"พ่อลอมบาร์ดี้" ย้ำพระศาสนจักรต้องโปร่งใสและน่าเชื่อถือ


คุณพ่อเฟเดริโก้ ลอมบาร์ดี้ บอสใหญ่สื่อมวลชนวาติกัน ย้ำ พระศาสนจักรคาทอลิกต้องซื่อสัตย์และโปร่งใสเกี่ยวกับกรณีสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศ ชี้ การปกปิดเรื่องดังกล่าวส่งผลเสียหายใหญ่หลวงให้กับพระศาสนจักร ส่วน จอห์น เธวิส หัวหน้าผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ "คาทอลิก นิวส์ เซอร์วิส" ประจำกรุงโรม ยอมรับเป็นกังวลถึงขอบเขตการสื่อสารข่าวคาทอลิกที่จำกัดอยู่ในวงแคบ ขณะที่ โจวานนี่ เวียน บ.ก.ลอสแซร์วาตอเร่ โรมาโน่ หนังสือพิมพ์วาติกัน หวังเห็นสื่อมวลชนคาทอลิกรายงานข่าวสารบ้านเมืองบ้าง ไม่ใช่เจาะลึกแต่ข่าวคาทอลิกอย่างเดียว ทางด้าน คุณพ่อภราดร อุ่นจตุรพร สงฆ์ไทยที่ร่วมประชุม เผย คริสตังไทยทำหน้าที่เป็นประจักษ์พยานผ่านทางการเล่น "เฟซบุ๊ค" มากขึ้นเรื่อยๆ




วันอังคารที่ 5 ตุลาคมซึ่งเป็นวันที่สองของการประชุมสื่อมวลชนคาทอลิกโลก ยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้น โดยวันนี้ หัวข้อการบรรยายในช่วงเช้า มีว่า "สื่อมวลชนคาทอลิกจะรายงานข่าวสู่สาธารณชนได้อย่างไร" โดยมีทีมวิทยากรได้แก่ คุณพ่อเฟเดริโก้ ลอมบาร์ดี้ บอสใหญ่สื่อมวลชนวาติกัน, จอห์น เธวิส หัวหน้าผู้สื่อข่าวจากเว็บไซต์ "คาทอลิก นิวส์ เซอร์วิส" ศูนย์ข่าวในการบริหารของสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งสหรัฐอเมริกา และ โจวานนี่ เวียน บรรณาธิการบริหารแห่ง "ลอสแซร์วาตอเร่ โรมาโน่" หนังสือพิมพ์ประจำนครรัฐวาติกัน

คุณพ่อลอมบาร์ดี้ ได้ให้ข้อคิดว่า คดีล่วงละเมิดทางเพศในพระศาสนจักร ถือเป็นบทเรียนล้ำค่าสอนให้สื่อมวลชนคาทอลิกต้องรายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใส เพราะยิ่งใสสะอาดมากเท่าไหร่ คนทั่วไปก็จะศรัทธาและเชื่อใจมากเท่านั้น

"วิกฤติสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศคือบททดสอบอันสาหัสสำหรับพระศาสนจักรคาทอลิก มันเป็นการท้าทายว่า พระศาสนจักรจะเปิดกว้างและซื่อสัตย์ต่อโลกเกี่ยวกับความล้มเหลวของสมาชิกตนเองได้หรือไม่ วิกฤติที่เกิดทำให้คนทั่วไปสูญเสียความวางใจต่อพระศาสนจักรอย่างใหญ่หลวง ทั้งในด้านความยุติธรรม รวมไปถึงการถูกมองในแง่ลบว่าปกปิดปัญหา"

"กระนั้นก็ตาม ความเสียหายนี้สามารถฟื้นฟูได้ด้วยคุณงามความดี เหมือนที่ สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ได้ตรัสไว้บนเครื่องบินที่ประทับ ระหว่างเดินทางไปสกอตแลนด์ ว่า ถ้าเราเดินบนหนทางแห่งความชอบธรรมและปฏิรูปตัวเองเสียใหม่ เรื่องร้ายๆแบบนี้ก็จะไม่เกิด หนทางเดียวที่เราจะส่งเสริมความเป็นเอกภาพท่ามกลางปัญหาเหล่านี้ รวมไปถึงปกป้องเสรีภาพในการประกาศความจริงในพระศาสนจักรให้คนทั่วไปได้รู้ก็คือ พระศาสนจักรจะต้องโปร่งใสและน่าเชื่อถือ วิกฤติสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้น ก็คือบททดสอบขั้นพื้นฐานของงานข่าว มันคือการทดสอบความน่าเชื่อถือของพระศาสนจักร และความสามารถในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้"

