โป๊ปรับพระศาสนจักรนิ่งนอนใจเกินไปกับปัญหาสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศ


สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ผู้นำชาวคาทอลิกทั่วโลก ทรงยอมรับ พระศาสนจักรนิ่งนอนใจเกินไปกับปัญหาสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศ จนทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างเชื่องช้า นอกจากนี้ ทรงพร้อมอดทนและให้อภัย เมื่อต้องเผชิญหน้ากับ "กระแสต่อต้านความเป็นคาทอลิก" ที่มีมาช้านานในประวัติศาสตร์สกอตแลนด์และอังกฤษ


              


ช่วงเช้าวันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ประมุของค์ที่ 265 แห่งพระศาสนจักรคาทอลิก ทรงประทานการสัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวประมาณ 70 คน บนเครื่องบินพระที่นั่ง ก่อนออกเดินทางสู่กรุงเอดินเบอระ ประเทศสกอตแลนด์ เพื่อปฏิบัติพันธกิจการเยือนสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 16-19 กันยายน โดยคำถามที่ พระสันตะบิดรผู้ศักดิ์สิทธิ์ ทรงตอบ ประกอบไปด้วยเรื่องสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศ และกระแสต่อต้านคาทอลิกที่กำลังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆในสังคมเกาะอังกฤษ

หนึ่งในคำถามสำคัญที่ทุกคนต้องการรู้ให้ได้ ก็คือ พระสันตะปาปาทรงคิดอย่างไรกับปัญหาสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นแผลร้ายทำลายพระศาสนจักรคาทอลิกทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ผู้สื่อข่าวได้กราบทูลถามพระสันตะปาปาว่า "พระศาสนจักรจะกอบกู้ความวางใจจากสัตบุรุษอย่างไร จากกรณีสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศ"

พระสันตะปาปา ทรงหยุดนิ่งสักพัก ก่อนจะทรงตอบด้วยน้ำเสียงเคร่งเครียดว่า "ก่อนอื่น พ่อต้องบอกก่อนเลยว่า พ่อรู้สึกช็อกมาก เมื่อเรื่องราวเหล่านี้ได้ถูกเปิดเผยออกมา มันเป็นเรื่องเศร้าแบบสุดๆ ก็ว่าได้ มันเป็นเรื่องยากจะเข้าใจได้จริงๆ ว่า การประพฤติตนออกนอกลู่นอกทางของพระสงฆ์เหล่านี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร มันยากที่จะเข้าใจว่า คนๆหนึ่งจะปฏิบัติตนเหลวไหลได้ถึงเพียงนี้ ทั้งๆที่พวกเขาก็ได้รับการอบรมเตรียมตัวเป็นอย่างดี เพื่อจะเป็นพระสงฆ์และเป็นผู้แทนของพระคริสตเจ้า และมันก็เป็นเรื่องน่าเศร้ายิ่งขึ้นไปอีก เมื่อบรรดาผู้มีอำนาจในพระศาสนจักรต่างนิ่งเฉย ไม่ลงมือทำอะไรสักอย่างกับสิ่งที่เกิดขึ้น บรรดาผู้มีอำนาจเหล่านี้นิ่งนอนใจเกินไป พวกเขาลงมือแก้ปัญหาได้อย่างเชื่องช้า และไม่เด็ดขาดพอที่จะดำเนินการมาตรการลงโทษทางวินัย"

"ด้วยเหตุนี้เอง พระศาสนจักรคาทอลิกจึงเป็นทุกข์ถึงบาปที่ได้กระทำลงไป เราสำนึกผิดต่อสิ่งเหล่านี้ และพยายามอย่างสุดความสามารถในการกอบกู้ความเชื่อความศรัทธาจากบรรดาสัตบุรุษ ถึงตอนนี้ หน้าที่สำคัญสุดของพระศาสนจักรคาทอลิกทั่วโลก ก็คือ การเยียวยาผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ให้กลับมาพบและวางใจในพระเจ้าอีกครั้ง ส่วนหน้าที่รองลงไป ก็คือ การให้ความเป็นธรรมกับสงฆ์ที่ถูกกล่าวหา แต่กระนั้น เราก็จะสั่งห้ามไม่ให้เข้าติดต่อสื่อสารทุกรูปแบบกับบรรดาเยาวชน ซึ่งอาจตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนหน้าที่สำคัญอันดับสาม ก็คือ การสกัดกั้นไม่ให้ผู้ป่วยทางจิต ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ สิ่งนี้ จะช่วยปกป้องบรรดาเด็กๆ จากการตกเป็นเหยื่อ และยังช่วยลดคดีสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วย"

