ฟาติมาสาร - เจาะลึก คาร์ดินัลใหม่ 24 องค์ (21 พฤศจิกายน 2010)


วันอาทิตย์นี้ (21 พฤศจิกายน) เป็นวันสมโภช “พระเยซูเจ้า กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล” (THE FEAST OF CHRIST THE KING) ความสำคัญของวันนี้คือการปิดรอบปีพิธีกรรมในพระศาสนจักรคาทอลิก ปี 2010 ที่เราอยู่นี้คือปีพิธีกรรม “C” ส่วนปีพิธีกรรมใหม่ (2011) ซึ่งจะเริ่มสัปดาห์หน้าด้วยเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า จะเป็นปีพิธีกรรม “A”

ในปฏิทินพิธีกรรมคาทอลิก จะแบ่งออกเป็น ปี A, ปี B และ ปี C หลายคนสงสัยว่า ปี A-B-C ต่างกันอย่างไร คำตอบก็คือ ปี A พระวรสารวันอาทิตย์จะเน้นของนักบุญแม็ทธิว ปี B จะเน้นพระวรสารของนักบุญมาร์โก ส่วนปี C พระวรสารวันอาทิตย์จะเน้นของนักบุญลูกา (สังเกตง่ายๆ พระวรสารวันนี้ ก็มาจากนักบุญลูกา ส่วนพระวรสารวันอาทิตย์ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป จะเป็นของ นักบุญแม็ทธิว ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะปิดปีพิธีกรรม A)

นอกจากจะเป็นวันปิดปีพิธีกรรม ประเพณีที่พระศาสนจักรคาทอลิกจะกระทำในวันนี้ก็คือ “การสถาปนาพระคาร์ดินัลใหม่” นี่คือประเพณี ไม่ใช่กฏเกณฑ์ตายตัว ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่ทุกปีจะต้องเกิดขึ้น แต่สำหรับปีนี้ ประเพณีดังกล่าวได้รับการปฏิบัติ เมื่อพระสันตะปาปาทรงสถาปนาพระคาร์ดินัลใหม่ 24 องค์ ในจำนวนนี้ มี 20 องค์อายุต่ำกว่า 80 ปี ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถเข้าร่วมการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ได้ ถ้านับรวมพระคาร์ดินัลใหม่ 24 องค์เข้ากับพระคาร์ดินัลชุดปัจจุบัน เท่ากับว่า ตอนนี้ พระศาสนจักรคาทอลิกมีพระคาร์ดินัลทั้งหมด 203 องค์ โดย 120 องค์มีอายุต่ำกว่า 80 ปี ซึ่งตรงกับกฏการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ที่ระบุว่า พระคาร์ดินัลที่มีสิทธิ์ร่วมเลือกตั้ง ห้ามเกิน 120 องค์ (ถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพง่ายๆ พระคาร์ดินัลคือ “เจ้าชายของพระศาสนจักร” ส่วนพระสันตะปาปาคือกษัตริย์ ฉะนั้น ถ้าพระสันตะปาปาทรงสิ้นพระชนม์ ผู้ที่มีสิทธิ์ขึ้นปกครองพระศาสนจักรสืบต่อ ก็ต้องเป็นเจ้าชายนั่นเอง)




ในจำนวนพระคาร์ดินัลใหม่ 24 องค์ เจาะลึกลงไปจะพบว่า 9 องค์ปฏิบัติหน้าที่ในวาติกัน ได้แก่ พระอัครสังฆราช อันเจโล่ อมาโต้ (อิตาลี) ประธานสมณกระทรวงประกาศการเป็นนักบุญ, พระอัครสังฆราช เมาโร ปิอาเชนซ่า (อิตาลี) ประธานสมณกระทรวงเพื่อพระสงฆ์, พระอัครสังฆราช เวลาซิโอ เด เปาลิส (อิตาลี) ประธานฝ่ายการเงินและเศรษฐกิจของสันตะสำนัก, พระอัครสังฆราช ฟอร์ตูนาโต้ บัลเดลลี่ (อิตาลี) ผู้ว่าสำนักงานวินิจฉัยคดีของพระศาสนจักร, พระอัครสังฆราช เปาโล ซาร์ดี้ (อิตาลี) ผู้แทนพระสันตะปาปาประจำรัฐอธิปไตยทหาร ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา (กองทัพที่คุ้มครองผู้แสวงบุญคาทอลิกที่ไปแสวงบุญ ณ แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ สมัยสงครามครูเสด), พระอัครสังฆราช จานฟรังโก้ ราวาซี่ (อิตาลี) ประธานสมณสภาเพื่อวัฒนธรรม, พระอัครสังฆราช เรย์มอนด์ เบิร์ค (อเมริกา) ประธานศาลสูงสมณปรมาภิไธย, พระอัครสังฆราช เคิร์ท ค็อช (สวิตเซอร์แลนด์) ประธานสมณสภาส่งเสริมเอกภาพคริสตชน และ พระอัครสังฆราช โรเบิร์ต แซร่าห์ (กีนี) ประธานสมณสภาคอร์ อูนัม (หน่วยงานดูแลด้านการกุศล)