ย้อนกลับไปไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อมวลชนทั่วไปได้รายงานข่าว ธนาคารวาติกัน โดน ธนาคารกลางของอิตาลี สอบข้อหาฟอกเงิน เรื่องนี้ทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยว่า วาติกันทุจริตทางการเงินใช่หรือไม่ คุณพ่อลอมบาร์ดี้ ได้นำเรื่องนี้มาเป็นกรณีศึกษาว่า "พระศาสนจักรต้องเรียนรู้ที่จะเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายตรวจสอบความโปร่งใส พระศาสนจักรต้องเรียนรู้ที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆ เพราะตอนนี้ มีคนมากมายทั่วโลกยังคงมีความคิดว่า วาติกันรวยล้นฟ้าเหลือเกิน พระศาสนจักรต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้คนทั่วไปเกิดความมั่นใจว่า พระศาสนจักรซื่อสัตย์และทำงานเพื่อผู้ยากไร้ พระศาสนจักรต้องพร้อมที่จะแสดงบัญชี, ที่มาที่ไปของเงิน และการใช้เงินให้กับทุกฝ่ายได้เห็นและรับรู้ พระศาสนจักรต้องพร้อมที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า เงินเหล่านี้ได้มาแบบถูกต้องตามกฏหมายและโปร่งใส"

ทางด้าน จอห์น เธวิส หัวหน้าผู้สื่อข่าวจากเว็บไซต์ "คาทอลิก นิวส์ เซอร์วิส" ประจำกรุงโรม ได้แบ่งปันต่อที่ประชุมเกี่ยวกับประสบการณ์การรายงานข่าว "สงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศในสหรัฐอเมริกา" ซึ่งผลจากการที่บรรดาพระสังฆราชชาวอเมริกัน ปกปิดข่าวฉาวไว้นานๆ ทำให้สังฆมณฑลมากมายต้องประสบชะตากรรมล้มละลาย จากการถูกฟ้องร้องคดีสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศ โดย เธวิส ย้ำว่า ช่วงแรกๆ สื่อมวลชนคาทอลิกในอเมริกา ลังเลกันว่า จะรายงานดีหรือไม่ แต่สุดท้ายแล้ว ทุกคนยึดความถูกต้อง ตัดสินใจรายงานข่าวพวกนี้ด้วยความตรงไปตรงมา

เธวิส กล่าวว่า "ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นักข่าวคาทอลิกในสหรัฐอเมริกาได้เรียนรู้อะไรเยอะมากเกี่ยวกับการรายงานข่าวสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศ ย้อนกลับไปช่วงต้นทศวรรษที่ 90 หนังสือพิมพ์คาทอลิกในอเมริกาหลายแห่ง ต่างได้รับข้อมูลที่พระสังฆราชและพระสงฆ์คาทอลิกบางองค์ ก่อคดีล่วงละเมิดทางเพศ แต่ตอนนั้น เรากล้าๆกลัวๆว่า จะรายงานมันออกไปดีหรือไม่ กระทั่งเรื่องอื้อฉาวพวกนี้มันมาถึงจุดวิกฤติสุดๆในปี 2002 (ร้ายแรงถึงขั้น ซีเอ็นเอ็น รายงานข่าวแบบเกาะติด จน สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ต้องเรียกพระสังฆราชคาทอลิกอเมริกันทุกองค์ มาพบ เพื่อสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น) นั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ พวกเราสื่อมวลชนคาทอลิกอเมริกันต่างมีความรู้สึกเจ็บปวด เมื่อต้องรายงานสิ่งเหล่านี้ออกไปสู่สาธารณชน"

จากคดีสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นในยุโรป ในปี 2010 สื่อมวลชนทั่วไป เฉพาะอย่างยิ่งหนังสือพิมพ์ ได้โจมตี สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 อย่างหนักว่า แก้ปัญหาอย่างไม่โปร่งใส แต่ถ้าคนที่รู้เรื่องๆจริงๆจะทราบกันดีว่า คนที่สมควรโดนตำหนิจริงๆ ไม่ใช่พระสันตะปาปา แต่ต้องเป็นพระสังฆราชท้องถิ่นที่เกิดคดีความ เพราะพวกเขาเหล่านี้คือคนกลุ่มแรกที่ทราบปัญหาและรู้ว่าต้องแก้อย่างไร ส่วนพระสันตะปาปานั้น พระองค์จะเป็นคนท้ายๆที่ทราบเรื่อง เพราะกว่าเรื่องจากท้องถิ่นจะถูกส่งขึ้นมายังวาติกัน มันต้องผ่านการรายงานเป็นทอดๆ

