ฟาติมาสาร : 5 ปีที่ผ่านมาของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์



เดือนเมษายนที่ผ่านมา มีความสำคัญกับสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 อยู่ 2 ประการ หนึ่งคือวันที่ 16 เมษายน เป็นคล้ายวันสมภพครบ 83 ชันษา สองคือวันที่ 19 เมษายน เป็นวันครบรอบ 5 ปีแห่งสมณสมัยการปกครองพระศาสนจักรของพระองค์



พระสันตะปาปาทรงรับมอบเค้กวันเกิดจากผู้ปฏิบัติงานในวาติกัน

5 ปีที่ผ่านมา หลังการสืบทอดตำแหน่งจากสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 มีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร วันนี้ ผมขอพูดถึงการเปลี่ยนแปลง 2 อย่าง หนึ่งคือ “พิธีกรรม” และสองคือ “มาตรฐานใหม่ในการรับมือปัญหาพระสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศ”

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาในมิสซาที่พระสันตะปาปาเป็นประธาน มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า พระองค์จะสวม “กาซูลา” หรืออาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งรูปแบบเก่าและใหม่ (แบบใหม่คือที่พระสงฆ์สมัยนี้ใส่ถวายมิสซา), หลังพระสันตะปาปาเทศน์เสร็จ รวมไปถึงหลังรับศีลมหาสนิท จะมีการหยุดให้สัตบุรุษได้รำพึงเงียบๆ เป็นเวลานาน, มีการแสดงออกถึงความเคารพต่อศีลมหาสนิทด้วยการย่อเข่าและคุกเข่ามากขึ้น, มีการใช้ภาษาลาตินในมิสซามากขึ้น, รูปแบบการจัดพระแท่นในมิสซาที่พระสันตะปาปาเป็นประธาน ก็จะมีแค่ไม้กางเขนขนาดใหญ่และเทียนสูง 7 เล่ม ไม่มีการตั้งดอกไม้ไว้บนพระแท่น ... หลายสิ่งหลายอย่างที่กล่าวมานี้ พระสันตะปาปาไม่ได้สั่งให้แผนกพิธีกรรมของสังฆมณฑลต่างๆทั่วโลก ต้องทำตาม แต่อย่างไรก็ดี หลายๆสังฆมณฑลเริ่มนำรูปแบบที่พระสันตะปาปาแสดงให้เห็นนี้ นำไปปรับใช้แล้ว เพราะผลลัพธ์ของการทำแบบนี้ก็คือพิธีดูสง่าและศักดิ์สิทธิ์ขึ้นนั่นเอง

พระสันตะปาปาเริ่มนำกาซูลาแบบเก่ามาใช้บ่อยขึ้น

การจัดพระแท่นที่แสดงให้เห็นถึงความสง่าของพิธีกรรม

กระนั้นก็ดี นักวิชาการหลายคนมองว่า การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบพิธีกรรมที่สำคัญสุดไม่ได้อยู่ในแบบอย่างที่กล่าวไปข้างต้น แต่มันอยู่ที่ “เวลารับศีลมหาสนิท ต้องคุกเข่าและรับทางปากเท่านั้น” หากใครเห็นพระสันตะปาปาแจกศีลมหาสนิท ก็จะเห็นว่า สัตบุรุษทุกคนที่รับกับพระองค์ต้องคุกเข่าและรับทางปากเพียงอย่างเดียว จะใช้มือรับไม่ได้ นอกจากนี้ เวลาพระสันตะปาปาแจกศีลมหาสนิท จะมีผู้ช่วยพิธีถือเทียน 2 เล่มมายืนข้างๆพระองค์ด้วย การรับศีลแบบนี้เป็นรูปแบบเดียวกับมิสซาจารีตลาติน (พระสงฆ์หันหลังให้สัตุบุรษ เวลาถวายมิสซา) พระสันตะปาปาทำแบบนี้ก็เพราะต้องการเน้นย้ำความสำคัญของศีลมหาสนิทว่าเป็นพระกายของพระเยซูเจ้า  ... แน่นอนว่า หลายสังฆมณฑลทั่วโลก นำรูปแบบนี้ไปปรับใช้กันบ้างแล้ว

พระสันตะปาปาต้องการเน้นความสำคัญของการรับศีลมหาสนิท

ส่วนการเปลี่ยนแปลงอีกเรื่องก็คือการรับมือกับปัญหาพระสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศ มาตรฐานใหม่ที่ว่าก็คือ ต่อไปนี้ ถ้าพระสันตะปาปาเสด็จเยือนประเทศไหน พระองค์จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกพระสงฆ์คาทอลิกล่วงละเมิดทางเพศเข้าพบ จากนั้น พระสันตะปาปาจะกล่าวคำขอโทษพวกเขาเป็นการส่วนพระองค์ พระสันตะปาปาทำแบบนี้ตอนที่พระองค์เยือนสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และล่าสุด มอลตา (เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา) และการขอโทษครั้งต่อไปจะมีขึ้นในเดือนกันยายนที่ประเทศอังกฤษและสกอตแลนด์
พระสันตะปาปาทำแบบนี้ ก็เพราะ พระองค์ต้องการสร้าง “มาตรฐานใหม่” ให้พระสังฆราชได้เห็น กล่าวคือ เวลาที่พระสงฆ์ภายใต้การปกครองของตน ไปก่อคดีล่วงละเมิดทางเพศสัตบุรุษ พระสังฆราชต้องไม่ใช้วิธีปิดเรื่องเงียบ แต่จงกล้าเผชิญหน้ากับความจริง นั่นคือ “จงไปขอโทษผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เหมือนที่พระองค์แสดงให้เห็นเป็นแบบอย่างนั่นเอง”