ส่วนพระคาร์ดินัลใหม่ 11 องค์ ที่ปฏิบัติงานนอกวาติกัน และมีสิทธิ์ร่วมเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ประกอบไปด้วย พระอัครสังฆราช ฟรานเชสโก้ มอนเตริซี่ (อิตาลี) เจ้าอาวาสมหาวิหารนักบุญเปาโล นอกกำแพงกรุงโรม, พระอัครสังฆราช เปาโล โรเมโอ (อิตาลี) ประมุขอัครสังฆมณฑลปาแลร์โม่, พระอัครสังฆราช ไรน์ฮาร์ด มาร์กซ์ (เยอรมนี) ประมุขอัครสังฆมณฑลมิวนิคและไฟร์ซิ่ง, พระอัครสังฆราช เมดาร์โด้ มาซอมเว่ (แซมเบีย) พระอัครสังฆราชเกษียณอายุแห่งอัครสังฆมณฑลลูซาก้า, พระอัครสังฆราช ราอูล เอดูอาร์โด้ เบล่า คิริโบก้า (เอกวาดอร์) พระอัครสังฆราชเกษียณอายุแห่งอัครสังฆมณฑลกีโต้, พระอัครสังฆราช โลร็องต์ ปาซินญ่า (คองโก) ประมุขอัครสังฆมณฑลคินชาซ่า, พระอัครสังฆราช โดนัลด์ เวิร์ล (อเมริกา) ประมุขอัครสังฆมณฑลวอชิงตัน ดี.ซี., พระอัครสังฆราช เรย์มุนโด้ อัสซิส (บราซิล) ประมุขอัครสังฆมณฑลอปาเรชิด้า, พระอัครสังฆราช คาซิเมียร์ซ นีชซ์ (โปแลนด์) ประมุขอัครสังฆมณฑลวอร์ซอว์, พระอัครสังฆราช มัลคอล์ม รันจิต (ศรีลังกา) ประมุขอัครสังฆมณฑลโคลอมโบ และ พระอัยกา อันโตนิออส นากีบ (อียิปต์) ผู้นำพระศาสนจักรคาทอลิกจารีตค็อปติกแห่งอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์

สุดท้าย พระคาร์ดินัลใหม่ 4 องค์ ซึ่งอายุเกิน 80 ปีและหมดสิทธิ์ร่วมการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ทว่า พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ต้องการตอบแทนความดีและความทุ่มเทที่ท่านเหล่านี้อุทิศตนให้พระศาสนจักรเสมอมา พระคาร์ดินัลใหม่ 4 องค์ที่ว่า ประกอบไปด้วย พระอัครสังฆราช โฆเซ่ มานูเอล เอสเตป้า ยอเร็นส์ (สเปน) จิตตาภิบาลกองทัพทหารสเปน, พระอัครสังฆราช เอลิโอ ซาเกร็ชชา (อิตาลี) ประธานกิตติคุณสถาบันเพื่อชีวิต, มองซินญอร์ วอลเตอร์ แบรนด์มุลเลอร์ (เยอรมนี) ประธานกิตติคุณสมณกรรมาธิการประวัติศาสตร์ และ มองซินญอร์ โดเมนิโก บาร์โตลุชชี่ (อิตาลี) อดีตผู้อำนวยการคณะนักขับร้องประจำวัดน้อยซิสติน (คนนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “คอนดักเตอร์” บทเพลงเกรโกเรี่ยนที่เก่งที่สุดในศตวรรษนี้)

พิธีสถาปนาพระคาร์ดินัลใหม่จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน ส่วนวันอาทิตย์ที่ 21 พระสันตะปาปาจะถวายมิสซาสมโภชพระเยซูเจ้า กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล ร่วมกับคณะพระคาร์ดินัลใหม่ ภายในมหาวิหารนักบุญเปโตร วาติกัน   ....

