ฟาติมาสาร - อย่าโทษชาวยิว + อย่าสำนึกผิดแบบจูดาส (13 มีนาคม 2011)

วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา วาติกันได้ทำการเปิดตัวหนังสือ “พระเยซู ชาวนาซาเร็ธ (ภาค 2)” หนังสือที่สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงเขียนขึ้นด้วยพระองค์เอง (เขียนด้วยดินสอทั้งเล่ม จากนั้น ซิสเตอร์ผู้ช่วยฯ นำไปพิมพ์ลงคอมพิวเตอร์) ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ มีหลายประการ แต่ด้วยเวลาจำกัดในการส่งต้นฉบับ ผมขอนำเนื้อหาหลักๆที่สื่อมวลชนทั่วโลกให้ความสนใจ มาแบ่งปันชาวฟาติมาทุกคน   ....




ประเด็นหลักที่วาติกันนำมาเรียกความสนใจจากสื่อมวลชน ได้แก่ การกล่าวหาชาวยิวเป็นต้นเหตุทำให้พระเยซูถูกตัดสินประหารชีวิต และ การสะท้อนการกลับใจของ “จูดาส อิสคาริโอท” สาวกผู้ทรยศพระเยซูเจ้า เราจะไปดูทีละประเด็นแบบละเอียดกันว่า พระสันตะปาปาทรงให้ข้อคิดและมุมมองสอนใจอย่างไร

ชาวยิวกับการพิพากษาประหารชีวิตพระเยซู

คริสตชนบางคนยังมีความเชื่อฝังหัวว่า “ชาวยิวเป็นต้นเหตุทำให้พระเยซูสิ้นพระชนม์” หลายคนตีความแบบตรงๆทื่อๆตามพระคัมภีร์ว่า ฝูงชนชาวยิวคือตัวการเรียกร้องให้ ปอนซีโอ ปิลาโต (ปิลาต) นำพระเยซูไปตรึงกางเขน และปล่อย “บารับบัส” นักโทษอุกฉกรรจ์เป็นอิสระ นอกจากนี้ ในเหตุการณ์ดังกล่าว ฝูงชนชาวยิวยังตะโกนอีกว่า “ขอให้เลือดของเขา(หมายถึงพระเยซู) ตกเหนือเราและลูกหลานของเราเถิด” (มธ. 27:25) ขณะที่พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญจอห์น ก็ระบุชัดเจนว่า ฝูงชนที่ตะโกนให้นำพระเยซูไปตรึงกางเขน คือ “ชาวยิว” นั่นเอง

การตีความแบบทื่อๆเช่นนี้ก่อให้เกิดกระแสเกลียดชังชาวยิวมาหลายศตวรรษ ในอดีต พระศาสนจักรคาทอลิกก็เคยเกิดความรู้สึกแบบที่กล่าวมา เมื่อเป็นเช่นนี้ สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักเทวศาสตร์ที่เก่งที่สุดของพระศาสนจักรคาทอลิกประจำศตวรรษนี้ จึงรีบออกมาทำความเข้าใจกับคริสตังเสียใหม่ พระองค์ทรงระบุว่า “คริสตชนบางคนตีความพระคัมภีร์ตอนนี้ตามตัวอักษรเกินไป การนำเรื่องดังกล่าวไปกล่าวหาชาวยิวว่าเป็นตัวการทำให้พระเยซูสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน รวมไปถึงจงเกลียดจงชังชาวยิวและชาติอิสราเอล เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง”

