วาติกันจัดประชุมสื่อมวลชนคาทอลิกโลก


ที่ประชุมสื่อมวลชนคาทอลิกโลก ชี้ ปัญหางบประมาณ, คริสตังความเชื่อลดลง และการเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายขึ้นทำให้คนรู้เรื่องพระศาสนจักรแบบผิดๆ ล้วนเป็นปัญหาท้าทายสื่อมวลชนคาทอลิกเป็นอย่างยิ่ง พร้อมกันนี้ ยังกระตุ้นสื่อคาทอลิกทุกสำนัก ช่วยกันปกป้องพระสันตะปาปาจากการถูกกล่าวหาแบบไม่เป็นธรรม




เมื่อวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา พระอัครสังฆราช เคลาดิโอ เชลลี่ ประธานสมณสภาสื่อสารสังคม ได้เป็นประธานเปิดการประชุมสื่อมวลชนคาทอลิกโลก ซึ่งจัดที่นครรัฐวาติกัน ระหว่างวันที่ 4-7 ตุลาคม 2010 โดยการประชุมดังกล่าว มีสื่อมวลชนคาทอลิกกว่า 250 คน จาก 89 ประเทศเข้าร่วม ในส่วนของประเทศไทย มีผู้แทนเข้าร่วมคือ คุณพ่ออนุชา ไชยเดช, คุณพ่อภราดร อุ่นจตุรพร และ คุณวัชรี กิจสวัสดิ์

ช่วงเริ่มต้นการประชุม พระอัครสังฆราชเชลลี่ ได้กล่าวกับผู้เข้าร่วมสัมมนาในห้องประชุมนักบุญปีโอ ที่ 10 ใจความสำคัญว่า "สื่อมวลชนคาทอลิกต้องมีมุมมองที่ชัดเจน เกี่ยวกับพันธกิจและบทบาทของตนในพระศาสนจักรและสังคม เราต้องมองว่า เราจะทำอย่างไรในการช่วยผู้คนเผชิญหน้ากับความวิตกกังวล รวมถึงช่วยให้เขาค้นพบความต้องการแท้จริงบนแก่นของความเป็นคาทอลิก"

นอกจากนี้ หัวเรื่อใหญ่สมณสภาสื่อสารสังคม ยังย้ำว่า "หน้าที่สำคัญของสื่อมวลชนคาทอลิกก็คือการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำเกี่ยวกับศาสนา เฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่สื่อมวลชนทั่วไปรายงานและก่อให้เกิดความสับสนกับสังคม"

จากนั้น ได้มีการเชิญวิทยากร 4 คน มาร่วมเสวนาทิศทางของสื่อมวลชนคาทอลิก วิทยากรทั้งสี่ประกอบไปด้วย เคร็ก เอร์แลนด์สัน ประธานสำนักพิมพ์ เอาเวอร์ ซันเดย์ วิซิเตอร์ (Our Sunday Visitor) จากสหรัฐอเมริกา, เอมี่ มิตแชล รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศของนักหนังสือพิมพ์, มิเชล พรูลเลอร์ รองผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ เดีย เพรสเซ่ จากประเทศออสเตรีย และ มาร์โก้ ตาร์กวีนโอ ผู้อำนวยการข่าวของ "อัฟเวนิเร่" หนังสือพิมพ์ในการดูแลของสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศอิตาลี

เคร็ก เอร์แลนด์สัน ประธานสำนักพิมพ์ เอาเวอร์ ซันเดย์ วิซิเตอร์ ได้กล่าวถึงความยากลำบากที่สื่อมวลชนคาทอลิกต้องประสบในเชิงงบประมาณ ใจความว่า "ต้องยอมรับว่า วิกฤติการณ์การเงินโลกครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทุกภาคส่วน รวมทั้งอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ ยิ่งไปกว่านั้น สื่อสิ่งพิมพ์คาทอลิกได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไม่เพียงเพราะวิกฤติการณ์การเงินเท่านั้น แต่เป็นเพราะคริสตังไม่สนใจอ่านหนังสือคริสตังด้วยกันเอง คริสตังสมัยนี้มีความรู้เกี่ยวกับความเชื่อน้อยลงมากๆ ผลที่ตามมาก็คือเอกลักษณ์ความเป็นคาทอลิกก็ลดลงตามไปด้วย ขณะเดียวกัน การที่อินเตอร์เน็ทเข้ามามีบทบาทในการสื่อสาร ก็ทำให้หนังสือพิมพ์สูญเสียรายได้ไปเยอะ อินเตอร์เน็ทช่วยให้คริสตังเข้าถึงข่าวสารได้ง่ายขึ้นและเป็นการเข้าถึงแบบประหยัดงบประมาณของตน นี่จึงเป็นเหตุผลให้สิ่งพิมพ์คาทอลิกต้องปรับตัวอย่างมาก"