เธวิส ได้แบ่งปันเรื่องนี้ต่อที่ประชุมว่า "นี่คือสิ่งที่ผมกังวล เพราะการสื่อสารของนักข่าวคาทอลิกมีขอบเขตจำกัด การรายงานข่าวของเราไม่สามารถเข้าถึงผู้รับสารกลุ่มใหญ่ได้ เนื่องจากเรามีกลุ่มผู้รับสารที่จำกัดวงแค่คาทอลิก เรื่องสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดนั้น มันไม่ถูกที่สื่อมวลชนทั่วไปพุ่งเป้าโจมตีที่พระสันตะปาปา พวกเราสื่อมวลชนคาทอลิกต่างรู้ดีว่า พระสันตะปาปาทรงมีความตั้งใจและความอดทนในการแก้ปัญหาอย่างไร พระองค์ทรงจริงจังกับเรื่องนี้มาก"

ขณะที่ โจวานนี่ เวียน บรรณาธิการบริหารแห่ง "ลอสแซร์วาตอเร่ โรมาโน่" หนังสือพิมพ์ประจำนครรัฐวาติกัน ก็แบ่งปันว่า สื่อมวลชนคาทอลิกต้องไม่ปิดตัวรายงานเฉพาะข่าวภายในเท่านั้น แต่ข่าวสารทางโลก เราก็ต้องสนใจและร่วมรายงาน โดยการใส่ "มุมมองคริสตัง" ลงไป เหมือนที่ ลอสแซร์วาตอเร่ โรมาโน่ และ สถานีวิทยุวาติกัน แสดงให้เห็น (ทั้ง ลอสแซร์วาตอเร่ โรมาโน่ และ สถานีวิทยุวาติกัน มีรายงานข่าวครอบคลุมทั้งพระศาสนจักรคาทอลิกและข่าวสารรอบโลก ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือสถานีวิทยุวาติกัน มีการรายงานข่าว "วิคเตอร์ บูท" พ่อค้าอาวุธสงครามชาวรัสเซียซึ่งถูกจับกุมในประเทศไทย และการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินใน 3 จังหวัดของไทย ซึ่งข่าวดังกล่าว อาจารย์ชัยณรงค์ มณเฑียรวิเชียรฉาย เป็นผู้รายงาน)

บ.ก. หนังสือพิมพ์ประจำนครรัฐวาติกัน กล่าวว่า "เป้าหมายของสื่อมวลชนคาทอลิกคือการเป็นแหล่งข้อมูลและศูนย์ข่าว เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้สิ่งที่เกิดกับพระศาสนจักรและโลก สิ่งที่ทำให้หนังสือพิมพ์คาทอลิกต่างจากหนังสือพิมพ์ทั่วไปก็คือ เราใส่มุมมองคาทอลิกลงไปในเนื้อหา สื่อมวลชนคาทอลิกต้องพยายามพูดกับคนภายนอกพระศาสนจักรด้วยไมตรีจิตรให้มากขึ้น เราต้องสื่อสารกับทุกภาคส่วนในพระศาสนจักรและสังคมภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะถ้าเราพูดแต่ภาษาที่เราเข้าใจ (ภาษาคาทอลิก) เราก็จะไม่ได้ยินเรื่องราวของคนภายนอกเลย"

ในส่วนความคิดเห็นและการแบ่งปันจากผู้เข้าร่วมประชุม ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุวาติกัน ได้ไปสัมภาษณ์ คุณพ่อภราดร อุ่นจตุรพร อดีตนักศึกษาคณะสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยซาเลเซียน (กรุงโรม) ถึงการใช้สื่อออนไลน์ในการประกาศแพร่ธรรม โดยคุณพ่อภราดรได้โปรโมท เฟซบุ๊ค "อุดมสารแฟนคลับ" ด้วย

คุณพ่อภราดร กล่าวว่า "ใช่แล้ว สื่ออินเตอร์เน็ทมีส่วนช่วยในการแพร่ธรรม มันเป็นการช่วยแบบค่อยเป็นค่อยไป ตอนนี้ เรามีหน้าแฟนเพจบนเฟซบุ๊ค ชื่อ อุดมสารแฟนคลับ นี่เป็นสังคมเล็กๆที่คริสตชนไทยได้เข้ามาเป็นประจักษ์พยานยืนยันความเชื่อผ่านทางเฟซบุ๊ค แน่นอนว่า มีคนที่ไม่ได้เป็นคาทอลิกเข้ามาร่วมแบ่งปันกิจกรรมในสังคมนี้ด้วยเช่นกัน"

อนึ่ง การประชุมสื่อมวลชนคาทอลิกโลก จะสิ้นสุดในวันที่ 7 ตุลาคม โดยวันดังกล่าว สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 จะเสด็จออกมาพบปะและให้โอวาทกับผู้เข้าร่วมประชุมด้วย



Comments