นอกจากนี้ นักข่าวยังทูลถามพระสันตะปาปาเกี่ยวกับกระแสต่อต้านความเป็นคาทอลิก (Anti-Catholicism) ที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมเกาะอังกฤษ โดยก่อนหน้านี้ บีบีซี (BBC) สำนักข่าวชื่อดังระดับโลกของสหราชอาณาจักร ได้ถูกสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งสกอตแลนด์ ออกแถลงการณ์ตำหนิว่า พยายามนำเสนอข่าวคาทอลิกในแง่ลบเพียงอย่างเดียว นักข่าวได้กราบทูลพระสันตะปาปาว่า พระองค์ทรงกังวลหรือไม่ที่จะต้องเผชิญหน้ากับกระแสต่อต้านแบบนี้

พระสันตะปาปา ตรัสตอบในทันทีทันใดว่า "ด้วยความสัตย์จริง พ่อไม่วิตกเรื่องพวกนี้เลย ก่อนหน้านี้ พ่อได้ไปเยือนฝรั่งเศส ประเทศซึ่งมีการต่อต้านพระสงฆ์นักบวชอย่างรุนแรง จนทำให้คริสตังลดลงอย่างน่าใจหาย เช่นเดียวกัน พ่อได้ไปเยือนสาธารณรัฐเช็ค ประเทศซึ่งมีจำนวนคนไม่เชื่อพระเจ้ามากที่สุดในยุโรป แต่ทุกอย่างก็ราบรื่นไปด้วยดี"

"ทุกประเทศในโลกตะวันตก ต่างมีประวัติศาสตร์เป็นของตนเอง แน่นอนว่า ประวัติศาสตร์อังกฤษมีการต่อต้านความเป็นคาทอลิกอย่างรุนแรงและเด่นชัดมาก กระนั้นก็ตาม พวกเขาก็ยังคงมีความเชื่อในพระเจ้าอย่างเข้มแข็ง ดังนั้น พ่อจึงไม่วิตกกับกระแสต่อต้านความเป็นคาทอลิก พ่อพร้อมจะเผชิญหน้ากับมัน ด้วยความเคารพ ความอดทน และการให้อภัย ถึงตอนนี้ พ่อมองไปข้างหน้าด้วยความกล้าหาญและความชื่นชมยินดีที่จะได้ไปเยือนสหราชอาณาจักร" พระสันตะปาปา ตรัสปิดท้ายคำถามนี้

ในส่วนคำถามสุดท้าย นักข่าวได้ถามพระสันตะปาปาเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการเสด็จเยือนครั้งนี้ นอกเหนือไปจากการมาสถาปนา "บุญราศี จอห์น นิวแมน" พระสันตะปาปา ตรัสตอบว่า "พ่อมาเพื่อประกาศพระวรสาร ซึ่งเป็นสารแห่งความรัก สันติภาพ และการให้อภัย พระศาสนจักรคาทอลิกได้ร่วมกับพระศาสนจักรแองกลิกัน ประกาศสิ่งเหล่านี้ ขณะเดียวกัน เรา (พระศาสนจักรคาทอลิกและพระศาสนจักรแองกลิกัน) ยังได้ร่วมกับรัฐบาลสหราชอาณาจักร ต่อสู้กับปัญหาความยากจน ยาเสพติด และโรคระบาดที่เกิดขึ้นกับโลก"

"การเยือนสหราชอาณาจักรครั้งนี้ พ่อไม่ได้มาในฐานะนักการเมือง กระนั้นก็ดี การเมืองและศาสนาก็มีวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งเหมือนกัน นั่นคือ การแบ่งปันความรับผิดชอบในการเสริมสร้างสิ่งดีๆ ให้กับโลก เราร่วมมือกันเพื่อพัฒนาอนาคตของยุโรปและมนุษยชาติให้ดียิ่งขึ้น" พระสันตะปาปา ตรัสปิดท้ายการสัมภาษณ์บนเครื่องบิน



                        Papal Interview on Plane









          ภาพ : GETTY IMAGES, Reuters, Daylife, Pope Report


Comments