นอกจากนี้ เอร์แลนด์สัน ยังกล่าวถึงปัญหาสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศ โดยย้ำว่า วิกฤติดังกล่าวได้ท้าทายพระศาสนจักรให้เปลี่ยนแนวทางการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น "ตอนนี้ บรรดาผู้นำในพระศาสนจักรต่างทราบดีว่า สัตบุรุษของตนรับรู้ข่าวสารต่างๆที่เกิดในพระศาสนจักรได้ง่ายขึ้น พวกเขาไม่ได้ทราบข่าวจากสื่อมวลชนของพระศาสนจักร แต่ทราบจากสื่อมวลชนทั่วไป ซึ่งสื่อเหล่านี้ บ่อยครั้งเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้ มันจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ผู้นำในพระศาสนจักรต้องปรับตัว ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ปัญหาสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศจะช่วยผู้นำในพระศาสนจักร เกิดความเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าของสื่อมวลชนคาทอลิกในการเป็นกระบอกเสียงรายงานข้อมูลที่ถูกต้อง ถ้าพวกผู้นำพระศาสนจักรอนุญาตให้สื่อมวลชนคาทอลิกทำงานด้วยความซื่อสัตย์และโปร่งใส พวกเขา(ผู้นำในพระศาสนจักร)ก็จะได้รับความน่าเชื่อถือไปตราบนานเท่านาน"

ทางด้าน เอมี่ มิตแชล รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศของนักหนังสือพิมพ์ ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการขายโฆษณาบทสื่อสิ่งพิมพ์ว่า "จากผลการสำรวจการสมัครสมาชิกหนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา พบว่า ตัวเลขการบอกรับเป็นสมาชิกลดลงทุกปี สิ่งนี้กระทบรายได้จากการขายโฆษณาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกัน ผลสำรวจยังบอกอีกว่า ในแต่ละวัน ผู้บริโภคจะติดตามข้อมูลข่าวสาร เฉลี่ยวันละ 2 สื่อ สิ่งนี้ ทำให้เม็ดเงินโฆษณาในวงการหนังสือพิมพ์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะผู้ลงโฆษณาแบ่งงบไปประชาสัมพันธ์ในสื่ออื่นๆ อาทิ อินเตอร์เน็ท"

มิตแชล ยังได้ระบุถึงบทบาทของสื่อมวลชนบนโลกอินเตอร์เน็ท โดยย้ำว่า นักข่าวต้องเป็นผู้บริการข่าวสารที่ถูกต้องให้ผู้อ่าน เฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารหาอ่านได้ง่านอย่างกับการซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อ

"บนโลกของนิวมีเดีย อาชีพนักข่าวและเนื้อหาข่าวไม่ใช่สินค้า แต่นักข่าวเป็นผู้บริการข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้กับผู้อ่าน นักข่าวต้องบริการข้อมูลด้วยความถูกต้องน่าเชื่อถือ และต้องรายงานข่าวด้วยแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ตอนนี้ มีศูนย์ข่าวเกิดขึ้นมากมายราวกับดอกเห็ด ดังนั้น พระศาสนจักรต้องฝึกฝนและอบรมนักข่าวของคนให้สามารถนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้อ่าน รวมทั้งฝึกพวกเขาให้ถามคำถามที่ถูกต้องตรงประเด็น เพื่อช่วยให้คนทั่วไปเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น"

