ฟาติมาสาร : โป๊ปชนะด้วยวิธี “ให้ใจพูดกับใจ” (ประจำวันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน 2010)


จบลงไปเรียบร้อย สำหรับการเสด็จเยือนสกอตแลนด์และอังกฤษของ สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 งานนี้ บทสรุปออกมาอย่างที่จั่วหัวไป แต่พระสันตะปาปาชนะอย่างไร เราจะไล่เรียงกันเป็นฉากๆ แบบเจาะลึกกันไปเลย   .....




ก่อนการเสด็จเยือนสกอตแลนด์และอังกฤษ สื่อมวลชนเมืองผู้ดีหลายสำนัก พยายามเล่นข่าวมีการต่อต้านพระสันตะปาปาและพระศาสนจักรคาทอลิกในกรณีเกี่ยวกับ “สงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศ” พวกเขายกเหตุผลว่า พระศาสนจักรคาทอลิกแก้ปัญหาเหล่านี้แบบไม่โปร่งใส กล่าวคือ เมื่อมีคดีเกิดขึ้น ก็แก้ปัญหาแบบขอไปที ด้วยการย้ายพระสงฆ์ที่ก่อคดีให้ไกลหูไกลตาผู้คน ประมาณว่า เมื่อเรื่องซาลง ค่อยกลับเข้ามา นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มรักร่วมเพศ กลุ่มสนับสนุนให้ทำแท้งได้ และกลุ่มที่ต่อต้านคาทอลิกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เข้ามาผสมโรงประท้วงด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ มันเลยเข้าทางนักข่าวให้ขยายความแตกประเด็นอย่างไม่รู้จบ

หนึ่งในสำนักข่าวที่ถูกมองว่า จ้องเล่นงานพระศาสนจักรคาทอลิกก็คือ “บีบีซี” (BBC) งานนี้ สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งอังกฤษ, เวลส์ และสกอตแลนด์ อดรนทนไม่ไหวจนต้องทำหนังสือประท้วงว่า กรุณารายงานข่าวตามความเป็นจริง อย่านำเสนอแต่เรื่องร้ายๆอย่างเดียว เพราะเวลาพระสันตะปาปาตรัสสอนอะไรดีๆ พวกคุณนำเสนอนิดเดียว แต่พอเรื่องร้ายๆเกิดขึ้น เล่นประโคมกันเป็นอาทิตย์

สำหรับเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในพระศาสนจักรคาทอลิก พระสันตะปาปาทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ถึง 4 ครั้ง แต่ละครั้งที่ตรัส ถ้าเป็นภาษาวัยรุ่น บอกได้คำเดียวว่า “มันโดน (ใจ) มากกกกก”

ครั้งแรก พระสันตะปาปาตรัสระหว่างการประทานสัมภาษณ์แก่นักข่าวบนเครื่องบิน พระองค์ตรัสว่า “พ่อช็อกมากเมื่อเรื่องพวกนี้ถูกเปิดเผยออกมา มันเป็นเรื่องเศร้าสุดๆก็ว่าได้ มันเป็นเรื่องยากจะเข้าใจว่า การประพฤติตนออกนอกลู่นอกทางของพระสงฆ์เหล่านี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร มันยากจะเข้าใจว่า คนๆหนึ่งจะปฏิบัติตนเหลวไหลได้ถึงเพียงนี้ ทั้งๆที่พวกเขาก็ได้รับการอบรมเตรียมตัวเป็นอย่างดี เพื่อจะเป็นพระสงฆ์และเป็นผู้แทนของพระคริสตเจ้า และมันก็เป็นเรื่องน่าเศร้ายิ่งขึ้นไปอีก เมื่อบรรดาผู้มีอำนาจในพระศาสนจักรต่างนิ่งเฉย ไม่ลงมือทำอะไรสักอย่างกับสิ่งที่เกิดขึ้น บรรดาผู้มีอำนาจเหล่านี้นิ่งนอนใจเกินไป พวกเขาลงมือแก้ปัญหาได้อย่างเชื่องช้า และไม่เด็ดขาดพอที่จะดำเนินมาตรการลงโทษทางวินัย ... พระศาสนจักรจะทำทุกทางเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ผู้ป่วยทางจิต ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ สิ่งนี้ จะช่วยปกป้องบรรดาเด็กๆ จากการตกเป็นเหยื่อ และยังช่วยลดคดีสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วย”

