“คนที่เข้าสู่การเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ในฐานะพระสันตะปาปา เขาย่อมออกมาจากการเลือกตั้งในฐานะคาร์ดินัล”
มีคำกล่าวนึงบอกไว้ว่า “คนที่เข้าสู่การเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ในฐานะพระสันตะปาปา เขาย่อมออกมาจากการเลือกตั้งนั้นในฐานะคาร์ดินัล”
ผมย้ำอีกครั้งว่า บทความวันนี้ ไม่ได้ชี้นำหรือจะนำเสนอชื่อ Papabile หรือ ตัวเต็งคาร์ดินัลที่มีโอกาสจะได้เป็นพระสันตะปาปา แต่จะบอกเล่ารายชื่อที่อยู่ใน “สปอตไลท์” ของนักข่าวสายวาติกันให้ทราบกัน (ผมจะพิมพ์ชื่อภาษาอังกฤษไว้ให้ เผื่อจะไปค้นดูว่าหน้าตาเป็นอย่างไรนะครับ)
สายอิตาเลี่ยน
1. คาร์ดินัล ปิเอโตร ปาโรลิน (Pietro Parolin)
- อายุ 71 ปี เลขาธิการนครรัฐวาติกันในยุคของพระสันตะปาปา ฟรานซิส
- นักการทูตมืออาชีพ หนึ่งในผลงานสำคัญคือข้อตกลงวาติกัน-จีนว่าด้วยการแต่งตั้งบิช็อป ใน ค.ศ.2018 ซึ่งยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในศาสนจักร บางฝ่ายมองว่าเป็นการสมานรอยร้าวในกลุ่มคาทอลิกจีน แต่ฝ่ายวิจารณ์มองว่าเป็นการยอมอ่อนข้อให้รัฐบาลจีนมากเกินไป
- คาร์ดินัลปาโรลิน ยังมีบทบาทสำคัญในการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกา-คิวบา และการเจรจากับเวียดนาม
- คาร์ดินัลทั้งสายอนุรักษ์นิยมและหัวก้าวหน้า มองว่า “นี่อาจเป็นคนที่จะ balance ความคิดที่แตกแยกจนแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ทั้งศาสนจักรและโลกที่เราอยู่อาศัย”
2. คาร์ดินัล เปียร์บัตติสต้า ปิซซาบัลล่า (Pierbattista Pizzaballa)
- อายุ 60 ปี นักบวชฟรานซิสกันที่ปัจจุบันเป็นพระอัยกาแห่งกรุงเยรูซาเล็ม
- จุดเด่นคืออยู่ในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น พูดภาษาฮีบรูได้ คาร์ดินัลปิซซาบัลล่าได้รับการยอมรับจากอิสราเอล ปาเลสไตน์ จอร์แดน และอียิปต์ เป็นอย่างสูง
- บุคลิกภายนอกดูดุดัน แข็งกร้าว และมีวินัยในตัวเองสูงมาก
3. คาร์ดินัล มัตเตโอ ซุปปิ (Matteo Zuppi)
- อายุ 69 ปี อาร์คบิช็อปแห่งโบโลญญ่า
- หลายคนเรียกว่า “โป๊ปฟรานซิสองค์น้อย” เพราะนิสัยคือชอบทำงานกับคนจน และจะใช้บริการรถสาธารณะ รวมทั้ง “ขี่จักรยาน” ไปทำงานตามที่ต่างๆ
- หลายคนบอกว่า คาร์ดินัล ซุปปิ มีพรสวรรค์ในการคุยกับคน ทุกคนจึงชอบและประทับใจ นอกจากนี้ ความที่เป็นคนคุยง่ายและจริงใจ พระสันตะปาปา ฟรานซิส จึงแต่งตั้งให้เป็นทูตสันติภาพของพระองค์ ไปเจรจากับรัสเซีย เรื่องปัญหาในยูเครน
- แต่จุดหนึ่งที่จะถูกคนโจมตีคือ คาร์ดินัลซุปปิ จะแสดงออกคัดค้านทางการเมืองที่อนุรักษ์นิยมมากเกินไป
สายที่ไม่ใช่อิตาเลี่ยน
4. คาร์ดินัล ฌอง-มาร์ก อาเวลีเนอ (Jean-Marc Aveline)
- อายุ 66 ปี อาร์คบิช็อปแห่งมาร์กเซย์ และยังเป็นประธานสภาบิช็อปคาทอลิกแห่งฝรั่งเศส
- มีชื่อเสียงด้านวัฒนธรรมและความเปิดกว้างในการรับฟังและเสวนา โดยเฉพาะกับผู้อพยพชาวมุสลิม
- ในฝรั่งเศส เรียกคาร์ดินัลอาเวอลีน ว่า “จอห์น ที่ 24” (เพราะความเป็นมิตร ยิ้มแย้ม และแนวคิด คล้ายโป๊ป จอห์น ที่ 23)