"จริงอยู่ที่ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โลกของนักหนังสือพิมพ์เปลี่ยนไปมาก แต่กระนั้น หลักการพื้นฐานของอาชีพนักข่าวก็ไม่ได้เปลี่ยนไป จรรยาบรรณเรื่องความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใสยังคงอยู่เหมือนเดิม ทุกวันนี้ ผู้บริโภคข่าวสารมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้และรู้จักแยกแยะเป็นว่า ข่าวแต่ละชิ้นเป็นอย่างไร พวกเขามีความสามารถในการเข้าหาแหล่งข้อมูลอย่างน่าทึ่ง เวลาอ่านข่าว พวกเขาจะอ่านจากหลายสำนักและนำมาวิเคราะห์ว่า สำนักข่าวไหนรายงานข่าวน่าเชื่อถือหรือไม่น่าเชื่อถือ ดังนั้น การรายงานข่าวคาทอลิก เราต้องรายงานตามความจริงที่เกิด อย่ารายงานแบบเอาเร็วเข้าว่า เหมือนที่หลายสำนักข่าวทำกัน"

ขณะที่ มิเชล พรูลเลอร์ รองผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ เดีย เพรสเซ่ จากประเทศออสเตรีย ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ โดยย้ำว่า ไม่ว่าสื่อออนไลน์จะดังระเบิดขนาดไหนก็ตาม เราต้องอย่ามองข้ามความสำคัญของสื่อสิ่งพิมพ์เป็นอันขาด เพราะเวลาขายโฆษณา สื่อสิ่งพิมพ์ขายง่ายกว่าสื่ออินเตอร์เน็ทหลายเท่าตัว

"ผมยังมองในแง่ดีว่า สื่อสิ่งพิมพ์ยังมีอนาคตที่จะโตต่อไปได้ จริงอยู่ที่ตอนนี้สื่อมวลชนคาทอลิกกำลังมองหาลู่ทางใหม่ๆ ในการสร้างรายได้จากการขายโฆษณาออนไลน์ แต่ผมอยากจะบอกว่ามันเป็นเรื่องโง่มาก ถ้าเราจะตัดสื่อสิ่งพิมพ์คาทอลิกทิ้งไป เพียงเพราะเหตุผลแค่ว่ามันกำลังจะตาย แม้ว่า สิ่งพิมพ์คาทอลิกจะประสบปัญหาขาดทุนตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แต่ผมขอย้ำว่า มันง่ายกว่าเยอะที่คุณจะสร้างรายได้จากการขายโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์มากกว่าสื่อออนไลน์"

ปิดท้ายกันที่ มาร์โก้ ตาร์กวีนโอ ผู้อำนวยการข่าวของ "อัฟเวนิเร่" หนังสือพิมพ์ในการดูแลของสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศอิตาลี โดย ตาร์กวีนโอ ได้ขอร้องให้สื่อมวลชนคาทอลิกทั่วโลก ร่วมมือกันปกป้องความถูกต้องและปกป้อง สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 จากการถูกสื่อมวลชนทั่วไปใส่ร้ายป้ายสีแบบไม่เป็นธรรม

"หน้าที่ของสื่อมวลชนคาทอลิกคือการรายงานความถูกต้องซึ่งสื่อมวลชนทั่วไปมองข้าม ต้องยอมรับว่า มีเรื่องราวดีๆมากมายที่สื่อมวลชนเหล่านี้เมินเฉยและไม่นำไปถ่ายทอดสู่สาธารณชน ดังนั้น เราซึ่งเป็นสื่อมวลชนคาทอลิกต้องท้าทายตัวเองให้กล้านำเสนอสิ่งเหล่านี้สู่สังคม หนึ่งในสิ่งสำคัญที่เราต้องทำก็คือการออกมาปกป้อง สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 จากการกล่าวหาแบบไม่เป็นธรรม เราต้องร่วมกันถ่ายทอดพระดำรัสสอนเกี่ยวกับสัจธรรมความจริง ให้กับสังคมที่ยังสงสัยในความจริงได้รับรู้" ผู้อำนวยการข่าวของ "อัฟเวนิเร่" กล่าวย้ำ

อนึ่ง การประชุมสื่อมวลชนคาทอลิกโลก จะสิ้นสุดในวันที่ 7 ตุลาคม โดยวันดังกล่าว สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 จะเสด็จออกมาพบปะและให้โอวาทกับผู้เข้าร่วมประชุมด้วย






Comments