ครั้งที่สอง พระสันตะปาปาตรัสในการให้ผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศมาเข้าพบ ส่วนครั้งที่สาม พระองค์ตรัสในพิธีมิสซาที่อาสนวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ใจความว่า “การล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดในพระศาสนจักร ถือเป็นความอัปยศและทำลายคุณค่าสมาชิกพระศาสนจักรทุกคน” ครั้งที่สี่ พระองค์ตรัสกับพระสังฆราชคาทอลิกทุกองค์ในเกาะอังกฤษ ว่า “พวกท่านต้องอย่าเมินเฉยและทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่จงรีบเข้าไปให้ความช่วยเหลือและร่วมเป็นทุกข์ไปกับพวกเขา” (พระสันตะปาปาต้องการบอกว่า เวลาเกิดปัญหา จงแก้ด้วยความโปร่งใส ทำผิดก็ต้องยอมรับ อย่าแก้ด้วยการย้ายพระสงฆ์ไปอยู่ในที่ไกลๆ)

พระดำรัสแรกที่พระสันตะปาปาตรัสบนเครื่องบิน ได้รับการถ่ายทอดไปทั่วเกาะอังกฤษ มีการทำโพลจากหลายสำนักและพบว่า กระแสตอบรับดีมาก คนทั่วไปอยากฟังเรื่องนี้จากพระสันตะปาปาโดยตรง  เพราะที่ผ่านมา พระสันตะปาปาจะตรัสถึงเรื่องนี้ในมิสซาหรือจดหมายถึงคริสตังประเทศต่างๆ ซึ่งบ่อยครั้ง สื่อมวลชนอังกฤษจะไม่นำมารายงานข่าว (หน้าหนึ่ง) เพราะมันไม่เกี่ยวข้องกับพวกเขาโดยตรง






พระสันตะปาปายังได้เสด็จไปพบ "สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธ ที่ 2" และ “เจ้าชายฟิลิป” พระสวามี โดย “องค์ควีน” ทรงกล่าวกับพระสันตะปาปาว่า สหราชอาณาจักรซาบซึ้งกับการมีส่วนร่วมของสันตะสำนัก ในการช่วยฟื้นฟูสันติภาพในไอร์แลนด์เหนือ (เป็นหนึ่งในประเทศของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีกลุ่มกบฏต้องการแยกตัวเป็นอิสระ) พระราชดำรัสของควีนเอลิซาเบธ ได้รับการถ่ายทอดสดไปทั่วเกาะอังกฤษ สิ่งที่ควีนตรัส ถือว่าสำคัญมาก เพราะเป็นการทำให้คนทั่วไปเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องถึงบทบาทของพระศาสนจักร เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีคนจำนวนมากไม่เข้าใจและรับฟังข้อมูลผิดๆจากสื่อมวลชนและคอลัมนิสต์บางคน พวกเขาคิดว่า พระศาสนจักรพยายามทำทุกทางเพื่อฐานอำนาจของตน แต่พอ “องค์ควีน” ผู้เป็นที่รักและยกย่องของชาวอังกฤษ ตรัสแบบนี้ อคติในจิตใจของผู้คนก็ลดลง โพลสำรวจรายงานว่า หลังจากได้ชมการถ่ายทอดสดพระสันตะปาปาเข้าพบองค์ควีน ชาวอังกฤษเริ่มหันมามองและรับฟังสิ่งที่พระสันตะปาปาตรัสมากขึ้น

เรื่องต่อไป พระสันตะปาปาทรงขอร้องคริสตังในอังกฤษและสกอตแลนด์ กล้าแสดงออกทางความเชื่อในที่สาธารณะ โดยระหว่างการประทานสัมภาษณ์บนเครื่องบิน นักข่าวได้ถามพระสันตะปาปาเกี่ยวกับ “กระแสต่อต้านความเป็นคาทอลิก” (ANTI-CATHOLICISM) ที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆบนเกาะอังกฤษ อาทิ บีบีซี ซึ่งเน้นเสนอข่าวด้านลบมากกว่าด้านบวก พระสันตะปาปาจึงขอให้คริสตังอย่ากลัวกระแสดังกล่าว แต่จงดำเนินชีวิตเป็นประจักษ์พยานถึงพระเยซู ท่ามกลางสังคมที่ต้องการกำจัดพระองค์ออกไป ขณะเดียวกัน พระสันตะปาปายังย้ำว่า ถ้าเจอผู้ต่อต้านความเป็นคาทอลิก เราต้องอย่าหนี แต่จงเผชิญหน้าด้วยความอดทนและให้อภัย เหมือนที่พระองค์แสดงให้เห็นเป็นแบบอย่าง ระหว่างการเยือนครั้งนี้นี่เอง