- คาร์ดินัลอาเวลีเนอเป็นคนหัวก้าวหน้า แต่ไม่สุดโต่ง คาร์ดินัลอาเวลีเนอกล้าขัดแย้งกับแนวคิดเสรีนิยมในบางประเด็น เช่น ไม่สนับสนุนการเปิดรับผู้อพยพอย่างไร้ขอบเขต โดยเคยกล่าวว่า “ใครที่สนับสนุนแบบนั้นคงไม่ได้อาศัยอยู่ในย่านที่มีปัญหาว่างงาน ยาเสพติด และความไม่ปลอดภัยสูง”
- จุดเดียวที่หลายคนกังวลคือ คาร์ดินัลอาเวลีเนอ ไม่ค่อนถนัดภาษาอิตาเลี่ยน แต่ล่าสุด มิสซาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมาที่วัดซานตา มารีอา เดอี มอนติ คาร์ดินัลอาเวลีเนอได้แสดงให้เห็นว่าพูดภาษาอิตาเลียนได้ดีกว่าที่หลายคนคิด แม้จะอ่านบทเทศน์ที่เตรียมไว้ (ซึ่งใช้เวลาไม่ถึง 7 นาที ตามคำแนะนำของโป๊ปฟรานซิสเพื่อไม่ให้ผู้ร่วมพิธีเบื่อ) แต่ก็ถวายมิสซาที่เหลือเป็นภาษาอิตาเลียนอย่างคล่องแคล่วและสำเนียงฝรั่งเศส
5. คาร์ดินัล หลุยส์ อันโตนิโอ ตั๊กเล่ (Luis Antonio Tagle)
- อายุ 67 ปี ประธานสมณกระทรวงประกาศพระวรสารสู่ปวงชน
- คาร์ดินัลชาวฟิลิปปินส์ เป็น “ขวัญใจสื่อมวลชน” ทุกคนรักมากๆ เพราะความเป็นกันเองตลอดเวลา
- Pope Report อาจจะไม่ลงรายละเอียดคาร์ดินัลตั๊กเล่มากนัก เพราะทุกคนน่าจะรู้จักกันดี
- จุดเดียวที่คาร์ดินัลจะถูกโจมตีคือเรื่อง “การบริหารจัดการที่อ่อนเกินไป” เวลาเจอพวกเขี้ยวๆ คาร์ดินัลจะไม่จัดการแบบเด็ดขาด ทำให้หลายปัญหายังกั๊กๆ ไม่ได้รับการแก้ไข
6. คาร์ดินัล ฌอง-โคล้ด โฮลเลอริช (Jean-Claude Hollerich)
- อายุ 66 ปี อาร์คบิช็อปจากลักเซมเบิร์ก
- คาร์ดินัลท่านนี้ มีแนวคิดแบบพระสันตะปาปา ฟรานซิส หลายอย่าง อีกทั้งการอภิบาลก็คล้ายๆกันคือ ไปทำงานในญี่ปุ่น พูดญี่ปุ่นคล่อง และเข้าใจชาวเอเชียอย่างดี
- คาร์ดินัลโฮลเลอริช กลายเป็นจุดสนใจของคาร์ดินัลคนอื่นๆ เพราะในการประชุมคณะคาร์ดินัลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นี่คือคนที่พูดโพล่งออกไปว่า “ศาสนจักรต้องการพระสันตะปาปาที่มีความเป็นประกาศกและให้ความหวัง เราต้องเชื่อในพระจิต” (พูดหลังจากที่คาร์ดินัลหลายคน วิจารณ์ว่า สมณสมัยของพระสันตะปาปา ฟรานซิส ดูสับสนเกินไปในเรื่องเทวศาสตร์)
- จุดเดียวที่คาร์ดินัลโฮลเลอริช จะถูกมองข้ามคือ “เยสุอิต” เพราะคาร์ดินัลหลายคนมองว่า ไม่อยากให้พระสันตะปาปามาจากคณะเยสุอิตถึง 2 องค์ติดต่อกัน
7. คาร์ดินัล โรเบิร์ต เพรโวสท์ (Robert Prevost)
- อายุ 69 ปี นักบวชออกัสติเนี่ยน และเป็นประธานสมณะกระทรวงเพื่อบิช็อป
- หลายคนประทับใจคาร์ดินัลเพรโวสท์ในความเป็น “ธรรมทูตแพร่ธรรม” และเป็นคนสายกลาง สุขุม รอบคอบ รับฟังผู้อื่น และไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างโอ้อวดเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ
- นอกจากนี้ คาร์ดินัลเพรโวสท์ ยังเป็น “นักไกล่เกลี่ย” อีกด้วย นี่คือคนที่ไกล่เกลี่ยนให้ศาสนจักรคาทอลิกในเปรู ยุติความบาดหมางกัน (ตอนนั้น ความขัดแย้งระหว่างหัวก้าวหน้าที่ใกล้ชิดกับแนวคิดเทวศาสตร์เพื่อการปลดปล่อย กับหัวอนุรักษ์นิยมที่ใกล้ชิดโอปุส เดอี)
