โป๊ปทรงห่วงศาสนาจะกลายเป็นส่วนเกินในสังคมตะวันตก


สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ประมุขพระศาสนจักรคาทอลิก ทรงแสดงความวิตก คริสตศาสนาอาจกลายเป็นส่วนเกินในสังคมตะวันตก ทรงย้ำ ศาสนาไม่ใช่ปัญหาสังคม แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันรักษาให้อยู่คู่สังคมตลอดไป





เมื่อช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ได้เสด็จไปยังพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ เพื่อพบปะและกล่าวสุนทรพจน์แก่บรรดาผู้แทนฝ่ายพลเรือน, นักการทูต, นักธุรกิจ, นักวิชาการ และผู้แทนฝ่ายวัฒนธรรมแห่งสหราชอาณาจักร กว่า 2,000 คน ในส่วนใจความสำคัญของสิ่งที่ พระสันตะบิดรผู้ศักดิ์สิทธิ์ ตรัสนั้น พระองค์ทรงกล่าวสอนเกี่ยวกับ จะทำอย่างไร เพื่อให้ความเชื่อทางศาสนา ชี้นำการตัดสินใจกระบวนการทางการเมือง เช่นเดียวกับการย้ำเตือนให้ระวังว่า ศาสนาคริสต์กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะกลายเป็นส่วนเกินในโลกตะวันตก

ทันที่พระสันตะปาปาเสด็จมาถึง ทุกคนได้หอประชุมได้ลุกขึ้นปรบมือถวายแด่พระองค์ การกล่าวสุนทรพจรน์ในวันนี้ ได้รับการถ่ายทอดสดไปทั่วเกาะอังกฤษ รวมไปถึงช่อง "บีบีซี" (BBC) ด้วย จากนั้น พระสันตะปาปา ทรงเริ่มต้นสุนทรพจน์ ด้วยการตรัสถึง "นักบุญโทมัส มอร์" รัฐบุรุษของอังกฤษ ซึ่งถูก พระเจ้าเฮนรี่ ที่ 8 ตัดสินประหารชีวิต พร้อมทรงตั้งคำถามชวนคิดว่า เรามีสิทธิ์ลงโทษคนที่มีความเชื่อต่างศาสนาได้หรือ

พระสันตะปาปา ตรัสว่า "ภายในพระราชวังเวสต์มินสเตอร์แห่งนี้ นักบุญโทมัส มอร์ รัฐบุรุษของอังกฤษ ได้ถูก พระเจ้าเฮนรี่ ที่ 8 ตัดสินประหารชีวิต เนื่องจากคัดค้าน พระเจ้าเฮนรี่ ที่ประกาศแยกตัวออกจากพระศาสนจักรคาทอลิก การถูกตัดสินโทษนี้ สะท้อนให้เห็นถึงข้อโต้แย้งซึ่งถูกเถียงกันมานานว่า ผู้บริหารประเทศสามารถกำหนดบทลงโทษพลเมือง ในเรื่องความเชื่อทางศาสนา ได้อย่างไรกัน"

จากนั้น พระสันตะปาปาชาวเยอรมัน ได้ตรัสย้ำว่า ศาสนาช่วยให้การเมืองเปี่ยมด้วยศีลธรรม นอกจากนี้ ศาสนายังช่วยให้สังคมสงบสุข มิใช่เป็นเครื่องมือสร้างความรุนแรง อย่างที่บางคนพยายามบิดเบือนหลักคำสอนแท้จริงของศาสนา

"พระศาสนจักรได้สอนจริยธรรมขั้นพื้นฐานให้กับภาคการเมือง พระศาสนจักรไม่ได้บังคับให้การเมืองนำคำสอนนี้ไปบังคับใช้เป็นมาตรฐานสังคม แต่เราสอนเพื่อส่งเสริมให้การเมืองตั้งมั่นอยู่บนบทบาทที่ถูกต้อง มันเป็นความจริงที่ว่า บางสังคมไม่เปิดประตูต้อนรับศาสนา เนื่องจากคำสอนที่พวกเขาได้รับ อาจถูกบิดเบือนไป พวกเขามองว่า ศาสนาทำให้เกิดปัญหาสังคม อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าขอกล่าวย้ำว่า ศาสนาไม่ได้เป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาสังคม ทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดีและรักสันติภาพ ฉะนั้น เราไม่ควรมาถกเถียงและหาเหตุกีดกันศาสนิกชนในการปฏิบัติศาสนกิจ"

ผู้นำชาวคาทอลิก ยังได้ตรัสเตือนทุกฝ่ายเกี่ยวกับปัญหาคนละทิ้งพระเจ้า และมองว่า ศาสนาไม่ใช่เรื่องจำเป็นในการดำเนินชีวิต โดยทรงตำหนิบางประเทศ ที่สั่งห้ามไม่ให้มีการฉลองวันคริสต์มาส เพียงเพราะเหตุผลไร้น้ำหนัก แค่ว่า "รุกรานสิทธิของคนที่นับถือศาสนาอื่นๆ รวมไปถึงคนที่ไม่มีศาสนา"

ประมุขพระศาสนจักรคาทอลิก ตรัสว่า "ทุกวันนี้ ศาสนากำลังกลายเป็นส่วนเกินในสังคมตะวันตก เฉพาะอย่างยิ่ง ศาสนาคริสต์ ปัญหานี้ เกิดขึ้นกับทุกประเทศในยุโรป หนึ่งในตัวอย่างชัดเจน ก็คือ บางประเทศสั่งห้ามไม่ให้มีการเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสในที่สาธารณะ เนื่องจาก พวกเขากลัวว่า มันจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลของคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ รวมไปถึงคนที่ไม่มีศาสนา ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับการสั่งห้ามนี้ ข้าพเจ้ามั่นใจว่า มันเป็นความล้มเหลวของสังคมก็ว่าได้ ถ้าหากเราจะมาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ด้วยการออกกฏหมายควบคุมการปฏิบัติศาสนกิจในที่สาธารณะ"

ตอนท้าย พระสันตะปาปา ทรงเรียกร้องทุกฝ่าย ให้ความช่วยเหลือกับประเทศยากจน พระองค์ตรัสว่า "วิกฤติเศรษฐกิจครั้งล่าสุด ได้ส่งผลกระทบต่อคนหลายล้านทั่วโลก ข้าพเจ้าจึงขอให้ทุกฝ่าย เอาใจใส่และให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ เฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาประเทศยากไร้ ข้าพเจ้าได้เห็นบางประเทศและบางหน่วยงาน ดำเนินการยกหนี้ให้กับประเทศยากจน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งน่าชื่นชมมาก ข้าพเจ้าหวังว่า การกระทำแบบนี้ จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้ทุกฝ่ายได้นำไปปฏิบัติต่อไป"

หลังการกล่าวสุนทรพจน์จบลง พระสันตะปาปาได้เสด็จต่อไปยัง อารามเวสต์มินสเตอร์ เพื่อเป็นประธานในวจนพิธีกรรมคริสตศาสนสัมพันธ์ต่อไป

อนึ่ง บรรดาบุคคลชื่อดังที่มาเข้ารับฟังพระสันตะปาปาในวันนี้ มีชื่อของอดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ 3 คน อันประกอบไปด้วย "โทนี่ แบลร์" ซึ่งปัจจุบัน ได้เปลี่ยนจากการนับถือนิกายแองกลิกันมาเป็นคาทอลิก, กอร์ดอน บราวน์ และ "นางหญิงเหล็ก" มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ 




           



Comments