พูดถึงกลุ่มต่อต้านแล้ว พระสันตะปาปาทรงย้ำว่า อังกฤษเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยและเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น พระองค์จึงเข้าใจการที่มีกลุ่มผู้ประท้วงออกมาต่อต้านการเสด็จเยือนของพระองค์ กระนั้นก็ตาม หลังจากพระดำรัสของพระสันตะปาปาได้รับการถ่ายทอดไปทั่วเกาะอังกฤษ กระแสต่อต้านเริ่มเปลี่ยนท่าที  คุณพ่อเฟเดริโก้ ลอมบาร์ดี้ ผู้อำนวยการสื่อมวลชนวาติกัน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “พวกเราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นมากๆ มากเกินกว่าที่คาดเยอะทีเดียว คุณคงไม่กล้าจินตนาการว่า จะมีคนกว่า 2 แสนคน มาร่วมสวดทำวัตรเย็นกับพระสันตะปาปา, มีสัตบุรุษกว่า 1 แสนคน มาร่วมมิสซาที่เวสต์มินสเตอร์และหอนาฬิกาบิ๊กเบน รวมไปถึงมีสัตบุรษกว่า 70,000 คน มาร่วมมิสซาสถาปนาบุญราศี (จอห์น นิวแมน) เมื่อนำตัวเลขที่ว่า ไปเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านพระสันตะปาปา ประมาณ 1,200 คน ซึ่งออกมารวมตัวกัน ณ ถนนพิคคาเดลลี่ คงจะทำให้กลุ่มผู้ต่อต้านและสื่อมวลชนที่คอยนำเสนอข่าวด้านลบ ต้องพบกับความประหลาดใจมากทีเดียว” นอกจากนี้ มีรายงานเพิ่มเติมว่า วันสุดท้ายที่มีมิสซาสถาปนาบุญราศีนิวแมน มีผู้ประท้วงเพียง 25 คน มารวมตัวกันหน้าสวนสาธารณะคอฟตัน สถานที่ประกอบพิธีมิสซา ทั้งที่ตอนแรก มีการคาดกันว่า จะมีผู้ประท้วงถึง 1,000 คน ... สิ่งนี้ แสดงให้เห็นว่า สื่อมวลชนอังกฤษเสนอข่าวไม่ตรงกับความจริง (ให้ร้ายเกินไป) นอกจากนี้ ท่าทีคนอังกฤษก็เปลี่ยนไป เมื่อได้รับสารพระสันตะปาปาในแง่บวก

อีกหนึ่งพระดำรัสที่สำคัญก็คือ “พระสันตะปาปาทรงห่วงว่า ศาสนาคริสต์จะกลายเป็นส่วนเกินในสังคมตะวันตก” พระองค์ตรัสเรื่องนี้ ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ที่รัฐสภาอังกฤษ โดยบุคคลชื่อดังที่มาร่วมรับฟัง มีชื่อของอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ 3 คน ก็คือ “โทนี่ แบลร์” ซึ่งปัจจุบัน ได้เปลี่ยนจากการนับถือนิกายแองกลิกันมาเป็นคาทอลิก, “กอร์ดอน บราวน์” และ “นางหญิงเหล็ก” มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ 

พระสันตะปาปา ตรัสเรื่องนี้ว่า “มันเป็นความจริงที่ว่า บางสังคมไม่เปิดประตูต้อนรับศาสนา เนื่องจากคำสอนที่พวกเขาได้รับ อาจถูกบิดเบือนไป พวกเขามองว่า ศาสนาทำให้เกิดปัญหาสังคม อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าขอกล่าวย้ำว่า ศาสนาไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหาสังคม ทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดีและรักสันติภาพ ฉะนั้น เราไม่ควรมาถกเถียงและหาเหตุกีดกันศาสนิกชนในการปฏิบัติศาสนกิจ ... ทุกวันนี้ ศาสนากำลังกลายเป็นส่วนเกินในสังคมตะวันตก เฉพาะอย่างยิ่ง ศาสนาคริสต์ ปัญหานี้เกิดขึ้นกับทุกประเทศในยุโรป หนึ่งในตัวอย่างชัดเจนก็คือบางประเทศสั่งห้ามไม่ให้มีการเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสในที่สาธารณะ เนื่องจาก พวกเขากลัวว่า มันจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลของคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ รวมไปถึงคนที่ไม่มีศาสนา ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับการสั่งห้ามนี้ ข้าพเจ้ามั่นใจว่า มันเป็นความล้มเหลวของสังคมก็ว่าได้ ถ้าหากเราจะมาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ด้วยการออกกฏหมายควบคุมการปฏิบัติศาสนกิจในที่สาธารณะ” ... พระดำรัสเรื่องนี้ ได้รับการถ่ายทอดสดไปทั่วอังกฤษ และพระสันตะปาปาก็ชนะใจคนอังกฤษไปเต็มๆ เพราะอังกฤษเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับการนับถือศาสนา แม้ว่า พวกเขาส่วนมากจะนับถือศาสนาคริสต์ นิกายแองกลิกัน ก็ตาม