- จุดเดียวที่ คาร์ดินัลเพรโวสท์ จะถูกมองข้ามคือ “เป็นคนอเมริกัน” ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับสถานการณ์โลกในตอนนี้
8. คาร์ดินัล อันเดรส อาร์บอเรลิอุส (Anders Arborelius)
- อายุ 75 ปี นักบวชคาร์เมไลท์ และเป็นอาร์คบิช็อปแห่งสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน
- ท่านนี้ ผมเขียนถึงไปแล้ว ขอข้ามไปเลยนะครับ (จุดเด่นที่หลายคนชอบคือการเปิดรับผู้อพยพ และเก่งเรื่องคริสตศาสนสัมพันธ์ รวมถึงศาสนสัมพันธ์)
9. คาร์ดินัล มาริโอ เกร็ค (Mario Grech)
- อายุ 68 ปี เป็นชาวมอลต้า และเป็นเลขาธิการการประชุมสมัชชาบิช็อปคาทอลิก (ซีน็อต)
- คาร์ดินัลเกร็ค เป็นสายกลางและอาจได้รับเสียงสนับสนุนจากหลายกลุ่มจากบทบาทเลขาฯซีน็อต คาร์ดินัลแทบทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี
- คาร์ดินัลเกร็ค เป็นคนที่ทำตามแนวทางของพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 อย่างจริงจัง จากนั้น พอเป็นยุคของพระสันตะปาปา ฟรานซิส ตัวคาร์ดินัลก็เปิดรับมุมมองใหม่ๆ เพื่อทำงานอภิบาลไปตามยุคสมัย
- อย่างไรก็ตาม จุดที่จะทำให้บางคนโจมตี คาร์ดินัลเกร็ค ก็คือ “จุดยืนไม่ชัดเจน” บางคนมองว่า เปลี่ยนไปตามยุค ไม่มีท่าทีหนักแน่น นอกจากนี้ คาร์ดินัลเกร็ค ยังถูกวิจารณ์เรื่องความเป็นวัตถุนิยมในบางครั้งด้วย
10. คาร์ดินัล ปีเตอร์ แอร์ดู (Péter Erdő)
- อายุ 72 ปี อาร์คบิช็อปแห่งเอซสเตอร์กอม-บูดาเปสต์ ประเทศฮังการี
- คาร์ดินัลแอร์ดู เป็นสายอนุรักษ์นิยมและเทวศาสตร์ เหมือนกับพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ซึ่งคาร์ดินัลสายอนุรักษ์นิยมจัดๆ จะชอบมาก
11. คาร์ดินัลคริสโตบัล โลเปซ โรเมโร่ (Cristóbal López Romero)
- อายุ 72 ปี นักบวชซาเลเซียนชาวสเปน แต่ปัจจุบัน เป็นอาร์คบิช็อปแห่งราบัต ประเทศโมร็อกโก
- ส่วนมากไปทำงานในประเทศปารากวัย โบลิเวีย และโมร็อกโก
- จุดเด่นคือทำงานกับผู้ยากไร้ ชนพื้นเมือง และชาวมุสลิมได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังได้รับการเคารพจากชาวมุสลิมด้วย
- เป็นคนอารมณ์ดี เป็นมิตร และมีพรสวรรค์ด้านงานสื่อมวลชน
- คาร์ดินัลโลเปซ เริ่มเป็นที่พูดถึง เพราะเป็นคนที่มีบทบาทในการเชื่อม “ลาตินอเมริกา และแอฟริกาตอนเหนือ” เข้ากับศาสนจักรคาทอลิกในปัจจุบัน
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผมติดตามรวบรวมมาให้ เผื่อหลายท่านอยากศึกษาเรื่องของคาร์ดินัลที่อยู่ในสปอตไลท์มากยิ่งขึ้น
ปิดท้ายด้วยคำให้สัมภาษณ์ของ คาร์ดินัล แฟร์นานโด ฟิโลนี่ อดีตประธานสมณกระทรวงประกาศพระวรสารสู่ปวงชน (ท่านนี้เคยมาเมืองไทยด้วย) ที่กล่าวว่า “การลงคะแนนรอบแรกคือการปรับทิศทางให้ตรงกัน จากนั้น ของจริงจะเริ่มที่การลงคะแนนรอบสอง สาม และสี่ … ในมุมมองแห่งความเชื่อ ยังมีเรื่องที่อธิบายไม่ได้ของพระหรรษทานอยู่เสมอ ทำไมพระเยซูจึงเลือกเปโตร ทำไมล่ะ มีใครตอบได้ไหม”
ย้ำอีกครั้งว่า “คนที่เข้าสู่คอนเคลฟในฐานะพระสันตะปาปา เขาย่อมออกมาจากคอนเคลฟในฐานะคาร์ดินัล”
Comments
Post a Comment