“เราต้องไม่ตีความว่า ชาวยิว ที่นักบุญจอห์นหมายถึงนั้น เป็นชนชาติอิสราเอล เพราะถ้าคิดแบบนั้นมันไม่ต่างอะไรกับการเหยียดเชื้อชาติ นักบุญจอห์นไม่ได้หมายถึงชาวยิวแบบที่เราเข้าใจ ตัวท่านเอง (นักบุญจอห์น), พระเยซู และบรรดาอัครสาวกต่างเป็นชาวยิว การที่ท่านใช้คำว่าชาวยิวในพระวรสาร มันคือการสื่อความหมายถึงพวกฟาริสีในศาลาธรรม คนเหล่านี้นี่แหละคือตัวบงการอยู่เบื้องหลังซึ่งทำให้พระเยซูถูกตัดสินประหารชีวิต” ... (ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด พระสันตะปาปาต้องการจะสื่อว่า คำว่าชาวยิวที่นักบุญจอห์นหมายถึงนั้น มันไม่ได้หมายถึงชาวยิวทั้งหมด มันคล้ายกับเวลาเราไปเมืองนอก แล้วเจอพวกคนไทยทำสิ่งไม่ดีไม่งาม เราก็อาจมาคุยกันว่า “ก็ไอ้พวกคนไทยนั่นแหละที่ทำเรื่องเสียหาย” การพูดแบบนี้ ไม่ได้หมายถึงคนไทยทุกคน แต่เป็นคำเรียกบางคนเท่านั้น) 

พร้อมกันนี้ พระสันตะปาปาทรงให้ข้อคิดว่า เราควรจะอ่านพระวรสารตอนนี้ ด้วยสติปัญญาและแสงสว่างแห่งความเชื่อ พระเยซูทรงทราบอยู่แล้วว่า ทุกคนจะปฏิเสธพระองค์และจะต้องสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน “ดังนั้น ถ้าเราอ่านพระวรสารตอนนี้ด้วยความเชื่อ มันหมายถึงพระเยซูทรงสละเลือดสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่เราให้รอดพ้นจากบาป พระวรสารตอนนี้ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นเพื่อให้เราเกิดความรู้สึกต้องแก้แค้นและโกรธเกลียดชาวยิว” (หลังเรื่องนี้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณชน “เบนจามิน เนทันยาฮู” นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ได้ออกมากล่าวขอบคุณพระสันตะปาปา เช่นเดียวกับชุมชนชาวยิวซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศต่างๆทั่วโลก) 

พระสันตะปาปายังทรงเปรียบอีกว่า การนำตัวพระเยซูไปให้ ปอนซีโอ ปิลาโต พิพากษาตัดสิน มีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดในการเมืองยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก หากว่ากันตามกฏหมาย ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่า พระเยซูไม่ได้ทำผิดอะไร พระองค์ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่ออาณาจักรโรมัน “นี่คือความจริง” แต่คนหมู่มากไม่ยอมรับความจริง กลับดื้อดึงใช้ “กฏหมู่อยู่เหนือกฏหมาย” ใช้อำนาจครอบงำความถูกต้อง ผลที่ตามมาก็คือผู้พิพากษาอย่าง ปิลาโต กลัวว่า ถ้าไม่ทำตามกฏหมู่ อำนาจของตนอาจสั่นคลอนได้ ปิลาโตจึงต้องหลับหูหลับตาตัดสินไป เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนเอง

พระสันตะปาปาทรงยกการตัดสินพิพากษาพระเยซูว่า เป็นการหนึ่งในคดีพิพากษาหา “แพะรับบาป” ที่คลาสสิกสุดในประวัติศาสตร์โลก นี่เป็นตัวอย่างชัดๆของความขัดแย้งระหว่าง “ความจริง” กับ “อำนาจฝ่ายโลก” กรณีแบบนี้ยังมีให้เห็นจนถึงทุกวันนี้ และมันจะดำรงต่อไปเรื่อยๆ หากมนุษย์ยังมีความโลภในอำนาจและเงินตรา และไม่ยอมให้พระเจ้าเป็นผู้นำแท้จริงของชีวิต