อีกหนึ่งเรื่องที่ขาดไม่ได้ก็คือการพบปะเด็กๆและเยาวชน เป็นอีกครั้งที่พระสันตะปาปาทรงสอนได้น่าประทับใจมาก พระองค์ตรัสว่า “พ่อหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในกลุ่มพวกเธอซึ่งกำลังนั่งฟังพ่อพูดอยู่นี้ จะมีบางคนได้เป็นนักบุญประจำศตวรรษที่ 21 เพราะสิ่งที่พระเจ้าต้องการจากพวกเธอแต่ละคนก็คือการดำเนินชีวิตเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ... พระเจ้าทรงเรียกเราให้เป็นนักบุญในยุคที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ฉะนั้น เราแต่ละคนต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น เราได้รับกระแสเรียกให้ปกป้องวัฒนธรรมแห่งความรักและความศักดิ์สิทธิ์ในตัวมนุษย์ หลายคนคงสงสัยว่า เราจะทำพันธกิจอะไรได้ เรื่องนี้ มีเพียงพระเยซูเท่านั้นที่ทรงทราบดีว่า เราแต่ละคนเหมาะกับงานส่วนไหน พ่อจึงขอให้ทุกคนเปิดใจรับฟังเสียงเรียกของพระเจ้า เพื่อจะได้รู้ว่า พันธกิจที่พระเจ้ามอบให้เราคืองานอะไร พระเยซูทรงใช้หัวใจของพระองค์คุยกับเราแล้ว เราก็ควรใช้หัวใจของเราคุยกับพระองค์ด้วย”

จบจากเยาวชน พระสันตะปาปาไม่ลืมจะสอนบรรดาครูอาจารย์ เฉพาะอย่างยิ่ง อาจารย์สาขาแพทยศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, วิทยาศาสตร์, ปรัชญา และเทวศาสตร์ พระองค์ย้ำว่า “มุมมองวิทยาศาสตร์จะกลายเป็นมุมมองแคบๆน่าสะพรึงกลัว ถ้าหากเรามองข้ามมิติทางศาสนาและจริยธรรม ทำนองเดียวกัน ศาสนาก็จะกลายเป็นเรื่องแคบๆ ถ้าเราปฏิเสธจะทำความเข้าใจกับสิ่งดีๆที่วิทยาศาสตร์มอบให้กับโลก ...  ดังนั้น หน้าที่ของครู ไม่ได้หยุดอยู่แค่การสอนทักษะความรู้ให้กับลูกศิษย์ ถ้าทำได้แค่นั้น การอบรมสั่งสอนก็ถือว่าไร้ค่ามาก การให้การศึกษาที่แท้จริงนั้น อยู่ที่การสร้างคน เราต้องสร้างนักเรียนทั้งหญิงและชายให้รู้จักการดำเนินชีวิตทั้งครบ”

เรื่องสุดท้ายที่อยากพูดก็คือ ข่าวการจับกุมผู้ต้องสงสัยวางแผนก่อการร้ายขณะพระสันตะปาปาเสด็จ หลายคนน่าจะทราบข่าวนี้กันไปแล้ว เพราะมันดังไปทั่วโลก กระนั้นก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจอังกฤษก็โชว์ประสิทธิภาพในการรับมือได้อย่างไม่มีปัญหา ขณะเดียวกัน วาติกันก็ชื่นชมการทำงานของตำรวจอังกฤษด้วย

ทั้งหมดนี้ก็คือบทสรุปของพันธกิจสกอตแลนด์และอังกฤษ 2010 คติพจน์ของ “บุญราศีจอห์น นิวแมน” ก็คือ “ให้ใจพูดกับใจ” ดังนั้น เราจะสังเกตได้ว่า แต่ละพระดำรัสที่ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ตรัสระหว่างการเยือนนี้ พระสันตะปาปาทรงให้พระดำรัสของพระองค์เข้าไปสัมผัสกับจิตใจของคนอังกฤษอย่างแท้จริง และในเมื่อ “หัวใจได้คุยกับหัวใจ” ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือเราคุยกันด้วยความรัก ความห่วงใย และด้วยเหตุผล ฉะนั้น ไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมกระแสต่อต้านแบบไร้เหตุผล จึงค่อยๆแปรเปลี่ยนมาเป็นการรับฟังด้วยความเอาใจใส่ ความเคารพ และความรักต่อพระสันตะปาปา จริงอยู่ที่ยังมีบางคนออกอาการต่อต้านพระศาสนจักรคาทอลิกและพระสันตะปาปา แต่เชื่อว่า ถ้าหากเขาเปิดใจรับฟังสิ่งที่พระสันตะปาปาตรัส ความเกลียดชังในหัวใจของเขาจะค่อยหมดไปอย่างแน่นอน ...



                                                         AVE   MARIA




Comments