุดท้ายนี้ โอกาสวันคล้ายวันประสูติครบ 84 ชันษาของสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 รวมถึงวันครบรอบ 6 ปีแห่งสมณสมัยการปกครองของพระองค์ ผมไม่มีคำศัพท์สวยหรูอะไรมาก นอกจากคำสากลที่คริสตังทั่วโลกใช้ถวายพระพรพระสันตะปาปา นั่นคือ   ....


VIVA IL PAPA!! ... (วีว่า อิล ปาปา – พระสันตะปาปา ทรงพระเจริญ!!)


AVE   MARIA



Comments