การแต่งตั้งพระคาร์ดินัลใหม่ในครั้งนี้ นักข่าวสายวาติกันหลายคนได้ตั้งข้อสังเกตไว้หลายอย่าง ข้อสังเกตแรกคือในอดีต พวกสมณทูตที่เคยผ่านการประจำประเทศใหญ่ๆ อย่าง ฝรั่งเศส, ออสเตรีย, อเมริกา, สเปน, เยอรมนี และ โปรตุเกส ส่วนมาก เมื่อพ้นจากตำแหน่งทูตตามประเทศใหญ่ๆ จะได้รับการสถาปนาเป็นพระคาร์ดินัล แต่ครั้งนี้ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ไม่ทำตามนั้น (ในมุมมองของผม ถือว่า “ดีแล้ว” เพราะบางครั้ง มันมีการเมืองแย่งชิงสมณศักดิ์สูงๆ ดังนั้น ควรมอบตำแหน่งพระคาร์ดินัลให้กับประเทศที่ “จำเป็นต้องมี” จะดีกว่า)

ข้อสังเกตที่สองซึ่งสำคัญมาก ก็คือ สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 จะไม่สถาปนาพระอัครสังฆราชประจำอัครสังฆมณฑลเป็นพระคาร์ดินัล ถ้าหากประมุขอัครสังฆมณฑลคนก่อน ซึ่งมีสมณศักดิ์เป็นพระคาร์ดินัล ยังมีชีวิตอยู่ (1 อัครสังฆมณฑล ควรมี 1 พระคาร์ดินัล ... พระสันตะปาปาต้องการให้เกียรติพระคาร์ดินัล ซึ่งเป็นถึงเจ้าชายของพระศาสนจักร) ... กรณีนี้ น่าจะตอบข้อสงสัยของหลายคนเป็นอย่างดี น่าจะเดาได้ไม่ยากนะครับว่า ผมกำลังสื่อถึงอะไร 

ข้อสังเกตที่สามคือการสถาปนาพระคาร์ดินัลใหม่ 9 องค์ที่ปฏิบัติงานในวาติกัน จัดเป็นเรื่องเหมาะสมและชอบยิ่งนัก เพราะทั้งหมดมีตำแหน่งถึงเจ้ากระทรวงและเจ้าสภา ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้ควรมีพระคาร์ดินัลเป็นผู้คุม (มันเป็นแนวทางปฏิบัติของสันตะสำนัก)

ข้อสังเกตที่สี่ หากจำแนกตามสัญชาติของพระคาร์ดินัลใหม่ทั้ง 24 องค์ จะพบว่ามี อิตาเลี่ยน 10 องค์, อเมริกัน 2 องค์, เยอรมนี 2 องค์, สเปน – สวิตเซอร์แลนด์ – กีนี – โปแลนด์ – อียิปต์ – แซมเบีย – คองโก – เอกวาดอร์ – บราซิล - ศรีลังกา อย่างละ 1 องค์ เจาะลึกลงไปอีก จะพบว่า มีพระคาร์ดินัลใหม่จาก “ประเทศโลกที่ 2 และ 3” ถึง 6 องค์ (กีนี, อียิปต์, แซมเบีย, คองโก, เอกวาดอร์ และ ศรีลังกา) เรื่องนี้ ถ้านำข้อสังเกตข้อที่ 2 (1 อัครสังฆมณฑล 1 พระคาร์ดินัล) มาร่วมวิเคราะห์ด้วย จะได้คำตอบแบบกว้างๆว่า การเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ พระคาร์ดินัลที่มีสิทธิ์เข้าร่วม (และอาจหมายถึงพระสันตะปาปาในอนาคต) มีสิทธิ์จะมาจากประเทศโลกที่ 2 และ 3 มากขึ้น เพราะพระคาร์ดินัลจากยุโรป รวมถึงอเมริกาเหนือและใต้ มีสัดส่วนเยอะมาก ทำให้พระสันตะปาปาจะไม่สถาปนาพระคาร์ดินัลใหม่ ถ้าหากพระคาร์ดินัลสังกัดอัครสังฆมณฑลนั้น ยังมีชีวิตอยู่ ... ตอนแรก มีการคาดการณ์ว่า พระอัครสังฆราชจากอัครสังฆมณฑลเวสต์มินสเตอร์ (ลอนดอน ประเทศอังกฤษ), ตูริน (อิตาลี), ฟลอเร็นซ์ (อิตาลี), บรัสเซลส์ (เบลเยียม), โตเลโด้ (สเปน) และ นิวยอร์ก (อเมริกา) น่าจะได้รับการสถาปนาเป็นพระคาร์ดินัล แต่เมื่อยึดตามข้อสังเกตข้อที่ 2 ทำให้ประมุขอัครสังฆมณฑลเหล่านี้ ยังดำรงสมณศักดิ์พระอัครสังฆราชต่อไป ผิดกับประเทศโลกที่ 2 และ 3 ซึ่งประมุขอัครสังฆมณฑลส่วนมากไม่ได้เป็นพระคาร์ดินัล ดังนั้น สัดส่วนพระคาร์ดินัลจากประเทศเหล่านี้ย่อมเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ข้อสังเกตที่ห้า ในจำนวนพระคาร์ดินัล 120 องค์ที่มีสิทธิ์ร่วมการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ 62 องค์มาจากทวีปยุโรป, 21 องค์มาจากอเมริกาใต้, 15 องค์มาจากอเมริกาเหนือ, 12 องค์มาจากแอฟริกา, 10 องค์มาจากเอเชีย (ถือว่าสูงมาก) และอีก 1 องค์มาจากโอเชียเนีย ถ้าเจาะลึกไปอีกว่าชาติไหนมีพระคาร์ดินัลกี่องค์ คำตอบก็คืออิตาลีมีมากสุดคือ 25 องค์ อันดับสองคือสหรัฐอเมริกา 13 องค์, เยอรมนี 6 องค์, สเปน-ฝรั่งเศส-บราซิล มีเท่ากันคือ 5 องค์, เม็กซิโก-โปแลนด์ มีเท่ากัน 4 องค์