ส่วนวิธีการรับมือเรื่องฉาวๆทำนองนี้ พระสันตะปาปาก็สั่งอย่างเด็ดขาดว่า ถ้าสังฆมณฑลไหนเกิดเรื่องแบบนี้ ต้องรายงานให้วาติกันทราบทันที ห้ามปกปิดเหมือนสมัยก่อน เพราะอย่างที่เห็นกันแล้วว่า ปกปิดกันมากๆ ก็ถูกสาวไส้ออกมาประณามและประจานมากๆเช่นกัน

ล่าสุด พระสันตะปาปาทรงอนุมัติจดหมายลาออกของ “พระสังฆราช โรเจอร์ ฟานเฮลูว์” ประมุขสังฆมณฑลบรูช ประเทศเบลเยียม หลังพระสังฆราช วัย 73 ปีองค์นี้ ยอมรับว่า ตอนที่บวชเป็นพระสงฆ์ใหม่ๆ เคยล่วงละเมิดทางเพศเด็ก การลาออกของพระสังฆราชฟานเฮลูว์ ทำให้พระศาสนจักรคาทอลิกในเบลเยียมวิกฤติอย่างมาก เพราะงานนี้ ผู้กระทำผิดเป็นพระสังฆราชเสียเอง ส่วนอีกคดี “พระสังฆราช วอลเตอร์ มิซ่า” ประมุขสังฆณฑลเอ้าส์บูร์ก ประเทศเยอรมนี ก็ยื่นจดหมายลาออกต่อพระสันตะปาปาเช่นกัน เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า สมัยเป็นพระสงฆ์ ได้ทำทารุณกรรมเด็กถึง 5 คน แม้ว่า ในตอนแรก พระสังฆราชมิซ่าปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่คล้อยหลังไม่นาน พระสังฆราชองค์นี้ได้ยื่นจดหมายลาออกต่อพระสันตะปาปา เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น (ตอนที่เขียนบทความนี้ พระสันตะปาปายังไม่ได้อนุมัติใบลาออกของพระสังฆราชมิซ่า ... แต่คาดว่า พระองค์ต้องอนุมัติแน่ๆ เพราะงานนี้สาหัสจริงๆ)

พระสังฆราช โรเจอร์ ฟานเฮลูว์

พระสังฆราช วอลเตอร์ มิซ่า


พระสังฆราช อันเดอร์ส ออโบเรลิอุส


ส่วนสวีเดนที่ผมอยู่นี้ ก็เจอเรื่องทำนองนี้เช่นกัน สื่อมวลชนในสวีเดนกำลังกดดันให้ “พระสังฆราช อันเดอร์ส ออโบเรลิอุส” ประมุขสังฆมณฑลสต็อกโฮล์ม ลาออก เพราะปกปิดคดีพระสงฆ์ภายใต้การปกครองของตนล่วงละเมิดทางเพศเยาวชนหญิง รายงานข่าวบอกว่า พระสังฆราชออโบเรลิอุสแก้ปัญหาด้วยการส่งพระสงฆ์องค์นี้ไปทำงานอภิบาลต่างประเทศ แทนที่จะจัดการลงโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาด ... งานนี้ ก็ต้องตามกันต่อไปว่า จะเป็นอย่างไร เพราะดูเหมือนว่า สื่อมวลชนในสวีเดนจะตามกัดไม่ปล่อยจริงๆ

ปีนี้ เป็นปีพระสงฆ์ (จะจบลงเดือนมิถุนายนนี้) แต่ดูเหมือนว่า ความเข้าใจระหว่างพระศาสนจักรกับสื่อมวลชนที่ไม่ใช่สายคาทอลิก จะต่างกันพอสมควร พระศาสนจักรต้องการให้ปีพระสงฆ์เป็นปีที่พระสงฆ์ตระหนักถึงความศักดิ์สิทธิ์ที่ตนได้รับ แต่สื่อมวลชนที่ไม่ใช่สายคาทอลิกกลับมองว่า ปีพระสงฆ์ ก็ต้องเล่นงานพระสงฆ์คาทอลิกที่แตกแถวให้หนักๆ

แต่สุดท้ายแล้ว ผมว่า คนที่โชคร้ายและน่าสงสารสุดไม่ใช่ใคร นอกจาก “สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที 16” ลองคิดดูนะครับว่า พระองค์ไม่ได้เป็นคนสร้างปัญหาเหล่านี้ แต่ต้องออกรับหน้า ออกรับคำด่า ออกมากล่าวคำขอโทษแทนพวกที่สร้างปัญหา ที่สำคัญ ต้องไปขอโทษผู้ที่ถูกพระสงฆ์ล่วงละเมิดทางเพศเป็นการส่วนพระองค์ด้วย บางที ผมว่า มันไม่แฟร์เท่าไหร่ที่จะให้พระสันตะปาปา ผู้ทรงพระชนม์ 83 ชันษา (อายุขนาดนี้ ลองเทียบได้กับคุณปู่ คุณตา อากง) มารับความกดดันแบบหนักหน่วงอยู่คนเดียว

... สรุปแล้ว 5 ปีที่ผ่านมา ผมว่าปีนี้นี่แหละที่พระสันตะปาปาเครียดสุด เพราะปัญหาที่เกิด มันเป็นปัญหาสะสมตั้งแต่สมัยอดีต การแก้ปัญหาสะสม มันยากและใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จ ดังนั้น เราต้องร่วมใจภาวนาให้พระสันตะปาปามากๆ เพื่อพระองค์จะแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ด้วยดี

AVE  MARIA



Comments