นอกจากนี้ พระสันตะปาปายังสะท้อนสัจธรรมอีกเรื่องซึ่งซ่อนอยู่ในตอนที่ ปิลาโต อยากจะปล่อยพระเยซูให้เป็นอิสระ เพราะเขารู้ดีว่าพระองค์ไม่ได้ทำอะไรผิด พระสันตะปาปาบอกว่า ลึกๆแล้ว ปิลาโต เป็นคนอยากแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ตัวปิลาโตก็เห็นว่า พระเยซูไม่มีความผิดและเป็นผู้นำสันติ แต่ในเมื่อฝูงชนตะโกนดังขึ้นเรื่อยๆให้นำพระเยซูไปตรึงกางเขน ทั้งๆที่พระองค์ไม่เคยไปฆ่าและไปทำร้ายพวกเขา แต่ในเมื่อใจมันเกลียดไปแล้ว ก็ขอให้คนๆนี้ตายไปดีกว่า การกระทำของฝูงชนตอนนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงความดิบเถื่อนในสันดานมนุษย์ นั่นคือ ถ้าเกลียดใครแล้ว ก็อยากเห็นคนๆนั้นพินาศย่อยยับแบบสุดๆ ยิ่งพินาศเท่าไหร่ ยิ่งสะใจมากเท่านั้น

การทรยศของ “จูดาส” และการกลับใจแบบผิดๆ

อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจคือ “จูดาส อิสคาริโอท” อัครสาวกผู้ทรยศพระเยซูเจ้า ...

พระสันตะปาปาทรงเขียนว่า การทรยศพระเยซูเกิดขึ้นกับคริสตชนทุกยุคทุกสมัย การทรยศของจูดาส ไม่ใช่รอยแตกร้าวสุดท้ายที่พระเยซูต้องประสบ รอยร้าวนี้ได้ลุกลามเข้ามาในพระศาสนจักร สถานที่ซึ่งสัตบุรุษยังเดินเข้ามารับพระกายของพระคริสตเจ้า แต่พอรับเสร็จ ก็กลับมาทรยศพระองค์เหมือนเดิม

หลังจาก จูดาส ตระหนักได้ว่า เขาทำผิดอย่างแรงที่ทรยศพระเยซูด้วยการขายพระองค์ให้กับฟาริสี เขาก็สำนึกผิดอย่างสุดซึ้ง แต่การสำนึกผิดของจูดาส เป็นการสำนึกผิดแบบผิดๆ จูดาสไม่เชื่อในพลังแห่งการให้อภัย

เพราะในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเราสำนึกผิด เราต้องมีความหวังที่จะปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น แต่ จูดาส สำนึกผิดด้วยความสิ้นหวัง ไม่ได้สำนึกผิดแบบมีความหวัง จูดาสจึงเป็นแบบอย่างของคนที่สำนึกผิดแบบไม่ถูกวิธี เขาตัดสินใจผูกคอตาย   

ถ้าเรารู้ตัวว่าผิด จากนั้น เราสำนึกและกลับใจ เราต้องมีความหวังจะปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น มนุษย์ต้องดำเนินชีวิตอย่างมีความหวัง ไม่ใช่สิ้นหวังอย่างจูดาส  ........ 

นี่ก็เป็นเนื้อหาบางส่วนจาก “พระเยซู ชาวนาซาเร็ธ (ภาค 2)” อีกหนึ่งความสุดยอดของหนังสือเล่มนี้ก็คือทุกคนรู้อยู่แล้วว่า คนเขียนหนังสือเล่มนี้คือ สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 แต่พระองค์กลับใช้ชื่อผู้แต่งว่า “โยเซฟ รัตซิงเกอร์” (พระนามจริง) พร้อมระบุว่า “หนังสือเล่มนี้เขียนโดน โยเซฟ รัตซิงเกอร์ ถ้าใครมีข้อขัดแย้ง เชิญได้เลย” .. พระองค์ไม่ต้องการบอกว่าคนเขียนคือพระสันตะปาปา แต่เป็นคนธรรมดาที่ชื่อ โยเซฟ รัตซิงเกอร์ ดังนั้น ใครไม่เห็นด้วย มาถกประเด็นกันได้เสมอ  




AVE  MARIA


Comments