ข้อสังเกตที่หก การแต่งตั้งพระคาร์ดินัลใหม่ที่มาจาก “แซมเบีย” และ “เอกวาดอร์” จัดเป็นเรื่องพลิกความคาดหมายแบบสุดๆ แต่อย่างที่บอกไปว่า ควรมอบตำแหน่งพระคาร์ดินัลให้กับประเทศที่ “จำเป็นต้องมี” จะดีกว่า เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนในข้อนี้

เริ่มที่ “แซมเบีย” ก่อนเลย หากยังจำกันได้ ผมเคยเขียนถึง “เอ็มมานูเอล มิลินโก้” อดีตพระอัครสังฆราชชาวแซมเบียซึ่งถูกขับไล่ออกจากพระศาสนจักร เนื่องจากเข้าพิธีสมรสกับ “มาเรีย ซอง” ผู้นำลัทธิมูนในเกาหลีใต้ โดย มิลินโก้ แต่งงานในวัย 71 ปี ทั้งที่ๆตนเองเป็นพระอัครสังฆราชอยู่ รวมทั้งเดินสายรณรงค์ไปทั่วโลก เพื่อโปรโมตให้สงฆ์คาทอลิกแต่งงานมีครอบครัวได้ ทุกวันนี้ ชาวแซมเบียจำนวนมากยังรักและศรัทธา มิลินโก้ อย่างไม่เสื่อมคลาย หลายคนหันหลังให้พระศาสนจักรและไปร่วมกับลัทธิของมิลินโก้ สิ่งดังกล่าว ท้าทายความเชื่อความศรัทธาที่ถูกต้องเกี่ยวกับสงฆ์ของพระเยซูคริสต์เป็นอย่างมาก พระสันตะปาปาจึงตัดสินพระทัยสถาปนา พระอัครสังฆราช เมดาร์โด้ มาซอมเว่ พระอัครสังฆราชเกษียณอายุแห่งอัครสังฆมณฑลลูซาก้า ให้เป็นพระคาร์ดินัล (ในอดีต มิลินโก้ เป็นพระอัครสังฆราชปกครองอัครสังฆมณฑลนี้) โดยพระสันตะปาปาทรงหวังว่า ตำแหน่งพระคาร์ดินัลที่มอบให้ จะช่วยให้ พระอัครสังฆราชมาซอมเว่ เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจและเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกต้องของสงฆ์คาทอลิกให้ชาวแซมเบีย ได้เห็นเป็นแบบอย่าง 

ส่วนการที่ พระสันตะปาปา ทรงสถาปนาพระคาร์ดินัลจากเอกวาดอร์ (พระอัครสังฆราช ราอูล เอดูอาร์โด้ เบล่า คิริโบก้า) นักข่าวสายวาติกันวิเคราะห์ว่า น่าจะเกิดจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่สงบ อันเนื่องมาจากผู้นำประเทศไร้ศีลธรรมในการปกครอง พระสันตะปาปาจึงสถาปนาพระคาร์ดินัลชาวเอกวาดอร์ เพื่อให้พระคาร์ดินัลองค์ใหม่เป็นที่พึ่งทางศีลธรรมให้กับประชาชนในประเทศ อาทิ เป็นกระบอกเสียงพระสันตะปาปา เวลาที่ผู้นำประเทศทำผิดศีลธรรม

ทั้งหมดก็เป็นบทวิเคราะห์เจาะลึกเกี่ยวกับการสถาปนาพระคาร์ดินัลใหม่ 24 องค์ หวังว่า บทความนี้ จะช่วยผู้อ่านมองเห็นภาพกว้างๆในการบริหารพระศาสนจักร และเข้าใจแนวคิดของสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 มากขึ้น ไม่มากก็น้อย   .......



                                                      AVE   MARIA



Comments

  1. ข้อสังเกตุสีแดง ทั้งเน้น ทั้งย้ำซะขนาดนั้น

    แจ่มแจ้งกระจ่างใจมล กันเรยทีเดียว ^^

    ReplyDelete

Post a Comment